เปิดกลยุทธ์ธุรกิจนมวัว ผลิตเท่าไหร่ไม่เคยพอขาย เติมนวัตกรรมลงขวด

 

นับเป็นผู้บุกเบิกนมออร์แกนิกเจ้าแรกในประเทศไทย และเป็นผู้ผลิตนมที่มีนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง สำหรับ “แดรี่โฮม” แบรนด์ผลิตภัณฑ์นมโคออร์แกนิกที่คนไทยรู้จักมายาวนานเกือบ 2 ทศวรรษ ธุรกิจผลิตน้ำนมขนาดเล็ก แต่สินค้าไม่เคยพอขาย ยืนหยัดอยู่ได้ท่ามกลางเจ้าตลาดรายใหญ่ทั้งในและต่างประเทศ ก่อตั้งโดย คุณพฤฒิ เกิดชูชื่น

บุกเบิก นมออร์แกนิก ตั้งแต่ปี 2542
รับซื้อให้ราคาดีกว่าตลาด

ก่อนรับบทบาทเป็นเจ้าของธุรกิจ คุณพฤฒิเคยเป็นนักวิชาการสอนปรับปรุงพันธุ์โคนม ที่องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย และเคยทำงานอยู่ที่ฟาร์มโคนมไทย-เดนมาร์ค เก็บเกี่ยวประสบการณ์ด้านฟาร์มโคนมมายาวนาน 10 กว่าปี กระทั่งปี 2535 เขาลาออกจากงานประจำ เพื่อมาสร้างฝันให้เป็นจริง นั่นคือ อาณาจักรฟาร์มโคนมออร์แกนิก

“งานประจำมีข้อจำกัดหลายอย่าง ประกอบกับผมฝันไว้ว่าอยากทำธุรกิจส่วนตัว หลังจากที่ลาออกจากงานในช่วงแรกร่วมหุ้นกับเพื่อนปลูกหญ้าให้วัวกิน แต่เจอปัญหาฝนแล้ง เกษตรกรไม่รับซื้อ เจอภาวะขาดทุน หลังจากปลูกหญ้าขายได้ 4 ปี หันไปจำหน่ายอาหารวัวสำเร็จรูป รายได้พอประคองตัว”

การเข้าไปอยู่ในวงการโคนม คุณพฤฒิ บอกว่า ทำให้รู้ถึงปัญหาของเกษตรกรที่เลี้ยงวัว รายได้น้อย รายจ่ายเยอะ ส่วนใหญ่เป็นค่ายา ค่าอาหาร และกระแสเอฟทีเอ (ข้อตกลงเขตการค้าเสรี) เกิดความคิดอยากช่วยเหลือ ในปี 2542 ค้นพบว่า การเลี้ยงโคนมวิถีธรรมชาติ ไม่ใช้สารเคมีและยาปฏิชีวนะ คือ ทางรอดของเกษตรกรไทย

“ปี 2542 แดรี่โฮม ถือกำเนิดขึ้นด้วยการจำหน่ายนมในขวดแก้ว น้ำนมที่ใช้เป็นนมออร์แกนิก ซื้อจากฟาร์มโคนมที่รู้จักกันให้ราคาสูงกว่าท้องตลาด จากนั้นนำมาผ่านกระบวนการฆ่าเชื้อ แต่ละวันรับนมเพียง 10 ลิตร จากนั้นขยับเพิ่มเป็น 100 ลิตร หลังกระแสการตอบรับดี ส่งเสริมเกษตรกรหน้าใหม่ให้เลี้ยงวัวออร์แกนิก เพราะนอกจากประหยัดต้นทุน น้ำนมยังขายได้ราคาสูงกว่าตลาดประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์”

เลี้ยงวัววิถีธรรมชาติ
ให้นมน้อยแต่ยั่งยืน

การจะเปลี่ยนพฤติกรรมเกษตรกรให้มาเลี้ยงวัวออร์แกนิกไม่ใช่เรื่องง่าย คุณพฤฒิ เผยว่า พยายามเอาข้อเท็จจริงมาบอกกล่าวกัน ยกตัวอย่าง วัวกินอาหารในฟาร์ม 50 เปอร์เซ็นต์ อาหารเสริม อาหารเร่งอีก 50 เปอร์เซ็นต์ ทำให้วัวมีน้ำนมมากขึ้น แต่เนื่องจากเต้านมวัวมีพื้นที่จำกัด ใส่นมได้เต็มที่ 20 ลิตร เมื่อเจออัดอาหารมากๆ ร่างกายสร้างน้ำนมมากจนล้น เวลารีดนมจะไหลออกมาปนกับขี้ดินขี้โคลน แล้วก็อาจจะไหลย้อนกลับเข้าไป เป็นเหตุให้เกิดโรคเต้านมอักเสบ

การเลี้ยงแบบออร์แกนิก คือ ให้วัวกินอาหารตามธรรมชาติ หญ้าต้องปลอดสารเคมี แล้วค่อยเสริมด้วยอาหารข้น ข้อดี วัวแข็งแรง น้ำนมเข้มข้น เต็มไปด้วยวิตามิน โปรตีน และไขมัน รสชาติอร่อย ข้อเสีย ปริมาณนมลดลง จากปกติวัว 1 ตัว ให้นม 20 กิโลกรัม เลี้ยงระบบออร์แกนิก นมลดลงเหลือ 12 กิโลกรัม แต่สิ่งที่ยั่งยืนและเห็นผลชัดเจนคือ กำไรเพิ่มขึ้นจากต้นทุนค่าอาหาร ค่ายา เกษตรกรไม่ต้องเสียเงินซื้อ อายุขัยเฉลี่ยวัวเพิ่มขึ้นจาก 8 ปี เป็น 15 ปี วัวใช้ชีวิตอย่างมีความสุข ป่วยน้อยลง

คุณพฤฒิ อธิบายเรื่องสุขภาพแม่วัว หากเจ็บป่วยจำเป็นต้องใช้ยาจริงๆ ให้จับแยกออกไปจากฝูงก่อน เมื่อหายจึงนำกลับเข้ามารีดนมอีกครั้ง ถ้าเป็นโรคเต้านมอักเสบ วิธีการที่ง่ายคือ ขยันรีดนมบ่อยๆ วันละ 3-4 หน เพิ่มภูมิคุ้มกันด้วยสมุนไพร อาทิ หญ้างวงช้างต้ม หรือต้นสาบเสือ ซึ่งมีฤทธิ์ทางแก้อักเสบอยู่ ลดการใช้ยาปฏิชีวนะลงไปได้

ถ้าเจอปัญหาเห็บ แมลง ใช้สมุนไพรกลิ่นแรง อย่าง ขิง ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด นำมาหมักเป็นน้ำสมุนไพรชีวภาพไปฉีดพ่นบนตัวโคนมแทนสารเคมีได้ 100 เปอร์เซ็นต์ หรือจะเสริมด้วยวิธีเลี้ยงไก่ควบคู่ไปด้วย ไก่จะจิกกินเห็บ ไข่หนอน แมลงวัน

สร้างจุดขาย เพิ่มฟังก์ชั่น
นมก่อนนอน นมเปรี้ยวฟันดี

ในปี 2544 นมขวดแดรี่โฮมเริ่มขายดี จากกิจการโฮมเมดขนาดเล็ก เริ่มใช้เครื่องจักรขยายกำลังการผลิตมากขึ้น จวบจนปี 2547 รัฐบาลไทยประกาศจะทำเอฟทีเอกับนิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย เรื่องการนำนมเข้าจากต่างประเทศ อีกทั้งในปี 2568 สามารถนำเข้าผลิตภัณฑ์นมจากต่างประเทศได้ไม่จำกัด

“ผมเห็นอนาคตอาชีพเกษตรกรโคนมไทย เพราะถ้าเปิดกำแพงการค้าเสรีสองประเทศนี้ น้ำนมจะทะลักเข้ามาในเมืองไทย เกษตรกรเลี้ยงวัวแย่แน่ๆ ปัจจุบันในปี 2561 ต้นทุนน้ำนมดิบบ้านเรา ลิตรละ 18 บาท แต่ต้นทุนน้ำนมที่นิวซีแลนด์ 14 บาท เกษตรกรไทยจะสู้ต่างชาติได้อย่างไร วิธีแก้ไข ทางเดียวที่จะรอดต้องเป็นออร์แกนิกเท่านั้น”

คุณพฤฒิ เชื่อว่าทางรอดเดียวของเกษตรกรโคนมไทย คือ ต้องทำแบบอินทรีย์เท่านั้น ทุกวันนี้ ทางแดรี่โฮมรับซื้อน้ำนมจากเกษตรกรเครือข่ายในแต่ละวันประมาณ 60,000–70,000 ลิตร ราคาลิตรละ 23.40 บาท ถูกแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพื่อจำหน่ายให้กับผู้บริโภค ทั้งร้านอาหารของแดรี่โฮมเอง ร้านสะดวกซื้อ ห้างสรรพสินค้า

“สินค้าของเราไม่เคยพอขาย แต่ทางโรงงานไม่สามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้ เพราะวัตถุดิบไม่พอ และตั้งแต่เปิดตัวผลิตภัณฑ์มา ไม่เคยทำโฆษณา อาศัยลูกค้าบอกต่อนานเกือบ 20 ปี”

สำหรับผลิตภัณฑ์นมของแดรี่โฮม มีนม 23 รายการ และโยเกิร์ต 16 รายการ ถูกบรรจุในระบบพาสเจอไรซ์ อาทิ นมปรุงแต่งรสหวาน รสช็อกโกแลต กลิ่นสตรอว์เบอร์รี่ รสข้าวโพด รสกล้วยหอม รสบัตเตอร์สก๊อตช์ โยเกิร์ตสด พร้อมดื่ม สูตร Synbiotic ไม่มีน้ำตาล แต่ที่ฮือฮาและขายดี คือ นมก่อนนอน

“แดรี่โฮม ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส) และโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ นมก่อนนอน (Bedtime Milk) ที่มีระดับสารเมลาโทนินธรรมชาติสูง ซึ่งช่วยให้นอนหลับสนิทสามารถพักผ่อนได้อย่างเต็มที่ สมองได้รับการผ่อนคลายจากความเครียด รวมถึงยังมีไขมันต่ำ ดื่มได้ทุกวันก่อนนอน เหมาะสำหรับผู้สูงอายุที่มักมีปัญหาการนอนไม่หลับ”

โรงงาน Zero Waste
สร้างเครือข่ายนมออร์แกนิกไม่สิ้นสุด

นมก่อนนอน เป็นสินค้าที่ขายดีที่สุด และล่าสุดในปีนี้ “แดรี่โฮม” ทุ่มงบ 20 ล้านบาท ผลิตนม FUN D (ฟัน ดี) โยเกิร์ตพร้อมดื่มจากเชื้อโปรไบโอติกที่สามารถควบคุมเชื้อแบคทีเรียสาเหตุของอาการฟันผุ ราคาขายขวดละไม่เกิน 20 บาท ขนาด 100 มิลลิลิตร

แดรี่โฮม ร่วมกับ ศ.รวี เถียรไพศาล คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ คัดเลือกสายพันธุ์จุลินทรีย์ต้านเชื้อก่อฟันผุ เพื่อใช้เป็นโปรไบโอติกเสริมสุขภาพช่องปาก กระทั่งสามารถนำมาต่อยอดในเชิงพาณิชย์ได้ในที่สุด”

คุณพฤฒิ กล่าวว่า นมเปรี้ยวฟันดีมีจุลินทรีย์โปรไบโอติกเป็นตัวหลัก พร้อมทั้งเสริมไบโอติกเกี่ยวกับลำไส้และท้องเข้าไปด้วย ทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่ดีต่อร่างกายและป้องกันฟันผุไปในตัว จึงมีลักษณะความเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสังคมอยู่ในตัว เพราะช่วยลดค่าใช้จ่ายให้กับครอบครัวในระยะยาว โดยทำให้เด็กฟันไม่ผุและมีสุขภาพดีขึ้น

นอกจากให้ความสำคัญกับกระบวนการเลี้ยงวัว ทางโรงงานยังเป็น Zero Waste ไม่ปล่อยของเสียเพราะ “แดรี่โฮม” ดูแลสิ่งแวดล้อมครบวงจร โดยแยกขยะที่สามารถรีไซเคิลได้ ให้พนักงานเอาไปขายเป็นรายได้เสริม ขยะอาหารนำไปเลี้ยงสัตว์ มีโรงงานไบโอดีเซลขนาดเล็ก เพื่อนำน้ำมันที่เหลือจากการทอดอาหาร นำไปผลิตน้ำมันดีเซลเติมรถปิกอัพสำหรับส่งนม

นับจากนี้ไปอีก 5 ปี สิ่งที่ผู้บริหารในวัย 56 ปี อยากลงมือทำ คือ การสร้างเครือข่ายเกษตรกรโคนม ออร์แกนิกให้มากที่สุด เพราะปัจจุบันฟาร์มโคนมในประเทศไทยมีประมาณ 16,000 ฟาร์ม มีเพียง 25 ฟาร์ม ที่เลี้ยงวัวด้วยวิถีธรรมชาติ

 

หมายเหตุ  สงวนลิขสิทธิ์ทั้งภาพและเนื้อหา ห้ามนำไปใช้โดยมิได้รับอนุญาต