เคยลองรึยัง! “ศรีมาลา” ไอศกรีมดอกไม้ หนึ่งเดียวในไทย รายเดียวในโลก

ไอศกรีมดอกไม้ “ศรีมาลา” ปัจจุบันร้านต้นแบบอยู่ที่ตลาดน้ำอัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม และสาขาแฟรนไชส์อีกหลายแห่ง มีจุดเริ่มต้นจาก การนำเอาดอกไม้ในท้องถิ่น  เช่น ดาหลา อัญชัน  เข็ม บัว และ กุหลาบมอญ มาผสานกับความรู้ทางวิชาการในโครงการอุตสาหกรรมและวิจัยสำหรับนักศึกษาปริญญาตรี (IRPUS) ที่เน้นการวิจัยสามารถแก้ปัญหาจริงให้กับภาคอุตสาหกรรม

โดยดำเนินการภายใต้ความร่วมมือแบบไตรภาคี ได้แก่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.), ผู้ประกอบการ และ ทีมงานวิจัยมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ร่วมกันสร้างผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มมูลค่าให้แก่ดอกไม้ในท้องถิ่น จน “ศรีมาลา”กลายเป็นสินค้าเอกลักษณ์ของแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมดังกล่าวไปแล้ว

 

คุณโจ้-พีรวงศ์ จาตุรงคกุล เจ้าของไอศกรีม  “ศรีมาลา”   เริ่มให้ข้อมูลด้วยอัธยาศัยยิ้มแย้มเป็นกันเอง ย้อนความเป็นมาส่วนตัวให้รู้จักกันมากขึ้นว่า พื้นเพอยู่จังหวัดสมุทรสาคร แต่มาทำมาหากินอยู่ตลาดน้ำอัมพวา ได้ราว 7 ปีแล้ว เริ่มด้วยการเปิดร้านขายข้าวคลุกน้ำพริก ชื่อ “กำปั่น” ปรากฏประสบความสำเร็จ มีคนสนใจมาก เลยคิดต่อยอดธุรกิจของครอบครัว ด้วยการมองหา “เสน่ห์”ของอัมพวา มาเป็นจุดขายตัวต่อไป

“แหล่งท่องเที่ยวอย่างอัมพวา น่าจะมีเสน่ห์มากกว่าตลาดน้ำ เลยเริ่มตระเวนศึกษาของในท้องถิ่น กระทั่งพบมีการปลูกดอกไม้กันมาก โดยเฉพาะดาหลา แต่ไม่ได้หวังตัดดอกขาย แค่ต้องการนำไปแซมในร่องสวนมะพร้าว ส้มโอ ลิ้นจี่ เพื่อป้องกันไม่ให้ดินสไลด์ลงร่องสวนเท่านั้น ดอกไม้พวกนี้จึงไม่มีมูลค่าอะไร” คุณโจ้ เล่าถึงจุดเริ่ม

คุณโจ้ บอกต่อ พอมาพิจารณา “ดาหลา” จึงพบว่า มีคนนิยมนำมารับประทานอยู่บ้าง โดยนำไปทานกับข้าวยำ เนื่องจากกลีบของดอกดาหลามีรส เปรี้ยว เผ็ด และซ่า เลยศึกษาหาความเป็นไปได้ในการนำมาแปรรูปเป็นอาหาร โดยนำแนวความคิดทั้งหมดไปหารือกับทาง ดร.อัจฉรา แก้วน้อย อาจารย์ประจำสาขาวิชาเคมีอุตสาหกรรม คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ในฐานะที่เขาเป็นศิษย์เก่า

ซึ่งทาง ดร.อัจฉรา ให้คำแนะนำน่าจะศึกษาความเป็นไปได้ในเชิงพาณิชย์กับดอกไม้ในท้องถิ่นชนิดอื่นด้วย เขาจึงตั้งโจทย์เพิ่มเติมต้องเป็นดอกไม้ที่ไม่ใช้ยาฆ่าแมลง เช่น อัญชัน เข็ม กุหลาบมอญ ฯลฯ กระทั่งปี 2550 ได้นำโครงการไปเสนอกับทางสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยหรือ สกว. เพื่อขอทุนในการวิจัย

คุณโจ้ เล่าอีกว่า ผลจากการวิจัยนำดอกไม้ในท้องถิ่นมาแปรรูปจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ในช่วงแรกนั้น มีการสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ประเภทเครื่องดื่ม เช่น น้ำดาหลา น้ำกุหลาบ น้ำอัญชัน แต่หลังจากนำออกจำหน่ายจริงให้กับนักท่องเที่ยวตลาดน้ำอัมพวา ปรากฏผลตอบรับผิดคาด ลูกค้าบางรายถึงขั้นร้อง “ยี้” เมื่อถามไถ่อยากลองทานน้ำดอกบัวหรือน้ำกุหลาบมั้ย

“กระแสตอบรับที่ออกมาเป็นอย่างนั้น อาจเป็นเพราะผู้บริโภคยังไม่ชินกับการรับประทานดอกไม้   แต่ก็ไม่ท้อ ขอลองปรับใหม่อีกรอบ คราวนี้ไม่น้ำดอกไม้มาแปรรูปเพียวๆแล้ว แต่จับมาผสมผสานกับรสชาติของวานิลลา สตรอว์เบอร์รี่ กาแฟ และ ช็อกโกแลต ที่ทั่วโลกนิยม และมาในรูปของไอศกรีม ให้เข้ากันกับอากาศร้อนในบ้านเรา” คุณโจ้ เล่าให้ฟังถึงความมุ่งมั่น

การทำวิจัยไอศกรีมดอกไม้ในเชิงพาณิชย์คราวนี้ ยังได้รับการสนับสนุนทุนในการทำวิจัยจากทางสกว. โดยอยู่ภายใต้การให้คำปรึกษาทางด้านวิชาการจากทางดร.อัจฉรา อยู่เช่นเคย แต่มีความ “ละเอียดและเข้มข้น” มากขึ้น เน้นผลรับในลักษณะเชิงพาณิชย์จริงๆ

“ไอศกรีมดอกไม้ซึ่งเป็นผลจากการวิจัย มี 5 ชนิดด้วยกันคือ ดาหลา เข็ม กุหลาบ บัว และ อัญชัน โดยดอกเข็มนำมาจับคู่กับสตรอว์เบอร์รี่และแก้ความหวานด้วยน้ำตาลสด ส่วนบัวแม้มีกลิ่นหอมแต่พอมาตีเป็นไอศกรีมแล้วยังไม่อร่อย เลยใช้นมเข้ามาช่วยและใส่เม็ดบัวลงไปช่วยให้มีรสสัมผัสมากขึ้น ล่าสุดมีการต่อยอดอีกสองรสชาติ คือ ลีลาวดี-วานิลลา กับ ช็อกโกแลต-กระดังงา” คุณโจ้ อธิบายด้วยน้ำเสียงภูมิใจ

 เมื่อได้ไอศกรีมดอกไม้ คุณภาพรสชาติออกมาน่าพอใจแล้ว ราวปี 2552 คุณโจ้ จึงนำออกขายเป็นครั้งแรกที่ตลาดน้ำอัมพวา โดยตั้งเป็นร้านขายโดยเฉพาะตั้งชื่อ “ศรีมาลา” ซึ่งมีความหมายว่า ดอกไม้มงคล

“ในร้านศรีมาลา จะมีทั้งน้ำดอกไม้และไอศกรีมดอกไม้ จำหน่ายให้กับนักท่องเที่ยวทั้งไทย-เทศ ที่มาเยือนตลาดน้ำอัมพวา ซึ่งในปีหนึ่งๆ มีกว่าหนึ่งล้านคน หากเข้ามาอุดหนุนร้านเราแค่ 10 เปอร์เซ็นต์ ก็น่าพอใจแล้ว แต่กว่าจะขายถ้วยแรกได้ ยอมรับว่ายากมากครับ” คุณโจ้ เล่าก่อนหัวเราะร่วน

เจ้าของกิจการท่านเดิม บอกต่อว่า การขายไอศกรีม “ศรีมาลา” ซึ่งมีเอกลักษณ์โดดเด่นแตกต่างไปจากไอศกรีมในท้องตลาด งานหนักของคนขายคือต้องมีคำอธิบายให้คนซื้ออย่างละเอียด ว่ามันอร่อยหรือมีสรรพคุณน่าสนใจอย่างไร

ดอกดาหลา

“ในร้านเรามีตู้ไอศกรีมตั้งอยู่ ลูกค้าเข้ามาถามมีรสช็อกโกแลตมั้ย มีรสสตรอว์เบอร์รี่มั้ย พอได้รับคำตอบว่ามีรสดอกดาหลา มีรสดอกบัว ทุกคนจะเหวอ คนขายจึงต้องช่วยกันพูดมากๆว่า ไอศกรีมของเราเป็นมาอย่างไร” คุณโจ้ บอกอย่างนั้น

แม้ถ้วยแรกจะขายยาสักหน่อย แต่มาวันนี้ “ศรีมาลา” มีลูกค้าเข้ามาอุดหนุนไม่ขาดสาย แบ่งเป็นหญิง ชาย 30 เปอร์เซ็นต์ หญิง 70 เปอร์เซ็นต์ ช่วงอายุตั้งแต่ 15-35 ปี เป็นฐานหลัก ส่วนผู้สูงอายุมีอยู่จำนวนหนึ่งซึ่งชื่นชอบไอศกรีมรสดอกบัวเป็นพิเศษ

“ช่วงทำวิจัยกว่าจะพัฒนาต่อยอดจากน้ำดอกไม้มาเป็นไอศกรีมซึ่งมีได้กลิ่นและรสชาติจนน่าพอใจนั้นว่ายากแล้ว หลังออกวางขายยิ่งยากกว่า เพราะขายดีเกินไป ทำให้วัตถุดิบหลักขาดแคลน อย่างดาหลา

ปัจจุบันในอัมพวาปลูกได้ไม่ทัน เลยต้องสั่งจากแหล่งอื่น เช่น นครนายก ราชบุรี” คุณโจ้ บอกจริงจัง

เป็นกิจการมีเอกลักษณ์โดดเด่น จนเข้าตาสื่อหลายสำนัก กระทั่งได้รับคำแนะนำดีๆจากอาจารย์ธัยวัชร์ ไชยตระกูลชัย ว่า ไอศกรีมศรีมาลา ทำธุรกิจเหมือน “จระเข้ขวางคลอง” คือ แปลกและมีเสน่ห์ แต่เข้าถึงยาก หากอยากรับประทานต้องขับรถไปถึงอัมพวา  ฉะนั้นน่าจะลองขยับขยายกิจการไปตามแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆบ้าง คุณโจ้ จึงกลับมาคิดสร้างระบบการจัดการในลักษณะของแฟรนไชส์

“ท่านใดอยากเป็นแฟรนไชส์ของศรีมาลา ติดต่อเข้ามาพูดคุยกันได้ครับ ผมขอดูพื้นที่ขายและเจ้าของกิจการก่อน ที่พูดอย่างนี้เพราะกังวลเกี่ยวกับแนวความคิดของผู้ลงทุนบางคน ที่เห็นว่าเรามีผลิตภัณฑ์ดีแล้วมันจะขายได้ด้วยตัวเอง”

“จริงอยู่ที่เรามั่นใจในผลิตภัณฑ์ แต่ถ้าเข้ามาเป็นแฟรนไชส์แล้ว ต้องช่วยกันขาย ไม่ใช่วางไว้รอให้คนเดินเข้ามาซื้อ  ศรีมาลายังไม่มีชื่อเสียงขนาดนั้น ฉะนั้นคนขายต้องช่วยอธิบายว่า เป็นไอศกรีมที่แปลกใหม่และมีประโยชน์ยังไง” คุณโจ้ อธิบาย

ก่อนจาก ถามไถ่ถึงความตั้งใจในธุรกิจ เจ้าของกิจการ บอก ที่ผ่านมาได้มีการนำกระบวนการสกัดดอกไม้ไปจดสิทธิบัตรไว้แล้ว ฉะนั้นในอนาคตอาจมีการต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์อื่นที่สามารถเชื่อมโยงกับกระบวนการสกัดดอกไม้ดังกล่าวได้ เช่น เบเกอรี่ดอกไม้ วุ้นดอกไม้ เป็นต้น

สนใจแฟรนไชส์ ไอศกรีมดอกไม้ “ศรีมาลา” สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม เลขที่ 78-80 ถนนเลียบนที ตำบลอัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม 75110 โทรศัพท์ 085-444-4625 อีเมล [email protected] Facebook/Srimala

 

ภาพประกอบส่วนหนึ่งจาก Facebook/Srimala