เกษตรกรวัย 26 ปี พลิกผืนดินที่ปาย ปลูก “อะโวกาโด” เพิ่มมูลค่าแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ความงาม สร้างรายได้หลักล้านต่อเดือน

อะโวกาโด (Avocado) หรือ ลูกเนย หลายคนยังเข้าใจผิดคิดว่าเป็นผลไม้ที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ แต่จริงๆ แล้วในไทยก็ปลูกได้ด้วยการเพาะเมล็ด ปลูกง่าย แทบจะไม่ต้องดูแลมาก ก็ปลูกขึ้น สามารถปลูกแซมในสวนผลไม้อื่นก็ได้ เพาะเมล็ด 3 – 4 ปี ให้ผลผลิตและเก็บเกี่ยวได้ และจะให้ผลผลิตมากขึ้น ต่อเมื่อ อะโวกาโดอายุ 5-6 ปี เกษตรกรภาคเหนือตอนบนและตอนล่างนิยมปลูกกันมาก

โจ้ – ยุทธนาศักดิ์ แก้วคำ  เด็กหนุ่มอนาคตไกลวัยเพียง 26 ปี จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ วิทยาเขตแพร่ คณะสัตวศาสตร์และเทคโนโลยี ปัจจุบันสวมบทบาททั้งเกษตรกรและนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จจากการปลูกอะโวกาโด เพราะนอกจากจะขายผลสด ยังนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ความงามบำรุงผิวพรรณทั้งผิวหน้าและผิวกาย ภายใต้แบรนด์ “อะโวคาโด ไร่ยังคอย” ขยายตลาดด้วยตัวแทนจำหน่าย รวมถึงส่งออกต่างประเทศ สร้างรายได้ต่อเดือนหลักล้านบาทเลยทีเดียว

14453928_1092641180812930_494944959_o

โจ้ เผยกับเส้นทางออนไลน์ว่า หลังจากเรียนจบ ป.ตรี ไปเพาะพันธุ์ไก่ชนหายาก ซึ่งเป็นพันธุ์พื้นเมืองของ แม่ฮ่องสอน มีการขยายตลาดไปยังต่างประเทศ ส่งจีน ลาว มาเลเซีย และอินโดนีเซีย มีทั้งส่งตรงและส่งผ่านพ่อค้าคนกลาง ทว่าระยะหลังเศรษฐกิจเริ่มไม่ดี ราคาไก่ตกต่ำ เลิกทำฟาร์มไก่ หลังเพาะพันธุ์ไปได้ปีกว่าๆ

14483683_1092642600812788_1057693417_n

หลังฟาร์มไก่ชนยุติลง คราวนี้โจ้ หันมาขายส่งกาแฟขี้ชะมด ประกอบกับปลูกอะโวกาโดควบคู่ เพราะเห็นว่า อะโวกาโดราคาดี ขณะเดียวกันปลูกง่ายไม่ต้องดูแลมาก ราวปี 58 เริ่มหันมาปลูกอะโวกาโดอย่างจริงจัง จากตอนแรกปลูกเนื้อที่ 10 ไร่ ปัจจุบันปี 60 ขยายพื้นที่ปลูก 30 ไร่ โดยอะโวคาโดที่ปลูกมีอยู่ 3 สายพันธุ์ คือ พันธุ์ปีเตอร์สัน พันธุ์แฮส และ พันธุ์กลาย ซึ่งพันธุ์แฮสเป็นพันธุ์ที่ตลาดต้องการมากเพราะรสชาติดี  แต่การดูแลรักษาค่อนข้างยาก ให้ผลผลิตน้อย ส่วนพันธุ์กลายและพันธุ์ปีเตอร์สัน รสชาติไม่คงที่ แต่ให้ผลผลิตมาก

“ที่มาของการปลูกอะโวคาโด เมื่อปีพ.ศ. 2522 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช  บรมนาถบพิตร ได้เสด็จพระราชดำเนินมาเยี่ยมราษฎรชาวเขาในเขตหมู่บ้านวัดจันทร์ ราษฎรส่วนใหญ่เป็นชาวไทยภูเขาชนเผ่ากะเหรี่ยง มีอาชีพทำนา เเละทำไร่เลื่อนลอย ในหลวง ร.9 มีพระราชดำริให้พัฒนาบ้านวัดจันทร์และหมู่บ้านใกล้เคียง เพื่อให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยครอบคลุมพื้นที่ 17 หมู่บ้าน ซึ่ง “ไร่ยังคอย” ก็เป็นหนึ่งในนั้น โดยอยู่ห่างจากโครงการหลวงเพียง 500 เมตร”

สำหรับพระราชดำริของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9  คือทำการทดสอบพันธุ์พืช โดยเน้นว่า ต้องต้านทานโรคและคุณภาพผลผลิตดี เพื่อที่จะได้นำไปถ่ายทอดและส่งเสริมให้กับเกษตรกรปลูกต่อ ซึ่งพืชและสายพันธุ์ที่ทดสอบ มี 19 ชนิด หนึ่งในนั้นมี “อะโวคาโด”  นับตั้งแต่บัดนั้นมา ดินแดนแห่งนี้ก็มีผลไม้วิเศษที่พระราชทานมาจากพระราชา นั่นคือ “อะโวคาโด” ที่สร้างรายได้ สร้างอาชีพให้เหล่าราษฎรนับร้อยนับพันคน นี่คือพระอัจฉริยภาพของพระองค์ท่านโดยแท้

“พื้นที่ 1 ไร่ ผมปลูกอะโวกาโดได้ 45 ต้น ระยะห่างต่อต้น 6X6 เมตร ปลูกแบบปลอดสารเคมี ผลผลิตต่อปี ราว 10 -15 ตัน เก็บผลสดขายต่อไร่มีรายได้เกือบ 2 แสนบาท แต่ทว่าการทำเกษตรมีความเสี่ยงหลายอย่าง บางครั้งผลผลิตไม่ออกตามฤดูกาล ผลไม่สวย ด้วยเหตุนี้จึงคิดหาแนวทางเพิ่มมูลค่าให้กับผลไม้ชนิดนี้”

ต้องบอกก่อนว่า น้องสาวเจ้าของไร่อะโวกาโด ไร่ยังคอย จบการศึกษาด้านเคมี ก็พบว่า อะโวคาโด เป็นไม้ผลที่มีคุณค่าทางอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายสูงมาก อุดมไปด้วยวิตามิน E และมีแอนตี้ออกซิแดนต์ ช่วยบำรุงผิวพรรณ ปัจจุบันถูกนำไปสกัดเป็นเครื่องสำอางของผู้หญิง และเป็นที่ต้องการมากของตลาดจีน ทวีปอเมริกา ยุโรป

14423971_1092641154146266_337971254_o

สำหรับอะโวกาโดผลสด ลูกสวย เนื้อเยอะ น้ำหนักต่อลูก  5 ขีด ถึง 1 กิโลกรัม คุณโจ้จะขายเอง ไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง จำหน่ายตั้งแต่ราคา 80-100 บาท ขณะเดียวกัน อะโวกาโดผลไม่สวยจะนำมาสกัดทำเป็นครีมทาผิว ครีมกันแดด สครับผิว ทรีตเม้นต์ ครีมหมักผม เป็นต้น

ปัจจุบันรายได้จากการจำหน่ายอะโวกาโด 20 เปอร์เซ็นต์มาจากการจำหน่ายผลสด อีก 80 เปอร์เซ็นต์มาจากการแปรรูป ยกตัวอย่างเช่น เฉลี่ยแต่ละวันจะผลิตสบู่อะโวกาโด ได้วันละ 500 ก้อน ขายเกือบหมดทุกวัน ส่งออกไปจีน ลาว ส่วนผลสดก็มีชาวบ้านทั้งในเชียงใหม่และแม่ฮ่องสอนมารับซื้อ จึงกลายมาเป็นผลิตภัณฑ์ที่สร้างรายได้ให้แต่ละเดือนเป็นหลักล้านบาท