ศิลปินงานแก้ว เล่าความภูมิใจ เมื่อครั้งถวายงาน ทำโคมไฟประดับพระเมรุมาศ ร.9

ศิลปินงานแก้ว เล่าความภูมิใจ เมื่อครั้งถวายงาน ทำโคมไฟประดับพระเมรุมาศ ร.9

เชื่อเหลือเกินว่า พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯรัชกาลที่ 9 นั้น ประชาชนคนไทยทุกคนคงไม่ใครอยากให้เกิด

แต่เมื่อเป็นเหตุการณ์ที่มิอาจหลีกเลี่ยง เหล่าบรรดาพสกนิกรน้อยใหญ่ จึงต่างขอปวารณาตัว หยิบจับงานทุกอย่างทำกันด้วยความทุ่มเทอย่างเต็มกำลังความสามารถ

เรื่องราวของ “ศิลปินงานแก้ว” วัย 48 ปี นับจากนี้ เป็นเพียงเสี้ยวตัวอย่างของคนไทย ที่มีโอกาสทุ่มเททั้งแรงกาย-แรงใจ เพื่อขอถวายงานแด่พระองค์ท่านให้สมพระยศพระเกียรติ….เป็นครั้งสุดท้าย

คุณวัฒน ทิพย์วีรนันท์  เจ้าของเรื่องราวผู้นี้ เป็นทายาทรุ่นสองของกิจการรีไซเคิลเศษแก้ว แต่ด้วยความ    มุมานะในงานที่ทำอยู่ตรงหน้า เขาจึงหาหนทางเพิ่มมูลค่าสินค้าในมือให้มีเพิ่มขึ้นกว่าเดิม ซึ่งต้องใช้ความอุตสาหะและองค์ความรู้หลายด้านนานอยู่หลายปี กระทั่งสามารถผลิตออกมาเป็น “แกรนิตแก้ว” ที่ได้การยอมรับให้เป็นนวัตกรรมแห่งวงการก่อสร้าง ได้รับความสนใจจากตลาดทั้งในและต่างประเทศ

แต่เขาก็ไม่หยุดงานที่ตัวเองรักและถนัดไว้อยู่แค่นั้น ยังทยอยสร้างสรรค์งานศิลปะจากเศษแก้ว ให้มีความงามชนิดโดนใจลูกค้าต่างชาติจำนวนไม่น้อย เรียกว่าทั้งสร้างงานมีคุณค่าและขายได้ราคาดี จนผู้คนในวงการต่างให้การยอมรับว่ามีฝีมือหาตัวจับยากคนหนึ่ง

ใช้เวลากว่ายี่สิบปี สั่งสมฝีมือและฝึกปรือจนเป็นที่ยอมรับในฐานะ “ศิลปินงานแก้ว” และแล้ววันหนึ่งความพากเพียรในงานของเขาก็บรรลุความสำเร็จ “สูงสุด”ในชีวิตเลย…ก็ว่าได้

เกี่ยวกับประเด็นน่าภาคภูมิใจดังเกริ่น คุณวัฒน เล่าให้ฟัง เมื่อไม่นานมานี้ ได้รับการติดต่อจาก คุณก่อเกียรติ ทองผุด นายช่างศิลปกรรม กรมศิลปากร ผู้ออกแบบพระเมรุมาศในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพรัชกาลที่ 9 โดยเรียกตัวเขาไปสอบถาม สามารถ “เป่าแก้ว” ตามแบบที่ทางกรมศิลปากรออกแบบไว้ เพื่อทำโคมไฟประดับบนเสาครุฑและรั้วราชวัตร ได้หรือไม่

“เราเป็นพสกนิกรตัวเล็กๆ หากสามารถทำงานที่ถนัดเพื่อถวายในหลวงได้ จะต้องทำด้วยฝีมือและหัวใจเต็มร้อย สิ่งที่กลัวก่อนหน้านี้ คือ กลัวไม่ได้ทำ  แต่ในทีสุดก็ได้รับมอบหมายให้ทำจริงๆ”คุณวัฒน บอกด้วยน้ำเสียงปลาบปลื้ม

ก่อนเผยให้ฟังว่า  สิ่งที่ได้รับมอบหมายจากฝ่ายจัดสร้างพระเมรุมาศฯในครั้งนี้  คือ  งานโคมไฟประดับบนเสาครุฑ และประดับบนรั้วราชวัตร ซึ่งเป็นงานที่ต้องใช้เทคนิคศิลปะการเป่าแก้วให้ออกมา “ทีละลูก-ทีละลูก”เท่านั้น

“โคมไฟลูกเล็กที่สุดมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 25 เซนติเมตร ลูกใหญ่จะมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 40 เซนติเมตร รูปทรงที่กรมศิลปากรออกแบบมาเป็นรูปดอกบัว”คุณวัฒน ว่าให้ฟังอย่างนั้น

สำหรับสถานที่ผลิตโคมไฟเพื่อใช้ในพระราชพิธีครั้งนี้ เขาเลือก โรงหลอมแก้วของ บริษัท แฮนดิคราฟท์ กลาส แฟคตอรี่ จำกัด ซึ่งตั้งอยู่ในเขตอำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม  มี คุณสุธัมมา เจริญไกรโกมล  เพื่อนรุ่นพี่ของเขาเป็นผู้ดูแลในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการฯ

ส่วนขั้นตอนในการทำนั้น คุณวัฒน เล่าให้ฟังคร่าวๆ เริ่มจากการต้ม “น้ำแก้ว” ซึ่งประกอบด้วย แก้วละเอียด ทราย โซดาแอช ฯลฯ  โดยต้มบนเตาความร้อนอุณหภูมิ 1,650 องศาเซลเซียส ไว้ตลอดทั้งคืน พอเช้าวันรุ่งขึ้นจึงทำการตักน้ำแก้วใส่ลงไปใน “หม้อต้มแก้ว” ซึ่งมีอุณหภูมิกว่าพันองศาเซลเซียส เมื่อได้น้ำแก้วมีลักษณะเหมือนกับ “ลาวา”แล้ว จึงค่อยม้วนขึ้นมาเป่าได้

และในกระบวนการเป่าแก้วแต่ละลูกนั้น มีอุปกรณ์สำคัญ คือ “ไม้ซางเหล็ก” ซึ่งขั้นตอนนี้ต้องอาศัยผู้มีประสบการณ์และผ่านการฝึกฝนมมาเป็นอย่างดี เป็นวิชาที่ถ่ายทอดสืบต่อมารุ่นต่อรุ่น  ไม่ใช่ทุกคนที่จะทำได้  เพราะหากไม่เคยฝึกฝนมา จะไม่มีลมพอที่จะเป่าให้แก้ว “เบ่ง”คับพอดีกับโมฯเหล็กหล่อที่ออกแบบไว้

เมื่อม้วนน้ำแก้วแล้วเป่าขึ้นแล้ว จึงนำเข้าโมฯเพื่อให้เบ่งขึ้นตามลวดลาย ก่อนนำมาตัด เข้าเตาอบเพื่อคลายความเครียดไม่ให้แก้วร้าวอีกประมาณ 2 ชั่วโมง หลังจากนั้นถึงจะนำไป “ฟอร์ซน้ำยา”ทำให้เกิดฝ้า ตามแบบที่กรมศิลปากรต้องการ โดยจำนวนที่กำหนดไว้ มีทั้งหมดราว 400 ลูก นำไปประดับในบริเวณพระเมรุมาศ ตามเสาครุฑ รั้วราชวัตร และพระที่นั่งทรงธรรม บางส่วน

“งานที่ได้รับมอบหมายครั้งนี้นับเป็นความภาคภูมิใจของตัวเองและครอบครัวอย่างที่สุด ที่ผ่านมาผมประทับใจในคำสั่งสอนของพระองค์ท่านในเรื่องของความเพียร  จึงทำงานที่ผมรักทุกวัน อันไหนไม่ได้หรือมีอุปสรรคก็จะทำแล้วทำอีก ทำทุกวัน หากไม่ได้ก็ต้องทำให้ได้สักวัน”คุณวัฒน ฝากทิ้งท้ายด้วยรอยยิ้มภาคภูมิใจ

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เมื่อวันจันทร์ที่ 25 กันยายน พ.ศ.2560