“นครศรีฯโมเดล” ตั้งเป้าพัฒนาผลิตภัณฑ์ยางพาราไทยไต่ระดับพรีเมี่ยม หวังส่งขายทั่วโลก

สืบเนื่องมาจากการยางแห่งประเทศไทย หรือ กยท. ได้จัดพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือโครงการผลิตและร่วมมือทางการตลาดหมอนยางพารา โดยดึง 3 ภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ได้แก่ การยางแห่งประเทศไทย, ภาคเอกชน ได้แก่ บริษัท เลย์เท็กซ์ (ประเทศไทย) จำกัด และ สถาบันเกษตรกรชาวสวนยางพาราทั่วประเทศ เพื่อร่วมมือในการผลิตหมอนและที่นอนยางพาราภายใต้แบรนด์กลาง กยท. โดยตั้งเป้าปี 2561 จะเริ่มต้นผลิตหมอนยางพาราคุณภาพเยี่ยม ออกสู่ตลาดได้ราว 200,000 ใบ สร้างมูลค่าทางการตลาดรวม 100 ล้านบาทไปเมื่อเร็วๆ นี้นั้น

ล่าสุดโครงการความร่วมมือดังกล่าว เริ่มเป็นที่สนใจจากตัวแทนจำหน่ายและผู้ต้องการสั่งซื้อจากทั้งในและต่างประเทศ ทาง กยท.และผู้ร่วมลงนามการผลิตทุกฝ่าย จึงเล็งเห็นถึงโอกาสในการพัฒนาศักยภาพบุคลากรและเทคโนโลยีการแปรรูปยางพารา เพื่อพัฒนามาตรฐานการผลิตให้ดียิ่งขึ้นรองรับการส่งออกปริมาณมหาศาลในอนาคตอันใกล้ และประกอบกับได้รับความร่วมมือทางเทคโนโลยีจากเครือข่ายนวัตกรรมยางพารา ซึ่งประกอบด้วยภาคี 4 ฝ่าย ได้แก่ 1. การยางแห่งประเทศไทย  2. สภาอุตสาหกรรม 3. ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) และ 4. มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

และยังได้รับความร่วมมือทางวิชาการจากคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราชในการจัดโครงการฝึกอบรมเพื่อวิเคราะห์แก้ปัญหาและพัฒนากระบวนการผลิตหมอนยางพารา โดยมีเหล่าผู้เชี่ยวชาญทางด้านนวัตกรรมยางพาราระดับประเทศ อาทิ ผศ.ดร.บุญธรรม นิธิอุทัย, ผศ.ดร.ตุลยพงศ์ ตุลยพิทักษ์, ผศ.ดร.อนุวัติ แซ่ตั้ง และ อาจารย์อดิศร ไกรนรา ฯลฯ มาร่วมอบรมและแนะแนวกระบวนการผลิตรวมถึงมีการลงพื้นที่ในโรงงานของแต่ละสถาบันเพื่อฝึกอบรมจากการปฏิบัติจริง โดยเหล่าเกษตรกรจะสามารถนำแนวทางดังกล่าวไปปรับปรุงกระบวนการผลิตของตนให้ได้มาตรฐานและมีคุณภาพ สามารถรองรับกำลังการสั่งซื้อหมอนยางพาราปริมาณมากจากตลาดทั้งในและต่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ

คุณอนันตชัย เจียมหทัยรัตน์ ผู้แทนจากหน่วยธุรกิจ BU การยางแห่งประเทศไทย กล่าวถึงบทบาทของการยางแห่งประเทศไทยต่อโครงการนี้ว่า กยท. นั้นจะเป็นผู้กำหนดมาตรฐานการผลิตและคุณภาพสินค้าแปรรูปจากยางพารา และจะเป็นหลักในการสื่อสารเพื่อให้ความเข้าใจแก่เกษตรกรได้รับทราบถึงมาตรฐานดังกล่าว โดยเชื่อว่าโครงการนี้จะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อเกษตรกร และจะนำไปสู่การพัฒนาการผลิตยางพาราเพื่อการส่งออกในระยะยาวต่อไป ทั้งนี้ จากการลงนามความร่วมมือทางการตลาดหมอนแบรนด์กลาง กยท. นั้นจะมีบริษัท เลย์เท็กซ์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านธุรกิจส่งออกผลิตภัณฑ์แปรรูปยางพารา เข้ามาเป็นผู้ช่วยทำตลาดทั้งในและต่างประเทศ จึงสามารถเชื่อมั่นได้ว่า ผลผลิตของเกษตรกรนั้น จะมีตลาดที่รองรับและสามารถทำการขยายตลาดไปในวงกว้างได้ในไม่ช้า

ซึ่งการฝึกอบรมจากการบูรณาการครั้งนี้ ได้กำหนดเริ่มจากจังหวัดนครศรีธรรมราชเป็นที่แรก และได้จัดตั้งเป็นโครงการ “นครศรีฯโมเดล” เนื่องจาก นครศรีธรรมราช ถือเป็นจังหวัดที่มีสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางพาราตั้งอยู่มากที่สุดในประเทศไทยจำนวนกว่า 14  สถาบัน และทั้ง  14  สถาบันดังกล่าวก็ได้ตอบรับเข้าร่วมในโครงการนี้ ด้วยหวังที่จะพัฒนาศักยภาพการผลิตของตนให้สามารถผลิตสินค้าคุณภาพเยี่ยมหรือเกรด A เพื่อสามารถจำหน่ายทั้งตลาดระดับกลางและตลาดระดับพรีเมี่ยมได้ทั่วโลก หากประสบผลสำเร็จ โครงการนี้ก็จะขยายไปยังจังหวัดและภูมิภาคอื่นๆ ในประเทศที่มีการประกอบเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมยางพารา

ด้าน ผศ.ดร.ฆนัท ธาตุทอง รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช กล่าวว่า โครงการในครั้งนี้ เป็นเหมือนจุดนัดพบของผู้ที่มีความรู้ความสามารถทางด้านยางพารากับประชาชนที่ประกอบอาชีพผลิตยางพารา เพื่อที่จะได้มีโอกาสพูดคุยหารือและแลกเปลี่ยนแนวทางการแก้ปัญหาการผลิตรวมทั้งแนวทางการส่งออกไปยังต่างประเทศ ซึ่งมหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช มีความยินดีที่จะเป็นแกนหลักในการสนับสนุนทางด้านวิชาการแก่สถาบันเกษตรกรทั้งในจังหวัดและภูมิภาคอื่นๆ ต่อไป

ในด้านของผู้ทรงคุณวุฒิทางเทคโนโลยียางพารา ผศ.ดร.บุญธรรม นิธิอุทัย ผู้ก่อตั้งหลักสูตรเทคโนโลยียางพาราในประเทศไทย และที่ปรึกษาเครือข่ายนวัตกรรมยางพารา ได้มีการแนะนำเกษตรกรถึงการที่จะผลิตหมอนยางให้ได้มาตรฐานนั้นจะต้องมี  4 ปัจจัยหลักที่จำเป็น จะต้องผลิตให้ใกล้เคียงกันมากที่สุด ได้แก่ 1. ลักษณะภายนอกของผลิตภัณฑ์ ที่จะต้องมีความประณีตเรียบร้อย รวมถึงการตัดเย็บ  แพ็กเกจจิ้ง แท็กหรือป้ายห้อย ที่จะต้องมีความสวยงามสะดุุดตา  เป็นต้น 2. ลักษณะภายนอกของฟองยาง อาทิ ขนาดและสี 3. คุณสมบัติทางกายภาพ อาทิ น้ำหนัก ความแข็ง และความคงทน และ 4. ได้แก่ กลิ่น

ทั้งนี้ปัญหาที่เกิดขึ้นกับผลิตภัณฑ์ที่ผลิตโดยสถาบันเกษตรกรที่พบได้บ่อยจะมีตั้งแต่ การเกิดฟองอากาศขนาดใหญ่ หมอนไม่เต็มใบ เกิดรูพรุนเล็กๆที่ผิวเป็นจำนวนมาก ยางไม่สุก หรือสารเคมีไม่แตกตัว เป็นต้น ซึ่งปัจจัยของปัญหานั้นประกอบไปด้วยหลายปัจจัย อาทิ อายุน้ำยาง สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงบ่อย หรือโมลไม่ผ่านมาตรฐาน ซึ่งเหล่าผู้ทรงคุณวุฒิจึงได้รวมกันมาชี้แนะแนวทางในการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ให้กับเกษตรกร

การบูรณาการภายใต้โครงการนี้ เป็นการสนับสนุนเกษตรกรทางด้านองค์ความรู้และเป็นการยกระดับศักยภาพบุคลากรทางด้านยางพาราครั้งสำคัญของประเทศ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ตลาดโลกในคุณภาพสินค้าแปรรูปจากยางพาราของไทย ว่าเป็นสินค้าที่มีคุณภาพเยี่ยม สามารถรองรับการออร์เดอร์การส่งออกจากทั่วโลกและทุกกลุ่มตลาดได้อย่างมีเสถียรภาพ” ที่ปรึกษาเครือข่ายนวัตกรรมยางพารา กล่าว