ฟาร์มสเตย์ “บ้านไร่ ไออรุณ” ต้นแบบของความพอเพียง+สร้างสรรค์

“พื้นที่เเห่งรัก” ที่เป็นมากกว่า บ้าน คือ นิยามตัวเอง ของฟาร์มสเตย์ บ้านไร่ ไออรุณ อำเภอกะเปอร์ จังหวัดระนอง

มี คุณเบส-วิโรจน์  ฉิมมี  วัยสามสิบต้นๆ สถาปนิกหนุ่มจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี เป็นผู้ริเริ่มบุกเบิกเมื่อไม่นาน  ซึ่งปัจจุบันเป็นกิจการที่ได้รับการกล่าวขานถึงกันอย่างกว้างขวางถึงความพอดีและพอเพียง จนถูกจัดให้เป็นฟาร์มสเตย์มาแรงสุดในเวลานี้ เพราะมีคนจองคิวยาวเหยียดเต็มตลอดทั้งปี

 

“สิ่งที่ผมกำลังทำเเละเเบ่งปันออกไป ผมไม่ได้อยากเเละมีเจตนาที่จะเชื้อเชิญ หรือให้ทุกคนบนโลกใบนี้เดินทางมาที่บ้านของผม…เเต่ผมอยากให้ทุกๆ คนกลับบ้านของคุณเอง เเล้วสร้างบ้านให้มีชีวิต เติมเต็มความสุขให้กับคำว่า บ้าน หลังนั้นของคุณอีกครั้ง” คุณเบส เผยความรู้สึกไว้อย่างนั้น

ก่อนย้อนความเป็นมาให้ฟัง หลังจากเรียนจบปริญญาตรี ทำงานในกรุงเทพฯ ได้ 3 ปีกว่า จึงลาออกและเดินทางกลับบ้านเกิด เพื่อสร้างฝันของตัวเอง ด้วยการปลูกบ้านเพื่ออยู่กับครอบครัวแบบพร้อมหน้าพร้อมตา

ช่วงแรกไม่มีใครเห็นด้วย เพราะคิดว่าส่งลูกเรียนแล้ว ลูกต้องได้ทำงานในกรุงเทพฯ จะได้ไม่มาเหนื่อยแบบพ่อ-แม่ที่ต่างจังหวัด

แต่เขาคิดกลับกัน คือ อยากนำความรู้ที่เรียนมาพัฒนาต่อยอดจากสิ่งที่มีอยู่ ด้วยการออกแบบบ้าน ให้ผสมผสานเข้ากันกับอาชีพเกษตรกรรมของพ่อ-แม่ ก่อนต่อยอด ด้วยการสร้างแบรนด์ให้เติบโตอย่างยั่งยืน

“2 ปีที่กลับมาพัฒนาพื้นที่ตรงนี้เป็นมากกว่าบ้าน สิ่งที่ได้ คือ รอยยิ้มความสุขและความภาคภูมิใจของครอบครัวที่ได้ช่วยกันสร้างพื้นที่ตรงนี้ให้ดีขึ้นด้วยตัวเอง ซึ่งความสุขไม่ได้ขึ้นอยู่กับจำนวนเงิน แต่สุขอยู่ที่ได้แบ่งปัน อย่าง ผัก ที่ช่วยกันปลูกนั้น เรามั่นใจว่าปลอดสารพิษ และถูกแบ่งปันให้กับคนในชุมชนได้กิน อย่างไรก็ตาม งานหลายอย่างที่ทำนั้นต้องใช้เวลาด้วยความเชื่อมั่นสุดหัวใจว่าทุกคนในบ้านและในชุมชนจะต้องมีชีวิตที่ดีไปด้วยกัน” คุณเบส บอกหนักแน่น

และว่า ปัจจุบัน บ้านไร่ ไออรุณ มีที่พัก 3 หลัง ซึ่งไม่มี WiFi  ไม่มีทีวี ไม่มีตู้เย็น แต่มีเครื่องปรับอากาศ และกำลังก่อสร้างเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามกำลังที่มี ทุกอย่างสร้างขึ้นมาด้วยมือ ช่วยกันทำในครอบครัว สำหรับแขกที่มาพักนั้น ส่วนใหญ่เป็นคนในกรุงเทพฯ และนักท่องเที่ยวต่างชาติ กระแสตอบรับดีมาก ตั้งแต่เริ่มสร้าง มีคนจองห้องไม่ขาดสาย

ล่าสุดมีกิจกรรมให้นักท่องเที่ยว อย่าง ปลูกผัก ทำกับข้าว ฯลฯ  และกิจกรรมวันเดย์ทริป  นั่งเรือไปเที่ยวทะเล เที่ยวเกาะกำ เกาะค้างคาว เกาะญี่ปุ่น ซึ่งเป็นพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติ เป็นการสร้างรายได้ให้ชาวบ้านที่ขับเรือทางหนี่ง

“ทุกวันนี้ชาวบ้านเริ่มเกิดความภาคภูมิใจในบ้านเกิด เด็กที่เรียนในกรุงเทพฯ กลับมาอยู่บ้าน ถือเป็นการสร้างค่านิยมให้คนในชุมชนอย่างหนึ่ง ซึ่งไม่ได้เป็นการบอกทางตรงแต่เป็นทางอ้อม และสิ่งสำคัญ อยากให้คนมีบ้านต่างจังหวัดกลับไปพัฒนาบ้านเกิดตัวเอง” คุณเบส สรุป