ผู้รับเหมาหันทำสวนเกษตรอินทรีย์ ตระเวนเก็บขยะเปียก ได้อาหารหมูฟรีเดือนละ 60 ตัน!

คุณเชา-ชวลิต ประเสริฐ  วัยห้าสิบเศษ อดีตผู้รับเหมาวางระบบไฟฟ้า ที่ปัจจุบันหันมาเอาจริงเอาจังกับการทำสวนเกษตรอินทรีย์พื้นที่กว่า 17 ไร่ บนเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฏร์ธานี ให้สัมภาษณ์ว่า จบการศึกษาทางช่างไฟจากเทคนิคสุราษฎร์ฯ พื้นเพเป็นคนเกาะสมุย แต่เป็นเขยเกาะพะงัน และย้ายมาอยู่บนเกาะพะงัน   ได้ 22 ปี ก่อนหน้านี้ทำงานหลายอย่าง  ทั้งผู้รับเหมาวางระบบไฟฟ้า รับเหมาก่อสร้าง ทำเกสต์เฮ้าส์ ร้านค้า ร้านอาหาร

ส่วนสวนเกษตรอินทรีย์ในแบบของเขา  เริ่มมาได้กว่า 10 ปีแล้ว เกิดจากแนวคิด อยากนำผลผลิตที่ปลูกได้ มาใช้ในร้านอาหารของตัวเอง และทำเป็นแนว “เกษตรอินทรีย์”ตั้งแต่แรก เพราะมั่นใจผลผลิตที่ได้จะดีต่อสุขภาพทั้งคนปลูกและคนทาน แต่ด้วยความที่เรียนมาทางช่างไฟฟ้า จึงศึกษาข้อมูลด้านเกษตรจากการอ่านหนังสือเป็นหลัก พอมาช่วงหลังหันมาใช้ “กูเกิ้ล” ช่วยอีกทาง

“บนที่ดิน 17 ไร่  เริ่มจากเลี้ยงไก่ ต่อมา ปลูกมะพร้าว กล้วยหอม ทุเรียน มังคุด ลำไย และ ผักสวนครัว ปริมาณผลผลิตพออยู่ได้ ส่งให้ร้านตัวเองแล้ว หากเหลือก็ขายส่งให้พ่อค้าแม่ค้ารับไปขายต่อ” คุณเชา บอกมาอย่างนั้น

ก่อนเล่าให้ฟังต่อ และด้วยความที่มีการปลูกพืชหลากหลายชนิด แต่คุณภาพดินบนพื้นที่ทั้ง 17 ไร่ ไม่ค่อยดีนัก ตัวแปรสำคัญที่จะทำให้พืชผลงอกงามได้นั่นก็คือ “ปุ๋ย” และนี่เองคือที่มาว่าทำไมเขาต้องเลี้ยงปลา เลี้ยงไก่ และเลี้ยงหมู

“เลี้ยงหมูเพราะอยากได้ขี้มันมาทำเป็นปุ๋ย เริ่มจาก 4-5 ตัว เป็นพันธุ์หมูป่า แต่พอต้องการใช้ปุ๋ยจำนวนมากขึ้น เลยเริ่มเลี้ยงหมูพันธุ์ตามที่ตลาดต้องการ ลงปีที่แล้วชุดแรก 40 ตัว และเมื่อเลี้ยงหมูเยอะขึ้น อาหารจึงต้องเยอะขึ้นด้วย แต่เมื่อก่อนใช้แค่ต้นกล้วยกับรำและเศษอาหารจากร้านอาหารของตัวเอง” คุณเชา เล่า

และว่า จังหวะนั้นเอง ทางคุณประพันธ์ เดี่ยววานิช ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 1 ซึ่งรู้จักกันเป็นการส่วนตัว มาชักชวนให้เข้าร่วมโครงการการเก็บขยะสดในเขตพื้นที่หมู่ 1 ท้องศาลา เพราะอยากให้ชุมชนที่ดูแลอยู่สะอาดสะอ้าน มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย ซึ่งถ้าจะทำให้เกิดภาพอย่างนั้นได้ ต้องมีการลดขยะ โดยทาง คุณประพันธ์ อยากให้เขาเข้ามาช่วยเก็บขยะอินทรีย์ จำพวกเศษอาหาร เศษผัก เศษผลไม้ เศษเนื้อสัตว์

“ขยะสด สามารถนำมาเป็นอาหารหมู อาหารปลา ในสวน และช่วยลดค่าใช้จ่ายเรื่องอาหารสัตว์ไปได้เยอะทีเดียว แต่ต้องมีการลงทุนเรื่องของรถขน อุปกรณ์จัดใส่ ค่าจ้างคนงาน และต้องวิ่งเข้าเมืองทุกวัน วันละ 2 เที่ยว บางเดือนวันละ 3 เที่ยว โดยขยะสดที่รวบรวมมาได้นั้นตกราววันละ 2 ตัน หรือเดือนละประมาณ 60 ตัน” คุณเชา คำนวณให้ฟังคร่าวๆ

ย้อนถามไปถึงประสบการณ์ช่วงแรกๆ ที่เริ่มออกตระเวนเก็บขยะตามร้านค้า-ร้านอาหาร คุณเชา นั่งนึก ก่อนเล่า หลายคนไม่เข้าใจในเรื่องของการแยกขยะ ว่าควรแยกอย่างไร ซึ่งเป็นปัญหาหลักของเขาเลยทีเดียว เพราะเมื่อการขยะแยกจากต้นทางไม่ถูก ก็ต้องเพิ่มงานให้กับคนงานที่ต้องมาแยกหลายครั้งหลายร้านใส่ทุกอย่างรวมกันหมด บางครั้งมีทั้งถ้วย ทั้งชาม ทั้งมีด แต่ระยะหลังดีขึ้นมากตามลำดับ

 ไปเก็บตอนแรกๆ เคยโดนไล่ หลายคนไม่คิดว่าจะมากำจัดให้ฟรี บางคนกลัวขยะส่งกลิ่นเหม็น ถ้าวางถังแล้วไม่มาเก็บ แต่ทุกวันนี้พฤติกรรมคนในพื้นที่ดีขึ้น เข้าใจว่าเราช่วยนำของเหม็นๆ ออกมาจากร้านเขา จากคนที่ไม่เคยไม่ให้วาง มาตามให้ไปวาง เมื่อโครงการให้ผลดี ชาวบ้านก็ให้ความร่วมมือ คุณเชา เล่ายิ้มๆ

ก่อนบอก แต่ทุกวันนี้ก็ยังมีอุปสรรคในการทำงานบ้าง เพราะทำมาสองปีแล้ว ยังไม่คุ้มกับการลงทุนไป เพราะถนนหนทางเข้าสวนลำบาก ล้อรถเสียหายตลอด ต้องเปลี่ยนล้อทุกเดือนเพราะรถต้องวิ่งทุกวัน ส่วนแรงงานมาช่วยทำหายาก และหลายร้านอยากให้มาตั้งถังที่เขาบ้าง แต่กำลังของเขายังไม่พอ

 

ขอบคุณภาพ : ดิ ไอส์แลนด์ การ์เดี้ยน – สำนักข่าวชาวเกาะ