โปรแรง “กินข้าวบาทเดียว” โรงอาหาร ม.เกษตร รับนโยบาย “ไม่พกเงินสด”

ผศ.รัชด ชมภูนิช รักษาการแทนรองอธิการบดี ฝ่ายพัฒนาเชิงยุทธศาสตร์และสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน เปิดเผยกับ “เส้นทางเศรษฐีออนไลน์ว่า” การจ่ายเงินด้วยระบบคิวอาร์โค้ด หรือการไม่พกเงินสด เป็นโครงการที่ทางมหาวิทยาลัย ทำร่วมกับ ธนาคารไทยพาณิชย์

“คือเราต้องการใช้แพลตฟอร์มดิจิตอล เป็นองค์ประกอบในการพัฒนาทุกอย่าง  เริ่มที่บัตรนิสิต บัตรบุคลากร จะต้องเป็นบัตรที่บวกกับอิเล็กทรอนิกส์  มีคิวอาร์โค้ด  จัดการทุกอย่างตั้งแต่การสแกนเวลาทำงาน การจัดการพื้นที่  การลงเวลาเรียน การจ่ายเงินค่าลงทะเบียน ระบบข้อมูลข่าวสารต่างๆ ฯลฯ  ทีนี้ ในเรื่องของ การไม่พกเงินสด แต่ใช้ระบบคิวอาร์โค้ด แทน เราทำร่วมกับธนาคารไทยพาณิชย์ เพราะเอาเข้าจริงๆ ก็มีประโยชน์หลายอย่าง  เช่น พ่อค้า แม่ค้า ในโรงอาหารไม่ต้องนับเงิน ทอนเงิน ไม่ต้องหยิบจับเงินที่บางครั้งหลายคนมองว่าไม่ถูกสุขอนามัย เขาเองก็สะดวก เวลาให้ลูกจ้างทำงานแทน ก็ไม่ต้องกลัวเรื่องลูกจ้างโกงเงิน   และทางมหาวิทยาลัย ก็จะนำระบบนี้มาใช้ ซึ่งช่วยลดขั้นตอนการทำงาน และลดการทำงานด้วยระบบเอกสารลง” ผศ.รัชด กล่าว

 

ผศ.รัชด เผยกับ “เส้นทางเศรษฐีออนไลน์” อีกว่า การใช้ระบบคิวอาร์โค้ดแทนการใช้เงินสดในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  ทางธนาคารไทยพาณิชย์ ร่วมโปรโมตด้วยโครงการ “โรงอาหาร คิวอาร์ กินข้าวบาทเดียว” ที่โรงอาหารบาร์ใหม่ (โรงอาหาร 1) และบาร์ใหม่กว่า (โรงอาหาร 2)  ในวันศุกรที่ 29 กันยายน  เวลา 10.00-16.00 น. เพื่อเป็นแรงกระตุ้น ให้นิสิตหันมาใช้ระบบนี้ และบรรดาผู้ประกอบการโรงอาหารก็ต้องใช้ระบบนี้ด้วย เนื่องจากเป็นนโยบายของทางมหาวิทยาลัย

ขั้นตอนก็คือ

ทางผู้ประกอบการ เปิดบัญชีกับ ธนาคารไทยพาณิชย์  ทางธนาคารวางระบบให้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย

ส่วนนิสิต หรือผู้ซื้อสินค้า ต้องไปเปิดบัญชีกับธนาคารไทยพาณิชย์  จากนั้น ดาวน์โหลด แอพพลิเคชั่น SCB easy ไว้ในสมาร์ตโฟน เมื่อจะใช้งาน กดไปที่ช่อง “QR ชำระเงิน” แล้ว นำไปแตะกับ QR code ของทางร้านค้า

บัญชีของผู้ซื้อจะถูกตัดตามยอดใช้จ่าย แล้วโอนไปที่บัญชีผู้ประกอบการทันที พร้อมมี sms ขึ้นเตือนให้กับผู้ประกอบการว่า มียอดเงินเข้ามาเท่าไหร่

ถามว่า วิธีการนี้ น่ากลัวหรือไม่ หรือจะปลอดภัย หรือไม่

ผศ.รัชด ตอบว่า “ทางธนาคารไทยพาณิชย์ ก็ทำระบบนี้มาแล้วระยะหนึ่ง กับหลายๆที่ อย่างวินมอเตอร์ไซค์ หรือกับผู้ประกอบการตลาดนัดจตุจักร นับพันราย ไม่ใช่มาดีลกับ ม.เกษตร ที่แรก ดังนั้น จึงมีความเชี่ยวชาญ และปลอดภัย ทางพ่อค้าแม่ค้าก็เช็กเงินได้ตลอดเวลา ว่ามีเงินเข้าบัญชีมาแล้วเท่าไหร่”

“ผมว่า นโยบายนี้ ไม่ใช่แค่เป็นสิ่งที่รัฐบาลพยายามผลักดัน แต่เป็นแนวโน้มของโลก ทั่วโลกเขาทำกันอย่างนี้ เราจะฝืนกระแสได้ยังไง และการนำดิจิตอลเข้ามาพัฒนาองค์กร ก็เป็นเรื่องที่ต้องทำในยุคนี้”

สำหรับ โปรโมชั่น ที่โรงอาหาร ดังกล่าวนี้ ผศ.รัชด บอกว่า “เราประชุมกันมาหลายสัปดาห์ เพื่อเริ่มงานในสัปดาห์นี้ และสัปดาห์หน้าเราก็จะหารือร่วมกับทางธนาคาร ผลักดัน การใช้คิวอาร์โค้ด แทนเงินสด อย่างจริงจังภายในมหาวิทยาลัยต่อไป

ด้วยจำนวนนิสิตที่มีอยู่ปัจจุบัน กว่า 30,000 คน บุคลากร 10,000 คน นักเรียนสาธิตม.เกษตร 3,000 คน (ผู้ปกครองต่างหาก) รวมทั้งข้าราชการในหน่วยงานที่อยู่รายรอบมหาวิทยาลัยอีกจำนวนมาก รวมๆแล้ว เป็นตัวเลขกลมๆ ราวๆ 50,000 คน ซึ่ง ผศ.รัชด บอกว่า นับเป็นการเริ่มทำสิ่งใหม่ๆ ในมหาวิทยาลัย ที่น่าจะอำนวยความสะดวก ให้คนจำนวนมากได้เข้าถึงเทคโนโลยี ที่เราไม่อาจปฏิเสธได้ในปัจจุบัน อันจะส่งผลต่อไปในอนาคต