ผู้นำป่าชุมชน น้อมนำศาสตร์พระราชา บริหารจัดการน้ำแก้ปัญหาอุทกภัย

ผู้นำป่าชุมชน น้อมนำศาสตร์พระราชา บริหารจัดการน้ำแก้ปัญหาอุทกภัย

ราชบุรีโฮลดิ้ง– กรมป่าไม้ ร่วมขับเคลื่อนเครือข่ายคนรักษ์ป่า ปีที่ 10

ผู้นำป่าชุมชนกล้ายิ้ม ผสานพลังน้อมนำ “ศาสตร์พระราชา” เรื่องการบริหารจัดการน้ำด้วยหลักการแก้มลิง และฝายมีชีวิต ในการฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าชุมชนให้เป็นแหล่งน้ำ แหล่งอาหาร และแหล่งกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่สมบูรณ์และยั่งยืนเป็นมรดกจากรุ่นสู่รุ่น

องค์ความรู้ดังกล่าวจะนำมาถ่ายทอดแก่ผู้นำป่าชุมชนจากภาคใต้ 80 คน ที่เข้าร่วมกิจกรรมสัมมนาเครือข่ายผู้นำป่าชุมชน ภายใต้โครงการ “คนรักษ์ป่า ป่ารักชุมชน” ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) กับกรมป่าไม้ เพื่อจะได้นำไปปรับประยุกต์ใช้เป็นกลไกป้องกันปัญหาน้ำไม่เพียงพอและลดผลกระทบจากภัยน้ำท่วม ซึ่งเป็นปัญหาที่นับวันจะเกิดขึ้นบ่อยครั้งและรุนแรงมากขึ้น

นางบุญทิวา ด่านศมสถิต ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า “การสัมมนาเครือข่ายผู้นำป่าชุมชนครั้งนี้ ได้หยิบยกประเด็นการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งเป็นความต้องการของผู้นำป่าชุมชนที่ได้จากการสำรวจความคิดเห็น กอปรกับระยะหลังๆ หลายพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมนำมาซึ่งความสูญเสียของชีวิตและทรัพย์สินอย่างประเมินค่ามิได้ หลักการแก้มลิงจะเป็นตัวช่วยกักเก็บน้ำส่วนเกิน ขณะที่ฝายมีชีวิตจะช่วยชะลอการไหลบ่าของกระแสน้ำ ลดการทำลายหน้าดิน และยังสามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้ในภาคเกษตร ช่วยรักษาความชุ่มชื้นให้ผืนดินและต้นไม้ ทำให้ป่าสมบูรณ์ ผลผลิตเพิ่มพูน ชุมชนสามารถลดรายจ่ายเพิ่มรายได้ ที่สำคัญมีน้ำใช้ตลอดทั้งปี”

ผู้นำป่าชุมชนรุ่นที่ 18 ทั้ง 80 คนนี้ จะได้เข้าศึกษาดูงานที่ศูนย์เรียนรู้โครงการพัฒนาพื้นที่หนองใหญ่ตามพระราชดำริ จังหวัดชุมพร ซึ่งเป็นแก้มลิงธรรมชาติแห่งแรกของประเทศไทยที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานแนวทางการแก้ปัญหาและป้องกันอุทกภัยครั้งใหญ่ให้กับจังหวัดชุมพรเมื่อปี 2540 และยังเป็นแหล่งน้ำสำรองขนาดใหญ่ที่เกื้อหนุนภาคการเกษตร ซึ่งจะทำให้เข้าใจภาพรวมการบริหารจัดการน้ำและความเชื่อมโยงกันระหว่าง “ป่า” กับ “น้ำ”

นอกจากนี้ยังจะได้เรียนรู้จากการบรรยายในหัวข้อ “เดินตามรอยพ่อ สานต่อฝายมีชีวิต ลดวิกฤตปัญหาน้ำ” ครอบคลุมตั้งแต่วิธีการสร้างฝายให้แข็งแรง มีประสิทธิภาพในการซับน้ำ การใช้วัสดุธรรมชาติที่หาได้ในท้องถิ่นในการทำฝาย อาทิ ไม้ไผ่, ไม้กระถิน, มูลสัตว์, ขุยมะพร้าว การกำหนดจุดที่ตั้งของฝายเพื่อชะลอการไหลของน้ำ เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วม และกักเก็บน้ำให้เพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคของคนในชุมชนได้ตลอดทั้งปี และช่วยฟื้นฟูระบบนิเวศให้กลับมาสมบูรณ์

ภายใต้กิจกรรมนี้ ยังจะมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์การพัฒนาป่าตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็น “ศาสตร์พระราชา” ที่ป่าชุมชนทุกแห่งน้อมนำมาเป็นหลักปฏิบัติโดยจะดำเนินการในรูปแบบของฐานการเรียนรู้ “เกาะเลข ๙” ที่สั่งสมจากประสบการณ์ของ 8 อำเภอในจังหวัดชุมพร ประกอบด้วย 1. การเผาถ่านและน้ำส้มควันไม้ 2. การลดต้นทุนการผลิต 3. คนมีน้ำยา (แปรรูปผลผลิตเป็นสบู่ น้ำยาล้างจาน ฯลฯ) 4. จุลินทรีย์ก้อน 5. ไบโอดีเซล 6. การเลี้ยงไส้เดือน 7. ปุ๋ยอินทรีย์ 8. คนอยู่กับป่า (บ้านเล็กในป่าใหญ่)

การสัมมนาเครือข่ายผู้นำป่าชุมชน ดำเนินการต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 10 มีผู้นำป่าชุมชนเข้าร่วมกว่า 1,500 คน มุ่งหมาย “ปลูกป่าในใจคน” สร้างเครือข่ายที่เข้มแข็ง เพื่อเป็นกำลังในการรักษา ฟื้นฟู และดูแลป่าไม้อย่างยั่งยืน