คลื่น “พลังแห่งการทำความดี” อันมีที่มาจากแรงบันดาลใจสุดยิ่งใหญ่ ในหลวง ร.9

 

 

ภายหลังการสวรรคตของในหลวง รัชกาลที่ 9  พลังแห่งการทำความดี และจิตอาสาก็ก่อตัวขึ้นอย่างมากมาย หลายเสียงประสานพ้องกันว่า ได้รับแรงบันดาลใจในการทำความดีจากพระองค์ท่าน รวมทั้งต้องการทำความดีเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระองค์ด้วยเช่นกัน

“ผมคิดว่า มีคนจำนวนมากลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงตัวเอง  หลายคนได้แรงบันดาลใจจากพระองค์ ถือเป็นรากฐานสำคัญ เป็นต้นทุนของสังคม ที่สำคัญนับเป็นสปริงบอร์ดที่ให้ผลิดอกออกผลอย่างรวดเร็ว นับเป็นนิมิตใหม่ที่คนเราจะไม่นิ่งดูดายกับความเดือดร้อนของคนอื่น” ดร.สรยุทธ รัตนพจนารถ ผู้อำนวยการร่วมธนาคารจิตอาสา และจิตอาสาพลังแผ่นดิน เผย และกล่าวต่อไปอีกว่า

“ความคาดหวังของเรา คืออยากสร้างแพลตฟอร์ม ให้คนออกมาทำอะไรดีๆ อย่างต่อเนื่อง แม้ผ่านเดือนตุลาคมนี้ไปแล้ว”

แพลตฟอร์ม ที่ ดร.สรยุทธ พูดถึงคือการเข้าร่วมการทำความดี ในลักษณะการเป็นจิตอาสา อย่างมีระบบ

ทำไมต้องมีระบบ?

การมีระบบไว้ ก็เพื่อการทำงานอย่างมีเป้าหมายและมีประสิทธิภาพ

ดร.สรยุทธ ยกตัวอย่างว่า หากเกิดภัยพิบัติขึ้น หากไม่มีการประสานงานอย่างเป็นระบบ จิตอาสาก็พร้อมใจกันไปจำนวนมาก จนเกินความต้องการ  หรือในอีกด้านหนึ่ง ไปเหมือนกัน  แต่ไปจำนวนน้อย จนไม่เพียงพอ ดังนั้น การประสานงาน การวางระบบ เก็บข้อมูล จะทำให้การทำงานบรรลุผลได้ดียิ่งขึ้น

ปัจจุบัน ธนาคารจิตอาสา ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไร โดยได้รับการสนับสนุน จากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. ได้พัฒนาระบบสนับสนุนการทำงานของจิตอาสา ซึ่งจนถึงปัจจุบัน ได้เก็บบันทึก จำนวนจิตอาสาที่สามารถติดต่อได้ ถึง 57,000 คน เป็นองค์กร 200 กว่าแห่ง และมีงานอาสากว่า 1,000 งานในแต่ละปี

“หลัง ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จสวรรคต ก็มีคลื่นพลังความดีก่อตัวขึ้นมากมาย ดังจะเห็นได้จากจิตอาสา ในรูปแบบต่างๆ ที่ท้องสนามหลวง ช่วงที่มีประชาชนจำนวนมากเข้ากราบพระบรมศพ ทุกคนตระหนักถึงการทำความดี มีน้ำใจต่อผู้อื่น  ดังนั้น ทาง สสส. ก็เกิดไอเดียต่อยอดออกมาอีกว่า  อยากทำในสิ่งที่คนอื่นยังไม่ได้ทำ และต้องการทำอย่างยั่งยืน เป็นระบบโครงสร้างที่คนนำมาใช้ได้ต่อเนื่อง จึงเกิดเป็นจิตอาสาพลังแผ่นดิน ซึ่งเป็นเรื่องการเสริมสร้างให้คนทำความดี สืบสานต่องานที่พระองค์พระราชทานไว้ให้กับประชาชนชาวไทย อีกทั้งเป็นการสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง”

ตั้งแต่เปิดดำเนินโครงการธนาคารจิตอาสา  ดร.สรยุทธ เล่าว่า กระแสตอบรับดีมาก มีหน่วยงาน องค์กร เข้าร่วมมากมาย และหน่วยงาน องค์กรเหล่านี้ ก็จะไปเผยแพร่ต่อสมาชิกในองค์กรต่อๆ กันไป

“คิดว่าเป็นอะไรที่แปลกใหม่ของสังคมไทย การทำงานเพื่อสังคมในรูปแบบเดิมๆ คือ เอาคนมารวมกันเยอะๆ จัดงานใหญ่ๆ แต่เราก็พบกับความจริงว่า เป็นการจัดแค่ครู่เดียว ใช้งบประมาณมาก จัดการยาก  ทำครั้งเดียวเลิก สิ่งที่เราอยากเห็นคือการให้พลังกระตุ้น แทนที่จะเป็นแนวคิดเดียว องค์กรเดียว  และไม่ต้องมารวมกันเยอะๆ ก็ออกไปทำ เป็นกลุ่มย่อย 3-5 คน  คือที่ผ่านมาเป็นคำสั่งแนวดิ่ง  สั่งให้คนในองค์กรไปทำ แต่รูปแบบใหม่นี้ ให้อิสระทางความคิดของแต่ละคนไปเลยว่าเขาอยากทำอะไร ทุกคนก็ไปทำในแนวทางของตัวเอง โดยใช้เว็บไซต์พลังแผ่นดิน  เป็นตัวเชื่อมโยง  เหมือนแต่ละคนมาเล่าสู่กันฟัง มาแชร์ประสบการณ์ เป็นพลังกระตุ้นของกันและกัน”

สำหรับความคาดหวังการเปลี่ยนแปลงของคนในสังคม ดร.สรยุทธ ตอบเป็นสองส่วนคือ

“ส่วนแรก ทำให้เรามีความหวัง  จิตอาสา คือใจที่ไม่สิ้นหวัง  ให้คนมีความสุขกับการทำความดี

การที่คนมีความทุกข์เพราะอยากได้อยากมี  เหมือนความสุขรออยู่ข้างหน้าแต่เราก็เข้าไม่ถึง แต่จิตอาสาคือความสุขจากการทำความดีเพื่อผู้อื่น  หรือเป็นการเข้าถึงความสุขจากการทำดี”

“ส่วนที่ สอง ความสุขจะดีขึ้นไปอีกถ้าเราพัฒนาในสองด้านคือ การลดอัตตาตัวเอง ลดอีโก้ ขัดเกลาจิตใจของตัวเอง และเห็นความเชื่อมโยงตัวเรากับสังคม กับธรรมชาติและโลก ทำให้เราไม่นิ่งดูดายกับความเดือดร้อนของผู้อื่น”

ใครที่สนใจเรื่องราวรายละเอียด ธนาคารจิตอาสา และ จิตอาสาพลังแผ่นดิน เข้าไปดูเพิ่มเติม

http://www.jitarsabank.com

https://www.palangpandin.com/