ตำนานอาชีพ “กะทิชาวเกาะ” เริ่มวันละ 1 พันลูก สู่ยอดการผลิต 6-7 แสนลูก/วัน

เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม ที่ผ่านมา นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน เครือมติชน จัดสัมมนา “มะพร้าวพืชเศรษฐกิจ ทำเงิน” ที่ห้องประชุม หนังสือพิมพ์ข่าวสด มีผู้ให้ความสนใจค่อนข้างมาก อีกทั้งเป็นการรวมตัวกันของคนในแวดวงมะพร้าว ตั้งแต่สเกลเล็กๆ ไปถึงระดับยักษ์ใหญ่ อย่าง กะทิชาวเกาะ ที่มี คุณเกียรติศักดิ์ เทพผดุงพร กรรมการบริหารบริษัท ให้เกียรติเป็นวิทยากรบนเวทีสัมมนา

“เส้นทางเศรษฐีออนไลน์” เห็นว่า บางส่วนจากงานสัมมนา และจากการสัมภาษณ์เพิ่มเติมคุณเกียรติ น่าจะมีประโยชน์สำหรับผู้อ่าน ที่สนใจเรื่องราวทางธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจที่เริ่มต้น จากเล็กๆ แต่ปัจจุบันขยายออกไปได้ใหญ่โต  ในเวลา 40 ปีที่ผ่านมา กะทิชาวเกาะเริ่มจากยอดการผลิตเพียง 1,000 ลูกต่อวัน แต่ปัจจุบัน เพิ่มเป็น 6-7 แสนลูกต่อวัน ไม่รวมมะพร้าวอ่อนอีกนับหมื่นผล โดยทั้งหมดส่งจำหน่ายในประเทศและอีก 40-50 ประเทศทั่วโลก

คุณเกียรติศักดิ์ เล่าให้ฟังถึง จุดเริ่มต้นของธุรกิจ กะทิชาวเกาะว่า  เริ่มมาตั้งแต่ราวปี 2520 เป็นธุรกิจครอบครัว ขายมะพร้าวลูก รับมะพร้าวมาจากทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นหลัก ชื่อของร้านเดิมคือ “อุดมมะพร้าว” ตั้งอยู่ท่าเตียน  ขนส่งโดยรถสิบล้อ มะพร้าวบางส่วนมาจากสมุย ทางเรือ ขึ้นที่ท่าเรือทรงวาด

หลังจากขายมะพร้าวลูก ไปพักใหญ่ ด้วยปัญหาการจัดส่งสินค้า รถราเริ่มติด จึงพัฒนามาสู่ กะทิถุงชาวเกาะ ใช้วิธีการฆ่าเชื้อระบบพาสเจอร์ไรซ์ มีอายุเก็บรักษา 30 วัน แต่ต้องแช่น้ำแข็ง ซึ่งสมัยนั้น กะทิถุง กว่าจะได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคภาคครัวเรือน ก็ใช้ต้องใช้เวลานับ 10 ปีด้วยการยึดติดกับของเดิมที่ว่า  ต้องคั้นเอง ขูดเอง  แต่เมื่อโลกเปลี่ยนไป คนรุ่นใหม่เกิดขึ้นมา อีกทั้งราคามะพร้าวขึ้นๆ ลงๆ ทำให้ปัจจุบัน กะทิสำเร็จรูป ได้รับความนิยมมากขึ้น ความเชื่อเดิมๆหมดไป กระทั่งแทบจะหาคนขูดและคั้นกะทิเองได้น้อยเต็มที

“ช่วงแรกเราไปฝากวางขายในตลาดสด เราจัดหาน้ำแข็งให้ แต่ปรากฏว่า แม่ค้าพ่อค้า พอขายไม่ได้ ก็ปล่อยของเราเสีย ถุงกะทิบวมเป่ง  ซึ่งเราใช้เวลานับ 10 ปีกว่าจะผ่านมาได้” คุณเกียรติศักดิ์ ว่าอย่างนั้น

ระหว่างที่ ตลาดค้าปลีกยังไม่ได้รับการยอมรับ คุณเกียรติศักดิ์ เล่าว่า กะทิชาวเกาะถูกป้อนให้โรงงานอุตสาหกรรม ทั้งไอศกรีม อาหารสำเร็จรูปต่างๆ รวมทั้ง ร้านอาหารไทยในต่างประเทศ

รูปจาก เพจ chaokoh

จากมะพร้าวกะทิถุง มาสู่มะพร้าวกะทิกระป๋อง ที่ฆ่าเชื้อด้วยระบบสเตอริไรซ์ อายุการเก็บ 3 ปี ไม่ใช้วัตถุกันเสีย ทุกวันนี้ มียอดการผลิต 3-4 แสนกระป๋อง ส่งออกราว 90 เปอร์เซ็นต์

“ร้านอาหารไทยในต่างประเทศ ทั่วโลก ปัจจุบันมีอยู่ราว 20,000 ร้าน ซึ่งเจ้าของอาจจะเป็นคนไทย หรือคนต่างชาติก็ได้ ให้การยอมรับกะทิสำเร็จรูปเกือบจะทั้งหมด ดังนั้นเราจึงได้ตลาดตรงนี้อีกปริมาณมหาศาล”

นอกจากนี้ ยังแตกไลน์การผลิต ไปสู่กะทิระบบ ยูเอชที ฆ่าเชื้อด้วยความร้อน 130 องศาเซลเซียส รวมทั้ง การผลิต กะทิดื่ม

“ กระทิดื่ม  ใครที่เคยไปจีน จะรู้ว่า เดิมคนจนไม่รู้จักน้ำมะพร้าว เค้าดื่มแต่กะทิ  ไขมันต่ำ 2 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเราก็พัฒนาผลิตภัณฑ์ ใส่มะม่วง ใส่ทุเรียน ตามพฤติกรรมผู้บริโภคที่ชื่นชอบผลไม้ไทย” คุณเกียรติศักดิ์ เล่าให้ฟัง

รูปจาก เพจ chaokoh

ปัจจุบัน อุตสาหกรรมอาหาร ที่เริ่มต้นจากกะทิชาวเกาะ แตกไลน์การผลิตไปอีกหลายชนิดทั้ง โคโคนัทชิฟ  เวอร์จินออย  น้ำมันมะพร้าว  น้ำมะพร้าว วุ้นมะพร้าว ฯลฯ

“เราผลิตน้ำมะพร้าวด้วย รับซื้อมะพร้าวจากเกษตรกร แต่มีบางราย อยากมีรายได้เพิ่ม แอบเติมน้ำ เติมน้ำตาล มาส่งให้เรา ซึ่งเราก็ต้องขึ้นแบล็คลิสต์ไว้” คุณเกียรติศักดิ์ เล่าถึงสิ่งที่พบในวงการนี้ ซึ่งเขาว่าการทำเช่นกัน ทำให้การค้าขายระหว่างกันไม่ยั่งยืน

และนี่เป็นเรื่องราวแต่เพียงบางส่วน ที่กล่าวได้ว่า เป็นตำนานทางธุรกิจของคนไทย ด้วยว่า  40 ปีที่ผ่านมา  นักธุรกิจครอบครัว “เทพผดุงพร” ได้สร้างอาณาจักรทางธุรกิจขึ้นมาอย่างโดดเด่น แข็งแกร่ง ที่น่าศึกษาและเรียนรู้เป็นอย่างยิ่ง