เปิดตำนาน “ก้าวหน้าไก่สด อุบลฯ” ล้มยักษ์ใหญ่ เบียดตลาดสร้างยอดขาย 3 พันล้านบาทต่อปี

 

หลักคิดในการทำธุรกิจ ของยักษ์ใหญ่เท่าที่ได้สดับมา

ถ้ามีคู่แข่งเมื่อไหร่  และคู่แข่งนั้น เป็นรายเล็กรายน้อย…

ยักษ์ใหญ่บางราย เลือกที่จะฆ่าให้ตายเรียบ จนปราศจากคู่แข่ง

ในขณะที่ ยักษ์ใหญ่บางราย เลือกที่จะปล่อยไป เพราะคิดว่า หากฆ่าตายแล้ว อาจจะมีรายใหม่ผุดขึ้นมา และอาจจะแข็งแกร่งกว่ารายเดิม ฉะนั้น ปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด…

 

เป็นที่รู้กันว่า ก้าวหน้าไก่สด แห่งอุบลราชธานี เป็นของตระกูล ตริยางกูรศรี โดยมี คุณสุนีย์ ตริยางกูรศรี คุณแม่ของลูกๆ ทายาทนักธุรกิจทั้ง 4 เป็นผู้กุมบังเหียน ปัจจุบันเป็นธุรกิจขายทั้งในและต่างประเทศ สร้างยอดขาย 3 พันล้านบาทต่อปี และเป็นธุรกิจสัตว์ปีกในอุบลฯ ที่ว่ากันว่า แข็งแกร่งขนาดที่ยักษ์ใหญ่เจาะไม่ได้

กว่าจะมาถึงวันนี้ ไม่ง่าย ผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านล้ม ผ่านลุก มานับไม่ถ้วน

และเรื่องราวต่อไปนี้ เป็นการเล่าเรื่องเบื้องหลังที่ ก้าวหน้าไก่สด มักจะไม่ค่อยเปิดเผยให้ใครฟังนัก เป็นเบื้องหลัง การล้มยักษ์ของคุณสุนีย์ ผู้มากบารมีในปัจจุบัน

ผู้สนทนาคือ คุณสุระ ตริยางกูรศรี บุตรชายคนที่ 3 ของคุณสุนีย์ ดำรงตำแหน่งผู้จัดการโรงงาน ดูแลโรงงานอาหารสัตว์ โรงไฟฟ้าชีวมวล แห่งอาณาจักรก้าวหน้า

คุณสุระ เริ่มต้นเล่าว่า ตัวเองเป็นบุตรคนที่ 3 มีพี่ชายอีก 2 คน และน้องสาวอีก 1 คน ปัจจุบัน ช่วยงานธุรกิจครอบครัวทั้งหมด โดยแบ่งงานกัน พี่ชายคนโต ดูแลก้าวหน้าไก่สด  พี่ชายคนที่ 2 ดูแลห้าง โรงแรม อสังหาริมทรัพย์  และน้องสาวดูแลโรงแรม และโรงงานไก่แปรรูป และที่สำคัญ คุณสุนีย์ ยังดูเรื่องการเงิน การบริหาร ให้คำปรึกษา ให้การตัดสินใจทั้งหมด เรียกว่ายังเป็นเซ็นเตอร์ของครอบครัว

คุณสุระ บอกว่า “เอาจริงๆ ธุรกิจไก่สดนี่เป็นธุรกิจในฝันของคุณแม่ คุณแม่อยากสร้างโรงงานไก่ส่งออก ซึ่งตอนนั้นพวกผมเรียนจบกันหมดแล้ว  แม่ก็ต่อสู้กะยักษ์ใหญ่มา แกก็มุดซ้ายมุดขวา ทุกคนว่าเราบ้า เพราะตอนนั้นไม่มีโรงไก่ส่งออกที่อีสานเลย  โรงไก่ของเจ้าอื่นไกลสุดอยู่ที่สระบุรี ก็ตัดสินใจว่าจะสร้าง ไปกู้เงินใครก็ไม่มีใครให้ ทั้งที่เครดิตดี แต่เหตุผลคือ คุณไม่เคยกู้เงิน คุณบริหารเงินกู้ไม่เป็นหรอก  คุณมีแต่เงินฝาก”

คุณสุนีย์ ตริยางกูรศรี

 

อาจจะเป็นเรื่องของความตั้งใจจริงและไม่ล้มเลิกความฝัน คุณสุนีย์ สู้ไม่ถอย แม้จะต้องพบกับการกู้แบงก์ไม่ผ่าน อีกทั้งยักษ์ใหญ่ที่ชอบธุรกิจผูกขาด จ้องจะตีให้ตาย นี่ยังไม่รวมถึงบรรดาลูกๆ ไม่เห็นด้วยที่จะสร้างธุรกิจ ด้วยหนี้ก้อนใหญ่

“คุณแม่ผม เขาเป็นคนไม่มองอะไรมากนะ  มีคนชอบมาถามถึงวิสัยทัศน์ ก็ไม่มีอะไร คุณแม่แค่อยากทำให้สำเร็จ และเขาบอกว่ามันต้องทำได้ ช่วงสร้างฟาร์มไก่ ขายไก่ ถูกยักษ์ใหญ่โจมตีเรื่องราคา อย่างเคยกดราคาไก่หน้าโรงไก่เหลือ 12 บาท ทั้งที่ ราคาตลาดอยู่ที่ 18 บาท ถึงจะอยู่ได้  ถ้าขาย 12 บาทขาดทุนแน่นอน คุณแม่ผม แกเทคนิคเยอะ หัวการค้า แกก็บอกว่าแกสู้ไม่ไหว ทำอย่างนี้ขาดทุน ก็ไปบอกลูกค้า บอกใครต่อใครว่า แกเจ๊งแล้ว ไปซื้อจากยักษ์ใหญ่กันได้เลย…แม้ แม่ผมจะบอกไปอย่างนั้น  แต่แกไม่ยอมแพ้นะ  แกไปแอบสร้างฟาร์มพ่อแม่พันธุ์  หนังสือที่แกอ่าน คู่มือการเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์นี่เป็นภาษาอังกฤษ ทั้งที่แกเรียนไม่สูง  แกแปลทุกคำ เปิดดิกชั่นนารีเอา  ทุกวันนี้ แกก็ยังนั่งอ่านหนังสือภาษาอังกฤษทุกคืน”

“ช่วงนั้น แม่ผมขนไก่ไปขายกรุงเทพฯ 18 บาท ค่าขนส่งก็ 3 บาทแล้ว ขาดทุนนิดหน่อย แต่พอให้เลี้ยงระบบไปได้…ที่บอกลูกค้าในพื้นที่ ให้ไปซื้อที่ราคา 12 บาทกับเจ้าใหญ่ เพราะคุณแม่ผม รู้ว่า ไม่มีใครยอมขาดทุนนาน  ยังไงสัก 1-2 เดือน ก็ต้องขึ้นราคา แล้วก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ…ทางฝั่งยักษ์ใหญ่ คิดว่า เราเจ๊งแน่ๆ แล้ว ก็ขึ้นราคา ทีนี้ เขาจะขึ้นมาเป็น 18 บาท อย่างเดิมไม่ได้แล้ว เพราะขาดทุนไปเยอะ (หัวเราะ) ก็ขึ้นมาเป็น 22 บาท แล้วจัดระบบใหม่ ขายตรงเลย ไม่มียี่ปั๊ว ซาปั๊ว ราคาเท่ากันหมด  ทีนี้ทำไงล่ะ ยี่ปั๊ว ซาปั๊ว ก็วิ่งมาหาแม่ผม ให้ช่วยหน่อย แม่ก็เล่นตัวนิดหน่อย  ก็บอกว่า  เดี๋ยวถ้าเขาลงราคา คุณก็ไปหาเขาอีก ชั้นก็เจ๊งคนเดียว  นั่นบริษัทใหญ่ ชั้นสู้ไม่ไหวหรอก ไปซื้อเขาเถอะ ดีแล้ว…ยี่ปั๊ว ก็เลยทำสัญญายอมเอาเช็คล่วงหน้ามาวาง ซื้อทั้งปีราคา 18 บาทพอ แม่บอกว่า ชั้นไม่เอาเยอะหรอก…”

“จากนั้น ยักษ์ใหญ่ ก็กดราคาลงมาอีกรอบ  หรือหลายรอบ ก็คือสู้กันไปมา ดึงกันไปมา ซึ่งมันเป็นความเก็บกดที่แม่ผมจะต้องผ่านไปให้ได้ แกก็มีความหวัง ความฝัน ว่าต้องส่งออกเพื่อหนี  ไม่อยากสู้ราคากันแล้ว ไม่อยากแข่งแล้ว  ตั้งแต่ที่พวกผมเรียนอยู่ก็รู้ว่า แม่อยากทำโรงงานส่งออก  ก็เจอทางตันมากมาย ตั้งแต่การกู้เงิน เทคโนโลยี การขนส่ง เราอยู่อุบลฯ จะขนส่งอย่างไร  ส่งออกยังไง ลูกค้าญี่ปุ่นใครจะไปดู ทีมงาน เรายังเป็น 2 ชั้น คือลูกน้องกับเจ้าของ ไม่มีผู้จัดการ ไม่มีอะไร  ยังมองไม่เห็นว่าจะไปยังไง”

แต่แล้ว มาถึงคืนหนึ่ง ที่บ้านนี้ทุ่มเถียงกันถึงอนาคต และเหตุการณ์ในคืนนั้น ก็เปลี่ยนอนาคตของคุณแม่สุนีย์ และลูกๆ ทั้ง 4 ไปตลอดกาล เมื่อคุณสุนีย์ จะเอาที่ดินเข้าแบงก์แล้วกู้เงิน 300 ล้านบาท เพื่อสร้างโรงงานส่งออก

ครอบครัวตริยางกูรศรี

“คืนหนึ่งเราทะเลาะกัน  ลูกๆ ไม่อยากทำ ลูกๆ ท้อแล้ว  มันแปลกกว่าบ้านอื่น บ้านอื่นนี่ลูกๆ อยากขยายอาณาจักร ขยายกิจการ  แต่พวกผมกลับมองไม่เห็นทางนั้น

ยังไม่เห็นทางเลยแม่…พวกผม (บรรดาลูกๆ) ลงความเห็น

ประโยคเด็ดที่เปลี่ยนพวกผม มาจนทุกวันนี้คือ  แม่บอกว่า ต้น (พี่ชายคนโต) จบวิศวะ จุฬาฯ, ตี๋ (พี่ชายคนที่สอง) จบบัญชี ม.เกษตรฯ, เล็ก (ผมเอง)  จบบัญชี จุฬาฯ และ  หนึ่ง (น้องสาวคนสุดท้อง) กำลังเรียน สัตวแพทย์ จุฬาฯ

แม่บอก ตอนนี้เขาอนุมัติเงินกู้ให้เราแล้ว เอาที่ดินไปค้ำประกัน ถ้าเจ๊งแล้วเป็นไง…ก็จบ

พวกเจ้า ไปร่ำเรียนจบกันมา ใครที่เรียนจบมหาวิทยาลัยมา เขาก็ทำงานกันทั้งประเทศ เจ้าก็ไปทำงานสิ ถ้าเจ๊ง…เขาก็ยึดที่ดินไป  เพื่อนพวกเจ้าก็ทำงานบริษัทกันเยอะแยะ ก็ไปใช้ชีวิตอย่างเพื่อนเจ้าสิ   ก็ไม่เห็นเป็นไร แต่เจ้าต้องทำสักครั้งในชีวิต  แล้วก็ทำให้เต็มที่ เจ๊งก็คือเจ๊ง อย่าไปคิดอะไรมาก…

คืนนั้น  เราเถียงกันจนร้องไห้

ในที่สุด ลูกๆ ก็ยอม

จากนั้น คุณแม่สร้างโรงงานเสร็จ แล้วเป็นไง

แล้วก็เจ๊งจริงๆ !!!

สร้างเสร็จก็เจ๊งจริงๆ ล้มลุกคลุกคลาน 2 ปีแรก  ขาดทุนต่อเนื่อง

กว่าจะเห็นกำไรเดือนแรกนี่เหนื่อยมาก  เราวิ่งกู้เงินทุกเดือน แต่สิ่งหนึ่งที่แม่ยึดมั่นคือ แม่ไม่ยอมให้เช็คเด้ง นั่นคือสิ่งที่แม่สร้างเครดิตมา

กำไรเดือนแรก 1 แสนบาท  พวกผมเงินเดือน เดือนละ 1 หมื่นบาท  กู้เงินมา 300 ล้าน กำไรแสนหนึ่ง  ผมบอกแม่  เพื่อนผมทำงานหาเงินคนเดียว เดือนเดียวก็ได้แล้ว 1 แสน ของเราทั้งครอบครัวหาได้ 1 แสน แถมมีหนี้ อีก 300 ล้าน คือช่วงนั้น เป็นช่วงฟองสบู่ ผมเรียนจบปี 2535 ฟองสบู่เริ่มปี 2538  ธุรกิจที่แย่คือเกษตร ธุรกิจที่ดีคือการเงิน ผมจบบัญชี จุฬาฯ พวกเพื่อนๆ ผมทำงานสถาบันการเงิน  เขาเรียกมนุษย์ทองคำ  เพื่อนๆ ทำงานเงินเดือนหมื่นกว่าบาท แต่โบนัส 13 เดือน ว่างๆ เจ้านายก็ให้หุ้น

ถ้าจะเอาแสนบาท  เดือนหนึ่งหาได้เลย เพื่อนผมเล่นหุ้นกำไรวันละ 2 หมื่น เราทำงาน ตี 4 ถึง 2 ทุ่ม ได้เงินนิดเดียว ผมก็บอกแม่ ให้ผมไปทำงานในกรุงเทพฯ เถอะ

แม่บอก เจ้าทำไปเถอะ ใจเย็นๆ…ทุกคนก็ยอม เพราะแม่คือทุกสิ่งที่พวกผมมี

ก็ทำไปโดยไม่รู้ว่าจะมีวันนี้  ก็ทำแค่ให้ดีที่สุด ทุกคนทำงานหนักกันทุกคน”

ในที่สุด ก็ถึงจุดเปลี่ยนอีกครั้ง ในวิกฤต มีโอกาสเสมอ นั่นเป็นวรรคทองของช่วงฟองสบู่แตก ปี 2540

คุณสุระ ตริยางกูรศรี

“แม่บอกว่า ให้แบรนด์ก้าวหน้าไก่สด ไปถึงญี่ปุ่นก่อน เดี๋ยวถ้ามันจะเจ๊ง เดี๋ยวเจ๊งเอง หลักการมีแค่ว่า  ต้องควบคุมต้นทุนให้ดีที่สุด  พอเราเริ่มมีลูกค้าก็พอไปได้ จุดเปลี่ยนจริงๆ คือปี 40 ฟองสบู่แตก  ทุกอย่างกลับด้าน เงิน 1 ดอลลาร์สหรัฐ จาก 25 บาท เป็น 50 บาท  นี่คือจุดเปลี่ยน เราขายได้เงินมากขึ้น นี่คือเป็นสิ่งที่ผ่านมา ก้าวหน้าไก่สดก็แข็งแรงขึ้น  แม่บอกว่า เป็นความเสี่ยงครั้งเดียว จริงๆ แม่ไม่ใช่เป็นคนชอบเสี่ยง แต่แม่เป็นคนใจถึง  แม่เลี้ยงพวกผมมาไม่เคยกู้เงินเลย กู้ครั้งเดียวคือก้าวหน้าไก่สด 300 ล้านบาท”

จากนั้น ธุรกิจส่งออกของก้าวหน้าไก่สด ก็เติบโตขึ้นตามลำดับ จนปัจจุบันสร้างยอดขายได้ราว 3 พันล้านบาทต่อปี ส่งไก่ออกในหลายประเทศ อีกทั้งขยายธุรกิจมาที่โรงแรม ห้างสรรพสินค้า และอีกหลายกิจการ โดยจะมีชื่อ สุนีย์เสมอ ทั้งโรงแรมสุนีย์แกรนด์ สุนีย์พลาซ่า สุนีย์ทาวเวอร์…หรือหากแตกไลน์เป็นธุรกิจอื่น ก็จะมีคำว่า ก้าวหน้า ทั้งก้าวหน้าโภคภัณฑ์ ก้าวหน้าอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ ก้าวหน้าโลจิสติกส์เซอร์วิส และก้าวหน้าเพาเวอร์ซัพพลาย อันหมายถึง อาณาจักรก้าวหน้า

เรื่องราวการต่อสู้ของแต่ละครอบครัว  ล้วนต่างกันออกไป และนี่ก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องราว ของอาณาจักรคุณสุนีย์ ตริยางกูรศรี หญิงเก่ง หญิงแกร่ง ในแวดวงนักธุรกิจเมืองอุบลฯ  และเหนือสิ่งอื่นใด เธอเป็นหญิงในดวงใจ ของลูกๆ ทั้ง 4 ที่ย้ำเสมอว่า “คุณแม่คือทุกสิ่งที่พวกผมมี”