กูไลคุนนิงอิกัน แกงเหลืองปลาชาวทะเล

แกงใต้ กับ แกงมลายู นั้น คล้ายกันมาก เช่น “กูไลคุนนิงอิกัน” (Gulai kuning ikan) บางทีเรียกว่า “ฆูลากูนิงอิกัน” แล้วแต่ท้องที่และสำเนียง คือ แกงเหลืองปลาของชาวมลายูและอินโดนีเซีย ซึ่งคล้ายแกงเหลือง (แกงส้ม) แบบปักษ์ใต้บ้านเราแต่จะใส่กะทิ โดยมากนิยมแกงด้วยปลาทะเล เช่น ปลาอินทรี ปลาโอ ปลากะพง และปลาแดง เป็นต้น ถ้าเป็นปลาตัวเล็กก็แกงทั้งตัวหรือหั่นครึ่ง ถ้าปลาตัวใหญ่ก็แล่เป็นชิ้น คราวนี้เราจะแกงด้วยปลาอินทรี (Ikan tenggiri) ค่ะ

เครื่องแกงก็มีไม่กี่อย่างไม่ซับซ้อน ได้แก่ พริกชี้ฟ้าแดงแห้ง พริกขี้หนูแห้ง หอมแดง กระเทียม ขมิ้น และกะปิ นำไปตำให้ละเอียด สำหรับชาวมลายูนิยมนำไปปั่นในครกไฟฟ้าโดยเติมน้ำลงไปให้พอเหลว เมื่อปั่นแล้วก็เทพริกแกงลงหม้อ  ใส่กะทิ นำขึ้นตั้งไฟ บุบตะไคร้ลงไป ใส่ส้มแขกเพื่อให้รสเปรี้ยวเช่นเดียวกับแกงใต้ของเรา อาหารของชาวมลายูโดยมากจะใช้ส้มแขก (Asam keping) และมะขามเปียก (Asam jawa) เป็นหลักเพื่อให้รสเปรี้ยว นอกจากนี้ยังใช้ตะลิงปลิง (Belimbing) ด้วย ถ้าไม่มีส้มแขกก็ใส่น้ำมะขามเปียกหรือตะลิงปลิงได้ค่ะ

ปรุงรสด้วยเกลือสมุทรและน้ำปลา ตัดรสด้วยน้ำตาลโตนดนิดหน่อย อย่าใส่มากจะเสียรส ฉีกใบมะกรูดใส่ลงไปให้หอมๆ เมื่อน้ำแกงเดือดก็ใส่ชิ้นปลา กระเจี๊ยบเขียว และพริกชี้ฟ้าทั้งเม็ดลงไป คราวนี้ฉันเพิ่มไข่ต้มด้วย แกงแบบแขกไม่ว่าจะแกงอินเดีย แกงพม่า แกงมลายู เขานิยมเอาไข่ต้มไปแกงค่ะ และสามารถใส่ไข่ต้มในแกงกะทิอื่นๆ ได้ เรียกว่าหม้อเดียวมีครบ เมื่อทุกอย่างสุกดีก็ยกลงจากเตา กินกับข้าวสวยร้อนๆ

ในประเทศอินโดนีเซีย แกงแบบนี้พบได้ในร้านขายข้าวแกงที่เรียกว่า “มาสักกันปาดัง” (Masakan padang) ซึ่งหมายถึงร้านขายข้าวแกง ส่วนข้าวแกงเขาเรียกว่า “นาซิ ปาดัง” (Nasi padang) ในร้านจะมีอาหารชนิดต่างๆ แบบร้านข้าวแกงบ้านเรา วางเรียงรายไว้เต็มตู้ ทั้งต้ม ผัด แกง ทอด สารพัดชนิด เขาจะตักกับข้าวทุกอย่างใส่จานหรือชามใบเล็กมาวางเรียงให้เราจนเต็มโต๊ะ จานไหนไม่กินก็ไม่คิดเงิน ซึ่งก็ดีไปอย่างทำให้เรามีโอกาสเลือกกินได้ง่ายขึ้น แต่เสียตรงที่อยากกินไปหมดนี่สิคะ