ส้มโอแดงภูคิ้ง พันธุ์พื้นเมือง ที่สวนยายใบ ปลูก 2 ต้น ออกลูกปีละ 2 ครั้ง รับเงินปีละ 34,000 บาท

ส้มโอ เป็นผลไม้ที่สามารถนำมาประกอบอาหารได้นานาชนิด แต่รสชาติของส้มโอก็แตกต่างกันไปตามสายพันธุ์ต่างๆ และบางสายพันธุ์อาจจะกำลังสูญหายไปอย่างน่าเสียดายหากไม่มีการอนุรักษ์ไว้

วันนี้จึงขอพามาเยี่ยมชมสวนส้มโอของ ยายใบ-คุณทองใบ พากุดเลาะ เจ้าของสวนที่มีการทำสวนส้มโอทั้งส้มโอพันธุ์พื้นเมืองและส้มโอพันธุ์ฮิตที่เป็นที่นิยม แต่ที่มีความน่าสนใจควบคู่ไปกับการทำสวนส้มโอคือ มีการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชนที่บ้านบุ่งสิบสี่ ตำบลโนนทอง อำเภอเกษตรสมบูรณ์ จังหวัดชัยภูมิ ซึ่งชาวบ้านทุกคนพร้อมใจกันมาบริหารจัดการท่องเที่ยวด้วยตนเอง โดยมีกิจกรรมบริการนักท่องเที่ยวที่หลากหลายและให้มีความเหมาะสมสอดคล้องกับวิถีชีวิตของชุมชนด้วยน้ำใจ ผลลัพธ์ที่ได้จึงเป็นความประทับใจของผู้มาเยือนอย่างมิรู้ลืม

ส้มโอที่บ้านบุ่งสิบสี่ เป็นแหล่งปลูกพันธุ์พื้นเมืองที่มีอายุไม่น้อยกว่า 150 ปี โดยมีหน่วยงานภาครัฐได้เข้ามาส่งเสริมการปลูกส้มโอสายพันธุ์ส่งเสริม เช่น ทองดี ขาวแตงกวา ฯลฯ เป็นต้น ส่งผลให้ส้มโอพันธุ์พื้นเมืองเริ่มถูกตัดโค่นต้นทิ้ง เนื่องจากพันธุ์พื้นเมืองมีต้นและทรงพุ่มขนาดใหญ่ต้องใช้พื้นที่ในการปลูกมาก ทำให้อยากส่งเสริมให้ทุกคนเห็นคุณค่า เห็นความสำคัญของส้มโอพันธุ์พื้นเมืองก่อนที่จะถูกทำลายหมดไป เนื่องจากส้มโอพันธุ์พื้นเมืองของที่นี่เป็นสายพันธุ์ดั้งเดิมซึ่งมีรสชาติดีไม่แพ้ที่ใดเลย

ยายใบ เล่าว่า ตนทำสวนมา 31 ปีแล้ว และมีส้มโอพันธุ์พื้นเมืองอยู่ 2 ต้น “เป็นส้มโอพันธุ์พื้นเมืองเนื้อมีสีแดงเรียกว่า แดงภูคิ้ง อายุประมาณ 100 กว่าปีแล้ว โดยจะออกลูกปีละ 2 ครั้งตอนต้นปีและกลางปี นอกจากนี้ยังให้ลูกดกทำให้มีรายได้เข้ามาเฉพาะ 2 ต้นนี้ปีละประมาณ 34,000 บาท”

สำหรับส้มโอสวนยายใบนั้นปัจจุบันจำหน่ายส้มโอพันธุ์พื้นเมืองแดงภูคิ้ง ลูกละ 50 บาท และเป็นส้มโอที่มีรสชาติหวานอมเปรี้ยวเป็นที่นิยมกับนักท่องเที่ยวที่มาเยือน

ยายใบ เล่าเพิ่มเติมว่า “ยายเกิดมาก็เจอต้นส้มโอนี้แล้วตั้งแต่รุ่นพ่อของยายเด็กๆ การดูแลต้นส้มโอไม่ได้ดูแลอะไรมาก ใส่ปุ๋ย ใส่น้ำหมัก และไม่ได้ใช้ยาฆ่าแมลงใดๆ ส้มโอก็ออกลูกดกทุกปีนะ โดยที่สวนยายมีทั้งพันธุ์พื้นเมืองและพันธุ์อื่นๆ เช่น ทองดี ขาวใหญ่ ส่วนใหญ่จะมีพ่อค้ามารับซื้อถึงสวนเลย เขาให้ราคาพันธุ์ทองดีกิโลกรัมละ 25 บาท พันธุ์ขาวใหญ่กิโลกรัมละ 30 บาท ส่วนแดงภูคิ้งมีราคาแพงกว่าพันธุ์อื่นๆ เพราะหาได้ยากและเขาเริ่มมีการส่งเสริมอนุรักษ์ไว้”

ส้มโอสวนยายใบยังมีการจำหน่ายกิ่งพันธุ์ส้มโอพื้นเมืองเป็นรายได้เสริม โดยมีราคากิ่งพันธุ์ละ 100 บาท และถ้าต้องการกิ่งที่เสียบยอดจะจำหน่ายกิ่งละ 100 บาท แต่หากซื้อจำนวนมาก ยายใบแอบกระซิบว่าสามารถลดราคาได้เหลือกิ่งพันธุ์ละ 50-80 บาท โดยมีกิ่งพันธุ์ที่จำหน่าย ได้แก่ พันธุ์ขาวทองดี ขาวใหญ่ ขาวน้ำผึ้ง และพันธุ์พื้นเมืองอย่างแดงภูคิ้ง

นอกจากนี้ ยายใบ ยังเล่าว่า เมื่อมีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวที่สวนจะมีการสาธิตการเสียบยอดส้มโอให้ดูและสอนวิธีการปลูกและดูแลรักษาส้มโออีกด้วย ทำให้นักท่องเที่ยวนอกจากได้รับความเพลิดเพลินแล้วยังได้ความรู้ทางการเกษตรกลับไปใช้ได้จริง อีกทั้งยังเพิ่มรายได้การจำหน่ายส้มโอพันธุ์ต่างๆ โดยตรงถึงมือผู้บริโภคโดยไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง

“ถ้าดินดีคือดินที่ส้มโอชอบเป็นดินเหนียวก็จะให้ผลดก อย่างสวนยายจะปลูก 3 ปีได้กินลูกแล้ว สัก 5 ปีก็สามารถขายได้ มีการเสียบกิ่งให้ดูเขาก็ซื้อไปปลูกกัน” นอกจากนี้ ยายใบยังมีการแปรรูปส้มโอเป็นน้ำส้มโอให้นักท่องเที่ยวที่มาเยือนชิมกันอีกด้วย นับเป็นแนวทางสร้างรายได้ให้กับชุมชนเพิ่มขึ้น

การประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรบ้านบุ่งสิบสี่ยังมีกลยุทธ์และแนวทางในการส่งเสริมการตลาดส้มโอและการประชาสัมพันธ์ร่วมกับการท่องเที่ยวเชิงเกษตรไปด้วย อีกทั้งพยายามส่งเสริมให้ชุมชนนำทรัพยากรทางเกษตรในพื้นที่มาใช้ประโยชน์เพื่อให้เกิดรายได้โดยตรง ทั้งจากการจำหน่ายสินค้าเกษตรและการให้บริการ ตลอดจนสามารถดำเนินงานบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรให้อยู่ในรูปแบบของการท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างยั่งยืน (วิถีเกษตร วิถีวัฒนธรรมและธรรมชาติ)

ด้าน คุณอัครวิทย์ หมื่นกุล ผู้ดำเนินงานโครงการศึกษาและพัฒนาสินค้าและบริการท่องเที่ยวบ้านบุ่งสิบสี่ และโครงการประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรบ้านบุ่งสิบสี่ ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาเครือข่ายท่องเที่ยวเชิงเกษตรลำน้ำพรมหรือในนาม อาจารย์จัมโบ้ ที่ชาวบ้านทุกคนคุ้นเคย เปิดเผยว่า จังหวัดชัยภูมิได้กำหนดประเด็นยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาการท่องเที่ยวให้มีคุณภาพได้มาตรฐานโดยพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวแบบครบวงจรและท่องเที่ยวได้ตลอดทั้งปีในทุกฤดูกาล

“โครงการนี้เป็นโครงการของเกษตรสหกรณ์จังหวัดชัยภูมิ และได้งบประมาณของจังหวัดชัยภูมิมาทำเรื่องท่องเที่ยวโดยชุมชนภายใต้นโยบายประชารัฐ และได้ร่วมกันออกแบบโครงการโดยการมีส่วนร่วมกับชาวบ้านในชุมชนอย่างเป็นระบบ โดยดำเนินการในพื้นที่บ้านบุ่งสิบสี่ เนื่องจากมีจุดเด่นคือ เป็นพื้นที่ที่อยู่ติดเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว (ทุ่งกะมัง) และมีการดำเนินโครงการซึ่งเกี่ยวข้องเรื่องคนกับป่า อยู่กันยั่งยืนมาแล้วหลายโครงการด้วยกัน อีกทั้งยังมีภูมิประเทศที่สวยงามเหมาะสมที่จะส่งเสริมเรื่องท่องเที่ยว และจุดเด่นที่สำคัญของที่นี่คือ เป็นแหล่งปลูกส้มโอขนาดใหญ่ที่มีเนื้อที่กว่า 600 ไร่”

ส้มโอพันธุ์พื้นเมือง จะมีกุ้ง (เนื้อส้มโอ) 2 สี หากมีสีแดงจะเรียกว่า แดง และต่อท้ายตามตำแหน่งที่เกิด เช่น แดงภูคิ้ง แดงโรงสี แดงผาพัง หรืออื่นๆ หากส้มโอมีเนื้อสีขาวจะใส่คำว่า หอม ลงไปเพราะนอกจากจะมีรสชาติอร่อยแล้วยังมีความหอมเหมือนมะนาวเมล่อน บางต้นมีเปลือกบางและปอกเปลือกได้ง่ายอีกด้วย เช่น ขาวหอม ขาวหล่อน (ขาวจัมโบ้) ฯลฯ แต่ความหลากหลายของสายพันธุ์ส้มโอเหล่านี้กลับไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลายเหมือนสายพันธุ์อื่นๆ จึงอยากให้มีการอนุรักษ์พันธุ์พื้นเมืองนี้ไว้ก่อนที่จะสูญหายหมดไป”

ด้าน คุณนันทวิทย์ ดวงมณี หรือ ผู้ใหญ่เก๋ ผู้ใหญ่บ้านบุ่งสิบสี่ กล่าวเพิ่มเติมว่า บ้านบุ่งสิบสี่มีศักยภาพในการจัดการท่องเที่ยวและเป็นการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน รับฟังทุกฝ่ายเพื่อจัดทำโปรแกรมการท่องเที่ยวให้เหมาะสมกับชุมชนและทุกคนที่มาเยือน โดยการสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้กับชุมชนอย่างเป็นระบบ เช่น การเรียนรู้/ศึกษาดูงานเรื่องการท่องเที่ยวโดยชุมชน/การจัดทำแผนยุทธศาสตร์การจัดการท่องเที่ยวโดยชาวบ้านเอง ไม่ขัดแย้งกันภายในชุมชนรวมถึงชุมชนใกล้เคียง ทำให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็งและชาวบ้านพร้อมใจกันทำงาน

“ถ้ามาเที่ยวบ้านบุ่งสิบสี่ เริ่มแรกจะต้องถามแขกที่มาเยือนว่าต้องการแบบไหน บางคณะต้องการมาอบรมเรียนรู้เรื่องการปลูกส้มโอ หรือบางคนมาเที่ยวชมธรรมชาติ ก็จะมีการพูดคุยกัน จัดการท่องเที่ยวให้เหมาะสมกับความต้องการ ซึ่งจุดเด่นของที่นี่คือ เป็นแหล่งปลูกส้มโอพันธุ์พื้นเมืองที่มีรสชาติอร่อย ราคาไม่แพง และสามารถมีให้ชิมได้ทั้งปี ทุกฤดูกาล”

“นักท่องเที่ยวบางคนอยากพายเรือเองเราก็จะมีเรือที่ได้มาตรฐานกรมเจ้าท่าไว้บริการ มีทั้งหลังคาและชูชีพเพื่ออำนวยความสะดวกและปลอดภัย เมื่อพายเรือชม ชิม ช็อปที่สวนส้มโอของสมาชิกกลุ่มของพวกเราแต่ละสวนก็จะมีความหลากหลายของสายพันธุ์ รสชาติ ความมีน้ำใจของเจ้าของสวนที่เป็นเสน่ห์ของกลุ่มเรา”

สำหรับกลุ่มนักท่องเที่ยวที่ผ่านมาจะมีทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศที่มาเยือน และบางกลุ่มมาแล้วก็กลับมาอีกรอบด้วยความประทับใจในรสชาติของส้มโอ ทัศนียภาพลำน้ำพรม และอัธยาศัยไมตรีอันดีงามของชาวบ้าน

สนใจเยี่ยมชมสวนส้มโอและท่องเที่ยวในหมู่บ้านบุ่งสิบสี่ สามารถติดต่อได้ที่ ผู้ใหญ่ นันทวิทย์ ดวงมณี โทรศัพท์ (099) 783-2597