สามใบเถาเมืองอุดรฯสู้ไม่ถอย มาเป็น “ทูเก็ตเตอร์” เค้กมะพร้าวอ่อนเจ้าดังหัวหิน

ช่วงบ่ายของวันทำงาน “คุณอร-คุณติ๊ก-คุณปุ๊” สามสาวพี่น้อง เจ้าของร้าน Together(ทูเก็ตเตอร์) กรุณาสละเวลามาต้อนรับและนั่งพูดคุยด้วยอัธยาศัยยิ้มแย้มเป็นกันเอง โดยคุณอร ในฐานะพี่ใหญ่ อาสาเป็นคนให้ข้อมูลเริ่มต้นว่า พื้นเพดั้งเดิมอยู่จังหวัดอุดรธานี ตัวเธอเคยรับราชการครู ส่วนคุณติ๊ก มีฝีมือด้านเบเกอรี่ จึงมักมีออเดอร์ขนม ส่งตามหน่วยงาน แต่ยังไม่มีหน้าร้านเป็นของตัวเอง

กระทั่งเมื่อสิบปีก่อน พี่น้องสามคนหารือกันว่าน่าจะลงทุนทำธุรกิจเบเกอรี่อย่างที่ถนัด และหากสามารถเปิดร้านตามแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ อย่าง หัวหิน ได้ โอกาสที่จะประสบความสำเร็จนั้นคงไม่ยากเกินเอื้อม

หลังจากตัดสินใจแน่วแน่ สามสาวพี่น้อง จึงนำเงินมาลงหุ้นกันคนละ 5 แสนบาท ก่อนมองหาทำเลเหมาะๆ     จนมาพบห้องแถวย่านตลาดโต้รุ่งตอนบน ใจกลางหัวหิน ซึ่งแต่เดิมเคยเป็นโรงน้ำแข็งมาก่อน เมื่อตัดสินใจเช่าต่อจึงต้องทำการปรับปรุงตัวอาคารใหม่หมดเอง

คุณอร-คุณปุ๊-คุณติ๊ก สามพี่น้องเจ้าของกิจการ

เปลี่ยนโฉมอาคารให้สะอาดสะอ้านสมกับความต้องการให้เป็นหน้าร้านเบเกอรี่กึ่งคอฟฟี่ช็อปได้แล้ว จึงทยอทำสินค้าออกมาจำหน่าย ทั้งเค้ก ขนมปัง และเครื่องดื่มชนิดต่างๆ ปรากฏว่าปีแรกของการค้านั้น แทบขายของไม่ได้เลย

“พอเปิดขายแล้ว จึงทราบว่าหน้าร้านถูกบังด้วยแผงค้าริมฟุตบาธหมดเลย ลูกค้ามองไม่เห็น ของขายไม่ได้ เลยไปปรึกษากับทางเทศบาล ซึ่งปัญหาคลี่คลายไปได้ระดับหนึ่ง แต่ยอดขายยังไม่ดีขึ้น พี่น้องเลยพากันกลับอุดรฯไปพักหนึ่ง เพื่อหาทางแก้ปัญหา”คุณอร เล่าน้ำเสียงเรียบ

พักสมองอยู่พักหนึ่ง จึงกลับมาหัวหินอีกครั้งด้วยความมุ่งมั่นอีกครั้ง พร้อมกับวิธีการประชาสัมพันธ์ร้านในแบบที่แตกต่างไปจากเดิม ด้วยการขึ้นแผ่นป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ ขึงพาดไว้หน้าร้าน ให้ลูกค้าเดินผ่านไปมามองเห็นได้ถนัดว่ามีสินค้าอะไรรอจำหน่ายอยู่บ้าง

ปรากฏเกิดผลดีอย่างที่ตั้งใจ มีลูกค้าหน้าใหม่ อ่านป้ายแล้วทยอยเดินเข้ามาถามไถ่ เค้กมะพร้าวอ่อน คือตัวไหน ราคาเท่าไหร่ เมื่อลองซื้อไปรับประทานแล้วกลับมาซื้อใหม่ ด้วยติดใจในรสชาติ บางรายซื้อไปเป็นของฝากให้เพื่อนฝูง จนมีการบอกกันปากต่อปากบ้าง ส่งข่าวสารกันทางอินเตอร์เน็ต จนทำให้กิจการอยู่ได้ดีมาจนถึงวันนี้

“มีทุกวันนี้ได้เพราะลูกค้าบอกต่อกันปากต่อปากจริงๆ เพราะร้านเราไม่เคยมีเว็บไซต์ ไม่มีงบโฆษณาประชาสัมพันธ์ แต่ที่ผ่านมามีสื่อหลายแขนงมาช่วยลงให้ พอย่างเข้าปีที่สองรายได้มีมากขึ้น จึงค่อยๆถอนทุนคืนได้ จนธุรกิจอยู่ตัวพอมีกำไรคุณอร เล่าก่อนยิ้มปลื้ม

ถามถึงกลุ่มลูกค้าที่มาอุดหนุน คุณอร บอก กลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติ นิยมมานั่งทานกาแฟที่ร้าน ส่วนนักท่องเที่ยวไทย นิยมซื้อเค้กมะพร้าวอ่อนกลับไปเป็นของฝาก โดยเฉพาะช่วงวันหยุด เสาร์-อาทิตย์ หรือวันหยุดนักขัตฤกษ์ ต้องให้มีการสั่งทางโทรศัพท์สั่งล่วงหน้า เพราะหน้าร้านไม่มีของขาย เนื่องจากมีลูกค้าเหมาไปหมด ทำออกมาไม่ทัน

“ทำเค้กกันวันต่อวัน หมดแล้วค่อยทำออกมาใหม่ ช่วงเสาร์-อาทิตย์ ลูกค้ามารอซื้อกันเยอะ ต้องใช้มะพร้าว     วันละประมาณ  300 – 400  ลูก ทีมงานตื่นตั้งแต่ตีห้า  เรียกว่าแทบไม่ได้พักทานข้าวกันเลย”คุณอร เล่าด้วยสีหน้าภูมิใจ

นอกจากจะขายหน้าร้านแล้ว ทุกวันนี้ยังมีผู้ค้ารายย่อยเจ้าประจำ สั่งซื้อขนมเค้กมะพร้าอ่อน ของทูเกเตอร์ ไปจำหน่ายต่อในตลาดนัดหน้าตึกสำนักงานใหญ่ๆในกรุงเทพฯ โดยสั่งซื้อทางโทรศัพท์ จากนั้นทางร้านจะแพ็กกล่องเค้กใส่กล่องโฟมส่งให้ทางรถตู้  ผู้ซื้อไปรอรับได้ที่คิวย่านอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ

“เค้กมะพร้าวอ่อนแบบซื้อกลับบ้าน  มี 3 ไซส์ แต่ถ้าต้องการขนาดใหญ่กว่าที่ทำขายปกติ เช่น สั่งเป็นปอนด์ก็ทำให้ได้ หากเป็นช่วงเทศกาล ขอให้สั่งล่วงหน้าอย่างน้อยหนึ่งชั่วโมง และเพื่อให้สินค้าเข้าถึงผู้ซื้อได้มากขึ้น จึงกำลังเล็งหาช่องทางจำหน่ายเพิ่ม อย่าง ตลาดน้ำ ซึ่งแต่ละวันมีนักท่องเที่ยวไปกันจำนวนมาก”คุณอร เผยให้ฟังถึงความตั้งใจในธุรกิจ

หันมาพูดคุยกับคุณติ๊ก ในฐานะเจ้าของสูตร ตัวจริงเสียงจริงกันบ้าง โดยเธอเล่าให้ฟังว่า จบการศึกษามาทางด้านคหกรรมศาสตร์  มีใจรักด้านการทำอาหารโดยเฉพาะเบเกอรี่เป็นทุนเดิม ก่อนหน้านี้สมัยอยู่อุดรฯ เคยรับทำขนมส่งให้หน่วยงานต่างๆ แต่ยังไม่เคยมีหน้าร้านเป็นของตัวเอง  ที่ตัดสินใจเดินทางมาทำมาหากินที่หัวหินนี้ เป็นเพราะอยากมีกิจการเป็นของตัวเอง

นึกสงสัยทำไมต้องเค้กมะพร้าวอ่อน จึงกลายเป็น “ตัวเอก”ของร้าน คุณติ๊ก บอก ที่ผ่านมาทำเค้กรสชาติอื่นออกมาขายหลายตัว แต่เค้กมะพร้าวอ่อน ทำยอดขายและได้คำชมจากลูกค้ามากที่สุด เธอจึงพยายามดึงความเด่นของเค้กรสนี้ออกมาให้มากที่สุด คือ ทานแล้วต้องละลายปาก ทุกขั้นตอนเน้นความสะอาด เพื่อให้เก็บไว้ในตู้เย็นได้นาน 3-4 วัน ทั้งที่ไม่ใส่สารกันบูด

ถามถึงความยากง่ายในการทำเค้กมะพร้าวอ่อนในแบบของเธอ คุณติ๊ก เผยว่า ไม่ยากมาก แต่มักไม่ได้ดั่งใจ เช่น เนื้อแป้งหนักไป ไม่มีกลิ่นหอมของมะพร้าวเท่าที่ควร ซึ่งเมื่อเจอปัญหาเหล่านี้ก็ต้องปรับแก้กันไป จนได้สูตรลงตัวอย่างทุกวันนี้

เกี่ยวกับมะพร้าว วัตถุดิบสำคัญ คุณติ๊ก บอก มีนายหน้าจัดส่งให้เป็นประจำ ส่วนใหญ่เป็นมะพร้าวมาจากอำเภอทับสะแก โดยมะพร้าวที่ใช้ต้องได้เนื้อพอดี ไม่อ่อนและไม่แก่เกินไป เพราะหากอ่อนมากไปเนื้อจะเป็นวุ้น หรือถ้าแก่มากไป ก็ไม่อร่อย และเมื่อผ่าออกมาแล้วไม่ได้เนื้อตามที่ต้องการ จะโยนทิ้งทันที ไม่ฝืนนำมาทำให้เสียชื่อร้าน

ก่อนหน้านี้ราคาะมะพร้าว ขยับราคาขึ้นไม่น้อย ส่งผลกระทบอย่างไรบ้าง คุณติ๊ก เล่าว่า จากที่เคยซื้อมะพร้าวลูกละ 8 บาท ช่วงนั้นต้องซื้อลูกละ 22 บาท แต่ไม่กล้าขยับราคาขายเค้กหน้าร้าน เนื่องจากเกรงจะเสียลูกค้า ต้องยอมแบกต้นทุนที่สูงขึ้นมาก

อย่างไรก็ตาม เพื่อไม่ให้ร้านต้องพึ่งพิงสินค้าเพียงชนิดเดียว เธอจึงพยายามทำเค้กรสชาติอื่นๆ ออกมาให้ลูกค้าได้ลิ้มลอง เช่น เค้กส้ม เค้กชาไทย เค้ก ชาเขียว ซึ่งเริ่มได้รับความนิยมตามลำดับ แต่เค้กมะพร้าวอ่อนยังคงครองตำแหน่งสินค้าขายดีอยู่

ที่ผ่านมาทราบว่ามีคนมาขอซื้อสูตรทำเค้กมะพร้าวอ่อนกันหลายราย คุณติ๊ก ยอมรับมีคนมาทาบทามกันมาก ซึ่งเธอต้องขอโทษด้วย ที่ปฏิเสธตลอด เนื่องจากอยากสงวนไว้ให้ลูกหลาน สืบสานกิจการต่อไป

ร้าน Together ต้นตำรับเค้กมะพร้าวอ่อน ซึ่งกำลังเป็นที่ชื่นชอบของนักท่องเที่ยวหัวหิน ตั้งอยู่ด้านในตลาดโต้รุ่งตอนบน ถ้ามาจากสี่แยกประมาณ 200 เมตร

หากหาไม่เจอ หรือต้องการสั่งเค้กล่วงหน้า โทรศัพท์ไปสอบถามรายละเอียดได้ที่หมายเลข 032-531-059 หรือ Facebook/Together Bakery&Café’