จากโดดเดี่ยวสู่กระแส…เคยท้อแต่ไม่เลิกทำ! “เดอะ รีเมคเกอร์” แปลงโฉมวัสดุเหลือใช้กลายเป็นสินค้าแฟชั่น หวังขายทั่วโลก

ลองนึกย้อนไปในช่วงเวลาไม่ถึงสิบปีที่ผ่านมา หากพูดถึง “ผลิตภัณฑ์จากวัสดุเหลือใช้” เชื่อว่าคนส่วนใหญ่    อาจเกิดอาการ “งงงัน”  ถึงขั้น “ไม่เก็ท”ว่าคืออะไร บ้างคงอาจแย้งในใจ จะจำเป็นแค่ไหนกันนักเชียว ถึงต้องนำของที่ ใครๆก็เห็นเป็น”ขยะ” กลับมาประดิดประดอย ทำเป็นเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน เพราะมันอาจสร้างความขบขันให้แก่ผู้พบเห็นได้ไม่ยากเลย

แม้บ่อยครั้งในอดีต จะถูกมองว่าเป็น “ตัวประหลาด”ในสายตาของผู้คนรอบข้าง แต่เจ้าของกิจการ ซึ่งเป็นเจ้าของเรื่องราวนับจากนี้ นับว่าเป็นผู้มีความมุ่งมั่นเป็นต้นทุนก้อนใหญ่ จึงสามารถประคับประคองธุรกิจที่เขารัก ให้ดำเนินมาได้ถึงวันนี้

คือ วันที่ผลงานผลิตภัณฑ์จากวัสดุเหลือใช้ ในนาม “The Remaker- เดอะ รีเมคเกอร์” ได้การยอมรับ โดยเฉพาะลูกค้าชาวต่างชาติ เคย “ออเดอร์””สินค้าจากมันสมองของเขาไปขายต่อ ถึงขนาดเป็น  ตู้คอนเทนเนอร์…มาแล้ว

คุณยุทธนา อโนทัยสินทวี  คือ เจ้าของกิจการ “The Remaker- เดอะ รีเมคเกอร์” ซึ่งเกริ่นมาข้างต้น เริ่มต้นบทสนทนาด้วยใบหน้ายิ้มแย้มเป็นกันเอง ด้วยเรื่องราวความเป็นมาให้ฟัง ปัจจุบันอายุสี่สิบเศษ จบการศึกษาปริญญาตรีด้านรัฐศาสตร์ เคยทำธุรกิจรับออกแบบและรับจ้างผลิต สินค้าแฟชั่นจากวัสุดเหลือใช้ จำพวก กระเป๋าถือหรือกระเป๋าสะพายจากเสื้อผ้ามือสอง ส่งให้ลูกค้าชาวต่างชาตินำไปจำหน่ายต่อในประเทศญี่ปุ่น

ทำอยู่ได้พักหนึ่งจึงมาถึงจุดหักเห เมื่อคู่แข่งจากจีน หันมารับทำ “โออีเอ็ม”แบบเดียวกับเขา    แต่แตกต่างตรงรายละเอียดที่ผู้ประกอบการจีนจะนำเสื้อผ้าเย็บใหม่มาฟอกให้เก่า จนดูเหมือนเสื้อผ้ามือสอง  ก่อนนำมาตัดเป็นสินค้าแฟชั่นเหมือนกัน ซึ่งการทำธุรกิจในแบบดังกล่าว ทำให้ต้นทุนการผลิตถูกลงมาก กระทั่งเกิดกลยุทธ์ “ตัดราคา”ตามมา สุดท้ายลูกค้าที่เคยสั่งซื้อสินค้าจากเขา จึงหันไปสั่งซื้อจากจีนแทน

“ตอนนั้นเคว้งอยู่เป็นปี คิดไม่ออกว่าจะทำยังไงต่อ คือ อยากทำธุรกิจเกี่ยวกับวัสดุเหลือใช้ต่อ     แต่พอมาเจอคู่แข่งแบบนี้ เลยคิดว่าถ้ายังอาศัยลูกค้าโออีเอ็มมาสั่งทำ ต่อไปคงต้องเจอปัญหาซ้ำอีก        จึงตัดสินใจทำเอง ขายเอง สร้างแบรนด์ของตัวเอง ใช้ชื่อว่า เดอะ รีเมคเกอร์” คุณยุทธนา ย้อนให้ฟังถึงจุดเริ่ม

เมื่อจุดยืนทางธุรกิจยังมั่นคง เจ้าของกิจการท่านนี้  จึงเดินหน้าต่อด้วยการหาคู่ค้ารายใหม่  แต่ตลาดเป้าหมายยังอยู่ที่เดิม คือ ประเทศญี่ปุ่น ก่อนจะเล็งต่อไปยังฝั่งตะวันตก อย่าง ฝรั่งเศส และ สหรัฐอเมริกา

แสดงว่าลูกค้าคนไทยไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายหลัก คุณยุทธนา พยักหน้าตอบรับ ก่อนไขข้อข้องใจในประเด็นนี้

“ทัศนคติของคนไทยยังไม่ค่อยดีต่อผลิตภัณฑ์จากวัสดุเหลือใช้ และเมื่อหลายปีก่อน ยังไม่มีกระแสลดโลกร้อน การรีไซเคิลไม่มีใครพูดถึง ผมจึงค่อนข้างเป็นตัวประหลาด ช่วงนั้นจึงไม่มองหาตลาดในเมืองไทย เพราะไม่กล้า”คุณยุทธนา เผยความรู้สึก

นึกสงสัยสินค้าแบบเดียวกัน ส่งขายเมืองนอกกับขายในเมืองไทย มีความแตกต่างกันอย่างไร     คุณยุทธนา บอก ขายของเมืองนอกยากตรงที่ต้องหาลูกค้าให้เจอ แต่ถ้าเจอแล้ว ขายง่ายกว่าเมืองไทย เพราะถ้าเป็นลูกค้าคนไทยต้องพูดทีละคนเพื่อให้เขาซื้อหนึ่งชิ้น แต่ถ้าเป็นต่างชาติพูดกับลูกค้าคนเดียว  เขาสั่งซื้อเป็นลอต เพื่อไปขายต่ออีกทอดหนึ่ง

 ถามไถ่ถึงรายละเอียดผลิตภัณฑ์ภายใต้การดูแล เจ้าของ เดอะ รีเมคเกอร์ แจงให้ฟัง เริ่มต้นจากการนำเสื้อผ้ามือสองมาออกแบบดัดแปลงเป็นเสื้อผ้าแบบใหม่ แต่มักเกิดปัญหาตัดไม่ได้ขนาดตามความต้องการของลูกค้า เนื่องจากขนาด S, M, L ของคนเอเชียจะไม่เท่ากับคนยุโรป จึงตัดปัญหา ด้วยการหันมาดัดแปลงเสื้อผ้ามือสอง มาเป็นกระเป๋าถือ กระเป๋าสะพาย เพราะสามารถหิ้วกันได้ทั่วโลก ไม่ว่าคนๆนั้นจะมีรูปร่างขนาดไหน

ใช้วัตถุดิบตั้งต้นเป็นเสื้อผ้ามือสองได้พักใหญ่  จึงขยายไปเลือกใช้วัตถุดิบอื่นบ้าง เช่น ยางในรถจักรยานยนต์ ยางในรถสิบล้อ แต่ผลิตภัณฑ์ปลายทางยังเป็นกระเป๋าเหมือนเดิม

ข้องใจในประเด็นการเลือกใช้วัตถุดิบแต่ละชนิด เกิดขึ้นภายใต้แนวคิดอย่างไร คุณยุทธนา   จึงอธิบายให้ฟัง เริ่มจาการมองสิ่งรอบตัวในชีวิตประจำวัน และนึกถึงวัสดุจำนวนมาก ที่เหลือใช้จากภาคอุตสาหกรรม แต่คนส่วนใหญ่มองข้าม

“บ้านเราใช้จักรยานยนต์กันมาก แต่ไม่มีการนำยางในเก่าไปใช้ให้เกิดประโยชน์อะไร  อย่างมากแค่ใช้   รัดของเล็กๆน้อยๆ  ผมจึงอยากนำมาเพิ่มมูลค่า สร้างประโยชน์ให้เกิดมากกว่าความเป็นยางใน และที่สำคัญยังไม่มีใครทำมาก่อน เลยคิดว่าน่าจะนำดัดแปลงให้เป็นกระเป๋าได้”คุณยุทธนา อธิบาย

เมื่อถามถึงขั้นตอนนำยางในเก่าของจักรยานยนต์มาดัดแปลงเป็นกระเป๋า รูปทรงต่างๆ มีความยากง่ายมากน้อยแค่ไหน ได้รับคำตอบว่า

“ยากครับ ยากมากกกก….” เจ้าของเรื่องราว ลากเสียงยาวราวอยากระบายความอึดอัด

ก่อนเสริมให้ฟัง ความลำบากนั้น เริ่มตั้งแต่กระบวนการหาวัตถุดิบ คือ เมื่อได้ยางในเก่ามาแล้ว  ต้องนำมาทำความสะอาดคราบสกปรกด้านนอก-ด้านใน ซึ่งมีทั้งน้ำมันเครื่อง คราบสนิม ผงแป้ง จากนั้นนำมาผ่าครึ่งออกเป็นสองชิ้นแล้วจึงค่อยถึงขั้นตอนการเย็บ

แต่เมื่อนำมาทำการเย็บ ปรากฎเย็บไม่ได้ เนื่องจากจักรเย็บผ้ารุ่นปกติ ไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมาสำหรับเย็บยางใน จึงต้องลงทุน “โมดิฟายด์” จักรเสียใหม่ เพื่อให้เหมาะกับการเย็บยางในโดยเฉพาะ ช่วงนั้นเกือบถอดใจ เพราะการปรับสภาพการใช้ของจักรนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แต่สุดท้ายสำเร็จจึงเดินหน้าต่อ

“กระเป๋ารุ่นยางในนี้ ทำออกมาแล้วส่งไปขายที่ฝรั่งเศส ปรากฎขายดีมาก มีอยู่ช่วงหนึ่งได้รับ   ออเดอร์จำนวนมากเป็นตู้คอนเทนเนอร์  ตอนนั้นทั้งดีใจและตกใจ เพราะไม่คาดว่าจะต้องหายางในจำนวนมากขนาดนั้น เลยต้องตระเวนหาทั่วกรุงเทพฯกว้านมาจนยางในขาดตลาดเลย”คุณยุทธนา เล่าน้ำเสียงยังตื่นเต้น

มาถึงวันนี้โลกใบเก่าเกิดมลภาวะรุมเร้ารอบด้าน ก่อให้มีกระแส “รักษ์โลก”จากทุกส่วน รวมทั้งเกิดภาคธุรกิจภายใต้แนวคิดรีไซเคิลกันมากขึ้น ซึ่งอาจกลายเป็นคู่แข่งสำหรับ “เดอะ รีเมคเกอร์” ซึ่งประเด็นนี้   คุณยุทธนา ไม่เห็นด้วย และเขากลับมองว่าเป็นเรื่องดี เพราะยิ่งถ้ามีคนทำธุรกิจเกี่ยวกับวัสดุเหลือใช้มากขึ้นเท่าไหร่ แสดงว่าธุรกิจนี้อยู่ในกระแสแล้ว

“ที่ผ่านมาผมโดดเดี่ยวมากเลย สมัยก่อนไม่มีใครพูดถึง มีแต่คนทัศนคติไม่ดี แต่ถ้าคนหันมาให้ความสำคัญกันมากๆ แสดงว่าผู้คนเริ่มให้การยอมรับ ทำให้คิดว่าถึงเวลาที่จะเปิดตลาดในเมืองไทยได้แล้ว”คุณยุทธนา บอก และว่าปัจจุบัน “เดอะ รีเมคเกอร์”มี ช่องทางการจำหน่ายในปัจจุบัน คือ ออกบู๊ธ  ฝากขายตามร้านต่างๆและผ่านทางเว็บไซต์ www.theremaker.com

สนใจเกี่ยวกับผลตอบรับจากลูกค้าคนไทย คุณยุทธนา ยิ้มกว้างก่อนบอก ดีขึ้นตามลำดับ  มีทั้งชาย-หญิง วัยตั้งแต่นักศึกษามหาวิทยาลัยขึ้นไป ที่ให้ความสำคัญเรื่องเแฟชั่นและดีไซน์ก่อน ส่วนเรื่องการช่วยลดขยะมาเป็นอันดับรอง ซึ่งไม่ต่างกับลูกค้าต่างชาติ

ทุกวันนี้ผลิตภัณฑ์หลักของ “เดอะ รีเมคเกอร” ยังเป็นกระเป๋ารูปทรงต่างๆ ซึ่งทำจากวัสดุเหลือใช้ที่หลากหลายขึ้น เช่น เศษผ้าห่ม ป้ายไวนิลโฆษณาหนัง-สินค้า เป็นต้น

“วัสุดเหลือใช้ที่นำมาดัดแปลงนี้ ส่วนใหญ่ได้มาฟรี อย่าง ยางในจักรยานยนต์ มันรีไซเคิลเป็นน้ำยางอีกรอบไม่ได้ เพราะผ่านกระบวนการทางเคมีมาเยอะแล้ว หรือแผ่นไวนิลที่ด้านหนึ่งเป็นพลาสติก อีกด้านหนึ่งเป็นผ้า ถ้าจะรีไซเคิล จะเอาพลาสติกไปใช้อย่างเดียว แต่บ้านเรายังไม่มีกระบวนการคัดแยกพลาสติกกับใยผ้าออกจากกัน เลยเป็นปัญหาของภาครัฐในการฝังกลบหรือเผาทำลาย”คุณยุทธนา ให้ข้อมูลน่าตกใจ

 เราไม่ถึงขนาดจะไปลดขยะอะไรได้มากมาย แค่ช่วยยืดอายุการใช้งานของมันให้นานที่สุดเท่าที่จะนานได้ อย่างแผ่นไวนิลโฆษณาหนังใช้ 1 สัปดาห์ แล้วก็ทิ้ง แต่อายุการใช้งานของมันนานเป็นปี ผมจึงนำมันมายืดอายุให้เหมาะสมกับคุณภาพของวัสดุ”คุณยุทธนา บอกเสียงเรียบ

ถามถึงหน้าที่ของผู้บริหารกิจการ คุณยุทธนา เล่าเขาทำแทบทุกอย่าง ตั้งแต่ มองหาวัตถุดิบ ออกแบบ หาตลาด ดูแลการผลิต ฯลฯ ส่วนเรื่องงบประมาณการลงทุนในธุรกิจนี้ ต้องมีทุนหนาพอสมควร เพราะเป็นงานที่ชาวบ้านเขาไม่ทำกัน ดังนั้นการจ้างแรงงานให้ผลิตสินค้าตามสั่ง จึงต้องจ่ายแพงกว่าคนอื่น

เจอะเจอมาหลายอุปสรรค ทั้งคนมองเป็นตัวประหลาด ความยากลำบากในการหาวัตถุดิบ รวมถึงต้องใช้ต้นทุนสูงกว่าปกติ เคยนึกท้อถอยแค่ไหน คุณยุทธนา ตอบชนิดไม่ต้องคิด

“บ่อยครับ ความท้อมันมาเป็นระยะขึ้นอยู่กับปัญหาหรืออุปสรรคเป็นเรื่องอะไร บางครั้งท้อมากบางครั้งท้อน้อย แต่มีอยู่อย่างหนึ่งซึ่งไม่เคยมีเลยคือเลิกทำ ความคิดที่บอกจะหยุดทำ เลิกทำไม่เคยมี”

ขอความเห็นเกี่ยวกับแนวโน้มธุรกิจลักษะนี้ คุณยุทธนา วิเคราะห์ให้ฟังว่า น่าจะดีขึ้นเรื่อยๆ ตราบใดที่คนยังทิ้งขยะ คนยังไม่รักษาสิ่งแวดล้อม โลกร้อนขึ้นทุกวัน  จะต้องมีคนตระหนักกับสิ่งเหล่านี้ ฉะนั้นเชื่อว่ากระแสความนิยมสินค้าจากวัสดุเหลือใช้จะมีมากขึ้นเรื่อยๆ

อย่างไรก็ตามหากใครคิดอยากก้าวเข้ามาในธุรกิจนี้ จะต้องมีดีไซน์เป็นของตัวเอง เพราะถ้าคอยลอกเลียนแบบคนอื่น จะไม่ยั่งยืนและเติบโตยาก

ก่อนจากกันไปถามไถ่ถึงความตั้งใจในธุรกิจ คุณยุทธนา บอกจริงจังทิ้งท้าย

“หวังว่าเดอะ รี เมคเกอร์ จะเป็นที่รู้จักไม่เฉพาะในเมืองไทย ทั่วโลกต้องรู้จักว่าแบรนด์นี้   คือ  งานแฟชั่นจากวัสดุเหลือใช้ทั้งหมด เป้าหมายที่วางไว้ อาจอยู่ไกลมากๆ แต่พยายาม…จะวิ่งไปให้ถึง”

สนใจสินค้าผลิตภัณฑ์จากวัสดุเหลือใช้ แบรนด์ เดอะ รีเมคเกอร์ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่

โทรศัพท์ 02-688-4522  , 081-731-5869 Facebook/The ReMaker เว็บไซต์ www.theremaker.com  และอีเมล [email protected]