ปลูกหญ้าที่มีนบุรี อาชีพดั้งเดิมที่ยังเหลืออยู่ กว่าจะมาเป็นหญ้าสนามต้องผ่านองค์ความรู้มากมาย

ในการตกแต่งสวน สิ่งที่ละเลยไม่นำมาเป็นองค์ประกอบสำคัญอย่างพื้นสนามหญ้าก็อาจทำให้สวนแห่งนั้นขาดความสมบูรณ์แลดูไม่สวยงาม

หากผ่านตามร้านขายต้นไม้หลายแห่งจะพบว่ามีหญ้าเป็นแผ่นตั้งกองไว้หน้าร้านเพื่อจำหน่ายควบคู่ไปกับพันธุ์ไม้หลายชนิด อย่างไรก็ตาม การเลือกใช้หญ้าแต่ละชนิดต้องพิจารณาให้เหมาะสมตรงกับเจตนาของการใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นกลางแจ้งหรือแดดรำไร แต่ทราบหรือไม่ว่าเส้นทางของการผลิตหญ้ากว่าจะมาสร้างความสวยงามให้แก่สวนของคุณมีความเป็นมาอย่างไร

ในอดีตหากต้องการใช้หญ้าเพื่อจัดสวนมักรู้กันดีว่าแหล่งสำคัญคือที่มีนบุรี เพราะปลูกหญ้าได้คุณภาพจนเรียกติดปากว่า “หญ้ามีน” ถึงแม้ในปัจจุบันแหล่งปลูกหญ้าจะเพิ่มหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นจังหวัดปทุมธานี กำแพงเพชร หรือแม้แต่นครนายก แต่ชาวบ้านที่มีนบุรียังคงรักษาวิถีอาชีพปลูกหญ้าดั้งเดิมสร้างรายได้เพื่อคงเอกลักษณ์ไว้

คุณสมชาย เจ๊มะหะหมัด กรรมการศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรมีนบุรีและประธานกลุ่มผู้ปลูกหญ้าแปลงใหญ่ เป็นผู้ที่คร่ำหวอดกับวงการปลูกหญ้าสนามมาตั้งแต่เด็กให้ข้อมูลว่า ที่มีนบุรีถือเป็นพื้นที่ปลูกหญ้าแห่งแรก โดยเมื่อหลายสิบปีที่ผ่านมา คุณสุดใจ วงศ์อารี อดีตรองจุฬาราชมนตรีในขณะนั้น ได้นำพันธุ์หญ้ามาปลูกเพื่อการค้าเป็นคนแรกในเขตมีนบุรี กรุงเทพมหานคร ซึ่งได้รับการเผยแพร่และเพิ่มจำนวนเกษตรกรผู้ปลูกหญ้าเพื่อเป็นการค้ามาจนถึงปัจจุบัน

คุณสมชาย เจ๊มะหะหมัด (ขวา) และ คุณจิราภรณ์ ไพสมบูรณ์ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร

พันธุ์หญ้าทางการค้าที่ได้รับความนิยมเรียงจากมากไปน้อยมีอยู่ 3 อย่าง ได้แก่ นวลน้อย ญี่ปุ่น และมาเลเซีย ส่วนหญ้าอีกชนิดคือ หญ้าเบอร์มิวดา นิยมใช้ในสนามกอล์ฟ สำหรับหญ้ามาเลเซียควรปลูกไว้ในสถานที่มีแดดรำไร ส่วนหญ้านวลน้อยและญี่ปุ่นใช้สำหรับปลูกในสนามทั่วไปได้

 

กว่าจะมาเป็นหญ้าสนาม ต้องผ่านองค์ความรู้มากมาย

ชาวมีนบุรีได้สืบทอดองค์ความรู้การปลูกหญ้าจากภูมิปัญญารุ่นบรรพบุรุษมายาวนาน ไม่ว่าจะเป็นการเลือกใช้ดิน การเตรียมดิน การปลูก การดูแลบำรุง การให้น้ำ ตลอดจนการเก็บผลผลิตส่งขาย

ปัจจัยสำคัญอย่างแรกขององค์ความรู้ คือเรื่องดินและเนื้อดิน โดยดินที่ปลูกต้องเป็นดินเหนียวเพราะสามารถจะแซะออกมาเป็นแผ่นได้ง่าย อีกทั้งคุณสมบัติยังช่วยให้มีสภาพคงทนอยู่ได้นาน เหมาะแก่การขนส่งไปจำหน่ายได้ระยะไกล แต่หากใช้ดินชนิดอื่นปลูก เวลาแซะออกมาจะไม่เป็นแผ่นที่สมบูรณ์แล้วยังยากต่อการขนย้ายด้วย

ใช้ต้นกล้าหญ้าเพื่อดำเพียงแค่นี้

ภายหลังการเลือกดินตามที่ต้องการได้แล้ว ผู้ปลูกหญ้าจะต้องปรับพื้นที่เพื่อเตรียมปลูกหญ้าให้ได้ระดับและควรให้เอียงลาดไปทางคลองหรือคูระบายน้ำเล็กน้อยเพื่อช่วยการระบายน้ำออกจากแปลง ขณะเดียวกัน ต้องปรับพื้นที่ให้เรียบด้วยการบดอัดให้แน่น อย่าให้เป็นหลุม บ่อ พร้อมกับสอดส่องอย่างละเอียดอย่าให้มีเศษหญ้าเก่าและวัชพืช เศษไม้ อิฐ หิน และอื่นๆ ในแปลง ทั้งนี้ ไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัวในเรื่องจำนวนพื้นที่ จึงขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของแต่ละราย

การราดเลนให้ทั่วแปลงปลูก

เมื่อการปรับพื้นที่เสร็จสมบูรณ์ให้ดูดเลนจากลำคลองหรือคูน้ำมาถมบนพื้นที่ให้ทั่ว ทั้งนี้ ระดับความสูงของเลนอยู่ประมาณ 2 เซนติเมตร การให้เลนเพื่อใช้เป็นตัวประสานระหว่างพื้นล่างกับตัวหญ้าเพื่อให้รากต้นหญ้าเกาะยึด การราดเลนจะทำกันในช่วงเช้า แล้วจะราดเพียงครั้งเดียวก่อนการดำต้นกล้า

การปลูกหญ้ามี 2 วิธี คือ ปลูกด้วยเมล็ดกับใช้ต้นกล้า ซึ่งชาวบ้านนิยมปลูกโดยใช้กล้ามากกว่า ด้วยการนำเอาพันธุ์หญ้ามาแยกออกเป็นแผ่นเล็กๆ หญ้าที่จะนำมาปลูกนี้ต้องเป็นหญ้าที่แซะออกมาใหม่ๆ เพราะต้นยังเขียวสดอยู่ ซึ่งจะทำให้การเจริญเติบโตดี วิธีนี้เรียกกันว่า “การดำหญ้า”

ต้นกล้าหญ้าที่เพิ่งดำเสร็จ

วิธีดำหญ้าจะคล้ายกับการดำข้าว ซึ่งใช้แผ่นหญ้าที่แยกไว้แล้วไปวางบนเลนที่เตรียมไว้แล้วก็กดส่วนรากและแขนงให้จมลงไปอย่างระมัดระวังไม่แรง ต้องระวังอย่าให้ยอดจม โดยผู้ปลูกจะเรียงแถวหน้ากระดานเดินถอยหลังในเวลาปลูก เป็นภาพที่ดูเป็นแถวสวยงาม ทั้งนี้ จำนวนพันธุ์หญ้าที่ใช้ปลูก 1 ตารางเมตร ต่อพื้นที่ 5-10 ตารางเมตร ขึ้นอยู่กับผู้ปลูกว่าจะปลูกถี่หรือปลูกห่างแค่ไหน

ทางด้านการให้น้ำมี 2 วิธี คือ สูบน้ำเข้ามาขังในแปลงหญ้าให้เปียกหรือท่วมเล็กน้อยแล้วปล่อยให้ระบายออก ซึ่งวิธีนี้จะทำต่อเมื่อหน้าดินแห้งเริ่มแตกระแหง หรือจะใช้วิธีการรดน้ำด้วยสายยางหรือการติดตั้งสปริงเกลอร์ รดน้ำให้ชุ่มทั่วแปลงโดยให้น้ำเข้า เช้า-กลางวัน-เย็น ในระยะ 10 วันแรก แล้วหลังจากนั้นอีก 4-5 วัน ค่อยเปลี่ยนการให้น้ำ วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น

กระทั่งประมาณ 2 สัปดาห์ ต้องมีการอัดดินโดยใช้ลูกกลิ้งบดทับดินให้เรียบเพื่อป้องกันน้ำขังเป็นแอ่งทำให้หญ้าเน่า ต้องบดอยู่เสมอประมาณ 15-30 วัน ต่อครั้ง เพื่อให้ผิวดินเรียบ ช่วยให้รากหญ้าจะได้เกาะดินแน่น และควรใช้ลูกกลิ้งทับอีกครั้งก่อนที่จะแซะไปจำหน่าย

ส่วนการดูแลใส่ปุ๋ยหลังจากดำกล้าเสร็จแล้ว จะใส่ปุ๋ยยูเรียเล็กน้อยเพื่อเร่งราก ใบ ช่วยให้ต้นกล้ามีความแข็งแรงและเจริญเติบโตได้ดี โดยใส่ปุ๋ยยูเรียในปริมาณ 3-4 กิโลกรัม ต่อไร่ ใส่ในช่วง 15 วันแรก นอกจากนั้น ยังต้องหว่านยาคุมกำเนิดหญ้าประเภทวัชพืชที่ไม่ต้องการให้ขึ้น อย่างหญ้าลูกพลุ หญ้าหนวดแมว โดยยาชนิดนี้จะใส่ประมาณ 1-1.5 กิโลกรัม ต่อไร่ แบ่งใส่จำนวน 2 ครั้ง ใส่ครั้งแรกใน 3 วันหลังดำกล้า แล้วต่อมาในวันที่ 10 ใส่อีกครั้ง

วางแนวเพื่อตัดหญ้าเป็นแผ่น

ทั้งนี้ ก่อนแซะจำหน่าย 5-10 วัน ใช้ปุ๋ยยูเรีย สูตร 46-0-0 ในอัตรา 40-45 กิโลกรัม ต่อไร่ เพื่อเร่งการเจริญเติบโตทางใบและลำต้นให้เขียวและอวบเต่งน่าซื้อ นอกจากการใช้ปุ๋ยแล้ว อาจมีการเสริมด้วยฮอร์โมนเพื่อช่วยให้หญ้ามีใบสวย เขียว แข็งแรง โดยใช้เป็นปุ๋ยเกล็ดผสมกับปุ๋ยอื่นแล้วใช้วิธีหว่าน หรืออาจใช้เครื่องดื่มชูกำลังผสมน้ำฉีดพ่น

แซะหญ้าที่ตัดแล้ว

คุณสมชาย บอกว่า ศัตรูและโรคของหญ้าที่เป็นแมลงศัตรูตัวร้ายที่เจอคือ หนอนกระทู้ ซึ่งอยู่ในตระกูลหนอนผีเสื้อ หรือถ้าเป็นโรคพืชก็โรคหัวหงอก วิธีกำจัดด้วยการถอนด้วยมือในระยะที่เป็นต้นอ่อน แต่ถ้ามีจำนวนมากจำเป็นต้องให้สารเคมีในอัตราควบคุม ร่วมกับสารชีวภัณฑ์ตามคำแนะนำของทางสำนักงานเกษตร

การตัดแต่งหญ้าประมาณ 2 ครั้ง โดยดูตามความเหมาะสม ว่าควรตัดแต่งในระยะที่หญ้าเจริญเติบโตมากเกินไปและการตัดแต่งครั้งที่ 2 จะต้องตัดแต่งก่อนที่จะแซะหญ้าไปจำหน่ายประมาณ 5-10 วัน พร้อมทั้งใส่ปุ๋ยครั้งสุดท้ายเพื่อให้หญ้ามีสีเขียวสวยสด พร้อมทั้งกำจัดวัชพืชด้วย

การกำจัดวัชพืช

อาชีพเสริมคู่ขนานกับอาชีพปลูกหญ้า

สำหรับชาวบ้านในพื้นที่ถือว่ายึดอาชีพปลูกหญ้าเป็นรายได้หลัก แต่ยังมีอาชีพเสริมแบบจ้างเหมาคู่ขนานการปลูกหญ้าคือการรับจ้างแซะหญ้า ดำกล้าหญ้า ดายหญ้า ซึ่งกำหนดค่าจ้างเหมาถ้าเป็นการดำหญ้าคิดอัตราค่าจ้างต่อพื้นที่ 1 งาน ในราคา 500 บาท หรือประมาณไร่ละ 2,000 บาท ค่าแซะหญ้า คิดตารางเมตรละ 2.50-3 บาท และค่าดายหญ้าหรือการกำจัดวัชพืช จ้างเป็นชั่วโมงละ 40 บาท

การทำนาหญ้าในเมืองไทยนั้นสามารถปลูกได้ตลอดทั้งปี ผู้ปลูกหญ้าจำหน่ายสามารถปลูกหญ้าได้ 8-11 รุ่น ต่อปี แต่โดยทั่วไปแล้วเฉลี่ยผู้ปลูกหญ้าในเนื้อที่เดียวกัน ได้ปีละ 6-8 ครั้ง โดยฤดูที่เหมาะสมที่สุดในการทำนาหญ้า คือฤดูหนาว เพราะจะไม่มีปัญหาเรื่องฝนตกชุกเกินความต้องการ

อุปกรณ์สำหรับแซะหญ้าจะใช้พลั่วตักดินแบบที่เห็นทั่วไป แต่นำมาตัดแปลงด้วยการทุบปลายพลั่วด้านตักให้แบนราบเรียบแล้วใช้ใบเลื่อยแบบเป็นฟันซี่เชื่อมติด โดยก่อนแซะหญ้าต้องวัดแล้วใช้เชือกเส้นเล็กขึงเป็นตารางและเป็นแนวหัว-ท้ายแปลง ปลูกในระยะความกว้าง 50 เซนติเมตร ยาว 100 เซนติเมตร พอแซะแล้วจะได้หญ้าเป็นแผ่นขนาดครึ่งตารางเมตร พอมาประกบกัน 2 แผ่น ก็จะได้ 1 ตารางเมตร

คุณสมชาย บอกว่า รูปแบบการขายจะมีกลุ่มพ่อค้าคนกลางที่ติดต่อผู้ปลูกแต่ละรายไว้ ทั้งนี้ แต่ละรายมียอดสั่งมาก-น้อยไม่เท่ากัน เฉลี่ยตั้งแต่ 30-1,000 ตารางเมตร โดยพ่อค้าคนกลางจะนำไปขายส่งให้แก่ผู้ค้าปลีกหรือผู้รับเหมาจัดสวน

นำหญ้ามากองเพื่อรอการขนย้าย

สำหรับอายุการเก็บเกี่ยวหญ้าทุกชนิดโดยเฉลี่ยใช้เวลาประมาณ 40 วัน โดยก่อนทำการแซะจำหน่าย 5-10 วัน ให้ตัดหญ้าเพื่อให้หญ้ามีขนาดสม่ำเสมอ และหลังตัดไปแล้ว 3 วัน ก็ใส่ปุ๋ยเร่ง เช่น แอมโมเนียมซัลเฟตหรือปุ๋ยยูเรียเพื่อช่วยให้หญ้าแตกใบใหม่ เป็นการเร่งสีของใบหญ้าให้เขียวน่าซื้อ เมื่อใส่ปุ๋ยเร่งไปแล้ว 5-7 วัน จึงทำการแซะได้ โดยก่อนการแซะจะรดน้ำให้ชุ่มเพื่อให้หญ้าไม่เฉาระหว่างการขนส่งและสะดวกต่อการแซะด้วย

คุณสมชาย บอกว่า ในอดีตอาชีพปลูกหญ้าขายมีรายได้ดีมาก จนสามารถวางแผนซื้อบ้านหรือรถได้ทันที แต่พอมาถึงช่วงเวลาปัจจุบันนี้อาชีพนี้ไม่ดีนัก เพราะมีต้นทุนทุกอย่างเพิ่มขึ้น ขณะที่ราคาขายหญ้าเท่าเดิม โดยตอนนี้ราคาขายหญ้าหน้าสวนไม่เกิน 8 บาท ต่อตารางเมตร สำหรับราคาขายตามร้านต้นไม้ (18 กันยายน 2560) ถ้าเป็นหญ้ามาเลเซียราคาตารางเมตรละ 23 บาท ส่วนนวลน้อย/ญี่ปุ่นราคาตารางเมตรละ 18-19 บาท

พ่อค้าลำเลียงขึ้นรถ

สำหรับหญ้าเทียมที่กำลังเป็นที่นิยมใช้ตามสถานที่หลายแห่งอยู่ตอนนี้มีผลกระทบต่ออาชีพอย่างไรหรือไม่ คุณสมชาย บอกว่า ได้รับผลกระทบมากอาจทำให้ยอดลดลงอย่างต่อเนื่อง แล้วไปกระทบกับห่วงโซ่อาชีพที่เกี่ยวข้องทันที อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านคงต้องหาวิธีปรับสภาพความเป็นอยู่ของตัวเองด้วยการลดจำนวนพื้นที่ปลูก พร้อมไปกับการเปลี่ยนอาชีพไปทำอย่างอื่นแทนการปลูกหญ้าขาย

การดำกล้าหญ้าต้องเรียงแถวหน้ากระดาน
แปลงหญ้าที่ปลูกแล้วรอการเติบโต

“อยากให้เพื่อนเกษตรกรร่วมอาชีพมีการรวมตัวให้มีความเข้มแข็ง เลิกความคิดต่างคนต่างทำได้แล้ว เพราะการทำงานเป็นกลุ่มจะช่วยสร้างฐานอาชีพที่มั่นคง สามารถเจรจาต่อรอง หรือให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันได้ อีกทั้งควรสนใจและร่วมมือกับทางสำนักงานเกษตรในพื้นที่เพื่อจะได้เรียนรู้ รับรู้ และพัฒนาสิ่งใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา” คุณสมชาย กล่าว

สอบถามข้อมูลหรือต้องการสั่งซื้อหญ้า สามารถติดต่อได้ที่ คุณสมชาย เจ๊มะหะหมัด โทรศัพท์ (085) 153-4527

 

ขอขอบคุณ คุณจิราภรณ์ ไพสมบูรณ์ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร สำนักงานเกษตรพื้นที่ 1 กรมส่งเสริมการเกษตร

 

ที่มา เทคโนโลยีชาวบ้านออนไลน์