กว่าจะมาเป็น “คางกุ้ง” เจ้าดัง! เคยถูกหลอกจะพาไปขายเมืองนอกมาแล้ว

คุณแพร-พิมพ์มาดา พัฒนปรัชญาพงศ์  เจ้าของผลิตภัณฑ์คางกุ้งทอดอบกรอบ แบรนด์ “โอคุสโน่-OKUSNO” เล่าถึงประวัติความเป็นมา จบการศึกษาระดับปริญญาตรี คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ภาคภาษาอังกฤษ  เคยได้รับทุนไปทำงานด้านกราฟิกดีไซน์ ที่ประเทศสโลวีเนีย ก่อนหน้านี้เคยเป็นเจ้าของกิจการไอศกรีมสับปะรดแบบไม่เหมือนใคร ใช้เปลือกสับปะรดมาทำเป็นถ้วยบรรจุไอศกรีม

ปัจจุบัน เธอเป็นเจ้าของไอเดียคิดค้นคำว่า “คางกุ้ง” และก่อตั้งขนมแบรนด์ “โอคุสโน่-OKUSNO” คางกุ้งทอดอบกรอบ เจ้าแรกของไทย และเป็นผู้ชนะเลิศ จากรายการ SME ตีแตก The Final 2015 เป็นสุดยอด SMEs แห่งปี 2015

 เป็นคนไม่อยากทำงานประจำ ก่อนหน้านี้ เคยทำไอศกรีมสับปะรดมาก่อน ทำถ้วยจากเปลือกสับปะรด แต่ไอศกรีมไปจ้างโรงงานผลิตให้ ทำให้รู้ว่า  ถ้าทำสินค้าออกมาได้ด้วยตัวตัวเราเอง จะลดต้นทุนได้มากขึ้น

ส่วนคางกุ้งโอคุสโน่นี้ เป็นธุรกิจที่เกิดขึ้นจากการมองเห็นโอกาส ทำสิ่งที่ผู้คนมองข้ามมาเป็นสิ่งที่มีมูลค่าขึ้นมา เริ่มจากไปลองแงะส่วนที่นิ่มที่สุดของกุ้งออกมาทอดบ้าง อบบ้าง ทำอย่างไรไม่ให้อมน้ำมัน ปรุงรสแต่ไม่ใส่ผงชูรส บรรจุซอง ก่อนนำแจกให้เพื่อน-พี่ ชิม แล้วสังเกตว่าทานกันหมดมั้ย ถ้าหมดแปลว่าอร่อย  การทำแบบนี้เหมือนการทดลองตลาดไปเรื่อยๆ จนมั่นใจ เพราะถ้าไม่ลองตลาดก่อน ออกมาขายตูมเดียว อาจเจ๊งไปเลยก็ได้ เพราะแก้ไขไม่ทัน

แต่กว่าจะมาถึงวันนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะความที่ไม่เคยทำธุรกิจจริงจังขนาดนี้มาก่อน เคยถูกหลอกว่าจะพาสินค้าไปขายเมืองนอก จึงลงทุนสร้างโรงงานผลิตขึ้นมาเลย แต่พอสร้างเสร็จเขาก็หายไป เลยต้องดิ้นรนหาตลาดเอง เริ่มจากเดินเข้าไปเสนอขายในห้างสรรพสินค้าชื่อดังเลย ซึ่งโชคดีได้รับการพิจารณา

คุณแพร เล่าต่อ ปัจจุบัน ช่องทางจำหน่ายสแน็กในแบบของเธอ นอกจากจะมีในซุปเปอร์มาร์เก็ตแล้ว ยังไปฝากขายที่ร้านหนังสือด้วย เพราะขนมชนิดนี้สามารถอ่านหนังสือไปทานไปได้ ไม่เลอะมือ เพราะไม่อมน้ำมัน และเหตุผลสำคัญคือ ไม่อยากเหมือนคนอื่น

เมื่อถามถึงคุณสมบัติสำคัญของผู้ที่จะเป็นเจ้าของธุรกิจ คุณแพร บอก ต้องยึดถือความถูกต้องและความซื่อสัตย์ ถ้าไม่มีสิ่งนี้อยู่ในองค์กรของตัวเอง  อีก 10 ปีข้างหน้าไม่มีทางอยู่รอด

เมื่อถามว่าความซื่อสัตย์ในแบบของตัวเธอคืออะไร คุณแพร  ยกตัวอย่าง โอคุสโน่ เน้นมากในเรื่องของความสะอาด ถ้าตก 1 ชิ้นไปล้างอย่างนั้นไม่ได้เด็ดขาด เพราะต้องการทำให้ถูกหลักอนามัย อยากให้คนทานรู้สึกว่าได้ทานของดี ไม่ใช่ของเหลือทิ้ง

“โอคุสโน่เป็นของทอด ก็บอกเลยว่าเป็นของทอด ไม่พยายามใช้คำอื่นเพื่อเลี่ยงบาลี หรือคนที่แพ้กุ้งก็อย่าทาน จะบอกกันทุกครั้ง ความซื่อสัตย์ทั้งกับตัวเองและลูกค้า นับเป็นสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับผู้ประกอบการ” คุณแพร กล่าว