“คาร์นิวัล”แหล่งรวมสนีคเกอร์แบรนด์ดัง ปั้นยอดขายปีล่าสุดหลักร้อยล้าน!

ย้อนทบทวนสภาพเศรษฐกิจ ปี 2560 ที่ผ่านมา คนทำมาค้าขายในหลายๆวงการ ต่างออกมาพูดบ้าง บ่นบ้าง เป็นเสียงเดียวกัน ปีนี้ไม่ “เซ้ง-ลี้-ฮ้อ” เอาซะเลย

ไม่ว่าจะเป็นเจ้าเล็ก เจ้าใหญ่ หันไปทางไหนเห็นแต่หน้าจ๋อยๆ พวกที่ทุนหนาหน่อยอาจยังพอประคองกันไปได้

ส่วนพวก “สายป่านสั้น” ก็มีอันล้มหายตายจาก ต้อง“ม้วนเสื่อ”กลับบ้านไปตั้งหลักกันอยู่หลายราย

แม้บรรยากาศในการทำธุรกิจดังว่าจะส่งผลกระทบไปยังผู้ประกอบการจำนวนไม่น้อย

 

หากสำหรับ CARNIVAL (คาร์นิวัล) ร้านขายรองเท้าผ้าใบหรือเรียกให้ร่วมสมัยว่า รองเท้า“สนีกเกอร์”มัลติแบรนด์ แล้วหล่ะก็

บอกเลยว่า เรื่องที่จะ “ขายไม่ได้” หรือ “ขายไม่ดี”นั้น เป็นประเด็นไกลตัวสำหรับกิจการดังว่านี้เหลือเกิน

เพราะข้อมูลที่ได้รับมาจากซีอีโอหนุ่มไฟแรงนั้น เขายืดอกภูมิใจ ก่อนบอกเสียงดังให้ฟังกันชัดๆ

“เปิดมา 7 ปี ผลประกอบการน่าพอใจตั้งแต่ปีแรก ยิ่งเข้าปีที่ 3-4-5 ยอดขายโตแบบก้าวกระโดดเป็นเท่าตัว  ส่วนปีล่าสุดนี้ตัวเลขรายรับอยู่ที่เก้าหลักหรือหลักร้อยล้านบาท ครับ”

 แม้จะเป็นช่วงเวลาของบ่ายวันทำงาน แต่บรรยากาศภายในร้าน CARNIVAL สาขาสยามสแควร์ ซอย 11 ก็คึกคักไปด้วยลูกค้าทั้งชายหญิงหลากหลายวัย ทยอยกันมาเลือกชมสินค้ากันมาไม่ขาดสาย

“กิจการนี้เราลงกัน 3 หุ้น มีผมทำหน้าที่ซีอีโอและแบรดน์ไดเร็คเตอร์  พวกเราไม่เคยทำธุรกิจกันมาก่อน แต่ที่ชวนกันมาทำเพราะมีความชอบในรองเท้าสนีกเกอร์เป็นทุน ประกอบกับช่วงนั้นในเมืองไทยยังไม่มีร้านแนวนี้มากนัก เพราะยังไม่ใช่แฟชั่นกระแสหลัก ช่วงนั้นน่าจะเป็นแนววินเทจ สตรีทแฟชั่นยังไม่บูมเท่าทุกวันนี้”คุณปิ๊น – อนุพงศ์ คุตติกุล ซีอีโอวัย 36 ปี เจ้าของบุคลิกคล่องแคล่วมั่นใจ เริ่มต้นบทสนทนาด้วยการย้อนไปเมื่อครั้งเริ่มต้นธุรกิจเมื่อปี 2010

ก่อนแนะนำตัวให้รู้จักกันมากขึ้น  จบปริญญาตรีจากคณะบริหารธุรกิจ ที่มหาวิทยาลัยมหิดล ก่อนไปศึกษาต่อระดับปริญญาโท สาขา อี-คอมเมิร์ซ ที่อังกฤษ ช่วงเรียนอยู่ต่างประเทศ เพื่อนสนิทอีกสองคน ซึ่งต่อมาได้เป็นหุ้นส่วนในกิจการนี้ มีนิสัยชอบซื้อและชอบสะสมรองเท้าเหมือนกัน ช่วงว่างมักไปศึกษาแต่ละร้านว่ามีการจัดการเป็นยังไง กระทั่งเกิดความ คิดถ้ากลับมาเมืองไทยอยากมีร้านรองเท้าแบบนั้นบ้าง

“ที่เมืองนอกมีร้านรองเท้าที่ขายรุ่นหายาก คิดอยากให้เมืองไทยมีบ้าง เลยชวนกันมาลงหุ้นเปิดร้านแรก เป็นร้านเล็กๆอยู่ในตึกสยามกิจ สยามสแควร์ ขนาดแค่สิบตารางเมตร ลงทุนกันไม่เยอะเลย สามคน คนละไม่ถึงล้านบาท ตอนนั้นเราติดต่อตัวแทนจำหน่ายในเมืองไทย เริ่มจากการขายแบรนด์เดียวก่อน คือ คอนเวิร์ส เลยใช้ชื่อร้านว่า คอนเวิร์ส คาร์นิวัล”คุณปิ๊น ย้อนความทรงจำ เมื่อราว 7 ปีที่ผ่านมา

และว่า เปิดร้านเพื่อ “คนรักคอนเวิร์ส” โดยเฉพาะได้ไม่นาน ผลประกอบการเริ่มดีขึ้นตามลำดับ ใครที่อยากมองหารองเท้าแบรนด์ดังว่า ต้องมามองหาร้านของเขาเป็นอันดับแรก เจ้าของกิจการ จึงเริ่มมองเห็นช่องทางทำกำไรที่มากขึ้น ด้วยเหตุผลหลายประการประกอบกัน

“เราขายคอนเวิรร์ส ให้หลายคนรู้จักร้านเราและค่อนข้างมีชื่อเสียงแล้ว จึงคิดอยากขยายร้าน ให้เป็นร้านสนี๊คเกอร์ ระดับโลก  ที่เห็นในต่างประเทศ ซึ่งร้านชั้นนำเหล่านั้น เขาไม่สามารถขายแบรนด์เดียวได้ จำเป็นต้องเป็น มัลติ แบรนด์ โดยต้องมีแบรนด์หลักๆ ชั้นนำของโลกรวมอยู่ ฉะนั้นแบรนด์ชั้นนำ มันก็จะขาด ไนกี้ อาดิดาส แวนส์ โอนิซูกะ ไทเกอร์ส์  ไม่ได้”คุณปิ๊น บอกมาอย่างนั้น

 เมื่อตัดสินใจปรับ “จุดขาย”มาเป็น “มัลติ แบรนด์” สิ่งแรกที่ต้องทำนั้น คือ การติดต่อเจ้าของสินค้าต้นทางแบรนด์ดังทั้งหลาย มาจำหน่ายในร้าน โดยเริ่มจาก แวนส์ ,โอนิซึกะ ไทเกอร์.ไนกี้ และ อาดิดาส

แต่กว่าจะได้ “ของมาขาย” ในร้านใหม่ที่ใช้ชื่อ ว่า “CARNIVAL” (คาร์นิวัล) นั้น คุณปิ๊น บอกเลยไม่ใช่เรื่องง่าย คือ ไม่ใช่แค่ “มีทุน” ก็จะซื้อได้ เพราะแบรนด์ต้นทาง จะต้องพิจารณา “โปร์ไฟล์”ของคู่ค้าอย่างร้านของเขาด้วยว่า ที่ผ่านมาทำอะไรสำเร็จมาบ้าง เคยนำเสนอสินค้าในลักษณะใดบ้าง

อย่างไรก็ ตามปัจจุบันร้านของเขา มีแบรนด์ “หัว-หัว” ในตลาดครบทุกแบรนด์แล้ว

“ตอนแรกใช้ขื่อร้านว่า คอนเวิร์ส คาร์นิวัล เพราะอยากให้ออกมาเป็นเหมือนสวนสนุก  เป็นร้านที่รวบรวมคอนเวิร์สจากทั่วโลก พอเริ่มมาขายหลายแบรนด์มากขึ้น ก็ตัดคอนเวิร์สออก เหลือคาร์นิวัล อย่างเดียว แต่ยังเป็นสถานที่ที่เข้ามาแล้วสนุกสนาน มีแต่ของตื่นตาตื่นใจ”คุณปิ๊น บอกยิ้มๆ

พูดถึงความ “ตื่นตาตื่นใจ” อาจเป็นที่รับรู้กันดีในแวดวง “คนรักสนีกเกอร์” ว่าร้านแห่งนี้ มักสร้างสีสันกระทั่งถึงขั้นกลายเป็นปรากฎการณ์ ด้วยการนำ “รุ่นเอ็กซ์คลูซีฟ” หรือ “รุ่นลิมิเต็ด เอดิชั่น” ของแต่ละแบรนด์มาเสนอขายเป็นระยะ ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อ “ของดี มีน้อย” แต่ความต้องการมีมากกว่า ภาพของการต่อคิวยาวเหยียด หรือการยื้อแย่งกันราวกับแจกฟรี จึงถูกนำเสนอผ่านโลกโซเชียล สร้างกระแสฮือฮามานักต่อนักแล้ว

เกี่ยวกับประเด็นนี้ คุณปิ๊น มีคำอธิบายว่า

“การผลิตสนีกเกออร์ออกมาแบบจำนวนจำกัด เป็นการตลาดของแต่แบรนด์ ซึ่งทำกันมานานนับสิบปีแล้ว การต่อคิวซื้อไม่ใช่มีแค่เมืองไทยอย่างเดียว ต่างประเทศเป็นเหมือนกัน สมมติ มีรองเท้ารุ่นลิมิต็ด 50 คู่ต่อรุ่น  แต่มีคนอยากได้ 1 พันคน แล้วราคาขายต่อมันขึ้นจากคู่ละห้าพันบาท พอออกไปนอกร้านขายได้ทันทีหมื่นนึงหรือหมื่นห้า คนมาต่อคิวจึงมีทั้งอยากใส่เองและซื้อไปทำกำไร”

เมื่อกระซิบถามถึงผลประกอบการที่ผ่านมาจนถึงล่าสุด ซีอีโอหนุ่มท่านเดิม ยิ้มน้อยๆก่อนบอกเสียงเรียบ

“น่าพอใจตั้งแต่ปีแรก ผลประกอบการดีขึ้นทุกปี  ปีที่ 3-4-5 กระโดดขึ้นเป็นเท่าตัวตลอด ส่วนตัวเลขปีล่าสุด รายรับเก้าหลักหรือหลักร้อยล้านครับ ส่วนกำไรมากน้อยแต่ละปีอาจไม่เท่ากัน เพราะหลัง จากเริ่มขยายสาขา ค่าเช่าร้านนับเป็นค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง เนื่องจากเราเลือกเปิดในทำเลเกรดเอขึ้นไป ทั้ง 6สาขา ล้วนอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ชั้นนำของกรุงเทพฯ”

 ใช้เวลาในการสนทนามาได้ราวครึ่งชั่วโมง สังเกตไปรอบร้าน ยังไม่เห็นทีท่าลูกค้าจะบางตา ทว่า “ยิ่งตกเย็น คนยิ่งเยอะ” อดถามไถ่ไม่ได้ว่าทำไมร้านนี้ขายดีเหลือเกิน คุณปิ๊น นั่งนึกครู่หนึ่ง ก่อนวิเคราะห์ว่า  เศรษฐกิจทั้งในและประเทศโดยรวมอาจไม่ดีก็จริง  แต่คิดว่าน่าจะกระทบเฉพาะคน “ระดับล่าง”อยู่ ขณะที่กลุ่มลูกค้าของร้านเขานั้นค่อนข้างเป็น “ระดับบน” ซึ่งอาจจะมีผลกระทบจากเศรษฐกิจบ้าง แต่เนื่องด้วยสินค้าที่ผลิตออกมานั้นอาจจำนวนจำกัดจริงๆ แล้วกระแสคนแต่งตัวแนว “สตรีท แวร์ “ หรือ “สปอร์ แวร์”ยังบูมอยู่ กำลังซื้อ และความต้องการซื้อ จึงยังมีอยู่ไม่น้อย ยอดขายเลยไม่ตก

ประกอบกับ “เทรนด์สุขภาพ”  หรือ “เทรนด์ของกีฬา” กำลังมา ฉะนั้นรองเท้าผ้าใบที่เชื่อมโยงกับการเล่นกีฬา ที่ใส่สบายจะมาด้วยกัน แถมทุกวันนี้คนออกไปวิ่งกันเยอะ เขาอาจอยากได้รองเท้าผ้าใบแบรนด์ที่เขาใส่ไปวิ่ง มาสวมใส่ในวันธรรมดาด้วย เลยเป็นตัวเสริมขึ้นไปอีก

เมื่อถามถึงเรื่องคู่แข่ง คุณปิ๊น ส่ายหัวเล็กน้อย ก่อนบอกด้วยด้วยความมั่นใจ  คนที่อยากเปิดธุรกิจแบบนี้ ต้องผ่านการยอมรับจากแบรนด์ต้นทาง ซึ่งเป็นเรื่องไม่ง่ายนัก ฉะนั้นประเด็นคู่แข่งทางธุรกิจนี้ จึงไม่ใช่เรื่องน่าหนักใจแม้แต่นิดเดียว เพราะไม่ว่าใครจะเข้ามาในตลาดเดียวกัน เขาจะโฟกัสตัวเองเป็นหลักว่าจะสื่อสารกับลูกค้าอย่างไร และกำลังจะเสนอะไรให้ลูกค้า และสุดท้ายลูกค้าจะเป็นคนตัดสินใจเองมากกว่า

เกี่ยวกับอุปสรรคปัญหาในการทำธุรกิจนี้มีมากน้อยแค่ไหน เจ้าของกิจการท่านเดิม เผยให้ฟังว่า น่าจะเป็นเรื่องของการติดต่อกับแบรนด์ต้นทาง เพราะเรานำสินค้าคนอื่นมาขาย จึงไม่สามารถควบคุมทุกอย่างได้ อย่าง รุ่นลิมิเต็ด ผลิตมาน้อย ก็มีขายแค่นี้ ไม่สามารถนำมาขายเยอะๆได้

นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการจัดการกับลูกค้า ให้เกิดความเข้าใจตรงกัน เช่น บางครั้งของมาน้อย ลูกค้าไม่เข้าใจ อาจมีมาต่อว่า เราก็ต้องพยายาม สื่อสารให้ลูกค้าเข้าใจให้ได้

“เรื่องทำความเข้าใจกับลูกค้า ถือว่าเป็นเรื่องยากเหมือนกัน เคยมีเคสหนักๆ เช่น เกิดกระแสดราม่าใน      เฟซบุ๊ก เข้ามาต่อว่า เวลามาจับสลากรองเท้าไม่ได้  ทำไมของมาน้อย หรือ ต่อว่าการจับสลากแบบนี้ไม่แฟร์นะ แม้แต่งานเซลล์ ลูกค้ามารอห้าพันคน ที่เซ็นทรัลเวิร์ลด เราให้เข้าได้แค่ 1,500 คน ก็โดนต่อว่า หรืออย่างของมีอะไรบ้างโปรโมตไป พอเข้ามาของหมดแล้ว ลูกค้าก็ว่าอีก หมดแล้วโปรโมตทำไม ซึ่งเรามีอะไรมาขายก็ต้องโปรโมต แต่มันหมดไปแล้วกลับโดนต่อว่า เหล่านี้เป็นปัญหาที่เราต้องสื่อสารกับลูกค้าให้เข้าใจ”คุณปิ๊น เล่าให้ฟังอย่างนั้น

สุดท้ายถามถึงเป้าหมายทางธุรกิจ คุณปิ๊น บอก อยากยกระดับสินค้าที่นำวางขายให้สูงขึ้นไปอีก อยากนำรุ่นที่มีวางขายเฉพาะบางประเทศมาขายในร้านของเขา อยากทำให้แบรนด์ต้นทางรู้ว่า ลูกค้าของ CARNIVAL นั้น  “คูล”ไม่แพ้ประเทศไหนในโลกเหมือนกัน