ผู้เขียน | เส้นทางเศรษฐีออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
คุณสมศักดิ์ จิตติพลังศรี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซัยโจ เดนกิ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องปรับอากาศ แบรนด์ “ซัยโจ เดนกิ” กรุณาสละเวลา เปิดสำนักงานย่านงามวงศ์วาน เป็นสถานที่พูดคุยกัน ด้วยอัธยาศัยยิ้มแย้มกันเอง เริ่มต้นให้ฟังเกี่ยวกับข้อมูลกิจการ ปัจจุบันธุรกิจซัยโจ เดนกิ มีขนาด 2 พันล้าน มีคนงานกว่า 500 คน ฐานะทางการเงินระดับ AAA ไม่ต้องกู้เงินธนาคารมาเกือบ 20 ปีแล้ว ส่วนยอดขายอยู่ในระดับ “ท็อปไฟว์”ของตลาดเมืองไทย อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับบริษัทข้ามชาติแล้ว ซัยโจ เดนกิ คงเป็นเพียงบริษัทเล็กๆ แต่ถ้าเทียบกับบริษัทคนไทยด้วยกัน ต้องถือว่าเป็นผู้ผลิตเครื่องปรับอากาศรายใหญ่ที่สุดของประเทศ
แม้วันนี้ ซัยโจ เดนกิ จะมีฐานะมั่นคงไม่น้อย แต่เมื่อลองมองย้อนไปเมื่อครั้งเริ่มต้น คุณสมศักดิ์ ยอมรับว่า เคยผ่านอุปสรรคมามากมาย ขนาดต้องล้มลุกคลุกคลาน ถึงขั้นเกือบล้มละลายมาแล้ว
“ธุรกิจของครอบครัว ดั้งเดิมคือโรงงานรับจ้างผลิตเครื่องปรับอากาศให้คนอื่น พอมาทำยี่ห้อของตัวเองก็ไม่เป็นที่รู้จัก ช่วงเรียนอยู่ม.ปลาย เริ่มรับรู้ได้ว่าฐานะการเงินทางบ้านเริ่มมีปัญหา” เจ้าของเรื่องราว เล่าเสียงเรียบ
คุณสมศักดิ์ จิตติพลังศรี
ก่อนย้อนความทรงจำให้ฟัง แม้จะเป็นลูกชายคนเล็ก แต่ธุรกิจในบ้านง่อนแง่นเต็มที พวกพี่ๆจึงไม่มีใครอยากรับช่วงต่อ พอ พ.ศ. 2518 เขาเข้าเรียนในคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงต้องเข้ามาช่วยงานของครอบครัวแบบไม่อาจปฏิเสธ
“ปกติลูกชายคนเล็ก ไม่มีสิทธิแบกภาระครอบครัว แต่ธุรกิจกำลังลำบากเป็นช่วงขาลง มีแต่คนอยากจะออกไม่มีคนอยากเข้า ตอนมารับช่วง ยังเรียนอยู่ปี 3 ถือว่าลำบากที่สุด” คุณสมศักดิ์ เผยอดีต
กระทั่ง พ.ศ.2524 ได้เข้ามาบริหารต่อแบบเต็มตัว ซึ่งช่วงเวลานั้น ครอบครัวของเขาอยู่ในฐานะเกือบล้มละลาย ติดหนี้ทั้งในและนอกระบบกว่า 30 ล้านบาท แม้แต่เช็คค่าน้ำประปาแค่พันกว่าบาท ยังเด้ง
“ตอนเข้ามาบุกเบิกคนเดียวแทนพ่อ เป็นช่วงที่ต้องตัดสินใจระหว่างทิ้งบริษัทหรือทำต่อ แต่สุดท้ายเลือกเดินหน้าต่อ ด้วยเหตุผลที่บอกกับตัวเองว่า เป็นธุรกิจที่พ่อแม่สร้างมา ถ้ามีสำนึกที่ดีต่อพ่อแม่ ควรทำในสิ่งที่ท่านรักและมีความผูกพัน คนเราไม่ควรแสวงหาความสุขสบายของตนเองเท่านั้น แต่ควรมองว่าความสุขสบายของคนที่มีบุญคุณกับเรานั้นคืออะไร” คุณสมศักดิ์ บอกจริงจัง
เริ่มทำธุรกิจของครอบครัว ด้วยต้นทุนติดลบ 30 ล้านบาท ไม่มีเครดิตแม้แต่สลึงเดียว แต่ด้วยพื้นฐานไม่คิดเบี้ยวใครและไม่หาเงินในทางที่ผิดกฎหมาย เขาใช้เวลา 3 ปี สามารถปลดหนี้ก้อนใหญ่ได้จนหมด
“เจ้าหนี้มารุมทวงหนี้พร้อมกันเพราะกลัวหนี ผมบอกไม่ต้องมา เดี๋ยวไปหาเอง ทุกคนตกใจกันหมด ที่ผ่านมาได้เพราะไม่ใช่คนนั่งรอความทุกข์ กล้าเดินชน ถ้านั่งรอ ความทุกข์มันทับคุณแบนพอดี” เสี่ยคนดัง เล่าพร้อมหัวเราะอารมณ์ดี
จากนั้นอีก 3-4 ปี เก็บเงินได้ 10 กว่าล้านบาท คุณสมศักดิ์ จึงเริ่มต้นทำบริษัท ซัยโจ เดนกิ ฯ สร้างแบรนด์ของตัวเอง ไม่รับจ้างผลิตให้ใครอีกต่อไป เพราะได้รับการสนับสนุนจากพันธมิตรทางธุรกิจอย่าง คุณโตชิโอะ ฮานาดะ เจ้าของเครื่องหมายการค้า “ซัยโจ เดนกิ” ของญี่ปุ่น ซึ่งต่อมาได้โอนมาเป็นลิขสิทธิ์ของเขา แบบไม่เสียค่าใช้จ่ายแม้แต่บาทเดียว
ผ่านไปกว่าสิบปี ธุรกิจเครื่องปรับอากาศ ซัยโจ เดนกิ เติบโตตามลำดับ กระทั่งปี 2540 เกิดวิกฤตค่าเงินบาท ส่งผลให้เงินกู้จากธนาคารราวสิบล้านเหรียญเพิ่มขึ้นทันทีหลายเท่าตัว แต่ด้วยพื้นฐานความคิด ไม่เคยจะเบี้ยวใคร ทำให้มองเห็นทางว่าจะหาเงินมาใช้หนี้ได้จากไหน
“นักธุรกิจกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ มัวแต่ไปต่อรองกับธนาคาร ขอผ่อนชำระหนี้ ขอลดดอกเบี้ย ขอลดเงินต้น แต่ผมไม่ทำเพราะมองว่าไม่ใช่ทางออก เป็นหนี้ก็ต้องคิดจะชำระหนี้เขา แล้วจึงจะดูออกว่าปัญหาอยู่ตรงไหน เงินบาทมันอ่อน เงินยูเอสแข็ง ก็เร่งส่งออกซิ ตอนนั้นกู้ธนาคารมาสิบล้านเหรียญ กำหนดผ่อนชำระห้าปี แต่ช่วง ปี 40-42 ซัยโจ เดนกิ มียอดส่งออกกว่า 30 ล้านเหรียญ หมายความว่าผมมีเงินมากขึ้นกว่า 20 ล้านเหรียญ ในช่วงที่ประเทศเผชิญภาวะวิกฤตค่าเงินบาท” คุณสมศักดิ์ เผยอย่างนั้น
และการที่มียอดส่งออกงดงามเกินคาด ทำให้กิจการของเขา “เนื้อหอม” มีเครดิตเพิ่มขึ้นทันที แต่สิ่งนี้ ไม่ได้ทำให้ยินดีแม้แต่นิดเดียว
“ผมเข็ดหลาบกับเครดิต นับแต่นั้นไม่ยอมกู้เงินเด็ดขาด ขอขยายธุรกิจากความพร้อมของเรามากกว่าขยายจากกำลังคนอื่น ใครจะว่าคิดแบบคอนเซอร์เวทีฟก็ไม่เป็นไร” เสี่ยซัยโจ เดนกิ ทิ้งท้ายไว้อย่างนั้น