ผู้เขียน | ภาวิณีย์ เจริญยิ่ง |
---|---|
เผยแพร่ |
ว่าไปแล้วเป็นเรื่องปกติที่ผู้คนมักชอบไปเที่ยวต่างจังหวัดตอนปลายฝนต้นหนาว หลายคนไม่ชอบไปเที่ยวตอนหน้าฝน แต่ในความเป็นจริงการไปสัมผัสสถานที่ต่างๆ ในหน้าฝนก็ให้ความรู้สึกไปอีกแบบ โดยเฉพาะการไปในสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติทั้งหลาย อย่างเช่นในป่าดงพงไพร หรือสถานที่ท่องเที่ยวเชิงเกษตร มองไปที่ไหนก็เห็นแต่ความเขียวขจี ให้ความรู้สึกสดชื่นตลอดเวลา แม้บางช่วงบางตอนจะมีฝนโปรยปรายมาบ้างก็ตาม
อย่างเมื่อไม่นานมานี้ “คุณสมฤดี จิตรจง” ผู้อำนวยการภูมิภาค ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ที่ดูแลพื้นที่ภาคอีสานทั้งหมด ได้เชิญนักข่าวจากส่วนกลางกลุ่มหนึ่งไปร่วมโครงการ “เที่ยวอีสาน ยามฝนพรำ” โดยเลือกเส้นทางปากช่อง-เขาใหญ่ ซึ่งทาง ททท.อีสาน ต้องการจะโปรโมตให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและท่องเที่ยวเชิงเกษตร เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่เหมาะสมเข้ากับเทรนด์การท่องเที่ยวของคนในยุคนี้ที่หันมาเอาใจใส่ดูแลสุขภาพกันมากขึ้น
จากวิกฤตเปลี่ยนเป็นโอกาสเปิดขายสินค้าโอท็อปด้วย
จุดหนึ่งที่ไปเยี่ยมชมกันคือ “สนผักปากช่อง” ของ คุณเสก-ชยพล กลมกล่อม ในตำบลคลองม่วง อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็นฟาร์มใหญ่ทีเดียวมีพื้นที่ถึง 600 ไร่ มองไปสุดลูกหูลูกตา หากใครได้คุยกับหนุ่มใหญ่ผู้นี้แล้วจะรับรู้ได้ทันที เขาเป็นเกษตรกรที่ไม่ธรรมดาเลย ทั้งนี้ทั้งนั้น เป็นเพราะกว่าจะก้าวมาเป็นเกษตรกรอย่างเช่นทุกวันนี้เขาเคยทำธุรกิจบ้านจัดสรรมาก่อน แต่พอเจอปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจยุคต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540 ทำให้ชีวิตของเขาจำเป็นต้องพลิกผัน เนื่องจากเป็นหนี้เป็นสินพะรุงพะรัง สุดท้ายคนกรุงเทพฯ อย่างเขา ตัดสินใจเข้ามาทำอาชีพเกษตรที่ปากช่อง
5 ปีที่ผ่านมา สวนผักของเขาก็ปลูกผักเพื่อขายอย่างเดียว แต่ในปีนี้เขาวางแผนทำในรูปเกษตรเชิงท่องเที่ยว เพราะมองว่าน่าจะไปได้ดี สาเหตุหนึ่งคือ ผู้คนหันมานิยมการท่องเที่ยวแบบนี้มากขึ้น และพื้นที่ของสวนก็กว้างใหญ่ ที่สำคัญ มีหลายจุดที่ผู้มาเยือนจะได้ข้อมูลความรู้กลับไป โดยเฉพาะขั้นตอนวิธีการปลูกผักที่ทำรายได้ดี อย่างกุยช่ายขาว ซึ่งปลูกเป็นจำนวนมาก การปลูกขึ้นฉ่ายแบบไฮโดรโปนิกส์ในโรงเรื้อน นอกจากนี้ ยังมีผักกาดหอมและผักสลัดอีกด้วย
“ผมเรียนจบด้านบริหารมา ไม่ได้เรียนมาทางเกษตร ค่อยๆ พัฒนาเรียนรู้มาเรื่อย ที่ทำเกษตรเชิงท่องเที่ยวเพราะต้องการลดปริมาณการผลิตให้น้อยลง แต่เพิ่มมูลค่าขึ้น ผมต้องการให้ประชาชนเข้ามาสัมผัสวิถีเกษตรกรว่ามีความเป็นอยู่อย่างไร ทำแล้วได้ประโยชน์แค่ไหน แล้วรายได้ที่เกิดจากการเกษตร ความจริงแล้วมันอยู่ได้ ทำเป็นอาชีพได้ บางคนปลดเกษียณ หรือแม้มีงานประจำแล้วก็สามารถที่จะได้อยู่กับสภาพอากาศดีๆ อีกทั้งได้ออกกำลังด้วย”
“เราเริ่มธุรกิจจากศูนย์ ตอนนี้มีที่ดิน 120 ไร่เป็นของตัวเอง แต่เพิ่งจะมาซื้อได้ไม่กี่ปี นอกนั้นเป็นพื้นที่เช่า ในเรื่องการปลูกพืชชนิดต่างๆ ผมใช้วิธีศึกษาหาข้อมูลจากหนังสือ จากการถาม แล้วเข้าไปเรียนรู้ ลองผิดลองถูกไปเรื่อย ใหม่ๆ ก็น้ำตาตก ปลูกไปก็ไม่ได้เก็บ ปลูกไปหนอนก็กิน ใบเป็นโรค แต่มาคิดว่าคนอื่นทำได้ เราก็ต้องทำได้”
ทำไมต้องเป็นกุยช่ายขาว ประเด็นนี้ คุณเสก อธิบายว่า ที่เลือกกุยช่ายขาวเพราะว่าราคาดี อีกอย่างคู่แข่งด้านการตลาดน้อย โอกาสที่จะปลูกเป็นฟาร์มใหญ่ทำได้ยาก แต่ทุกวันนี้ก็มีคู่แข่งที่พยายามจะตีราคา ขายสินค้าให้ถูกลง อย่างที่สวนส่งขายเข้าเทสโก้ โลตัส กิโลกรัมละ 100 บาท คู่แข่งก็มาตัดราคาเหลือกิโลกรัมละ 80 บาท เพื่อที่จะดึงลูกค้าไป ซึ่งก็มีหายไปบ้างแต่ไม่เยอะ
เน้นต้องใช้การตลาดนำ
อย่างที่บอก วิธีคิดของคุณเสกไม่ธรรมดา อย่างที่เจ้าตัวสาธยาย “ผมจะใช้การตลาดนำ เนื่องจากว่า ผมเห็นเกษตรกรส่วนใหญ่เอาผักไปขายในตลาด แม่ค้าคนกลางเข้ามาตีราคา แล้วถึงจะได้ขาย แต่ของผมไม่ทำแบบนั้น ผมจะเอาตัวเองเข้าไปหาตลาดก่อน ช่วงแรกเราจะเดินไปหาแม่ค้าในตลาดก่อน ถามว่า พี่ใช้กุยช่ายขาวกี่โล ซื้อไหม เพราะของผมมีคุณภาพ รับรองมาตรฐาน GMP ช่วงใหม่ๆ มาซื้อผม 5 กิโลกรัมบ้าง 10 กิโลกรัมบ้าง ผมพยายามรักษาคุณภาพ ทำให้ยอดเพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ จนตอนหลังโลตัสเห็นสินค้าก็เข้ามาหาที่สวน จึงเริ่มทำสัญญากับห้าง โดยผ่านบริษัทอัลเฟรด ค้าขายกันมาตลอด แต่ทั้งหมดทั้งมวล ผมเน้นเรื่องคุณภาพ อย่างถ้าหนอนลง เราไม่ตัดขายแต่ตัดทิ้งเลย”
แม้สวนผักปากช่องแห่งนี้จะไม่ใช่ฟาร์มออร์แกนิก แต่เจ้าของฟาร์มยืนยันว่าเป็นเกษตรปลอดภัย
“ฟาร์มเรายังใช้สารเคมีอยู่ แต่อยู่ภายใต้ของมาตรฐานกรมวิชาการเกษตร จะทำให้ไม่มีสารเคมีตกค้างไปถึงผู้บริโภค เรื่องพวกนี้ถ้าเราไม่รักษาคุณภาพ คงไม่สามารถดิวกับเทสโก้ โลตัส ได้ยืนยาวมาหลายปี ในส่วนของแมลงใช้ทั้งที่เป็นอินทรีย์ในส่วนที่ป้องกัน กับเคมีในเรื่องของการระบาด แต่ว่าก่อนที่จะเก็บเกี่ยวสารเคมีแต่ละตัวจะมีอายุการตกค้างที่ไม่เท่ากัน ฉะนั้น ยืนยันได้ว่าปลอดภัยแน่นอน”
เขาให้คำแนะนำสำหรับผู้ที่ต้องการมาเป็นเกษตรกรว่า วิธีคิดในการปลูกพืช ต้องเลือกปลูกพืชที่มีคู่แข่งน้อย ในท้องที่นั้น ผักอะไรที่ปลูกได้และโดดเด่น ซึ่งบางครั้งไม่ต้องไปตามอย่างคนอื่น แต่ให้ดูว่าพื้นที่ที่อยู่ทำอะไรได้ อย่างมีผักโดดเด่น มีผักพื้นบ้าน เช่น ทุ่งกระเจียว ดอกขจร เป็นต้น
คุณเสก บอกด้วยว่า ตลาดกุยช่ายขาวกับขึ้นฉ่าย อัตราการเติบโตดีขึ้น แต่ไม่มาก ประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ ต่อปี สำหรับเกษตรกรที่ไม่ได้ปลูกส่งห้าง โอกาสที่จะสร้างฐานะก็ทำได้ เพราะในภาพรวมตลาดผักทั่วประเทศปีละหลายหมื่นล้าน ไม่ว่าจะเป็น โหระพา ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด แต่ต้องเข้าไปหาตลาดให้ได้ คือต้องหาตลาดก่อน ไม่ใช่ปลูกก่อนแล้วค่อยหาตลาด เกษตรกรส่วนใหญ่ปลูกก่อน แล้วค่อยหาที่ขาย
น่าสนใจตรงที่ว่าคุณเสกทำอาชีพเกษตรแค่ 5 ปี แต่สามารถสร้างฐานะได้อย่างมั่นคง และขยายพื้นที่ปลูก เรื่องนี้เจ้าตัวให้ข้อมูลว่า “ทำเกษตรก็สามารถรวยเป็นเศรษฐีได้ อย่างตอนนี้ผมสามารถซื้อที่ได้เป็นร้อยไร่ก็มาจากผักทุกต้นที่เราปลูกขาย จุดสร้างความร่ำรวยของผม ประการแรกความใส่ใจต้องมาก่อน คุณต้องรู้จักเดินไปคุยกับผัก คุณต้องรู้ว่า ผักหิวไหม ป่วยไหม สิ่งเหล่านี้เกิดจากการสังเกต ถ้าใบเหลืองแสดงว่าขาดธาตุอาหาร ซึ่งทุกวันนี้เราก็ยังเจออยู่ในระบบในน้ำ แต่ในดินไม่ค่อยมีปัญหา”
เปิดขายสินค้าโอท็อปด้วย
สวนผักปากช่องของคุณเสก นอกจากจะมีผักเด่นอย่างกุยช่ายขาวที่ต้องใช้ฝาครอบให้มิดชิดเพื่อให้เกิดสีขาวแล้ว ขึ้นฉ่ายไฮโดรโปนิกส์ก็เป็นผักเด่นอีกอย่างของสวนนี้ ซึ่งเกษตรกรทั่วไปมักปลูกในแปลงดิน
“ที่นี่เป็นแห่งแรกที่ปลูกขึ้นฉ่ายระบบไฮโดรฯ ผมพัฒนาโนว์ฮาวเอง ถ้าปลูกแบบไฮโดรฯ สามารถทำรอบได้เร็วกว่า ถ้าปลูกในดิน 70-80 วัน ต่อรอบ แต่ของเรา 35 วันก็เก็บขายได้แล้ว และสามารถปลูกต่อเนื่องได้ตลอด คุณภาพเหมือนกัน แต่ต้นทุนต่อหน่วยอาจจะสูงกว่าปลูกในดินหน่อย เพราะมีระบบน้ำ ระบบการจัดการ มีต้นทุนค่าโรงเรือนที่ค่อนข้างสูง”
ในการมาเที่ยวชมสวนผักแห่งนี้ คุณเสกประกาศอย่างมั่นอกมั่นใจว่า จุดเด่นที่แตกต่างจากสวนอื่นคือ เรื่องของบรรยากาศ มีสถานที่ให้น่าเดิน น่าดู นักท่องเที่ยวสามารถเดินเข้าไปปลูกผักขึ้นฉ่ายโดยที่ไม่ต้องเปื้อนเลย เพราะใช้ระบบโรงเรือน ในน้ำ เป็นระบบไฮโดรโปนิกส์
ในวันที่นักข่าวไปชมสวนดังกล่าว นอกจากจะได้ไปดูแปลงผักทั้งกลางแจ้งและในโรงเรือนแล้ว ยังได้ไปโรงเรือนแพ็กเกจจิ้ง ซึ่งจะมีการล้างและบรรจุผักหลังการเก็บ โดยมีพนักงานกว่าร้อยคนช่วยกันทำ
ในพื้นที่แห่งนี้จะมีทั้งร้านค้าขายสินค้าเกษตร สินค้าโอท็อปที่ผลิตในพื้นที่ และเวทีจัดแสดง รวมถึงจุดพักผ่อนของนักท่องเที่ยว ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถเข้าชมได้ฟรีไม่ต้องเสียค่าบัตรผ่านประตู ทั้งนี้ ทางสวนจะมีรถไว้บริการนักท่องเที่ยว เพราะพื้นที่สวนกว้างใหญ่มาก
คุณเสก บอกด้วยว่า ในการมาท่องเที่ยวเชิงเกษตรที่ปากช่อง นอกจากจะมาที่สวนผักปากช่องแล้ว ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวอีกหลายจุดที่ได้มีการประสานงานกันไว้แล้ว อาทิ สวนทุเรียนซีต้า สวนผัก wp ออร์แกนิกฟาร์ม สวนมะยงชิด และสวนผักของเกษตรกรที่อยู่ในบริเวณนี้ หลังจากนั้นสามารถไปเที่ยวเขาใหญ่ หรือวังน้ำเขียวต่อไปอีกก็ได้ เพราะอยู่ไม่ไกลกัน
นักท่องเที่ยวที่สนใจสามารถติดต่อสอบถามคุณเสกได้ที่ โทรศัพท์ (081) 876-3388 พร้อมย้ำอีกครั้งว่า “เป็นเกษตรกรรวยได้ ถ้าใส่ใจ แล้วทำจริง และรักษาคุณภาพสม่ำเสมอ”