ผู้เขียน | พลศรี คชาชีวะ |
---|---|
เผยแพร่ |
เจนไน หรือ เชนไนที่คนไทยชอบเรียก เป็นแหล่งอารยธรรมเก่าแก่ เขาบอกว่าเป็นต้นกำเนิดของวัฒนธรรมกัมพูชาและเมืองไทยด้วย ที่ชัดๆ คือ ปราสาทหินนครวัดและปราสาทหินแถวภาคอีสานของเรา
มหาพลีปุรัม คือชื่อเมืองที่ตั้งกลุ่มปราสาทหินเก่าแก่ อยู่ริมทะเล กว้างใหญ่มากครับ ตั้งอยู่ทางใต้ของอินเดีย ไปจากตัวเมืองเจนไน นั่งรถใช้เวลาหลายตื่นอยู่ ประมาณ 60 กิโลเมตร แต่ด้วยความที่เราไม่ชินทาง รถติดบ้าง เลยนานหน่อย แต่ก่อนเป็นเมืองท่าที่เจริญมาก มีอายุนานนับพันปี ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 7
มาเที่ยวที่นี่ เที่ยวให้ทั่วต้องใช้เวลาทั้งวัน แต่ต้องเป็นคนชอบของเก่าแก่ ศรัทธาองค์พระศิวะ พระนารายณ์ พระแม่อุมา พระพิฆเนศวร์จะเดินดูอย่างสนุกสนาน ถ่ายรูปสวย ควบคู่กับความร้อนระเบิด แดดเปรี้ยง
น่าทึ่งมากคือประติมากรรมแต่ละแห่ง คนโบราณแกะลงไปในภูเขาหินทรายก้อนใหญ่ๆ ทั้งก้อน ไม่ว่าจะเป็นปราสาท วัด ภาพแกะสลักหน้าผา ทุกอย่างประณีตบรรจงสวยงามจริงๆ ยากแก่การบรรยาย เสียดายผมไม่มีเนื้อที่ลงรูปสวยๆ ได้มากนัก สถาปัตยกรรมแบบนี้เขาเรียกว่าแบบดราวิเดียน ลักษณะสำคัญคือการแกะสลักแบบนูนสูง ให้ตัวภาพลอยขึ้นมาจากหิน
ความเป็นมาของโบราณสถานแต่ละแห่งเกี่ยวพันกับพระเจ้าในศาสนาฮินดู และทำขึ้นเพื่อความศรัทธา การบูชาแทบทั้งสิ้น
ที่แรก ที่นักท่องเที่ยวมักแวะชมก่อนคือ วัดชอร์ (Shore Temple) ตั้งอยู่ตรงริมทะเลที่ขายตั๋วเลย และเป็นแหล่งเข้าห้องน้ำใหญ่แห่งเดียวของนักท่องเที่ยว ไปไหนมาไหนก็ต้องมาแวะเข้าห้องน้ำตรงนี้ รอบด้านมีร้านขายของที่ระลึก พวกหินแกะสลัก รูปพระพิฆเนศวร์ ช้าง เดินมาเร่ขายก็มี ตอนแรกราคาเป็นพัน เดินๆ คุยไป เหลือ 500 รูปี ก็ประมาณ 250 บาทไทย มีแหล่งขายของแกะสลักอยู่หลายแห่ง ต้องต่อรองดีๆ ครับ จากหลักพันบาทเหลือแค่หลักร้อย ผมยังได้จานรองแก้วทำจากหินอ่อนแกะลายเป็นรูปช้างมาเป็นที่ระลึก 1 ชุด 100 บาทเอง มีหลายจาน
ที่วัดชอร์ เป็นเหมือนเจดีย์ใหญ่สูงอยู่ริมอ่าวเบงกอล เขาใช้หินมาแกะแล้วก่อต่อๆ กัน น่าทึ่งมาก ตามประวัติว่ามีอายุ 1,400 ปี ลมทะเลพัดเข้ามาตึงๆ เย็นสบายดี ถัดจากวัดเป็นชายหาด หนุ่มสาวเด็กแขกพากันมาเล่นว่าวเต็มชายหาด
การเที่ยวในบริเวณมหาพลีปุรัม ไม่มีรถยนต์ออกจะลำบากหน่อย ต้องเดินไกล เราต้องไปดูภาพแกะสลักที่วัดถ้ำวราหะ มีรูปช้าง นางฟ้า เทวดา เหาะอยู่บนหน้าผาหิน ถัดมาเป็นก้อนเนยพระศิวะ คือก้อนหินใหญ่ตั้งอยู่บนพื้นเหมือนไม่ได้ตั้ง เวลาถ่ายรูปไกล ต้องทำท่าเหมือนยกก้อนหิน ต่อจากนั้นต้องไปถ่ายรูปที่ รถะทั้ง 5 คือเป็นสถาปัตยกรรมที่แกะจากภูเขาหินย่อมๆ ทั้งลูกขนาดแตกต่างกัน ไล่ไปตั้งแต่ขนาดเล็ก จนสุดท้ายใหญ่สุด หรูหราสุด แต่ละองค์ก็ทำขึ้นเพื่อเป็นที่บูชาพระศิวะ พระแม่อุมา แล้วที่ทำถึง 5 องค์ นัยว่าเพื่อเป็นการฝึกฝีมือช่างด้วย เริ่มจากองค์เล็ก ไปจนองค์ใหญ่สวยงาม ที่เด่นมากคือรูปแกะสลักช้าง
เดินเหงื่อตก เที่ยวเสร็จ ท่านกงสุลใหญ่เจนไน คุณครองขนิษฐ รักษ์เจริญ พาไปเลี้ยงข้าวที่ร้านอาหารริมทะเลสไตล์อินเดีย มีร้านอาหารสไตล์เดียวกันอยู่หลายร้าน ต้องตะกายขึ้นไปกินบนชั้น 2 ชั้น 3 ที่ชั้น 2 เป็นครัวส่วนหนึ่ง ทำแบบง่ายๆ ความสะอาดพอกับร้านอาหารเมืองไทยครับ คือ เวลาทำ ลูกค้าเยอะ ก็รกหน่อย พอเลิกทำก็เก็บเรี่ยม
ท่านกงสุลชวนเดินไปช่วยจิ้มเลือกปลาเลือกกุ้ง ไม่ได้สดมากเหมือนคิด วางกองในจาน เข้าใจว่าเขาคงทยอยมาวางในจาน จิ้มได้ปลากะพง กับกุ้งทะเลตัวใหญ่ จานแรกที่มาเป็นออร์เดิร์ฟที่ทุกโต๊ะต้องสั่ง มันฝรั่งทอดธรรมดานี่แหละครับ ออกชิ้นใหญ่หน่อย มีซอสเนยให้จิ้ม ซอสที่ว่านี้ ดูแล้วทำไม่ยาก เอาน้ำซุปนิดหนึ่งตั้งไฟ ใส่เนยสดลงไปละลาย ถ้าเค็มแล้วไม่ต้องโรยเกลือ พอเสิร์ฟซอยผักชีฝรั่งโรยหน้า บีบมะนาวเลม่อนลงไป จิ้มมันฝรั่งมันๆ หอม เปรี้ยว ซอสเนยนี้ยังเอามาเสิร์ฟคู่กับปลาหมึกชุบแป้งทอด ผมไม่เคยกินปลาหมึกชุบแป้งทอดที่ไหนอร่อยเท่านี้มาก่อนเลยในชีวิต เพราะปลาหมึกที่คนไทยเจอคือ ปลาหมึกแช่น้ำใส่เคมี หนังเหนียว แต่ปลาหมึกที่นั่นเป็นปลาหมึกวัยละอ่อน สดมาก แค่หั่นเป็นวง เกลือกแป้งสาลีฝุ่นเอาไปทอด มันกรอบนอก นุ่มใน ไม่ต้องออกแรงเคี้ยวเลย เมืองไทยหาปลาหมึกอย่างนี้ได้ยาก นอกจากตกเอง หรือไปซื้อจากสะพานปลา
จานต่อไปเป็นกุ้งที่ไปจิ้มไว้ ผัดกับซอสเนยอีกแล้ว แต่ต่างออกไปหน่อย เขาใส่เครื่องแกงแบบแขกลงไปด้วยหน่อยหนึ่งในซอสเนยผัดกับกระเทียม เลยมีกลิ่นหอมๆ แบบแขก ส่วนกุ้งผ่าหลังทอดไว้ก่อน ค่อยเอาลงไปคลุก จานนี้กินเล่นเพลินๆ น้ำซอสเนยเอามาคลุกข้าวได้ด้วย ข้าวที่เขาเสิร์ฟเป็นข้าวเม็ดยาวสไตล์แขก หุงได้สวยมาก แต่ไม่แข็ง ปลากะพงทางร้านเอามาทอดราดพริกแกงของแขก มีใบไม้เขียวเขาเรียกว่า เคอรี่ลีฟ แปลไทยคือ ใบเครื่องแกง ทอดโรยมาด้วย เหมือนกับอาหารไทยชอบใช้ใบมะกรูด ในตลาดมีใบเคอรี่ขายสดๆ เป็นกำ ปลาดูหน้าตาไม่ค่อยน่ากิน เลอะๆ พอชิมแล้ว โอเคอยู่ พริกแกงหอม รสจัด ไม่เผ็ด เนื้อปลาสด ไม่เสียทีเป็นร้านอาหารทะเล สุดท้ายเก็บเงิน เช็กราคาอาหารแพงเอาการ
เครื่องแกงของแขกเป็นต้นกำเนิดของแกงไทย ตามประวัติอาหารไทยสาขาหนึ่ง เขาบอกว่าพวกฝรั่งโบราณเดินทางจากยุโรป ผ่านตะวันออกกลาง แถบที่เรียกว่าเปอร์เซียสมัยก่อน มีอาละดิน พรมเหาะได้แบบในนิทาน แถบนี้ผู้คนกินนมกินเนื้อ เครื่องเทศ ชาวยุโรปเลยได้วัฒนธรรมการกินนมเนยเครื่องเทศติดตัว เสร็จแล้วล่องเรือลงมหาสมุทรอินเดียมาขึ้นฝั่งอินเดีย ได้เครื่องเทศ เครื่องแกงเพิ่มเติม มะพร้าวกะทิ นม แกงเผ็ดต่างๆ เลยเอาติดตัวมาอีก จนล่องมาถึงเอเชียใต้ คือไทยเราบวกมาเลย์ คนไทยเลยได้รู้จักเครื่องแกงแบบแขกตั้งแต่นั้นมา ประยุกต์จนกลายเป็นแกงเผ็ดแบบไทยๆ ที่ไม่เหลือกลิ่นอายแบบแขกอีกต่อไป แกงมัสมั่นก็เป็นแกงที่มาจากเปอร์เซีย แต่รสชาติแกงมัสมั่นไทยซึ่งหอมและไม่ข้นเท่าของต้นตำรับดันขึ้นติดอันดับโลก ฝรั่งรู้จักแกงมัสมั่นไทยไปทั่ว
ผมว่าจริงๆ แล้ว วัฒนธรรมการกินแบบอินเดียนี้น่าจะแพร่กระจายมาถึงเมืองไทยก่อนที่ฝรั่งจะเข้ามา แกงมัสมั่นก็เข้ามาพร้อมกับแขกเปอร์เซียซึ่งเดินทางมารับราชการอยู่ในเมืองไทยตั้งแต่สมัยอยุธยา เป็นต้นสกุลดังสกุลหนึ่งทุกวันนี้
ด้วยความที่อาหารไทยเป็นอาหารประสมประสานนี่แหละครับ ทุกชาติเลยกินอาหารไทยแล้วอร่อยทุกอย่าง ในงานสาธิตอาหารไทยแลนด์วีคที่ห้างอีเอ มอลล์ ในเจนไน อาหารไทยจานไหนขึ้นชื่อ ขนไปทำให้แขกชิม พวกน้ำพริกแกงผมเอาไปจากเมืองไทย เพราะรู้ว่าถึงเมืองแขกจะเป็นต้นกำเนิดของพริกแกงไทย แต่มันไม่เหมือนกันแล้ว ใช้แทนกันไม่ได้
ของประกอบหายากมาก พวกน้ำปลา เต้าหู้ พริกแดง อาหารที่ไปสาธิตมีแกงมัสมั่น แกงเขียวหวาน ลาบ ส้มตำ พะแนง ต้มยำกุ้ง ต้มข่า ผัดไทย ยำวุ้นเส้น ฝอยทอง เยอะแยะไปหมดครับ รวมที่ไปสาธิตในโรงแรมใหญ่ด้วย สาธิตกี่อย่างๆ แว่บเดียวเอาลงไปตักแจกชิมหายวับไปกับตา
เย็นวันหนึ่งท่านกงสุลเลี้ยงข้าวที่บ้านท่าน อยู่บนอพาร์ตเมนต์ใหญ่ ทีมงานตกลงทำกับข้าวกินกันเอง มีแกงส้ม ผัดผัก พะแนง กุ้งคั่วพริกเกลือ กุ้งที่เจนไนราคาค่อนข้างถูก ตัวโต สด เนื้อแน่น คนที่นั่นไม่ค่อยกินอาหารทะเลกันสักเท่าไหร่ เพราะเขากินถั่ว กินนม กินแป้งเป็นหลัก คนไทยไป กลายเป็นสวรรค์ของอาหารทะเลเลย
คืนก่อนกลับเมืองไทย ท่านกงสุลอยากให้แม่บ้านทำเม็ดขนุนกับฝอยทองเป็นเพราะท่านชอบกิน พอดีมีใบตองเหลือจากจัดงานโชว์ เลยทำเป็นกรวยใบตองโรยฝอยทอง และเป็นกระทงสำหรับเม็ดขนุน ไข่เป็ดที่อินเดียไม่มี ใช้ไข่ไก่แทน กล้อมแกล้มไปได้ครับ เพียงแต่ฝอยทองเมืองไทยเรานิยมใช้ไข่เป็ด เพราะสีสวยกว่า และยืดดีกว่า เส้นไม่ขาดง่ายเหมือนไข่ไก่
ป่านนี้ท่านกงสุลคงได้เม็ดขนุน ฝอยทอง ไว้เลี้ยงแขกไทยที่ไปเยี่ยมท่านถึงเจนไน เรียบร้อยแล้ว ทริปนี้จึงต้องขอขอบพระคุณท่านกงสุลใหญ่เจนไน คุณครองขนิษฐ รักษ์เจริญ ทีมงานทุกท่าน อาจารย์และลูกศิษย์จากวิทยาลัยเทคโนโลยีสยามธุรกิจ ที่ไปช่วยงานสาธิต และแกะสลักโชว์อย่างสวยงามอร่ามตา
โอกาสหน้าฟ้าใหม่ เมื่อบุญมาถึง คงได้กลับไปไหว้พระศิวะ พระแม่อุมา พระพิฆเนศวร์ ที่เจนไนอีกสักครั้งหนึ่งในชีวิต