อดีตอาจารย์คหกรรมเจ๋งทำทอฟฟี่จากรำข้าวรายแรกของโลก คว้ารางวัลนวัตกรรมข้าวไทยปี59

   เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม ที่โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ฯ ลาดพร้าว ดร. สุเมธ ตันติเวชกุล ประธานมูลนิธิข้าวไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ แถลงว่า  มูลนิธิข้าวไทยฯ และ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สนช.  ร่วมกันจัดประกวด “รางวัลนวัตกรรมข้าวไทย” มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2550 สำหรับการประกวดรางวัลนวัตกรรมข้าวไทยในปีนี้ แบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ระดับอุตสาหกรรม และระดับวิสาหกิจชุมชน อาศัยเกณฑ์การพิจารณา 4 ด้าน ได้แก่ ความเป็นนวัตกรรม สร้างมูลค่าเพิ่มแก่ข้าวไทย มีศักยภาพในการพัฒนาสู่เชิงพาณิชย์ และผลประโยชน์ที่ได้รับทางสังคม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม โดยผู้ที่ได้รับรางวัลที่ 1 จะได้รับโล่พระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และเงินรางวัล 80,000 บาท รางวัลที่ 2 เงินรางวัล 40,000 บาท รางวัลที่ 3 เงินรางวัล 20,000 บาท และรางวัลชมเชย เงินรางวัล 10,000 บาท (2 รางวัล) รวมมูลค่ากว่า 300,000 บาท”

img_9559

ดร. สุเมธ ตันติเวชกุล(ที่3จากขวา) ถ่ายภาพร่วมกับบรรดาเจ้าของผลงานที่ได้รับรางวัลนวัตกรรมข้าวไทย

ผลการประกวดรางวัลนวัตกรรมข้าวไทยปีนี้  ผลงานที่ได้รับรางวัลชนะเลิศระดับอุตสาหกรรม ได้แก่  โครงการ “ขี้เถ้าแกลบเสริมฤทธิ์การชะลอการสุกของผลไม้” ของดร.กิตติ   เมืองตุ้ม รองผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ ร่วมกับบริษัท โรงสีข้าว ต.ประเสริฐ อุตรดิตถ์ จำกัด ซึ่งถือเป็นนวัตกรรมระดับโลกด้านผลิตภัณฑ์ขี้เถ้าแกลบเสริมฤทธิ์การชะลอการสุกของผลไม้ด้วยการปรับปรุงคุณสมบัติความเป็นรูพรุนของขี้เถ้าแกลบ โดยการใช้สาร Glycerol เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจับสารในรูพรุน และการใช้สารที่สามารถกักเก็บได้ในรูพรุนขี้เถ้าแกลบ จึงช่วยชะลอการสุกของผลไม้ได้

img_9555

จากการศึกษาพบว่าสามารถชะลอการสุกของกล้วยหอมได้ 2 สัปดาห์ ชะลอการสุกของทุเรียนได้ 2 สัปดาห์ และชะลอการสุกของลางสาดได้ 1 สัปดาห์ เป็นต้น ช่วงแรกเน้นกลุ่มเป้าหมายหลักคือกลุ่มผู้ส่งออกผลไม้ และเกษตรกร รวมทั้งการส่งจำหน่ายปลีกตามห้างและร้านค้าปลีก เพื่อกลุ่มผู้บริโภคผลไม้ ที่ต้องการเก็บไว้ได้นานโดยไม่ใส่ตู้เย็น ต้นทุนการผลิตอยู่ที่ 15 บาทต่อ 1 กิโลกรัม(ก.ก.) ราคาจำหน่ายแบบ Bulk 150 บาท/1 ก.ก.และราคาจำหน่ายบนห้างแบบขายปลีก 25 บาท / 1 กล่อง (บรรจุ 30 ซอง 1 ซองหนัก 2 กรัม) สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับขี้เถ้าแกลบประมาณ 10 เท่าโดยกลุ่มเป้าหมายหลักคือกลุ่มผู้ส่งออก ผลไม้ และเกษตรกร รวมทั้งการส่งจำหน่ายปลีกตามห้างและร้านค้าปลีก เพื่อกลุ่มผู้บริโภคผลไม้ ที่ต้องการเก็บผลไม้ไว้ได้นาน โดยไม่ใส่ตู้เย็น

รางวัลที่ 2   เป็นผลิตภัณฑ์ GREENMOM VEGETABLE & FRUIT WASHING LIQUID ของ คุณปิยมาศ  บุญชื่น และ คุณสุภัธตรา อารีย์พงศา บริษัท สยามเนเชอรัล โปรดักซ์ จำกัด  ซึ่งผลิตน้ำยาล้างผักและผลไม้ ที่ปราศจากสารเคมี ด้วยการทำปฏิกิริยา (Saponification) ของน้ำมันรำข้าวผสมกับด่าง ทำให้เกิดเป็นเกลือของกรดไขมัน (หรือเรียกอีกอย่างว่าสบู่ธรรมชาติ) สามารถชำระล้างคราบสกปรกที่ด่างทับทิมไม่สามารถล้างออกได้ง่ายขึ้น รวมถึงสารยาฆ่าแมลงและสารเคมีที่เคลือบอยู่บนผักและผลไม้ ที่เคลือบเป็นพิษบางๆ ยากต่อการล้างด้วยน้ำเปล่า จึงมีประสิทธิภาพในการชำระล้างได้ดี และมีความปลอดภัยสูงเนื่องจากผลิตจากน้ำมันรำข้าวด่างธรรมชาติ และน้ำเปล่า โดยไม่มีสารกันเสีย และสารเคมีอื่นๆ ตกค้าง หลงเหลือในผักและผลไม้หลังล้างด้วยน้ำยานี้

img_9550

ต้นทุนการผลิตอยู่ที่ 16.50 บาทต่อ 1 ขวด (250 ml.) ราคาจำหน่าย 99 บาท/ ขวด (250 ml.) สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับข้าวประมาณ 6 เท่า เป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภค และโรงงานอุตสาหกรรมอาหารที่มีการใช้ผักและผลไม้เป็นส่วนประกอบอาหาร

รางวัลชมเชย มีสองรางวัล คือ   เครื่องดื่มไรซ์เบอร์รี่ไซเดอร์ (READY TO DRINK RICEBERRY CIDER) ของคุณบรรชร คัดนัมพรเลิศ บริษัท ลณิชา อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เป็นนวัตกรรมระดับประเทศด้านผลิตภัณฑ์น้ำส้มสายชูหมักพร้อมดื่มจากข้าวไรซ์เบอร์รี่ โดยเริ่มจากการย่อยแป้งข้าวให้เปลี่ยนเป็นน้ำตาลด้วยเอนไซม์ แล้วนำมาหมักไวน์ด้วยเชื้อยีสต์ Saccharomyces cerevisiae sub. Kyokai ระยะเวลา 15-20 วัน ซึ่งสามารถผลิตแอลกอฮอล์ร้อยละ 16.05 และหมักน้ำส้มสายชูแบบวางนิ่งจากไวน์ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ด้วยเชื้อ A. aceti TISTR 345 สามารถผลิตกรดอะซิติกได้ร้อยละ 8 ภายในระยะเวลาทั้งหมด 9 วัน ปริมาณสารต้านอนุมูลอิสระเท่ากับ 363.15 µg/ml ตามวิธี ABTS และ 157.88 µg/ml ตามวิธี DPPH และพัฒนาสูตรน้ำส้มสายชูหมักพร้อมดื่มที่ผสมน้ำผลไม้

img_9556

ต้นทุนการผลิตอยู่ที่ 20 บาทต่อขวด ราคาจำหน่าย 35 บาท/ขวดสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับข้าวไรซ์เบอร์รี่ 35 เท่า ตลาดเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง ดังเห็นได้จากตลาดน้ำผลไม้ในปัจจุบันมีมูลค่า 1.2 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นกลุ่มน้ำผลไม้ 100% มูลค่า 4.5 พันล้านบาท กลุ่มน้ำผลไม้ 40-99% มูลค่า 700 ล้านบาท กลุ่มน้ำผลไม้ 20-40% มูลค่า 3.3 พันล้านบาท และกลุ่มซูเปอร์อีโค หรือน้ำผลไม้ที่ต่ำกว่า 20% มูลค่า 1.8 พันล้านบาท

รางวัลชมเชยอีกรางวัล คือ  “ริคคาดี้” ทอฟฟี่จากรำข้าวโปรตีนสูง ของ  คุณจงรัก  ธนูพันธุ์ชัย เจ้าของห้างหุ้นส่วนจำกัด ลูกจงรัก  อดีตเป็นอาจารย์สอนคหกรรมศาสตร์โรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคม จังหวัดพิษณุโลก   วัย62 ปี

img_9516

คุณจงรัก  ธนูพันธุ์ชัย และสามี

ถือเป็นนวัตกรรมระดับประเทศด้านผลิตภัณฑ์ลูกอมเคี้ยวหนึบโปรตีนสูง ที่ใช้โปรตีนจากรำข้าวหลังการบีบน้ำมันด้วยวิธีการสกัดเย็นเป็นส่วนผสม ซึ่งการใช้ส่วนผสมของน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยวและโมเลกุลคู่ผสมกันในอัตราส่วนที่เหมาะสม พร้อมกับการเลือกใช้ไขมันทั้งชนิดอิ่มตัวและไม่อิ่มตัว เพื่อกำจัดรสขมแล้วผ่านกระบวนการให้ความร้อนที่อุณหภูมิและเวลาที่เหมาะสมทำให้โมเลกุลจับตัวขึ้นใหม่จนเกิดโครงสร้างร่างแหที่ส่งผลทำให้เนื้อสัมผัสของผลิตภัณฑ์เคี้ยวหนึบและนุ่ม ไม่เละ หรือแตกร่วน ขณะที่ผลิตภัณฑ์ที่ได้มีโปรตีนสูง มีรสชาติ และเนื้อสัมผัสที่ผู้บริโภคให้การยอมรับต้นทุนการผลิตอยู่ที่ 6 บาทต่อซอง ราคาจำหน่าย 20 บาท / ซอง สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับรำข้าว 35 เท่า ด้านภาพรวมตลาดลูกอมในปี 2558 คาดว่าจะมีมูลค่า 8.20 พันล้านบาท หรือเติบโตร้อยละ 6-7 จากปีที่ผ่านมา แบ่งออกเป็นกลุ่มลูกอมเม็ดแข็งสัดส่วนร้อยละ 43 เติบโตร้อยละ 11.8 กลุ่มลูกอมเคี้ยวหนึบสัดส่วนร้อยละ 18 ลดลงร้อยละ 1.1 กลุ่มเยลลี่เคี้ยวหนึบ สัดส่วนร้อยละ 16 เติบโตร้อยละ 6.4 กลุ่มลูกอมอัดเม็ดสัดส่วนร้อยละ 14 เติบโตร้อยละ 2.2 และอื่นๆ ร้อยละ 9 เติบโตร้อยละ 8.4

คุณจงรักกล่าวว่า ปัจจุบันยังไม่มีวางจำหน่ายที่ไหน เพราะเพิ่งคิดค้นสำเร็จ  ช่วงแรกนี้จะทำขายในร้านของตัวเองที่จังหวัดพิษณุโลกก่อน  ซึ่งถือเป็นทอฟฟี่ชนิดเดียวที่มีโปรตีนจากรำข้าว ทานแล้วมีประโยชน์ คิดว่าน่าจะเป็นรายแรกของโลกก็ว่าได้

อดีตอาจารย์คหกรรมรายนี้เล่าว่า ที่บ้านทำนาแบบเกษตรอินทรีย์ และนำรำสดมาบีบน้ำมันแบบบีบเย็น และได้กากออกมา ซึ่งนำไปเลี้ยงปลาสลิด แต่มองว่ากากที่เหลือน่าจะเพิ่มมูลค่าได้มากกว่านี้ จึงคิดทำเป็นคุกกี้และทำทอฟฟี่  ซึ่งในส่วนของทอฟฟี่นั้นใส่กากรำข้าวมากถึง 10%

ส่วนผลงานที่ได้รับรางวัลชนะเลิศระดับวิสาหกิจชุมชน ได้แก่ โครงการ “ไรซ์เบอร์รี่ช็อคโกครัน” อาหารเช้าจากข้าวไทย ของวิสาหกิจชุมชนบ้านท่าทอง ร่วมกับอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ มหาวิทยาลัยราชภัฎพิบูลสงคราม โดยเป็นนวัตกรรมระดับประเทศด้านผลิตภัณฑ์ช็อคโกครันอาหารเช้าจากข้าวไรซ์เบอร์รี่ โดยการนำข้าวไรซ์เบอร์รี่มาผ่านกระบวนการให้ความร้อนทำให้เกิดกระบวนการเจลาติไนซ์ ด้วยปริมาณอะไมโลสสูงทำให้เม็ดข้าวแยกตัวออกจากกัน จากนั้นนำไปลดความชื้นและอบให้เกิดการพองตัว จากนั้นนำไปเคลือบผิวด้วยช็อคโกแลตเพื่อรักษาความกรอบของผลิตภัณฑ์ ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกใหม่ที่เข้ามาตอบสนองความต้องการของตลาดผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน

img_9513

 ดร. พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการ สนช. กล่าวว่า  ที่ผ่านมา สนช. ได้วางแนวทางการดำเนินงานที่จะยกระดับข้าวในเชิงพาณิชย์ “ข้าวไทย” จะไม่ได้เป็นเพียงสินค้าโภคภัณฑ์เท่านั้น แต่จะเป็นสินค้าเฉพาะที่มีมูลค่าเพิ่มสูงมาก และสอดคล้องกับความต้องการของตลาด โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์แปรรูปในกลุ่มอาหารสุขภาพ อาหารเพื่อความสะดวกสบาย และผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและยา ซึ่งยุทธศาสตร์นวัตกรรมข้าวของ สนช. ได้ถูกบรรจุอยู่ในยุทธศาสตร์ข้าวไทยปี 2560 – 2563 ที่จัดทำโดยกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์

ทั้งนี้ กว่า 10 ปีที่ผ่านมา สนช. ได้ให้การสนับสนุนผู้ประกอบการไทยที่ทำนวัตกรรมจากข้าวไปแล้ว 56 โครงการ มูลค่าการสนับสนุนประมาณ 60 ล้านบาท ก่อให้เกิดการลงทุนรวมกว่า 400 ล้านบาท ซึ่งการนำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มาประยุกต์ใช้กับผลผลิตด้านการเกษตรโดยเฉพาะ “ข้าว” สามารถสร้างให้เกิดเป็นธุรกิจใหม่ ตลาดใหม่ และแหล่งรายได้ใหม่ที่มากยิ่งขึ้น ลดโอกาสความผันผวนของราคา สามารถจำหน่ายให้ผู้ผลิตสินค้านวัตกรรม ในฐานะที่ข้าวเป็นวัตถุดิบสินค้านวัตกรรม ซึ่งเท่ากับเป็นการสร้างทางเลือกในการจำหน่ายผลผลิตให้กับเกษตรกร