“เมื่อพระองค์ท่านไม่อยู่ ชีวิตเราก็มีแต่ร่างกาย” “นฤมล แก้วสัมฤทธิ์” ครูอาสา และนักพัฒนาชุมชน

อุดมการณ์และความมุ่งมั่นในการพัฒนามีได้ทุกอาชีพ และมีได้กับคนทุกคน เช่นเดียวกับ ครูนฤมล แก้วสัมฤทธิ์ หรือ ครูเจี๊ยบ ผู้ประกอบอาชีพครูกว่า 21 ปี ปัจจุบันเป็นครูผู้สอนชั้นอนุบาล และชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ที่ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนชาวไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง” บ้านกรูโบ อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก

เริ่มต้นเป็นครูอาสา

และยังเป็นตลอดมา

ครูนฤมล เริ่มต้นเล่าให้ฟังว่า “แต่เดิมพื้นเพเป็นคนกำแพงเพชร พอเรียนจบ มศ.5 ก็เรียนต่อวิทยาลัยครู กำแพงเพชร จนจบปริญญาตรี ช่วงจบใหม่ๆ ก็ไปเป็นครูอาสาอยู่ที่กำแพงเพชร แต่ตอนหลังก็ตัดสินใจไปทำงานเป็นครูอาสาอยู่ที่จังหวัดตาก ตั้งแต่ปี 2539 ชีวิตความเป็นครูก็เริ่มตั้งแต่ตอนนั้น

ช่วงสองปีแรกที่เริ่มทำงาน เป็นครูอาสาอยู่ที่อำเภอแม่สอด หมู่บ้านม้ง 2 ปี ณ ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนในอำเภอพบพระ จังหวัดตาก ซึ่งต่อมาเมื่อมีการขยายศูนย์การเรียนรู้ไปที่บ้านกรูโบ หมู่บ้านกะเหรี่ยง ที่อยู่ไกลสุดของอำเภออุ้มผางติดชายแดนพม่า ครูก็ตัดสินใจเลือกที่จะเดินทางไปเป็นครูในพื้นที่ห่างไกลมากที่สุดแห่งนี้ ด้วยเหตุผลคือ การเดินทาง ที่ต้องใช้เวลาเดินทางจากอุ้มผางถึง 3 วัน ในตอนนั้น กว่าจะถึง และเป็นพื้นที่ห่างไกล เดินทางยากลำบากเป็นอย่างยิ่ง ระยะทางกว่า 53 กิโลเมตร กว่าจะถึงทางเข้าหมู่บ้าน จึงทำให้เด็กในพื้นที่แทบจะไม่มีโอกาสออกไปรับการศึกษาในตัวอำเภออุ้มผางเลย ศูนย์การเรียนรู้นี้ จึงเป็นทุกอย่างในการเรียนรู้พัฒนาความคิด การตัดสินใจและความเป็นพลเมืองของคนในบ้านกรูโบ ครูจึงตัดสินใจที่จะย้ายมาทำงานที่นี่ ด้วยความต้องการให้เด็กและประชาชนในหมู่บ้าน มีโอกาสได้รับการศึกษา ครูทำงานอยู่ที่นี่ต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้เป็นระยะเวลา 19 ปีแล้ว ไม่เคยย้ายไปไหนอีกเลย”

ครูนฤมล จึงเป็นครูเพียงคนเดียวของศูนย์การเรียนรู้ชุมชนแห่งนี้ โดยสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) จังหวัดตาก เป็นหน่วยงานต้นสังกัด ซึ่งครูนฤมลทำหน้าที่บริหารจัดการศูนย์การเรียนรู้ชุมชน และสอนนักเรียนตั้งแต่อนุบาล จนถึง ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โดยการทำงานคือ ทำงานตั้งแต่เช้าจนถึง 4 โมงเย็น ในการสอนหนังสือ ปัจจุบันมีเด็กนักเรียนอยู่ 52 คน เป็นเด็กในหมู่บ้าน โดยจะสอนทุกวิชา และใช้เวลาที่เหลือจากงานสอนหนังสือ มาพัฒนาชุมชน และจัดการงานด้านเอกสารทั้งหมดด้วยตัวเอง

“เราเป็นครูคนเดียวในหมู่บ้านมาตลอดหลายสิบปี จนกลายเป็นเหมือนลูกหลานของคนในหมู่บ้าน เขาก็ยอมรับและให้ความร่วมมือนะ แต่มาวันนี้มีคนมาช่วยแล้ว เป็นครูอาสาอีกท่านหนึ่ง เพิ่งจะมาทำงานเมื่อประมาณ 2 เดือนที่แล้ว ถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะเมื่อวันหนึ่งที่ครูไม่ได้อยู่ที่นี่แล้ว เนื่องจากปัญหาสุขภาพที่ไม่ค่อยสู้ดีในตอนนี้ คนที่นี่เขาก็ยังได้มีที่พึ่ง เพราะการมาเป็นครูอาสาที่หมู่บ้านห่างไกลเช่นนี้ การเป็นครูคือ ต้องเป็นทุกอย่างสำหรับคนในหมู่บ้าน  เราจะเป็นทั้งที่พึ่งพา เป็นคนสอนหนังสือ เป็นคนให้ความรู้ สอนเขาในการดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง และสอนอาชีพ ให้เขามีรายได้เพิ่ม เพื่อที่เขาจะได้ไม่ต้องเข้าไปบุกรุกพื้นที่ป่า หรือทรัพยากรธรรมชาติอีก”

ไม่เพียงหน้าที่ ครูสอนหนังสือ

แต่ทำหน้าที่ พัฒนาชุมชนด้วย

ครูนฤมล บอกว่า เธอเป็นคนไทยเพียงคนเดียวในหมู่บ้านแห่งนี้ ชาวบ้านจึงเห็นเธอเป็นที่พึ่งยามเดือดร้อน  ด้วยปัจจัยหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางที่ยากลำบาก หรือการขาดความรู้ การมาเป็นครูอาสาในพื้นที่ห่างไกล จึงต้องเป็นทุกอย่างสำหรับชาวบ้าน และถึงแม้ในปัจจุบันการเดินทางจะดีขึ้นมาก แต่ยามฝนตกหนัก ก็ยังลำบากอยู่มาก ต้องใช้รถอีต๊อกของชาวบ้านในการเข้าออกหมู่บ้าน หรือบางทีก็ต้องเดินเท้า การเดินทางจึงเป็นเหตุผลเดียวที่ยากลำบากที่สุดของการทำงานในพื้นที่ห่างไกล แต่กับงานสอน หรืองานพัฒนาชุมชน เธอบอกว่า ชาวบ้านให้ความร่วมมือดีมาก

“ถ้าหมู่บ้านได้ครูที่ดี หมู่บ้านก็จะดีตาม แต่ถ้าหมู่บ้านได้ครูที่ไม่สนใจ ไม่ตั้งใจ ชุมชนก็จะไม่ได้รับการพัฒนา ชาวบ้านก็จะไม่ให้ความยอมรับนับถือ” ครูนฤมล บอกเช่นนี้ โดยยังบอกอีกว่า “การมาเป็นครูที่นี่ หน้าที่สอนก็ต้องทำให้ดี หน้าที่การพัฒนาก็ต้องควบคู่ไปด้วย เราต้องให้ความรู้กับคนในหมู่บ้าน เช่น การประกอบอาชีพ ให้ความรู้เรื่องงานที่จะสร้างรายได้ให้กับเขา อย่างการปลูกผัก เลี้ยงหมู ฝึกอาชีพการทอผ้า การแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรในครัวเรือนเพื่อเพิ่มมูลค่า จัดตั้งธนาคารข้าว เป็นต้น ทำสิ่งที่จะเป็นประโยชน์ให้กับเขา มีการวางระบบในระยะยาว เพราะเมื่อวันหนึ่งที่เราไม่อยู่ เขาก็จะได้ช่วยเหลือตัวเองได้ต่อไป

ตั้งแต่วันที่เริ่มต้นตัดสินใจที่จะมาทำงานเป็นครูอาสา สิ่งหนึ่งที่เราคิดอยู่เสมอคือ เรานึกถึงประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลัก เป็นสิ่งสำคัญ เพราะอย่างไรเสีย การทุ่มเทกับหน้าที่ กับทำงานของเราที่ได้รับมอบหมายให้ทำ ชาวบ้านก็ได้ประโยชน์ หมู่บ้านได้รับการพัฒนาทั้งสิ้น ให้เขารักชาติ หวงแหนผืนแผ่นดินไทย ให้เห็นความสำคัญกับการอนุรักษ์รักษาธรรมชาติ เพราะพื้นที่ของหมู่บ้านกรูโบ อยู่ในเขตมรดกโลก ตั้งอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ติดกับชายแดนประเทศพม่า ชาวบ้านจึงจะต้องช่วยกันอนุรักษ์ป่าไม้ ไม่บุกรุก ดูแลให้ยั่งยืนต่อไป”

โดยมีความคิดว่า “เมื่อวันหนึ่ง ถ้าเราไม่อยู่ ใครจะสานต่อ ใครจะช่วยดูแลชุมชน” ด้วยการมองไปข้างหน้าเช่นนี้ จึงให้ความสำคัญกับการส่งเด็กที่มีศักยภาพให้เรียนสูงที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้เขากลับมาดูชุมชนของตัวเองต่อไป ขณะนี้มีเด็กที่เรียนจบมาเป็นครูในหมู่บ้านใกล้เคียง มีทั้งที่กำลังศึกษาต่อด้วยไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของวิชาการ ซึ่งกำลังศึกษาอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัย และเด็กที่จบการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้รับการอบรมเป็นเจ้าหน้าที่สาธารณสุขชุมชนของบ้านกรูโบ เป็นต้น

โดยครูนฤมล บอกว่า ที่ทำงานเป็นครูอาสาอยู่จนถึงทุกวันนี้ นอกเหนือจากนึกถึงประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญแล้วนั้น อีกส่วนหนึ่งก็เพื่อจะถวายแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

“ไม่เคยที่จะเอ่ยว่ารักพระองค์ท่านมากแค่ไหน แต่เมื่อพระองค์ท่านไม่อยู่ ชีวิตเราก็มีแต่ร่างกาย ไม่มีพลัง จิตวิญญาณก็เหมือนจะหายไปด้วย รู้สึกว่าเหนื่อย และรู้ว่าต้องทำงานหนักมากขึ้น เพื่อถวายพระองค์ท่าน แต่วินาทีนั้นที่ได้ทราบข่าวการจากไป ก็ไม่รู้จะเริ่มต้นยังไง เรี่ยวแรงที่จะจับปากกาก็ยังไม่มี

ครูรู้ว่า ตั้งแต่นี้ต่อไปจะต้องทำงานเหนื่อย จะต้องทำให้เกิดการพัฒนาให้เพิ่มมากขึ้น เพราะเราไม่มีพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 อยู่กับเราอีกต่อไปแล้ว ก็คงจะต้องเหนื่อยมากขึ้น แต่ครูยังอยู่ตรงนี้ มีหน้าที่ที่ต้องทำ และจะต้องทำงานให้หนักมากขึ้น เพื่อช่วยพัฒนาประเทศชาติบ้านเมือง ให้เจริญต่อไปในภายภาคหน้า แม้ว่าจะไม่มีพระองค์ท่าน อยู่เป็นกำลังใจให้อีกแล้วก็ตาม ก็จะยังทำงานสานต่อพระองค์ท่านต่อไป” ครูนฤมล  บอกด้วยเสียงสะอื้น

ปัจจุบัน ครูนฤมล แก้วสัมฤทธิ์ เป็นครูผู้ได้รับการพิจารณาคัดเลือกให้ได้รับรางวัล “คุณากร” ปี 2560 มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ผู้พร้อมด้วยคุณธรรม คุณลักษณ์ คุณค่าความเป็นครู อุทิศตนเพื่อพัฒนาชีวิตศิษย์ เจริญสู่ความสำเร็จตลอดมา