จากสาวโรงงานชามตราไก่ถูกเลิกจ้าง หันเขียน “ลายเบญจรงค์” ก่อนสร้างชื่อเสียงระดับโลก

หมู่บ้านเบญจรงค์ดอนไก่ดี อยู่ห่างจากเมืองหลวงเพียง  36  กิโลเมตร ตั้งอยู่ที่หมู่ 1 ตำบลดอนไก่ดี อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร

ว่ากันว่าชุมชนเล็กๆที่มีสมาชิกทุกเกือบ 200 คนแห่งนี้  ได้รับการกล่าวขานและยอมรับในระดับโลก ยกย่องให้เป็นแหล่งผลิตถ้วย-ชาม ลายคราม รวมถึงข้าวของเครื่องใช้ลายเบญจรงค์ ที่ฝีมือประณีตวิจิตรงดงาม อยู่ในลำดับต้นของประเทศ

แถมยังมีรางวัลการันตีจากหน่วยงานต่างๆมากมาย อาทิ  หมู่บ้านหัตถกรรมดีเด่น ,  สุดยอดหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ระดับ  5 ดาว มาตรฐานระดับสากล , ชุมชนดีเด่นด้านการท่องเที่ยว ฯลฯ

แม้ปัจจุบันภาพแห่งความสำเร็จดูจะเด่นชัด น่าชื่นใจ  แต่กว่าจะมาเป็น “หมู่บ้านเบญจรงค์ดอนไก่ดี” ในวันนี้ได้ หลายท่านอาจทราบดีว่า…ไม่ใช่เรื่องง่ายๆเลย

 คุณอุไร แตงเอี่ยม ประธานกลุ่มหมู่บ้านเบญจรงค์ดอนไก่ดี  ให้ข้อมูลในฐานะผู้บุกเบิกจัดตั้งชุมชนแห่งนี้  ย้อนความทรงจำถึงความเป็นมาให้ฟัง เมื่อครั้งเพิ่งเรียนจบชั้นประถมฯ 4   คุณพ่อ-คุณแม่ เคยมีอาชีพทำไร่ไถนา แต่ฐานะทางบ้านไม่สู้จะดีนัก จึงพากันไปสมัครเป็นคนงานในโรงงานทำชามตราไก่ ชื่อ “เสถียรภาพ” ซึ่งช่วงเวลานั้นจัดว่าใหญ่สุดในย่านอ้อมน้อย

งานที่เด็กหญิงวัยสิบขวบเศษ ได้รับมอบหมายในตอนนั้น เริ่มจาก เช็ด เคลือบ และเรียนรู้งานด้านเซรามิก ทำอยู่หลายปีมีความรู้พอตัว

พอแผนก “เขียนลาย”ขาดช่าง  เธอจึงย้ายไปประจำ แต่เนื่องจากเป็นงานยากที่ต้องฝึกฝนแบบค่อยเป็นค่อยไป จึงมีอาจารย์ถ่ายทอดวิชาให้ เป็นอาแปะจากเมืองจีนท่านหนึ่ง เป็นผู้สอนการเขียนลายคราม และอาจารย์สงวน รักมิตร เป็นผู้สอนการเขียนลายเบญจรงค์

ทำอยู่ในโรงงานเสถียรภาพ นานเกือบ 20  ปี กระทั่งพ.ศ.2525 กิจการมีอันต้องปิดตัวลง คนงานนับร้อยชีวิตถูกลอยแพจึงรวมตัวกันชุมนุมเรียกร้องเงินค่าชดเชย เดินเท้าเข้ากรุงเทพฯเพื่อประท้วง

“ระหว่างนั้นไม่มีงาน ต้องออกรับจ้างเขียนลายให้โรงงานแถววงเวียนใหญ่  พวกไปประท้วงก็พากันไป ใครได้เงินค่าจ้างมาจะแบ่งเป็นทุนไปช่วยพวกประท้วง  สรุปตอนท้ายได้ค่าชดเชยมาคนละไม่กี่บาท ประท้วงกันแทบตาย”คุณอุไร เล่าเสียงหม่น

 

ก่อนเอ่ยด้วยสีหน้าจริงใจ

“แต่ที่พวกเรามีวันนี้ได้ ต้องขอบคุณโรงงานเสถียรภาพที่ให้วิชาความรู้ติดตัว จนเกิดเป็นหมู่บ้านเบญจรงค์บ้านดอนไก่ดี”

แม้โรงานเสถียรภาพจะเลิกกิจการไป  แต่เธอไม่คิดหันไปทำงานอย่างอื่น เพราะไม่มีความรู้อะไร นอกจากการเขียนลาย-ลงสี ถ้วยชามลายคราม-ลายเบญจรงค์

เลยใช้วิชาที่มีอยู่ติดตัว รับงานจากโรงงานทั่วไป มานั่งเขียนลายอยู่ที่บ้านคนเดียว

ทำอยู่พักใหญ่ ตัดสินใจลงทุนด้วยเงินเก็บ 2 หมื่นบาท นำไปซื้อ “ของขาว หรือถ้วย-ชาม แจกัน เซรามิกสีขาวล้วน มาลงลวดลายตามถนัด ก่อนเรียกลูกหลานซึ่งตกงานอยู่เหมือนกัน มาช่วยกันสร้างงานตามแต่ใครจะมีความสามารถ

“ใครเคยอยู่โรงงานเสถียรภาพ คือ คนที่ตกงานหมด เลยชวนมามาหัดลงสี ใครทำไม่เป็น จะสอนให้ จากที่ทำอยู่นั่งคนเดียวกลายเป็น 4-5 คน กลายเป็น 20 คน  มาช่วยกัน ทำได้เท่าไหร่ขายได้หมด มีคนมารับซื้อถึงที่”คุณอุไร เล่าให้ฟังอย่างนั้น

และอาจเป็นเพราะช่วงเวลานั้น คนทำมีน้อย แต่ตลาดต้องการมาก ทำให้คนอยากเข้ามาเรียนรู้วิชากันมากขึ้น จำนวนคนทำจึงเพิ่มขึ้นตามลำดับ

กระทั่ง พ.ศ.2534 มีโครงการในพระดำริของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ฯ ที่ให้นำเด็กจากภาคใต้ที่ประสบภัยพายุไต้ฝุ่นเกย์ มาฝึกอาชีพการทำเซรามิก เขียนลายคราม-ลายเบญจรงค์ กับทางหมู่บ้านดอนไก่ดี

ทำให้เกิดการขยายงาน จากที่มีบ้านทำกันแค่หลังเดียว สุดท้ายขยายเป็น 5 หลังคาเรือนจวบจนปัจจุบัน ประกอบด้วย อุไรเบญจรงค์ หนูเล็กเบญจรงค์ ยืนยงเบญจรงค์ แดงเบญจรงค์ และสังวาลย์เซรามิก

ซึ่งแต่ละหลังจะมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่แตกต่างกันไป ยกตัวอย่าง  อุไรเบญจรงค์ จะเน้นทำลายโบราณสมัยรัชกาลที่ 2 เป็นต้น

“สินค้าของเราลวดลายแตกต่างกัน  ทำให้นักท่องเที่ยวเห็นความน่าซื้อ และไม่เคยหยุดยั้งการพัฒนารูปแบบ  มีทั้งแบบโบราณและแบบทันสมัยให้เลือกซื้อไปใช้ได้จริง”คุณอุไร บอกอย่างนั้น

 รวมตัวกันสร้างงานมานานหลายสิบปี มีชื่อเสียงขจรขจาย ได้การยอมรับยกให้เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของชุมชนเข้มแข็ง  คุณอุไร จึงเผยให้ฟังถึงวิธีบริหารจัดการว่า สมาชิกของกลุ่มหมู่บ้านเญจรงค์ดอนไก่ดี รวมตัวกันจากญาติพี่น้อง การบริหารจึงไม่ใช่เป็นรูปแบบสหกรณ์หรือบริษัทห้างร้าน แต่อยู่ร่วมกันแบบคนในครอบครัว มีอะไรต้องถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน

“ความสามัคคี ความเอื้ออาทรกันนั้น สำคัญมาก แม้จะมีการได้เปรียบเสียเปรียบกันบ้าง อย่างบ้านใครอยู่ข้างหน้า บ้านใครอยู่ข้างหลัง แต่ภาพรวมถือว่าดี นักท่องเที่ยวสามารถเดินดูสินค้าได้หมดทุกหลัง จอดรถบ้านนี้ซื้อของบ้านไหนก็ได้   ไม่มีกระเง้ากระงอดกัน พวกเราไม่ทะเลาะกันในเรื่องนี้”คุณอุไร อธิบาย

และว่าที่ผ่านมา จะย้ำให้ทุกหลังคาเรือน ยึดหลักสำคัญไว้ประการหนึ่ง คือ อย่าเอาแต่ขาย สินค้าทุกชิ้นต้องมีคุณภาพด้วย เพราะถ้าทำของออกมาไม่มีคุณภาพแล้ว นักท่องเที่ยวมาครั้งเดียวก็จบ

“แม้เศรษฐกิจไม่ดี แต่กลุ่มหมู่บ้านฯของเรายังอยู่ได้ คงเป็นเพราะงานของเราละเอียด คนซื้อเชื่อใจ แม้จะอยู่มานานกว่า 30 ปีแล้ว แต่ไม่เคยทำงานแบบสุกเอาเผากิน แม้แต่ชิ้นเดียว”คุณอุไร ย้ำหนักแน่น

ก่อนเผยถึงเป้าหมายของชุมชนด้วยว่า  จะสร้างความเข้มแข็งให้คงอยู่ต้อไป ควบคู่กันกับการพัฒนาสินค้าให้มีทั้งประสิทธิภาพและความหลากหลาย เพื่อเป็นจุดขายดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมชม-เลือกซื้อกันมากยิ่งขึ้น

“เมื่อปี 2552 ครั้งที่เสด็จมาทรงเยี่ยมกลุ่มหมู่บ้านของเรา สมเด็จพระเทพฯตรัสให้ช่วยกันอนุรักษ์งานที่ทำอยู่นี้ เพราะถือเป็นมรดกทางปัญญา หากไม่ช่วยกันสืบสานต่อ อาจสูญหายไปได้”คุณอุไร บอกด้วยน้ำเสียงซาบซึ้ง

ก่อนขอทิ้งท้ายไว้สั้นๆ

“ทุกวันนี้เรามาไกล…เกินฝันแล้ว”

หมู่บ้านเบญจรงค์ดอนไก่ดี  ตั้งอยู่บนเนื้อที่หลายไร่ ภายในประกอบด้วยเป็นที่พักอาศัยและสตูดิโอของ “คนสร้างงาน”ลายครามและงานเบญจรงค์ จำนวนนับร้อยชีวิต แบ่งออกเป็น 5 กลุ่ม ได้แก่   อุไรเบญจรงค์ หนูเล็กเบญจรงค์ ยืนยงเบญจรงค์ แดงเบญจรงค์ และสังวาลย์เซรามิก

และโชว์รูมหลายหลัง เปิดให้นักท่องเที่ยวเดินเลือกชม-ซื้อสินค้าได้ตามอัธยาศัย ทุกวันตั้งแต่แปดโมงเช้าถึงหกโมงเย็น

นอกจากนี้ยังมีโฮมสเตย์เรือนไทยหลังใหญ่ ภายใต้การดูแลของคุณอุไร แตงเอี่ยม ประธานกลุ่มหมู่บ้านฯ ที่คอยต้อนรับนักท่องเที่ยวทุกชาติทุกภาษา พร้อมกับกิจกรรมเปิดโอกาสให้บรรดาอาคันตุกะได้ลงสี เขียนลาย ลงบนถ้วย-ชามเซรามิก ด้วยตัวเอง ก่อนนำกลับไปเป็นที่ระลึกได้ด้วย

สำหรับโฮมสเตย์ อีกหนึ่งเสน่ห์ของหมู่บ้านเบญจรงค์แห่งนี้  รองรับแขกได้ราว 40 คน

ห้องนอนใหญ่พักได้ 8 ท่าน  ราคาท่านละ 350 บาท ห้องนอนเดี่ยว พักได้ 2 ท่าน ราคา 1,000 บาท ทั้งสองแบบมีอาหารเช้าแบบไทยๆไว้คอยบริการ

 ส่วนเส้นทางไปเยี่ยมชมกลุ่มหมู่บ้านเบญจรงค์ดอนไก่ดี จากกรุงเทพฯไปตามถนนพระราม 2 เลี้ยวซ้ายเข้าไปตัวจังหวัดสมุทรสาคร  สังเกตป้ายบอกทางไปอำเภอกระทุ่มแบน เข้าถนนสายเศรษฐกิจ

วิ่งมาประมาณ 12 กิโลฯ สังเกตทางซ้ายมือจะเห็นป้ายหมู่บ้านเบญจรงค์ดอนไก่ดี วิ่งไปอีกประมาณ 5 กิโลเมตร ผ่านสามไฟแดง มีที่จอดรถสะดวกสบาย บรรยากาศร่มรื่น