เจาะลึก น้ำนมข้าวโพดไร่สุวรรณ ไปทีไร ต่อคิวซื้อทุกที ขายดี วันละ 10,000 ขวด

ใครที่เคยขับรถผ่านไป-มา ช่วงอ.ปากช่อง ริมถนนมิตรภาพ หลักกิโลเมตรที่ 155 น่าจะได้เห็น ร้านขายข้าวโพดหวาน น้ำนมข้าวโพด โดยมีป้ายด้านหน้าว่า ไร่สุวรรณ กันมาบ้างแล้ว

ไร่สุวรรณ ตั้งอยู่เลขที่ 298 บ้านปางอโศก ตำบลกลางดง อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา

ไร่สุวรรณ  หรือศูนย์วิจัยข้าวโพดและข้าวฟ่างแห่งชาติ แห่งนี้ ขึ้นตรงต่อมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยมีงานหลักคือเกี่ยวกับข้าวโพด ข้าวฟ่าง และพืชอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในระบบการผลิตข้าวโพดและข้าวฟ่าง แบบครบวงจร  เมื่อวิจัยแล้ว ก็ผลิตเมล็ดพันธุ์ ให้บริการงานด้านวิชาการแก่สังคม รวมทั้งเป็นที่ฝึกงานของนิสิต นักศึกษา ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และนักศึกษาจากสถาบันการศึกษาต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ ด้านข้าวโพด ข้าวฟ่าง และพืชไร่เศรษฐกิจ

ด้วยรสชาติของข้าวโพด และน้ำนมข้าวโพด ทำให้ร้านแห่งนี้ เป็นที่ติดอกติดใจ ให้ผู้ที่ผ่านไปมา ไปต่อคิว ซื้อข้าวโพดและน้ำนมข้าวโพดอยู่บ่อยครั้ง

เส้นทางเศรษฐีออนไลน์  พบกับ คุณบงกชมาศ โสภา นักวิจัยของศูนย์วิจัยข้าวโพดและข้าวฟ่างแห่งชาติ

คุณบงกชมาศ เล่าให้ฟังว่า  ที่ร้านแห่งนี้ ใช้ข้าวโพดสดต่อวันราว 10-15 ตัน โดยขายเป็นฝักสด และข้าวโพดต้ม 3-5 ตัน  ที่เหลือทำน้ำนมข้าวโพด โดยน้ำนมข้าวโพด 1 ขวด จะใช้ข้าวโพดสด 3-4 ฝัก (ราว 1 กก.)  และในแต่ละวัน ผลิตได้ 8,000-10,000 ขวด  เพื่อขายที่หน้าร้านเท่านั้น (อาจมีบางช่วงที่ออกอีเว้นต์ เช่น งานเกษตรแฟร์ ที่บางเขนเท่านั้น)

เหตุที่ข้าวโพดจากร้านนี้ได้รับความนิยมมากเป็นพิเศษ ก็เพราะว่า รสชาติหวานอร่อย

ซึ่งการต้มข้าวโพดให้หวาน นอกจากพันธุ์ข้าวโพดที่หวานมาจากต้นตอแล้ว ข้าวโพดที่นำมาต้ม ต้องใหม่ สด เรียกว่า

ยิ่งสด ยิ่งหวาน

คุณบงกชมาศ กล่าวว่า  ข้าวโพดที่นี่ ขายวันต่อวัน  เก็บมาตอนเช้า ก็ต้มเลย รวมทั้งพันธุ์ข้าวโพด ที่ใช้ พันธุ์อินทรีย์ 2  ซึ่งผ่านการวิจัยมาจากนักวิจัยของศูนย์

อย่างที่กล่าวข้างต้นว่า ไร่สุวรรณแห่งนี้ ทำงานวิจัยเพื่อบริการสังคมเป็นหลัก ดังนั้น พื้นที่ปลูกข้าวโพดเพื่อนำมาต้ม หรือแปรรูป เป็นน้ำนมข้าวโพดที่จำหน่ายอยู่นี้มาจากเกษตรกรโดยรอบไร่สุวรรณ โดยเกษตรกรมารับเมล็ดพันธุ์จากศูนย์ นำไปปลูกโดยมีนักวิชาการของศูนย์แนะนำ เมื่อเก็บเกี่ยวได้ก็มาขายในราคาประกัน

“เรามีเกษตรกรลูกไร่อยู่ราว 100 คน เกษตรกรที่ปลูกให้เรา เป็นเกษตรกรที่อยู่ในรัศมีไม่เกิน 40 กิโลเมตร เพื่อเราจะได้ของใหม่ สดจริงๆ เกษตรกรที่นำข้าวโพดมาส่ง เราก็ซื้อหมด ส่วนจะได้ราคาเท่าไหร่ ขึ้นกับขนาด อย่าง ข้าวโพดไซซ์ 15 เซนติเมตร ได้กก.ละ 11 บาท / ไซซ์ 13-15 เซนติเมตร ได้กก.ละ 9 บาท และ ต่ำกว่า 13 ซม. ได้กก.ละ 5 บาท เป็นต้น โดยที่เราจะมีนักวิชาการมาเลือกข้าวโพดในการทำน้ำนมข้าวโพดไม่ให้อ่อนไป หรือแก่ไป ถ้าอ่อนไป น้ำนมที่ได้ก็จะใส แต่ถ้าแก่ไป ก็จะข้น หนืด และไม่หวาน”

สำหรับ การแปรรูปน้ำนมข้าวโพดนั้น ก็เริ่มจาก เอาเปลือกออก ล้าง เข้าเครื่อง ตัดเมล็ด จากนั้น ไปผ่านกระบวนการต้ม  ปั่นแยกกากและน้ำ นำไปกรอง  แล้วปรุงผสมให้ได้ความหวาน 8 องศาบริกซ์ และใส่เกลือ 0.2 เปอร์เซนต์ นำไปพาสเจอร์ไรซ์ แล้วบรรจุขวด โดยเก็บรักษาที่อุณหภูมิ ต่ำกว่า 4 องศาเซลเซียส

ส่วนเรื่องโรค แมลง ในไร่ข้าวโพด ก็จะมีนักวิชาการไปคอยให้คำแนะนำแก่เกษตรกรด้วยเช่นกัน

มาถึงประวัติความเป็นมาบางส่วนของไร่สุวรรณ ที่น่าสนใจคือ เมื่อปี พ.ศ. 2508 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้รับมอบไร่ “ธนะฟาร์ม” ซึ่งเดิมเป็นไร่ของ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ อดีตนายกรัฐมนตรี จากกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง ซึ่งมีพื้นที่ประมาณ 2,500 ไร่ จึงได้จัดตั้งเป็นสถานีฝึกนิสิตเกษตร ชื่อว่า “สถานีฝีกนิสิตเกษตรสุวรรณวาจกกสิกิจ” เพื่อเป็นเกียรติแก่หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ ปฐมอธิการบดีของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ศูนย์วิจัยข้าวโพดและข้าวฟ่างแห่งชาติ มีพื้นที่ทั้งหมด 2,589 ไร่ มีลักษณะเป็นที่ลาดเชิงเขาหินปูน สูงจากระดับน้ำทะเล ประมาณ 360 เมตร มีภูเขาปางอโศกพาดผ่านตามแนวทิศตะวันออกไปทางทิศตะวันตก พื้นที่ด้านหน้าเขาปางอโศกติดกับถนนมิตรภาพ มีพื้นที่ 1,389 ไร่ เป็นแปลงทดลองวิจัยที่สามารถให้น้ำชลประทานได้ตลอดปี

อีกทั้งเป็นสถานที่ที่จัดได้ว่า มีอากาศที่ดีแห่งหนึ่งเลยทีเดยว โดยมีอุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปี 30 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ย 14 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย 33 องศาเซลเซียส มีลมพัดจัดตลอดปี