ข้าวเกรียบยาหน้า เมนูทานเล่นสองวัฒนธรรม หนึ่งเดียวในไทย บ้านน้ำเชี่ยว จ.ตราด

ที่ ต.น้ำเชี่ยว อ.แหลมงอบ จ.ตราด นับเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ผสานวิถีชีวิต สอดแทรกวัฒนธรรม สองศาสนา สามวัฒนธรรม ระหว่าง ไทย มุสลิม และ จีน นอกจากนั้นหมู่บ้านน้ำเชี่ยวแห่งนี้ ยังได้รับเลือกให้เป็น “หมู่บ้าน OVC” (OTOP Village Champion) รางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยดีเด่นจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ซึ่งผลิตภัณฑ์เด่นของที่นี่ คือ “ข้าวเกรียบยาหน้า”

สำหรับที่มาของเมนูข้าวเกรียบยาหน้า ตัวแทนชุมชน บอกว่า ในสมัยโบราณ ชาวมุสลิม ที่เข้ามาอาศัยอยู่ในบ้านน้ำเชี่ยว ได้นำวัฒนธรรมการกินเข้ามาด้วย นั่นคือ ข้าวเกรียบปากหม้อ ประกอบกับที่บ้านน้ำเชี่ยวนั้นมีมะพร้าว มีกุ้งเยอะ เลยทดลองนำมาดัดแปลงทำเป็นขนม โดยมีส่วนผสมของ น้ำตาลอ้อย มะพร้าว กุ้ง และแผ่นแป้ง ส่วนประกอบหลัก มี แผ่นแป้ง และ ไส้ “แผ่นแป้ง” มีส่วนผสมของ แป้งข้าวเจ้า และแป้งมัน ผสมกันตามอัตราส่วน จากนั้นนำไปตากแดด ก่อนรับประทานให้ย่างบนเตาถ่านจนแผ่นแป้งสุก ส่วนผสมของไส้ มี กุ้ง มะพร้าวขูด แคร์รอต พริกไทย รากผักชี เกลือ ตำเข้ากันให้ละเอียด

ขั้นตอนการทำ 1. นำน้ำตาลปี๊บ ที่ผ่านการเคี่ยวแล้ว ลักษณะคล้ายคาราเมล ทาบนแผ่นข้าวเกรียบที่ย่างสุกแล้ว 2. โรยด้วยไส้มะพร้าว และต้นหอมหั่นซอย