เจ้าของร้านทองล้มละลาย! หันขายวุ้นมะพร้าว ก่อนจับผลไม้หลังบ้านมาแปรรูป จนมาเป็น “จ๊าบ”ของดังเมืองจันท์

“จ๊าบ”  คือ หนึ่งในผู้ผลิตและจำหน่ายผลไม้แปรรูป มีวัตถุดิบเริ่มต้น เป็นไม้ผลจำพวก มะพร้าว มังคุด สละ ที่ปลูกอยู่ในสวนหลังบ้าน

จากจุดเริ่มเล็กๆ ด้วยเงินทุนหลักหมื่น ทำกันเองในครอบครัว แต่เพราะมีเอกลักษณ์เป็นความต่าง  ทำให้ทุกวันนี้ ผลิตภัณฑ์ผลไม้แปรรูปของ  “จ๊าบ” ได้รับความสนใจ ถึงขั้นเข้าไปขายในห้างสรรพสินค้าชั้นนำของเมืองไทยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ช่วงบ่ายของวันทำงาน คุณลักขณา บำรุงพนิชถาวร กรุณาสละเวลา เปิดร้าน “จ๊าบ” ซึ่งตั้งอยู่ อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี ใช้เป็นสถานที่พูดคุยกัน

เธอเริ่มต้นให้ฟังพื้นเพเป็นคนเมืองจันท์ สามีคือ คุณสมบัติ บำรุงพนิชถาวร เคยทำอาชีพรับเหมาก่อสร้าง ส่วนตัวเธอเคยเปิดร้านขายทองรูปพรรณในตัวเมือง

ธุรกิจของทั้งสองดำเนินมาด้วยดีกระทั่งปี 2540 เกิดวิกฤติ “ต้มยำกุ้ง”  ได้รับผลกระทบ ขาดทุนย่อยยับถึงกับล้ม ต้องเป็นหนี้แบงก์…หลักล้าน

จนปี 2543 ตัดสินใจเลิกกิจการ ขายทรัพย์สินที่เหลือเพื่อนำเงินไปใช้หนี้ ก่อนจะขอกู้เงินจากบริษัทประกันชีวิตมา 80,000 บาท เพื่อลงทุนทำ “วุ้นน้ำมะพร้าว”ขาย

สงสัยทำไมหันมาขายวุ้นน้ำมะพร้าว คุณลักขณา ยิ้มน้อยๆก่อนแจงให้ฟัง

“ตอนนั้นอยากทำอะไรก็ได้ที่ไม่ต้องเครียด แล้วเคยไปอบรมจึงรู้วิธีการทำ ประกอบกับในเมืองจันท์ยังไม่มีใครทำขาย ขณะที่หลังบ้านมีสวนมะพร้าวเป็นของตัวเอง เลยลงทุนจากของที่มีอยู่แล้วนี่แหละ”

แม้ไม่ได้คาดหวังกับธุรกิจใหม่ครั้งนี้มากนัก แต่คุณลักขณา บอกไม่น่าเชื่อว่า “วุ้นน้ำมะพร้าว”ที่ทำ ส่งขายร้านขนมหวานในตลาดสด กิโลกรัมละ 35 บาท  จะทำให้ฐานะทางการเงินของครอบครัวเธอ ฟื้นตัวได้ภายในไม่เกินสองปี

เมื่อเริ่มมองเห็น “ทาง”ที่ถนัด จึงเดินหน้ามองหาผลิตภัณฑ์ใหม่ แต่ไม่จำเป็นต้องลงทุนใหญ่โต   แค่ยึดหลักการเดิม คือ เริ่มต้นจากสิ่งใกล้ตัว

“หลังบ้านมีสวนมังคุด และปีนั้นราคาตกมาก เลยลองนำมากวนดู เสร็จออกมานำไปขาย แม่ค้ารับซื้อได้ลองชิม บอกขายได้แน่”คุณลักขณา ย้อนความทรงจำเมื่อครั้งนั้น ด้วยสีหน้าสดชื่น

ก่อนบอกต่อ พอปีถัดมา ทดลองทำสละกวนออกมาขายอีก ปรากฏผลตอบรับดี ตลาดรับซื้อเริ่มมีมากขึ้น จึงตัดสินใจเลิกทำวุ้นน้ำมะพร้าว เพราะมีขั้นตอนมากและใช้แรงงานเปลือง

กิจการแปรรูปผลไม้ ของสองสามีภรรยาชาวจันทบุรี เจ้าของเรื่องราวนี้ เริ่มเดินหน้าอย่างจริงจัง เมื่อครั้งปลายปี 2546  ตั้งต้นด้วยการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าว่า “จ๊าบ” ผลไม้แปรรูป โดยมีชื่อเล่นของลูกชายคนเล็ก เป็นแรงบันดาลใจ

คุณลักขณา เล่าให้ฟังต่อ หลังจากประสบความสำเร็จกับผลไม้กวนได้ไม่นาน จึงนึกถึง “ทุเรียน” ผลไม้ยอดนิยมประจำท้องถิ่นอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งมีคนนำมาทำแปรรูปกันอยู่ก่อนแล้วหลายเจ้า  ส่วนใหญ่เป็นการนำทุเรียนดิบ-ห่าม มาทอดกรอบ ทำให้เธออยากเสนอในแบบที่แตกต่างออกไปบ้าง

“อยากทอดทุเรียนที่ต่างจากเจ้าอื่น เลยลองนำทุเรียนสุกมาทอด ทดลองทำอยู่หนึ่งปีเต็ม เสียบ้าง ทิ้งบ้าง หมดเงินไปเป็นแสน แต่คราวนี้ไม่เครียด เหมือนได้สนุกกับมันมากกว่า”คุณลักขณา ว่าพลางหัวเราะเบาๆ

อย่างไรก็ตามการลงทุนลองผิด-ลองถูกในครั้งนั้น นับว่าคุ้มค่าทีเดียว เพราะทุกวันนี้ “ทุเรียนสุกกรอบ” ในแบบของเธอ  ได้รับความนิยมไม่น้อย สามารถส่งออกไปขายยังประเทศจีนและนำขึ้นเชลฟ์ห้างดังกลางกรุงได้เรียบร้อยแล้ว

จากความพยายามต้องการสร้างความต่างให้เป็นจุดขายของสินค้าตัวเอง ทำให้ปัจจุบัน “จ๊าบ” มีผลิตภัณฑ์ตัวเด่นไม่เหมือนใคร อยู่ในมือ ซื่อถือเป็น “จุดแข็ง”ของแบรนด์นี้เลยทีเดียว

“ธุรกิจแปรรูปมีการแข่งขันสูง  เลยทำสินค้าให้ต่าง  ต้องไม่เหมือนคนอื่น อย่าง มังคุดกวน ทำกันเยอะ เราก็ทำแต่นำมาห่อด้วยแผ่นข้าว ทานแล้วละลายในปาก เนื้อมังคุดกวนไม่ติดพลาสติกชั้นนอก ไม่เปรอะมือ  ซึ่งไม่มีใครทำ เพราะต้นทุนค่อนข้างสูง แต่เราทำ แล้วจับลูกค้ากลุ่มกลางถึงบนไปเลย”เจ้าของกิจการ เผยแนวคิด

จากจุดเริ่มถึงวันนี้เป็นเวลาเกือบสิบปี  “จ๊าบ” เติบโตขึ้นตามลำดับ ล่าสุด มีโชว์รูมสินค้าของตัวเอง ตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าของโรงงานและบ้านพักของเจ้าของกิจการ  มีแรงงานหมุนเวียนคราวละ 7 คน โดยมีการผลิตทุกวัน

เกี่ยวกับช่องทางจำหน่ายดังกล่าว คุณลักขณา บอกที่มาว่า ก่อนหน้าขายส่งตามร้านขายของที่ระลึกในเมืองจันท์อย่างเดียว แต่ระยะหลังเริ่มมีลูกค้าเข้ามาติดต่อโดยตรงมากขึ้น เลยต้องมีหน้าร้านไว้ติดต่อธุรกิจและเปิดขายปลีกไปพร้อมกัน เพื่อให้มีคนรู้จักมากขึ้น

ถามถึงวิธีการทำสินค้าให้เป็นที่รู้จัก เจ้าของกิจการท่านเดิม ออกตัว ที่ผ่านมาไม่ค่อยได้โฆษณาประชาสัมพันธ์มากนัก พยายามทำผ่านเว็บไซต์ก็ยังไม่คืบหน้าเท่าไหร่ ลูกค้ารายใหม่ ส่วนใหญ่จึงเป็นการเข้ามาติดต่อแบบปากต่อปาก

อยากรู้ว่าอุปสรรคในการทำธุรกิจนี้มีอะไรบ้าง คุณลักขณา บอกว่า กำลังแรงงานขาดแคลน เป็นปัญหาเดียวที่หนักใจ ทำให้ไม่สามารถรับคำสั่งซื้อจำนวนมากไม่ได้

“แรงงานผลิต เราเน้นคนในท้องถิ่น ส่วนใหญ่เป็นแม่บ้าน ซึ่งต้องให้อิสระพวกเขา จะไปกะเกณฑ์มากไม่ได้ พอมีออเดอร์ส่งออกเข้ามาจำนวนเยอะ เลยทำไม่ไหว ทำไม่ทัน นึกเสียดายเหมือนกัน เร็วๆนี้เลยคิดอาจจะลงเครื่องจักรมาใช้แทนกำลังคนบางส่วน”คุณลักขณา เผย

สุดท้ายถามไถ่ถึงความตั้งใจในธุรกิจ เจ้าของเรื่องราว ยิ้มน้อยๆก่อนบอกตรงๆ

“อยากให้ร้านสร้างชื่อเสียงได้ด้วยตัวเอง อยากให้ใครที่มาเที่ยวเมืองจันท์แล้ว ต้องมาแวะร้านจ๊าบ เพราะที่นี่มีสินค้าใหม่และแตกต่างออกมาตลอด”

สนใจอยากอุดหนุน “จ๊าบ” ผลไม้แปรรูป หลากหลายชนิด ร้านเปิดทุกวัน 8 โมงเช้าถึง 6 โมงเย็น  สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ เลขที่ 52/1 หมู่ 12 ตำบลท่าช้าง อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี 22000 โทรศัพท์ 039-498-584  , 081-982-9313 , 089-251-9092  แฟกซ์  039-498-380  อีเมล:  [email protected]