สาวหนองคาย ปิ๊งไอเดียเปลี่ยนบ้านเป็นอาณาจักรสร้างงานแฮนด์เมด กิจกรรมดีๆ ชุมชนมีอาชีพ สร้างรายได้

หลังศึกษาจบด้านสื่อสารมวลชน จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง สาวผู้มีใจรักการ “ให้” ก็ใช้ชีวิตทำงานเพื่อสังคมกับมูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ โดยย้ายถิ่นฐานมาอยู่จังหวัดเชียงใหม่

และนี่จึงเป็นจุดหักเหให้สาวเมืองหนองคายผู้ใช้ชีวิตเผชิญอยู่ในกรุงเทพฯ นานหลายปี กลายเป็นคนเชียงใหม่ ลงหลักปักฐานสร้างอาชีพในพื้นที่แห่งนี้

ชาวบ้านมีรายได้
องค์กรอยู่ได้ด้วย

ด้วยหัวใจเต็มเปี่ยมไปด้วยการ “ให้” เธอจึงไม่ได้ยืนหยัดในพื้นที่นี้เพียงลำพัง แต่ได้ชักชวนเพื่อนๆ ร่วมทางฝัน จนบัดนี้บ้านของเธอกลายเป็นชุมชนคนสร้างอาชีพ อยู่ร่วมกันในอาณาจักรเล็กๆ ชื่อ “เวิ้งมาลัย”

คุณมาลัย สัญกาย หรือ คุณกุ้ง คือหญิงสาวเจ้าของ เวิ้งมาลัย ที่เรากล่าวถึง โดยเธอเล่าว่า หลังจากทำงานให้กับมูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ บวกกับคลุกคลีอยู่จังหวัดเชียงใหม่ โดยย้ายมาอยู่ตั้งแต่ปี 2541 ต่อมาจึงเลือกซื้อที่ดินในซอยวัดอุโมงค์ อำเภอเมือง ขนาด 136 ตารางวา ปลูกบ้านหลังขนาดพอเหมาะ

ต่อมา ทางมูลนิธิมีโครงการผลิตสินค้า ซึ่งหัวใจสำคัญข้อหนึ่งเพื่อช่วยเหลือชาวบ้านให้มีงานทำ ซึ่งจากการพูดคุยจึงเห็นพ้องต้องกันว่าสินค้านำมาจำหน่ายไม่ควรจงใจหรือบังคับให้ผู้ซื้อซื้อด้วยความจำใจ และจะทำอย่างไรให้สินค้านั้นขายได้ด้วยตัวเองและมีความต่อเนื่องในการซื้อขาย

ศักยภาพของคนเชียงใหม่ คือภูมิปัญญาด้านการประดิษฐ์ จึงเลือกทำงานที่ตอบโจทย์สร้างรายได้ให้กับชาวบ้านด้วยการผลิตเป็นงานผ้า แต่จะเน้นเป็นลักษณะผ้าชนเผ่า สีสันสดใส และในส่วนของสินค้ามีความหลากหลาย ทั้งของใช้ เครื่องแต่งกาย ของประดับตกแต่ง อาทิ ตุ๊กตา เสื้อผ้า ปลอกหมอน เป็นต้น

คุณกุ้ง หนึ่งในผู้ร่วมความคิดและผู้ถือหุ้นร่วมกับมูลนิธิ นำพื้นที่ส่วนหนึ่งในบ้านของตนเองสร้างร้านเล็กๆ ในชื่อ  “communista” ขึ้นมา จากนั้นนำผลิตภัณฑ์ที่ผลิตได้มาจัดเรียง กลายเป็นโชว์รูมให้ลูกค้าได้เข้ามาพบปะซื้อขายกัน แต่ทว่าในช่วงแรกนั้นช่องทางจำหน่ายยังคงเลือกเดินทางไปออกงานแสดงสินค้า ซึ่งก็ถือว่าประสบความสำเร็จ

ใส่ความต่างให้สินค้า
ส่งขายในเมืองท่องเที่ยว

สินค้าภายใต้แบรนด์ communista มีผู้สนใจสั่งซื้อไปจำหน่ายในเมืองท่องเที่ยวหลายๆ จังหวัด อาทิ พังงา กระบี่ ภูเก็ต ทำรายได้หลักแสนบาทต่อเดือน

“ลักษณะการขายของเรา แบ่งเป็น 3 ทาง คือ ขายส่ง ออกงานแสดงสินค้าปีละประมาณ 3 ครั้ง อย่างงาน บ้านและสวน ก็ถือว่าประสบความสำเร็จ และขายปลีกหน้าร้าน แต่ว่าเมื่อก่อนหน้าร้านไม่ได้เปิดทุกวัน เพราะลูกค้าส่วนใหญ่อยู่ที่อื่น ฉะนั้น หากลูกค้าเดินทางมาเชียงใหม่ก็จะโทรแจ้ง เราก็เปิดร้านให้เขาดูสินค้า”

ด้วยเพราะคุณกุ้งไม่มีความถนัดด้านโซเชียล บวกกับสินค้าหลากหลาย โดยแต่ละชิ้นล้วนมีเรื่องราวที่คุณกุ้งว่า ควรเล่าผ่านการพูดคุยมากกว่าบอกผ่านหน้าเพจเฟซบุ๊ก หรือช่องทางโซเชียลอื่นๆ เธอจึงให้ความสำคัญกับการพูดคุยกับลูกค้า ซึ่งแม้ใช้เวลานานกว่าจะเป็นที่รู้จัก แต่ทว่าก็ได้ใจลูกค้า ส่งผลกลายเป็นขาประจำกันยาวนาน

ปัจจุบัน ร้าน communista ได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบเปิดทำการทุกวัน (ยกเว้นวันพุธ) ซึ่งเหตุผลของการเปิดร้านแบบให้ลูกค้าได้รู้จักมากขึ้น นั่นเพราะ “ในปี 2010 คนเริ่มรู้จัก communista ตอนนั้นเราก็มีโครงการทำที่จอดรถ และห้องเก็บของ แต่พอทำเสร็จมันออกมาดีเกินคาด จนไม่คิดว่าจะทำเป็นเพียงแค่ที่จอดรถ และที่เก็บของ ประจวบเหมาะกับเพื่อนคนหนึ่งอยู่กรุงเทพฯ เขามีความฝันอยากมาสร้างร้านเล็กๆ ที่เชียงใหม่ ก็เลยชวนมาดูพื้นที่

กระทั่งตกลงอยู่ด้วยกัน โดยเปิดร้านขายขนม กาแฟและเครื่องดื่ม ในชื่อ “Paper Spoon” ซึ่งก็ทำให้บรรยากาศเปลี่ยนไป เริ่มมีลูกค้าเข้าออกทุกวัน เราจึงเห็นว่าถ้าอย่างนั้นก็เปิดร้าน communista ไปด้วยเลย

ให้เพื่อนมีพื้นที่ค้าขาย
สร้างอาชีพ สร้างชีวิต

จากสองร้านที่มีอยู่ในพื้นที่บ้านคุณกุ้ง เริ่มมีเพื่อนๆ อีกหลายคนสนใจ ซึ่งคุณกุ้งก็ชักชวนให้เดินตามฝันไปด้วยกัน กระทั่งปัจจุบันมีร้านค้า 4 ร้าน ห้องพัก 1 หลัง และแกลลอรี่อีก 1 ห้อง

“เพื่อนๆ ที่เข้ามาสร้างอาชีพที่นี่ แต่ละคนมีความฝันกับการสร้างร้านเล็กๆ มีอาชีพพอเลี้ยงตัวเองได้ อย่างเจ้าของร้าน Jintana ขายงานผ้าออกแนวญี่ปุ่น เป็นงานทำมือ งานถัก ก็เป็นหนึ่งในอาสาสมัครเข้ามาช่วยงานดูแลลูกค้าต่างประเทศ ซึ่งเขาก็มีความฝันอยากทำร้าน จึงชวนกันมา หรืออย่างเพื่อนสนิทอีกคน เขาเคยทำงานสารคดีเกี่ยวกับเด็กมาก่อน และมีความฝันอยากทำอะไรเกี่ยวกับเด็ก เราก็เสนอว่าลองมาทำที่นี่มั้ย เขาก็ตกลงใจ กุ้งจึงทุบห้องนอนให้เพื่อนเปิดร้าน Hand Room เริ่มผลิตจำหน่ายเสื้อผ้าเด็ก และต่อไปก็จะมีโครงการกิจกรรมต่างๆ เข้ามาเสริมด้วย”

กับการรวมตัวครั้งนี้ เหมือนคุณกุ้งได้คนคอเดียวกันมาร่วมทาง เพราะแต่ละคนมีความฝันในการสร้างอาชีพ มีร้านเล็กๆ ที่ตอบโจทย์หัวใจตัวเอง และเชื่อว่าจะมีคนหัวใจเดียวกันเข้ามาชื่นชมผลิตภัณฑ์ ฉะนั้น จึงแทบจะไม่มีใครเน้นสื่อโซเชียล แต่ทั้งนี้ข้อดีของจังหวัดเชียงใหม่ ที่ถือเป็นโอกาส คือเป็นเมืองท่องเที่ยว

“เชียงใหม่เป็นเหมือนเมืองที่คนในทุกจังหวัดต้องเดินทางมา และรวมไปถึงนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ และด้วยเราเปิดมานานแล้ว จึงกลายเป็นว่า เวิ้งมาลัย อยู่ในแผนรายชื่อที่เขาต้องมาเยือน ยิ่งมีร้านกาแฟ เป็นอะไรที่ตอบโจทย์คนยุคปัจจุบันอยู่แล้ว”

สินค้าขายตัวเองได้
ยั่งยืนได้ด้วยตัวเอง

คุณกุ้ง ยังกล่าวต่ออีกว่า “เราไปเรียนรู้เกี่ยวกับการทำแผนธุรกิจ เกี่ยวกับการตลาด แต่ด้วยส่วนตัวเป็นคนทำอะไรตามสัญชาตญาณตัวเอง แต่มีจุดมุ่งหมายชัดเจนนะ กุ้งมองว่าสินค้าต้องขายตัวมันเองได้จึงจะประสบความสำเร็จ ไม่ได้บอกนะคะว่าทำเล็กๆ แล้วดี แต่พลังและความสามารถมันคือเท่านี้ สำคัญคือต้องดูตัวเอง อย่าไปสร้างภาพว่าเล็กๆ แล้วดี อย่าหลอกตัวเอง ไม่นั้นมันก็จะเป็นได้แค่รูปแบบ ฉะนั้น คนที่มีพลังเยอะๆ แล้วทำให้สำเร็จกว่านี้ แบ่งปันได้เยอะๆ อันนี้น่าสนับสนุน”

รวมตัวกัน 4 ร้านค้าในเวิ้งมาลัยมาเป็นเวลา 7 ปี แต่ด้วยจำนวนเพื่อนผู้สนใจร่วมสร้างทางฝันจำนวนมากขึ้น จนวันนี้กว่าสิบชีวิตแล้ว ทุกคนจึงคิดสร้างโอกาสธุรกิจตอบโจทย์ให้เกิดความครอบคลุมกับความเป็นเมืองท่องเที่ยว ด้วยการวางโครงการผุดห้องพักเพิ่มอีก 4 หลัง

“เพื่อนคนหนึ่งได้ซื้อที่ดินติดกันนี้ จากนั้นก็มาคุยกันว่าเราน่าจะทำอะไรร่วมกัน ซึ่งถ้าทำเป็นร้านค้าก็คงมากเกินไป แล้วอะไรล่ะที่ตอบโจทย์รายได้ ทำให้เราทั้ง 12 คน ร่วมหุ้นกันได้ จึงมาลงตัวกับที่พัก ซึ่งที่ผ่านมามีแต่ลูกค้าสอบถามตลอด โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งสองสามปีหลังนี้คนเกาหลีจะเที่ยวเชียงใหม่เยอะมาก และถนนเส้นนี้จากเคยเงียบๆ เริ่มพลุกพล่าน ถือว่าเป็นโอกาส จึงวางแผนเปิดที่พัก คาดว่าจะเสร็จในปี 2561 นี้ โดยทำเป็นลักษณะบ้าน มีความเป็นส่วนตัว ราคาวางไว้ก็ไม่น่าจะเกินห้องละ 1,500 บาทต่อคืน”

ไม่เพียงเท่านั้นยังเพิ่มทางเลือกให้ลูกค้าด้วยเมนูอาหาร ซึ่งก็ได้เพื่อนที่มีความรู้ด้านการทำครัวมาเสริมในส่วนนี้

ลงแรงสร้างที่พัก
12 ชีวิตไปด้วยกัน

“การทำงานของเราทุกคนในวันนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อการอยู่ร่วมกัน ดูแลกัน ซึ่งเรามองภาพไปถึงตอนอายุหกสิบเจ็ดสิบ เราจะอยู่ดูแลกันอย่างไร ฉะนั้นเรื่องเงินอาจไม่ใช่คำตอบสูงสุด”

การให้ของคุณกุ้งนั้น ดูจะยิ่งใหญ่และเชื่อว่าคงได้ใจเพื่อนๆ ดังที่เธอกล่าวต่อว่า “แต่ละร้านที่มาเปิดในเวิ้งมาลัย กุ้งทำร้านให้เอง แต่เก็บค่าเช่าพื้นที่น้อยมาก เพราะมองว่าหลายๆ แห่งของย่านค้าขาย คนที่อยู่ได้คือผู้ให้เช่า แต่คนเช่าจะเป็นอย่างไรไม่รู้ ซึ่งกับกุ้งคิดแบบนั้นไม่ได้ เพราะคนที่มาอยู่ด้วยกันคือเพื่อน คือคนในครอบครัวเดียวกัน ฉะนั้นทุกคนต้องอยู่ได้”

คุณกุ้ง ยังกล่าวทิ้งท้าย ถึงแผนในอนาคตต่อยอดไปสู่การสร้างกิจกรรมดีๆ กับการจัดเวิร์กช็อปนอกพื้นที่ ด้วยการพากลุ่มนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะผู้เข้าพักได้เดินทางไปชมการปลูกข้าวและพืชผักออร์แกนิก ซึ่งเป็นสวนของเพื่อน สร้างการท่องเที่ยวแนวเกษตรธรรมชาติ และหากใครสนใจงานฝีมือ และกิจกรรมอื่นๆ ก็จะจัดไว้รอต้อนรับ ซึ่งกับโครงการดีๆ ที่จะเกิดขึ้นได้นี้ก็ด้วยการดึงศักยภาพของเพื่อนร่วมทางมาใช้ให้เกิดประโยชน์นั่นเอง

สนใจเดินทางเข้าไปเยี่ยมชม “เวิ้งมาลัย” ตั้งอยู่ เลขที่ 36/14 หมู่ 10 ตำบลสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ โทรศัพท์ (084) 004-7844