อดีตหนุ่มวิศวะตกงาน ผันตัวไปขายสินค้าแฮนด์เมดที่น่าน กิจการสุดรุ่ง ต่อยอดเปิดร้านก๋วยเตี๋ยว ขยายกิจการรูปแบบแฟรนไชส์

กว่าจะมาถึงจุดที่เรียกว่า “ประสบความสำเร็จ” หลายคนอาจต้องดื่มด่ำกับคำว่า “ล้มลุกคลุกคลาน”

หากเราปล่อยให้ล้มโดยไม่คิดจะลุก ไหนเลยจะพบกับคำว่า สำเร็จ ได้ คุณภีร์นริศร์ ผ่องหทัยกุล คือตัวอย่างของคนล้มแล้วพร้อมลุกทุกครั้ง จนวันนี้มาถึงจุดยืนแห่งความสำเร็จได้ในวัย 34 ปี

ขายของและเป็นครู
ก้าวมาสู่อาชีพอิสระ

คุณภีร์นริศร์ มีจังหวะชีวิตเริ่มต้นเช่นคนธรรมดาทั่วไป เขาจบการศึกษาด้านวิศวกรรมไฟฟ้า จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เชียงราย จากนั้นก็นำพาชีวิตมุ่งหางานทำในกรุงเทพฯ แต่ทว่าช่วงนั้นเหตุการณ์บ้านเมืองกำลังคุกรุ่น เขากลายเป็นคนตกงานทั้งๆ ที่ยังไม่เคยได้เข้าทำงานที่ไหน

เมื่อกรุงเทพฯ ไม่ใช่อู่ข้าวอู่น้ำสำหรับเขา จึงเดินทางขึ้นเหนืออีกครั้ง กระทั่งได้เป็นครูอยู่ในสถาบันการศึกษาอาชีวะเอกชนแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ อยู่เชียงใหม่ได้ 1 ปี ก็ย้ายตัวเองมาสมัครงานเป็นครูอยู่โรงเรียนแห่งหนึ่งในอำเภอปัว จังหวัดน่าน

น่าน คือ บ้านเกิด
และการกลับมาครั้งนี้จึงเป็นการกลับแบบถาวร

“ระหว่างสอนหนังสือที่ปัว ขณะนั้นเมืองน่านกำลังเปิดตัวเรื่องท่องเที่ยว และมีโครงการกาดน่านขึ้นมา ผมจึงเห็นว่าน่าจะนำเวลาว่างทำในสิ่งที่ชอบ ซึ่งก็เป็นวิธีหารายได้เสริมอีกทางหนึ่ง จึงติดต่อพื้นที่ค้าขายไว้ 2 ล็อก เลือกผลิตเสื้อยืด งานหนังแฮนด์เมด ทำเป็นสินค้าที่ระลึก จำหน่าย”

แบรนด์ “น.น่าน” เกิดขึ้นในเวลานั้น โดยผลิตภัณฑ์เสื้อยืดออกแบบให้เกิดความแตกต่างจากที่มีขายในเมืองท่องเที่ยวทั่วๆ ไป ด้วยวิธีวาดลายเส้น ใส่โลโก้สื่อถึงความเป็นน่าน กลายเป็นสินค้าสร้างโอกาสขายได้ดี

“ตอนนั้นผมมองว่าควรสร้างแบรนด์ให้ชัดเจน และสื่อถึงความเป็นเมืองน่าน กระทั่งนึกไปถึงประเพณีแข่งเรือยาวของเมืองน่าน จุดเด่นคือเรือแต่ละลำออกแบบให้มีหัวเรือเป็นรูปพญานาค ก็พอดีกับได้รู้จักน้องคนหนึ่งเขาถนัดด้านออกแบบ จึงให้ทำโลโก้วาดลายเส้นถอดแบบพญานาคจากหัวเรือแข่งขึ้นมา”

แม้ต้องพบกับผิดหวัง
แต่ยังคงเดินหน้าต่อ

ผลตอบรับกับอาชีพค้าขายดำเนินไปด้วยดี จนถึงขั้นตัดสินใจลาจากงานประจำ จบอาชีพครูในระบบ รวมระยะเวลา 3 ปี เพื่อมุ่งสู่วิถีอิสระ

ความฝันกับความจริงมักสวนทางกันเสมอ เพราะเมื่อออกมายืนในตำแหน่งผู้ประกอบการกลับต้องพบกับคำว่า “กระท่อนกระแท่น” หนทางที่เดินไม่ราบรื่น กาดน่านเริ่มเข้าสู่ภาวะซบเซา

หนึ่งปีกับอาชีพอิสระ ไม่เป็นไปดังหวัง แต่กระนั้นก็ยังยืนหยัดจะอยู่ในเส้นทางสายนี้ จึงตัดสินใจย้ายออกจากกาดน่าน แล้วหันหาทำเลเช่าแห่งใหม่ จวบจนได้พื้นที่ห้องค้าแห่งหนึ่ง ซึ่งสินค้ายังคงเลือกชนิดเดิมจำหน่าย แต่ได้กระจายขายไปยังจังหวัดอื่นๆ

เริ่มต้นอาชีพอิสระในราวปี 2552 จนมาถึงปี 2558 ธุรกิจยังคงรื่นไหล

“ปีนั้น (2558) เพื่อนร้านข้างๆ เขาจะปิดร้านขายภาพโปสการ์ด ผมจึงตัดสินใจเช่าโดยมีความคิดเปิดเป็นร้านกาแฟ แต่ว่าของที่ระลึกก็ยังคงขายอยู่ที่เดิม ซึ่งขณะนั้นร้านกาแฟในเมืองน่านยังไม่ค่อยบูม แต่พอทำแล้วก็ไปได้”

ราวปลายปี 2558 ภาพความฝันกับร้านอาหารในพื้นที่สวยๆ เกิดขึ้นในห้วงความคิด จึงตัดสินใจเช่าร้านค้าแห่งใหม่ที่มีสไตล์การตกแต่งสวยงาม เพื่อเปิดเป็นร้านอาหารและร้านกาแฟ

และนี่จึงเป็นอีกจุดเปลี่ยนที่ส่งผลให้สุขภาพกายและใจแย่ลง

“ผมเปิดร้านใหม่ในเดือนธันวาคม เปิดแบบคนไม่มีประสบการณ์ ไม่เคยทำร้านอาหารมาก่อน พนักงานก็รับเข้ามาในตอนเปิดร้าน และช่วงเวลาเปิดตรงกับเดือนธันวาคมซึ่งเป็นไฮซีซั่น ลูกค้าแน่นร้านตลอด มันเหมือนชีวิตก้าวกระโดด”

สามเดือนคึกคัก
ตั้งหลักร้านใหม่

ความคึกคักของลูกค้า กำไรที่ได้มาเดือนละหลักแสน เหนื่อยแต่กลับทำให้ภาพความฝันเดินทางไปไกลและใหญ่ขึ้น

คุณภีร์นริศร์ ตัดสินใจบอกแกมบังคับแฟนสาวให้ลาออกจากงานประจำมาช่วยกิจการ ทั้งๆ ที่ในขณะนั้นฝ่ายหญิงไม่คิดก้าวออกมา แต่สุดท้ายมิอาจขัดใจได้

ผ่านพ้นช่วงไฮซีซั่นที่มีระยะเวลาสั้นแค่ 3 เดือน ความเงียบเหงาเข้ามาเยือนแทนที่ และดูท่าจะอยู่ยาว ลูกค้านักท่องเที่ยวหาย ส่วนลูกค้าในพื้นที่ก็กลับไปใช้ชีวิตดังเดิม ทานอาหารร้านประจำเจ้าเก่าแก่ราคาไม่แพง

“ประสบการณ์ กับความรู้ เป็นเรื่องสำคัญมาก แต่เราเหมือนคนก้าวกระโดด ทำงานแบบไฟแรง สู้ไปอย่างเดียว แต่ปัญหาร้านอาหารจุกจิก ไหนจะเรื่องสต๊อกวัตถุดิบ ไหนจะเรื่องพนักงาน ผมเปิดร้าน 8 โมง กว่าจะได้ปิดสี่ห้าทุ่มตลอด น้ำหนักลดฮวบเลย 10 กิโล สุขภาพแย่ลงทันตาเห็น ผมปวดหัวมาก แฟนก็ให้เขาลาออกมาแล้ว ในขณะค่าใช้จ่ายต้องแบกรับต่อเดือนก็มาก ตอนนั้นเกือบจะท้อ”

เมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้ คุณภีร์นริศน์เลือกแก้ไขด้วยวิธีลดพนักงาน และส่วนพนักงานที่เหลือก็เรียกเข้าพบเพื่อขอปรับลดเงินเดือน แต่กระนั้นรายได้ก็ไม่อาจสมดุลกับค่าเช่าเดือนละ 25,000 บาท ค่าน้ำค่าไฟ ต้นทุนต่างๆ อีกมากมาย ค่าใช้จ่ายวันละกว่า 3,000 บาท

“ตอนนั้นเหมือนรู้ตัวนะว่าไปไม่รอดแน่ แต่ฝืนประคองร้านไว้ กระทั่งวันหนึ่งได้คุยกับพี่ที่รู้จักกัน เขาแนะนำร้านปัจจุบันที่ผมทำอยู่ให้ โดยบอกเจ้าของจะเซ้ง ค่าเช่าก็ถูกกว่ามาก ผมจึงเช่าทิ้งไว้ในเดือนตุลาคม กระทั่งรอร้านที่ทำอยู่หมดสัญญาในเดือนกุมภาพันธ์ จึงย้ายไปอยู่ในทำเลแห่งใหม่ แต่คราวนี้เราวางแผนกันก่อนว่าจะทำอะไรและเดินไปในทิศทางไหน”

จับหลักคนในพื้นที่
กาแฟดี ก๋วยเตี๋ยวเด็ด

ร้านกาแฟยังคงไว้ เพราะถือได้ว่าเข้าข่ายชำนาญ และในขณะนั้นก็เริ่มรู้จักมักคุ้นกับผู้ปลูก ผู้นำมาแปรรูป ซึ่งจังหวัดน่านถือเป็นอีกหนึ่งแหล่งผลิตกาแฟคุณภาพดี ซึ่งคุณภีร์นริศร์ ก็ได้รับการถ่ายทอดความรู้ ได้เห็นกระบวนการปลูกไปจนถึงได้เมล็ดกาแฟพร้อมชงออกมา

กับความรู้และประสบการณ์นี้เอง นำมาถ่ายทอดถึงลูกค้า ก่อเกิดเป็นภาพลักษณ์และความโดดเด่นเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป

ไม่เพียงร้านกาแฟเท่านั้นที่คุณภีร์นริศร์เลือกทำ แต่ยังมองหาอาหารจานสะดวก ขายง่ายขายคล่อง ราคาไม่แพง เพื่อตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายหลักที่ไม่ใช่นักท่องเที่ยวดังแต่ก่อน แต่เป็นคนในพื้นที่

“นึกไปถึงก๋วยเตี๋ยว เพราะแต่ก่อนบ้านคุณพ่อซึ่งอยู่กรุงเทพฯ ค้าขายก๋วยเตี๋ยว เป็นสูตรจากอากง ผมนำมาปรับให้เข้ากับคนในพื้นที่และต้องมีความเป็นสมัยใหม่ ไม่ใส่ผงชูรสเพราะแฟนผมแพ้ด้วย โดยเริ่มต้นมีเมนูแบบดั้งเดิมคือก๋วยเตี๋ยวน้ำตก ปรับมาเป็นน้ำตกนัว น้ำตกแซ่บ มีก๋วยเตี๋ยวต้มยำเพิ่มเข้ามา ต้มยำมะนาว ต้มยำพริกมะแขว่น ต้มยำหมูน้ำข้น ต้มยำมันกุ้งน้ำข้น ต้มยำทะเลรวมใส่เครื่องต้มยำ มีตะไคร้ ใบมะกรูด จริงๆ ก๋วยเตี๋ยวของเราแทบไม่ต้องปรุงเลย”

สำหรับเมนูขายดี ได้แก่ น้ำตกนัว น้ำตกแซ่บ และขณะนี้ต้มยำมันกุ้งกำลังมาแรง กับราคาขายเริ่มต้น 35 บาท

“แม้จะแบ่งโซนก๋วยเตี๋ยวกับเครื่องดื่มแยกกัน แต่ลูกค้าสามารถสั่งมาทานคู่กันได้ จะนั่งดื่มกาแฟแอร์เย็นๆ แล้วทานก๋วยเตี๋ยวไปด้วย เราก็ยินดีเสิร์ฟครับ กลายเป็นว่าสินค้า 2 รายการนี้เอื้อต่อกันได้ดี สามารถทำรายได้โดยรวมแล้วตกวันละประมาณ 5,000 บาท ถือว่าอยู่ได้แบบไม่เหนื่อยมากครับ เพราะเรามีพนักงานแม่ครัวแค่ 1 คน ให้ค่าจ้างเดือนละ 9,000 บาท โดยจะปรุงน้ำก๋วยเตี๋ยวไว้ ก็ให้เขาลวกเส้นลวกผักใส่ชาม จากนั้น ผม แฟน และแม่ซึ่งจะมาช่วยช่วงเที่ยงก็รับหน้าที่ดูแลลูกค้ากันเอง”

เตรียมเปิดตัวแฟรนไชส์
เพิ่มยอดขายแบบไม่เครียด

ขนาดร้านในโซนก๋วยเตี๋ยวรองรับลูกค้าได้ประมาณ 40 คน และโซนกาแฟเกือบ 20 คน เมื่อเทียบกับร้านเดิมแล้วถือว่าใหญ่กว่า แต่ทว่าความเหนื่อยนั้นกลับน้อยลง นั่นเพราะวิธีบริหารจัดการเลือกเมนูนำมาจำหน่ายไม่ยุ่งยาก ไม่ต้องใช้กำลังคนเยอะ และแน่นอนค่าเช่าพื้นที่ที่ถูกกว่าทำให้ไม่บีบรัดรายได้จนเกินไป

กับราคาขายไม่แพง จัดโปรโมชั่นกระตุ้นยอดขาย ให้ความสำคัญกับคุณภาพ รสชาติอร่อย เปิดเพลงเพราะๆ ให้ลูกค้าฟัง มีมุมถ่ายภาพให้ได้โพสต์ แชต แชร์ ตามกระแสโซเชียลในยุคนี้ ส่งผลให้ลูกค้ารับรู้ถึงประสบการณ์ดีๆ และเป็นที่บอกต่อในเวลาอันรวดเร็ว

และในวันนี้ก็มีลูกค้าติดจนกลายมาเป็นขาประจำจำนวนมาก ซึ่งในอนาคตอันใกล้ เจ้าของร้านคนขยันก็วางแผนเพิ่มเติมเมนูขายง่ายขายคล่องอย่าง ส้มตำ ไก่ย่าง สร้างเสริมรายได้อีกทางหนึ่ง

“เมื่อก่อนคิดทำอะไรหลายอย่างมากด้วยพื้นที่ทำเลเหมาะ ก็มีคุยกับแฟนว่าช่วงเย็นจะเปิดเป็นร้านนมดีมั้ย แต่สุดท้ายคือ ไม่ทำ เพราะเราเห็นภาพการทำงานที่หนักหนาตอนอยู่ร้านเดิมมาแล้ว กว่าจะปิดร้านห้าทุ่ม ร่างกายไม่สามารถรับสภาพนั้นได้ แต่จะทำอย่างไรให้เรามีรายได้เพิ่มขึ้นแบบไม่ต้องเหนื่อยเกินไป จึงมองถึงระบบแฟรนไชส์ ซึ่งคาดว่าปีหน้าพร้อมขยายสาขาในรูปแบบนี้ โดยครั้งนี้เลือกที่จะไปเรียนรู้ระบบแฟรนไชส์ก่อน ส่วนเรื่องของสูตร รสชาติ ถือว่าลงตัวแล้วครับ”

สำหรับแฟรนไชส์จะมีทั้งในส่วนของร้านกาแฟ ร้านก๋วยเตี๋ยว หรือจะควบรวม 2 แบบไว้ในร้านเดียวกัน เฉกเช่น น.น่าน ก็ได้ แต่ในเบื้องต้น คุณภีร์นริศร์ขอเริ่มจากขนาดเล็กในรูปแบบคีออสกับราคาเริ่มต้นไม่เกิน 50,000 บาท เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถนำไปลงทุนได้ง่าย

“เมื่อต้นปีผมเดินทางไปอบรมเกี่ยวกับระบบแฟรนไชส์ ก็เรียกได้ว่ามีความพร้อมพอสมควร ปีหน้าคงได้เห็นสาขาใหม่ในพื้นที่อื่นๆ ครับ”

สำหรับใครที่กำลังประสบปัญหา และอยู่ในอาการ “ล้ม” เรื่องราวของคุณภีร์นริศร์ น่าจะเป็นตัวอย่างของคนที่ไม่ยอมแพ้ต่ออุปสรรคปัญหา เขาพร้อม “ลุก” ขึ้นมาเริ่มต้นใหม่ ซึ่งคุณผู้อ่านก็ทำได้เช่นกัน

สนใจต้องลิ้มรสก๋วยเตี๋ยวและกาแฟของคนน่าน สามารถเดินทางไปได้ที่ ร้าน น.น่าน คอฟฟี่ เลขที่ 58 ถนนสุมนเทวราช ตำบลในเวียง อำเภอเมือง จังหวัดน่าน โทรศัพท์ (080) 134-7105 โดยจะเปิดให้บริการในส่วนของเครื่องดื่ม ตั้งแต่เวลา 07.30-17.00 น. ส่วนเมนูก๋วยเตี๋ยวพร้อมเสิร์ฟ เวลา 09.30 น.