เปิดใจผู้ปลุกปั้น “ลูกชิ้นทิพย์” ลูกชิ้นปิ้งร้อยล้าน ผ่านมาแล้วสารพัดอาชีพ กว่าจะเจอ “ทางที่ใช่”

“ลูกชิ้นปิ้ง” ของกินริมทาง สุดแสนจะคุ้นเคย เห็นขายกันตามรถเข็นบ้าง หน้าร้านก๋วยเตี๋ยวบ้าง

ส่วนราคาจำหน่ายทุกวันนี้ ไม้ละไม่เกิน 5 -10 บาท

แต่คงเพราะเป็นอาหารทานง่าย ถูกปากทุกเพศ ทุกวัย

จึงส่งผลให้ “ลูกชิ้นปิ้ง”กลายเป็นเมนูแพร่หลาย ที่มีทั้งคนขายและคนทานกัน…จำนวนมาก

ทั้งนี้มีข้อมูล “น่าทึ่ง” แทบไม่น่าเชื่อ เปิดเผยมาว่า

“ลูกชิ้นทิพย์” แบรนด์ดัง ซึ่งเป็นเจ้าตลาดลูกชิ้นหมูปิ้ง “เบอร์หนึ่ง”ของบ้านเราอยู่เวลานี้  มีกำลังการผลิตอยู่ที่ 10-15 ตัน ต่อวัน หรือราววันละ 7 แสนไม้

ส่วนยอดขายเฉลี่ยแล้วอยู่ที่เดือนละ 60-70 ล้านบาท  โดยปี 2559 ที่ผ่านมา ตัวเลขรายรับทั้งหมดรวมแล้วประมาณ 600 ล้านบาท

และคาดการณ์ว่าปี 2560  นี้ จะทำยดอขายได้ถึง 800 ล้านบาทกันเลยทีเดียว

เจ้าของฉายา…เจ๊ยี้

ไม่ได้มาเพราะโชคช่วย

ช่วงบ่ายของวันทำงาน เจ้าของกิจการ  เปิดออฟฟิศในโรงงานผลิต “ลูกชิ้นทิพย์”ซึ่งตั้งอยู่บนที่ดินกว่า 4 ไร่ ในพื้นที่อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม ใช้เป็นสถานที่พูดคุยกัน

เริ่มต้นทักทายด้วยใบหน้ายิ้มแย้มใจดี

“มีคนตั้งฉายาให้ว่า เจ๊ยี้ …คือ เวลาติดต่อธุรกิจกันแล้วจะจู้จี้เรื่องคุณภาพมาก  อย่างเนื้อหมูถ้าไม่ได้มาตรฐานตามที่ตกลงกัน ไม่รับเลย  คู่ค้าเลยว่าลัหลังว่าเรื่องมาก แต่การที่เรื่องมากนี้ เพราะเราอยากให้ลูกค้าได้ทานของดีๆ”คุณศราลี  พรอำนวย กรรมการผู้จัดการ บริษัท พงษ์-ศรา ดิสทิบิวชั่น จำกัด เจ้าของผลิตภัณฑ์ ลูกชิ้นหมูปิ้ง ตรา “ลูกชิ้นทิพย์” เล่าน้ำเสียงร่าเริง

ก่อนย้อนเรื่องราวของตัวเองกว่าจะมาถึงวันนี้  วันที่มีโรงงานผลิตลูกชิ้นปิ้ง มูลค่าเกือบสองร้อยล้านบาท ให้ฟัง ปัจจุบันอายุ 55 ปี มีพื้นเพเป็นคนอำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี อาชีพดั้งเดิมของคุณพ่อ-คุณแม่ คือ ทำไร่อ้อยส่งโรงงานน้ำตาลทราย แต่ตัวเธอเองไม่มีโอกาสช่วยมากนัก เพราะอายุยังน้อย

พอโตขึ้นมาหน่อยถูกส่งเข้ามาเรียนในกรุงเทพฯ หลังจบพาณิชย์ด้านบัญชี ไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง แต่ไม่ทันได้รับปริญญา ออกมามีครอบครัวเสียก่อน ตั้งแต่อายุได้ประมาณ 21 ปี

“คุณแม่เสียตั้งแต่ยังเรียนไม่จบ คุณพ่อไปมีครอบครัวใหม่ พี่น้อง 6 คน จึงเหมือนแพแตก ตัวเองจากที่เป็นเด็กไม่เอาการเอางานเท่าไหร่ ดีแต่เที่ยวเล่นไปตามประสา พอเห็นน้องๆลำบาก เลยคิดอยากทำมาหากินเพื่อหาเงินมาจุนเจือกัน”คุณศราลี เล่าอดีต แววตาหม่น

เมื่ออยู่กินกับคุณพงษ์ศักดิ์ พรอำนวย ผู้เป็นสามีแล้ว คุณศราลี จึงเริ่มต้นอาชีพค้าขายอย่างแรก คือ เปิดแผงเนื้อหมูสด ที่ตลาดดาวคะนอง ซึ่งเป็นธุรกิจดั้งเดิมของครอบครัวคู่ชีวิตของเธออยู่แล้ว แต่ทำได้สามปีเศษมีอันต้องเลิก เพราะคุณแม่ของสามีเริ่มมีอายุมากขึ้น จึงอยากให้สะใภ้มาช่วยดูแล

แต่ด้วยเป็นคนกระตือรือร้นไม่อยู่เฉย พอเลิกขายอาชีพหมูสดแล้ว คุณศราลี หันมาทำงานอีกสารพัด ทั้งรับจ้างซักรีดเสื้อผ้า เปิดโต๊ะสนุ๊กฯ ขายเสื้อผ้าสำเร็จรูปตามตลาดนัด ซึ่งอาชีพหลังนี้ น่าจะเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้เธอและสามี พอมีทุน “ลืมตา อ้าปาก”ได้

“ชอบค้าขาย แต่ไม่มีทุนรอนมากมาย อะไรที่พอทำได้ก็ทำไปก่อน เห็นใครทำอะไรดีก็อยากทำบ้าง อย่าง ตอนขายเสื้อผ้า จะไปรับมาจากย่านประตูน้ำหรือสวนจตุจักร  ก่อนใส่รถตระเวนไปกับสามีสองคน เปิดแผงขายตามตลาดต่างจังหวัด อย่าง สุพรรณฯ อ่างทอง กำไรเหลือครึ่งๆ จึงทำให้พอมีทุนคิดขยับขยายทำอย่างอื่น”คุณศราลี เล่าความหลังเมื่อราวยี่สิบกว่าปีที่ผ่านมา

ทำแล้วสารพัดอาชีพ

ปี 2548 ลงตัวที่ลูกชิ้นปิ้ง

พักจิบกาแฟร้อน คั่นบทสนทนาครู่หนึ่ง คุณศราลี จึงย้อนความทรงจำให้ฟังต่อว่า หลังขายปลีกเสื้อผ้าอยู่ 3 ปี มีเงินอยู่ก้อนหนึ่ง เริ่มอยากเป็นผู้ผลิตเองบ้าง จึงลงทุนทำเสื้อผ้าสำเร็จรูปออกขาย แต่ด้วยความที่ไม่มีประสบการณ์ ทำให้เสียหายไปไม่น้อย ประกอบกับช่วงเวลานั้นเกิดปัญหาภายในครอบครัว จึงต้องย้ายที่พำนักไปอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่

ช่วงอยู่ที่เชียงใหม่นี้ มีอาชีพใหม่เกิดขึ้นอีก คือ ขายเครปญี่ปุ่น ทำเลในห้างสรรพสินค้า ซึ่งเครปดังว่านั้นเป็นสูตรที่ได้มาจากการอ่านหนังสือและคำแนะนำจากหลานสาว ปรากฎขายดีมาก แต่ด้วยความที่คุมลูกน้องไม่เป็น จึงโดนโกง สุดท้ายเลยตัดสินใจขายกิจการ และย้ายถิ่นฐานอีกครั้งไปอาศัยอยู่กับญาติที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

“ตอนย้ายไปอยู่หาดใหญ่ ยังทำกิจการเครปอยู่ แต่คราวนี้ขายเป็นผงแป้ง ขายบรรจุภัณฑ์ ขายเครื่อง ให้คนรับไปจำหน่ายต่อเอง ชื่อแบรนด์ว่ามิสเตอร์เครป ใช้เวลาไม่นาน สินค้าแพร่หลายไปทั่วภาคใต้ แต่เครป เป็นเหมือนสินค้าแฟชั่น มาเร็วไปเร็ว พอคนเริ่มเบื่อ ยอดขายตก เลยกลับมาหาอยู่หากินที่กรุงเทพฯ”คุณศราลี เล่าอย่างนั้น

อย่างที่เกริ่นไว้ เธอเป็นคนขยันและมีใจรักการค้าขาย เมื่อกลับมาอยู่กรุงเทพฯได้ไม่นาน ก็เริ่มต้นกิจการใหม่อีกครั้ง ซึ่งยังวนเวียนอยู่กับ “ของกิน” แต่คราวนี้เป็น ไอศกรีมกะทิสด ใส่เครื่องแบบโบราณ อย่าง ลูกชิด มัน ข้าวเหนียว ฯลฯ ให้ชื่อกิจการนี้ว่า “ไอศกรีมทิพย์สุคนธ์” โดยทำเลที่ยึดไว้ตั้งแต่ต้นคือ ขายในห้างฯ

คุณศราลี เล่าให้ฟังต่อ ไอศกรีมในแบบของเธอ ขายดีแค่ในช่วงแรก แต่ผ่านไปแค่ไม่กี่เดือน ร้านสาขาในห้างฯแห่งหนึ่ง ยอดขายตกอย่างเห็นได้ชัด จากที่เคยขายได้วันละไม่ต่ำกว่าสามพันบาท กลับเหลือแค่พันกว่าบาท ตอนแรกคิดในใจ คงโดนโกงอีกแล้วกระมัง

กระทั่งเด็กที่ร้านบอก มีร้าน “ลูกชิ้นปิ้ง” มาเปิดขายใกล้ๆ วันนึงเขาขายได้หลักหมื่นบาทเลย ไม่เชื่อเจ๊มาดูเอง

“พอไปสังเกตและประเมินจากประสบการณ์ เห็นคนปิ้งหนึ่งคน คนเสียบลูกชิ้นหนึ่งคน ทำไม่หยุดมือ  ขายไม้ละสิบบาท คนซื้อยืนกิน แถมซื้อกลับบ้านอีก นั่นเองที่เป็นจุดเริ่ม ทำให้ตัดสินใจหันมาขายลูกชิ้นปิ้ง”คุณศราลี เผยประสบการณ์ครั้งนั้น

ราวปี 2548 ซึ่งเป็นการเปิดศักราชของกิจการ “ลูกชิ้นทิพย์” นั้น รูปแบบการดำเนินธุรจยังเป็นแบบ “รับซื้อ”ลูกชิ้นมาจากโรงงานผลิต ก่อนนำไปตั้งเตาปิ้งเอง ที่ห้างดังย่านบางบอน เป็นสาขาแรก ซึ่งผลประกอบการดีมาก จึงมีการขยายสาขาไปตามห้างต่างๆอีกนับสิบจุด ยอดขายดีกว่าไอศกรีมหลายเท่าตัว เลยตัดสินใจคงกิจการลูกชิ้นปิ้งไว้เพียงอย่างเดียว

 ลงทุนโรงงาน 200 ล้าน

ไม่กู้แบงก์แม้แต่บาทเดียว

ขายลูกชิ้นปิ้งแบบที่รับมาจากโรงงานผลิต ได้ปีเศษ เริ่มมีคนมาขอซื้อลูกชิ้นต่อไปขายบ้าง ซึ่งจะต้องเป็นการซื้อขายกันแบบ “ขายส่ง”จำนวนมาก แต่เนื่องจากช่วงเวลานั้น เธอยังไม่มีโรงงานผลิตลูกชิ้นเป็นของตัวเอง การจะไปขายส่งให้คนอื่นอีกทอด คงไม่ได้กำรี้กำไรอะไร

เหตุการณ์ครั้งนี้นับเป็น “จุดเปลี่ยน”สำคัญ ทำให้นักธุรกิจสาวและสามี ตัดสินใจช่วยกันคิดค้นสูตรการทำลูกชิ้นในแบบของตัวเอง

“สูตรทำลูกชิ้นอร่อยๆ ไม่ใช่ง่ายนะ ลองถูกลองผิดอยู่ประมาณสองปี แต่ไม่ได้ทำทุกวัน เหนื่อยก็พัก   พอหมดทิศหมดทางก็หยุด แต่วันไหนเกิดไอเดียก็เริ่มต้นใหม่  จนลูกน้องเห็นหน้าเมื่อไหร่ ต้องถอยหนีหมด เพราะกลัวจะเรียกให้ชิมลูกชิ้น เพราะตัวเองชิมคนเดียว จนไม่รู้รส ลิ้นชาไปหมดแล้ว”คุณศราลี เล่าวันวาน ก่อนหัวเราะร่วน เหมือนยังจำเหตุการณ์ได้ดี

แต่แล้ว “ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น” คงเป็นตรรกะใช้ได้กับเจ้าของเรื่องราวครั้งนี้ เพราะเมื่อเธอและสามี สามารถคิดค้นสูตรเพื่อใช้ในการผลิตลูกชิ้น เป็นที่พอใจแล้ว จึงตัดสินใจลงทุนครั้งใหญ่ ซื้ออาคารพาณิชย์ 2 คูหา ในซอยเพชรเกษม 69 ย่านบางแค เปิดโรงงานผลิตลูกชิ้นหมูของตัวเอง มีคนงานเริ่มต้นราวสิบกว่าคน

ใช้เวลาไม่นาน โรงงานผลิตลูกชิ้นสองคูหาเริ่มคับแคบ เพราะต้องผลิตทั้งงส่งร้านตัวเองและขายส่งให้กับคู่ค้าอีกหลายราย ผนวกกับได้พื้นที่ขายในห้างเพิ่มเข้ามาอีก คุณศราลี จึงตัดสินใจซื้อที่ดินขนาดกว่า 3 ไร่ หลังโรงงาน ขยายอาคารผลิตออกไปอีก

แต่ธุรกิจก็ยังไม่หยุดเติบโต จึงตัดสินใจย้ายฐานการผลิตทั้งหมดมาลงบนที่ดินเกือบ 5 ไร่ ในพื้นที่อำเภอสามพราน ซึ่งเป็นที่ตั้งในปัจจุบัน ก่อนทำการก่อสร้างโรงงานให้ได้มาตรฐานในทุกระบบ ลงเครื่องจักรทันสมัย เพื่อรองรับการขยายตัวที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต  มีคนงานในความดูแลกว่าหนึ่งร้อยคน ใช้เงินลงไปกว่า 200 ล้าน โดยไม่ได้กู้สถาบันการเงินมาลงแม้แต่บาทเดียว

“ตอนเริ่มก่อสร้างโรงงาน มีชาวบ้านชุมชนในละแวกมาสอบถามกันหลายราย ว่าทำลูกชิ้นส่งออกเหรอ น้องๆก็บอกไป ไม่ได้ส่งออก ขายในบ้านเรานี่แหละ ไม้ละ 5 บาท หลายคนเลยแปลกใจ ลงทุนขนาดนี้จะคุ้มเหรอ  จึงต้องอธิบายว่าเราทำด้วยใจ ส่วนกำไรเป็นเรื่องรอง ความสุขของการทำธุรกิจ คือ ผู้บริโภคได้ทานของดี ไม่แพง”คุณศราลี บอกยิ้มๆทิ้งท้าย

ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ “ลูกชิ้นทิพย์” ลูกชิ้นหมูปิ้งขายปลีก ไม้ละ 5- 10  บาท มีหน้าร้านกระจายอยู่ตามห้างสรรพสินค้าและปั๊มน้ำมันทั่วประเทศ

ส่วนลูกค้าที่ต้องการซื้อจำนวนมากรูปแบบการขายส่ง ก็มีให้เลือก รวมทั้งการลงทุนแบบแฟรนไชส์ ซึ่งสามารถเลือกระดับการลงทุนได้ ระหว่าง 6,900 -29,900 บาท

สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทรศัพท์ 02-808-7575 ต่อ 111-118 Facebook/ลูกชิ้นทิพย์ และเว็บไซต์ www.lookchinthip.com