“นกแก้ว” สบู่หอมยี่ห้อแรกของไทย ยืนหยัดเจ็ดสิบปี ปัจจุบันยอดขายปีละพันล้าน!

เมื่อเจ็ดสิบปีก่อน คนไทยส่วนใหญ่ยังไม่รู้จักสบู่หอม และนิยมใช้ “สบู่กรด”เพื่ออาบน้ำล้างตัวและซักผ้าในก้อนเดียวกัน จนเมื่อ พ.ศ. 2490 นักธุรกิจชาวสวิตเซอร์แลนด์ นามว่า “วอลเตอร์ เลโอ ไมเยอร์” ผู้จัดการ    บริษัท เบอร์รี่ยุคเกอร์ แอนด์ โก  ในประเทศไทย เล็งเห็นโอกาสทางธุรกิจและคุณค่าของดอกไม้พื้นเมือง จึงตัดสินใจทำ “สบู่หอม”ออกมาขายเป็นเจ้าแรก

ส่วนแรงบันดาลใจ ในการตั้งชื่อตราสินค้านั้น มาจากสีสันสวยงามของนกชนิดหนึ่งในป่าของบ้านเราเลยใช้ชื่อแบรนด์สบู่หอมยุคบุกเบิก ยี่ห้อแรกของไทยนี้ ว่า “นกแก้ว”

ซึ่งการผลิตสมัยนั้น ทำกันในโรงงานเล็กๆเป็นห้องแถวย่านกล้วยน้ำไท มีพนักงานไม่ถึง 20 คนระหว่างขั้นตอนการกวนเนื้อสบู่  กลิ่นน้ำหอมจากดอกไม้ไทยนานาพันธุ์ มักฟุ้งกระจายไปทั่วคุ้ง    ทำให้ชาวบ้านมามุงดูกันเป็นจำนวนมาก

และด้วยเอกลักษณ์ของกลิ่น  เนื้อสบู่ที่แข็งไม่ละลายง่าย และ เปิดราคาขายระดับชาวบ้านทำให้ “นกแก้ว”เป็นที่นิยมแพร่หลายได้ไม่ยาก ภายในเวลาอันรวดเร็ว

ขึ้นแท่นเป็นรายเดียวในตลาดได้ไม่นาน การแข่งขันทางธุรกิจก็เริ่มต้นขึ้น คู่แข่งหลายรายพากันนำเข้าสบู่       แบรนด์นอกเข้ามาเป็นตัวเลือกใหม่ๆ ขณะเดียวกันความต้องการของผู้ใช้เริ่มเปลี่ยน หันไปนิยมใช้สบู่ก้อนที่มีคุณสมบัติถนอมผิวและสบู่เหลวกันมากขึ้น  ส่งผลให้เรตติ้ง “นกแก้ว”ลดลงจนน่าใจหาย กระทั่งเสียตำแหน่ง “เบอร์หนึ่ง”ในตลาดสบู่ก้อนไปในที่สุด

 คุณนุชนาฎ แก่นทางเจริญ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด ฝ่ายผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ส่วนตัวและในครัวเรือน บริษัท เบอร์รี่ ยุคเกอร์ จำกัด(มหาชน) หรือ บีเจซี  ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ “นกแก้ว”  เผยถึงการปรับตัวของ “นกแก้ว” เพื่อต่อกรกับคู่แข่ง ช่วง15 ปีก่อนหน้านี้ ให้ฟัง

เริ่มจากการเปลี่ยนภาพลักษณ์ให้ดูทันสมัย ปรับโลโก้ตัวนกแก้ว ให้มีหน้าตาเพรียว โฉบเฉี่ยวขึ้น  และเปลี่ยนชื่อเรียกจาก “ก้อนเขียว” มาเป็น “พฤกษานกแก้ว” เพื่อตอกย้ำคุณค่าความหอมจากดอกไม้ไทย แต่กลิ่นและบรรจุภัณฑ์ยังคงเอกลักษณ์ “กระดาษห่อ”ไว้เหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง

“กลิ่นของนกแก้วมีเอกลักษณ์เฉพาะ แต่เมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว คนยังเรียกกันว่าก้อนเขียว  ก้อนเหลือง ก้อนชมพู ทั้งที่มีความเด่นตรงกลิ่น เลยต้องมาจัดกลุ่มสินค้าใหม่ แยกเป็นกลิ่นต่างๆ อย่างก้อนเขียว  คือ พฤกษานานาพันธุ์ เหลืองคือมะลิ ชมพูคือกุหลาบ ก่อนทำการสื่อสารใหม่กับผู้บริโภคให้ชัดเจนขึ้น” คุณนุชนาฎ บอกอย่างนั้น

พ.ศ. 2541 ใช้กลยุทธ์ Brand Extension เพื่อเข้าสู่ตลาดสบู่บิวตี้ (Beauty) ใช้ชื่อ แพรอท โกลด์ เจาะกลุ่มเป้าหมายเป็นหญิงสาวรักสวยรักงาม ต้องการดูแลผิวพรรณเป็นพิเศษ โดยจัดอยู่ในบรรจุภัณฑ์ในกล่องกระดาษ มีความทันสมัยน่าใช้

ก่อนตอบโจทย์ตลาดยุคใหม่  ด้วยการผลิต “นกแก้ว” แบบแบบน้ำและแบบครีมออกมา เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคที่เริ่มหันไปใช้สบู่เหลวมากขึ้น

พ.ศ. 2554  ออกสินค้าใหม่เป็นสบู่ก้อนและครีมอาบน้ำในกลุ่มสุขภาพ ภายใต้ชื่อ แพรอท เนเชอร์รอล การ์ด ที่มีเกราะใสปกป้องผิวจากแบคทีเรีย

ล่าสุดออกสินค้าน้องใหม่ ชื่อ แพรอท เฮอร์เบิล เป็นสบู่สมุนไพร เข้ามารองรับตลาดสบู่สมุนไพรที่กำลังเป็นที่นิยมในปัจจุบัน

  “เดิมสบู่ก้อนตลาดใหญ่มาก ระยะหลังผู้ผลิตต่างหันมาทำสบู่น้ำ ทำให้ตลาดสบู่น้ำใหญ่ขึ้น ทุกวันนี้ตลาดสบู่ก้อนอยู่ที่ประมาณ  49 เปอร์เซ็นต์ ส่วนตลาดสบู่น้ำมีอยู่ 51 เปอร์เซ็นต์”  คุณสรรค์ชัย เตียวประเสริฐกุล ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ กลุ่มธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค บีเจซี กล่าวเสริม

ปัจจุบันสบู่ทั้งสองแบบมีตัวเลือกเยอะมาก มูลค่าตลาดรวมหลายพันล้านบาท การแข่งขันจึงรุนแรงไม่น้อย การที่ “นกแก้ว” มีสินค้าตัวใหม่ออกมาหลากหลาย เพราะอยากเสนอตัวเป็นทางเลือกให้กับคนรุ่นใหม่ หากต้องยอมรับ ฐานลูกค้าส่วนใหญ่ยังเหนียวแน่นอยู่กับสบู่ก้อน “นกแก้ว ออริจินัล”  จนทำให้มียอดขายกว่า 40 เปอร์เซ็นต์จากยอดขายสินค้าในกลุ่มเดียวกัน

“แพคเกจจิ้งสบู่พฤกษานกแก้ว ยังเป็นกระดาษห่อ อาจดูเชย แต่มีข้อดี คือ ส่งกลิ่นหอมออกมาง่ายกว่า เลยตั้งใจไม่เปลี่ยนแปลง  ปัจจุบันคนกลับชอบในความคลาสสิค กลายเป็นของฝากที่ต้องซื้อจากเมืองไทยไปแล้ว”ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ บีเจซี ว่าอย่างนั้น

แม้ 15 ปีก่อนหน้านี้ สบู่ก้อน“นกแก้ว” ไซส์เล็กจะเป็นเจ้าตลาด ส่วนไซส์กลางและไซส์ใหญ่ เป็นของคู่แข่งจากสองค่ายใหญ่

แต่ด้วยเพราะกลยุทธ์ทุกรูปแบบที่ถูกนำมาใช้  ล่าสุด “นกแก้ว”กลับมาเป็นเจ้าตลาดสบู่ก้อนที่สองไซส์ คือ ใหญ่และเล็กแล้ว ส่วนไซส์กลาง ยังคงเป็นของคู่แข่งตลอดกาล ทว่ายอดขายใกล้เคียงกันมาก

ทำให้ผลรวมของยอดขายทั้งหมดวันนี้ “นกแก้ว”กลับมาเป็นเบอร์หนึ่งของตลาดสบู่ก้อนได้เรียบร้อยแล้ว

“ก่อนหน้านี้มีการหารือกันในทีมวิเคราะห์ ถ้าจะให้นกแก้วไปต่อ ควรเปลี่ยนมาสร้างจุดขายเรื่องผิวดีมั๊ยเพราะเป็นเทรนด์กำลังมาแรง แต่เมื่อหันมามองตัวเองอีกครั้ง ได้ข้อสรุปตรงกัน เอกลักษณ์ของนกแก้ว คือ กลิ่น  ถ้าไปทำเรื่องผิวคงสู้คู่แข่งไมได้แน่ แต่เรื่องกลิ่นก็ไม่มีใครสู้นกแก้วได้เหมือนกัน  ฉะนั้นทำไมต้องทิ้งตัวตนของเราออกไป” สองผู้บริหาร บีเจซี ช่วยกันสรุป

ก่อนเผยทิ้งท้าย ยอดขาย “นกแก้ว”ทุกเวอร์ชั่น ต่อปีนั้น ปัจจุบันขึ้นหลักพันล้านบาท  ถือเป็น “พระเอก”ในหมวดสินค้าอุปโภคของบีเจซีเลยก็ว่าได้