ซัยโจ เด็นกิ บุกตลาดต่างประเทศ ล้างประโยคเจ็บใจ “ไทยแลนด์ โก เอาต์”

บริษัท ซัยโจ เด็นกิ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ในฐานะผู้ผลิตเครื่องปรับอากาศ  “ซัยโจ เด็นกิ” ที่ยืนหยัดอยู่ในตลาดมานานกว่า 30 ปี มีเจ้าของเป็นคนไทยร้อยเปอร์เซ็นต์ ชื่อว่า คุณสมศักดิ์ จิตติพลังศรี ปัจจุบันนั่งเก้าอี้ตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ

“ปีที่แล้วยอดขายของซัยโจ เด็นกิ อยู่ที่ 1,700 ล้านบาท มาปีนี้แทนที่จะเติบโตแตะ 2,000 ล้านบาท แต่เศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศ โดยรวมไม่ดี ยอดขายจึงตกลงมาอยู่ที่ประมาณ 1,400 ล้านบาท แบ่งเป็น กลุ่มลูกค้าในประเทศ 85 เปอร์เซ็นต์ ต่างประเทศ 15 เปอร์เซ็นต์”คุณสมศักดิ์ เริ่มต้นบทสนทนากับ          “เส้นทางเศรษฐีออนไลน์” ด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม

และขอชี้แจง กรณีก่อนหน้านี้ มีกระแสความไม่พอใจบริการหลังการขายของแอร์ซัยโจ เด็นกิ จากลูกค้าบางส่วน ที่ออกมาแสดงความคิดเห็นผ่านโลกออนไลน์ว่า  เรื่องบริการหลังการขาย  ยอมรับว่าเป็นเรื่องน่าปวดหัวพอสมควร   เพราะว่าซัยโจ เด็นกิ ใช้ระบบการขายผ่านตัวแทนจำหน่าย แต่พร้อมจะเข้าไปดูแลให้ผู้ซื้อโดยตรงกรณีที่มีปัญหาเกิดขึ้นกับอันเนื่องมาจากความบกพร่องจากการผลิต ขณะเดียวกันปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้ซื้อร้อยละเก้าสิบห้านั้น เกิดจากการติดตั้งไม่ได้คุณภาพ  ประกอบกับตัวแทนจำหน่ายบางรายทิ้งบริการ แต่สุดท้าย “ชื่อเสีย” กลับมาตกที่ผู้ผลิต

คุณสมศักดิ์ จิตติพลังศรี

“ถ้าเรายังอยากเติบโต นี่คือปัญหาที่ต้องแก้ไข  ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่า ผู้บริโภคต้องการซื้อแต่ของถูกอย่างเดียวโดยไม่สนใจบริการหลังการขาย แต่พอมีปัญหาก็กลับมาที่ผู้ผลิต ซึ่งยอมรับว่าหนักใจอยู่  เพราะเกี่ยวข้องกับคนจำนวนมาก” คุณสมศักดิ์ กล่าว

และว่า อยากจะแนะนำลูกค้า ที่ซื้อแอร์ตามอินเตอร์เน็ต ซึ่งราคาถูกจริง แต่ราคานั้นไม่มีบริการหลังการขาย  พอสถานการณ์ตลาดมันเป็นอย่างนี้ คนที่อยู่นอกอินเตอร์เน็ตที่ค้าขายแบบรับผิดชอบ ก็ขายไม่ได้ เมื่อขายไม่ได้ เขาเลยต้องตัดบริการตัวเองทิ้ง ตัดราคาของตัวเองทิ้ง พร้อมกับทิ้งสำนึกบริการ ขายราคาเหมือนในอินเตอร์เน็ต หรือแพงกว่านิดหน่อย สุดท้ายก็แย่กันไปหมด

“คิดง่ายๆ เหมือนกับรถยนต์  ที่มีผู้นำเข้าประเภทเกรย์ มาร์เก็ต ขายรถราคาถูกกว่าตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการ พอรถมีปัญหาคนซื้อต้องรับผิดชอบเอง แต่แอร์ ไม่ใช่รถยนต์ มันกระจายเยอะกว่า จึงดูเหมือนมีปัญหามาก  และกรณีที่ซื้อรถจากเกรย์ มาร์เก็ต  ลูกค้าจะไปถามหาความรับผิดชอบจากผู้ผลิตรถไม่ได้เลย  เพราะผู้ผลิตจะบอกว่าคุณไม่ได้ซื้อจากตัวแทนของเขา แต่แอร์ทำอย่างนั้นไม่ได้”เจ้าของกิจการท่านเดิม บอกตรงๆ

ก่อนบอกด้วยว่า เข้าใจหัวอกคนซื้อ อยากได้ของถูกที่สุด แต่ของถูกผิดปกติมักจะถูกหลอกเสมอ จากคนขายที่ไม่รับผิดชอบ เรื่องนี้เป็นปัญหาเรื้อรัง ซึ่งเจ้าของแบรนด์มักพูดไม่ออก สมมติแจ้งซ่อมวันละ 500 ราย จะทำทันหรือ ฉะนั้นสิ่งที่อยากบอก คือ ขอให้ผู้บริโภคเลือกตัวแทนจำหน่ายที่เป็น  Authorized และ ก่อนตัดสินใจซื้อ ควรตรวจสอบบริษัทผู้ขายให้ดีว่ามีความน่าเชื่อถือแค่ไหน

กับผลงานภาคภูมิใจ แอร์ขนาดกลาง ขนาดไม่เกิน 500,000  บีทียู  รุ่นไฮ-เทคโนโลยี เวอร์เตอร์ ที่ประหยัดไฟได้ถึง 50 เปอร์เซ็นต์  เตรียมจัดส่งไปยังประเทศออสเตรเลีย และกำลังขยายตลาดไปสู่ประเทศในยุโรป อย่าง เยอรมนี อิตาลี กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง และรวมถึงญี่ปุ่น ด้วย

หมดประเด็นชี้แจงดังกล่าวแล้ว คุณสมศักดิ์ เผยให้ฟังต่อ ถึงจุดแข็งของซัยโจ เด็นกิ ว่า คือ การลงทุนมหาศาลกับงานด้าน “วิจัยและพัฒนา”  โดยทุกปี จะมีการใช้เงิน 4-6 เปอร์เซ็นต์ของยอดขาย หรือขั้นต่ำหนึ่งร้อยล้านบาท  ทุ่มให้กับการวิจัยและพัฒนา นี้ จึงทำให้ซัยโจ เด็นกิ มีเทคโนโลยีที่แข็งแกร่ง เมื่อเทียบกับบริษัทข้ามชาติ  และทุกวันนี้ ซัยโจ เด็นกิ สามารถข้ามผ่านปัญหา “แบรนด์คนไทย”ได้แล้ว สำหรับในสายตาผู้บริโภคในประเทศ เป้าหมายต่อไปจึงพุ่งไปที่ตลาดต่างประเทศ

“ปีหน้าซัยโจ เด็นกิ จะเติบโตในต่างประเทศได้แน่  เราไม่ใช่ระบบเครือข่าย แต่สร้างฐานธุรกิจจากตัวเอง จากคุณภาพของสินค้าและเทคโนโลยีที่เหนือกว่าต่างชาติ ที่พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าเทคโนโลยีของคนไทย ไม่แพ้ชาติใดในโลก” คุณสมศักดิ์ บอกจริงจัง

ก่อนเผยถึงแผนการตลาดในปีหน้าว่า จะเพิ่มยอดขายในต่างประเทศจาก 15 เปอร์เซ็นต์ ให้ไปแตะที่ 30 เปอร์เซ็นต์ จากยอดขายทั้งหมด  โดยประเทศคู่ค้าล่าสุด ประกอบด้วย ญี่ปุ่น สิงคโปร์ อิตาลี เยอรมนี  ดูไบ อิหร่าน เวียดนาม และ ออสเตรเลีย ส่วนประเภทของสินค้า มีทั้งแอร์ติดตั้งตามบ้านและแอร์สำหรับอาคารขนาดใหญ่

การที่แอร์คนไทยจะเข้าไปขายในตลาดต่างประเทศเป็นเรื่องยากง่ายแค่ไหน  เมื่อมี “เจ้าตลาด” จากประเทศผู้ผลิตสำคัญอย่าง ญี่ปุ่น หรือ จีน เป็นตัวยืนอยู่ก่อนแล้ว

“วัดกันที่คุณภาพสิ” คุณสมศักดิ์ ตอบเสียงดังฟังชัด

ก่อนเล่าประสบการณ์ครั้งสำคัญ ที่เขาจะไม่มีวันลืม ด้วยน้ำเสียงและลีลา…ออกรส

“ตอนไปเสนอขายแอร์ ให้กับที่ประชุมสมาคมผู้ค้าของประเทศแห่งหนึ่งไม่ขอระบุชื่อนะ

พอบอกว่า วี คัม ฟอร์ม ไทยแลนด์  ตัวแทนที่ประชุม ตอบกลับมาเลยว่า ว่า  โอ๊ะ! ไทยแลนด์ โก เอาต์  แปลว่าเขาให้เราออกจากห้องประชุม

เราเลยบอกไป เรามีการวิจัยและพัฒนาของเราเอง  เขาตอบกลับมาอีก อิมพอสสิเบิ้ล  ไทยแลนด์ อิมพอร์ต ฟอร์ม  ไชน่า  ยู จะมีเทคโนโลยีจากอะไร ประเทศ ยู ไม่เคยผลิตด้วยตัวเอง ไม่เคยยืนบนขาตัวเอง แม้จะบอกว่ามี อาร์แอนด์ดี ถ้ามี ก็มีแบบกระจอก”

“เลยบอกไปเอาอย่างนี้มั้ย จะขอออกค่าใช้จ่ายทั้งหมด ให้มาดูโรงงานของเราที่เมืองไทย  แล้วจะซื้อไม่ซื้อไม่เป็นไร แต่เชิญมาก่อน  พอเขามาดูจริงๆก็ตกใจ  เมื่อรู้ว่าเราสามารถพัฒนาเทคโนโลยีอินเวอร์เตอร์ ได้ด้วยตัวเอง และยังพัฒนาอินเวอร์เตอร์สำหรับแอร์ใหญ่ได้แล้ว หลังจากนั้นจึงมีการสั่งไปทดสอบอยู่สามเดือน ปรากฏไม่มีปัญหา จนปัจจุบันกลายเป็นคู่ค้ารายใหญ่กันไปแล้ว ล่าสุดผมถามไม่กลัวแล้วเหรอ เขาบอกทดสอบมาหนึ่งปีแล้ว สบายใจได้” คุณสมศักดิ์ เล่ามาอย่างนั้น

แผงอิเล็กทอรนิกส์กับไดรฟ์เวอร์ ซึ่งถ้าย้อนไปเมื่อ 5 ปีก่อน แผงคอนโทรลสำหรับแอร์ขนาดกลางนี้ จะต้องมีขนาดใหญ่เป็นเมตร แต่วันนี้ซัยโจ เด็นกิ สามารถลดขนาดเหลือเพียงไม่กี่ชิ้นส่วนเท่านั้น     

และว่า อย่างไรก็ตาม สิ่งต่างๆเหล่านี้ ไม่ได้เกิดขึ้นโดยบังเอิญ หากแต่เกิดจากความอดทน พยายามของ หน่วย “วิจัยและพัฒนา” ของซัยโจ เด็นกิ  โดยวิศวกรกว่า 50 ชีวิต ทำงานกันต่อเนื่องตลอดสิบปีที่ผ่านมา  และนี่คือการก้าวย่างก้าวแรกของคนไทย ที่สามารถส่งเครื่องปรับอากาศที่มีเทคโนโลยีชั้นสูง ไปในประเทศที่เจริญกว่า อย่าง ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย หรือประเทศในแถบยุโรป

แต่ก่อนที่จะเข้าไปขายในประเทศเหล่านี้ได้ ยอมรับว่าต้องพบกับ “แรงต้าน” มหาศาล จากความเชื่อที่ว่า ถ้าเป็นสินค้าเทคโนโลยีเครื่องปรับอากาศของคนไทยจริงๆ ไม่ต้องมาพูดกัน ไม่มีใครให้ความเชื่อถือเลย แต่วันนี้เราทำได้แล้ว

“แม้รูปร่างอาจเสียเปรียบ แม้ต้นทุนสู้เขาไม่ได้ แต่ด้วยจิตใจและมันสมอง ผมเชื่อมั่นว่าคนไทยสามารถยืนบนขาตัวเองได้” คุณสมศักดิ์ ทิ้งท้ายไว้อย่างนั้น