สินค้า “ช่วยหลับ”มาแรง คนมีปัญหาเรื่องการนอนยอมจ่ายให้ไม่อั้น

เรื่องง่ายๆ อย่างการนอนหลับอาจกลายเป็นสิ่งที่ยากเย็นสำหรับหลายๆ คน ซึ่งกำลังเผชิญปัญหานอนไม่หลับ หรือหลับไม่สนิท

ปัญหาเรื่องการนอนกำลังเป็นภัยเงียบของสังคม เพราะหากนอนไร้คุณภาพแบบเรื้อรังก็อาจสร้างปัญหาต่อสุขภาพ รวมถึงส่งผลต่อประสิทธิภาพในการทำงาน

บริษัทต่างๆ จึงพากันคิดค้นผลิตภัณฑ์ช่วยนอนหลับออกมาหลากหลายรูปแบบ เพื่อหวังตอบโจทย์ลูกค้าที่ปรารถนาการนอนหลับสนิทตลอดค่ำคืน

ก่อนหน้านี้ บริษัทค้าปลีกชื่อดังอย่าง “เบสต์ บาย” ก็พยายามเจาะตลาดนี้ โดยนำเสนอสินค้าไอเดียเรียบง่าย เช่น หลอดไฟที่ออกแบบมาเพื่อช่วยให้ผู้บริโภคนอนหลับง่ายขึ้น แต่ระยะหลังๆ บริษัทเริ่มหันมาใช้เทคโนโลยีเข้าช่วย เพราะแม้จะต้องควักเงินก้อนโต ผู้คนก็พร้อมควักเพื่อแลกกับการนอนที่ดีขึ้น

“เอพี” รายงานว่า ปัจจุบัน บริษัทต่างๆ พึ่งพาเทคโนโลยีในการผลิตสินค้าช่วยนอนหลับมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นหมอนที่สามารถตรวจจับข้อมูลการนอนได้ หรือเตียงที่สามารถปรับให้รองรับท่านอนของแต่ละบุคคล แต่ก็ใช่ว่าความไฮเทคเหล่านี้จะช่วยแก้ปัญหาได้ทั้งหมด

“มาเรียน ซัลสแมน” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของฮาวาส พีอาร์ นอร์ท อเมริกา ระบุว่า ผู้คนให้ความสนใจกับเรื่องการนอนมากขึ้น เห็นได้จากจำนวนศูนย์ให้คำปรึกษาด้านการนอนที่ได้รับอนุญาตจากสมาคมเวชศาสตร์การนอนหลับของสหรัฐ เพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่า ระหว่างปี 2543-2558

นอกจากนี้ ผู้คนยังมีแนวโน้มที่จะคุยโวเกี่ยวกับการควักเงินจำนวนมากในการซื้อที่นอน แทนที่จะอวดเสื้อผ้า  แบรนด์ดังเหมือนในอดีต

“นี่สะท้อนว่า การนอนหลับกลายเป็นสัญลักษณ์แสดงสถานะทางสังคมแบบใหม่ไปแล้ว”

ในสหรัฐ การนอนหลับไม่เพียงพอเป็นปัญหาด้านสาธารณสุขที่รัฐบาลกังวล เพราะมีชาวอเมริกันวัยผู้ใหญ่กว่า 1 ใน 3 นอนหลับไม่เพียงพอเป็นประจำสม่ำเสมอ ซึ่งอาจนำไปสู่ปัญหาด้านสุขภาพ เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน

ผลการศึกษาของแรนด์ คอร์ป ระบุว่า ปัญหาการนอนส่งผลให้บริษัทอเมริกันสูญเสียทางการเงินราวๆ 4.11 แสนล้านดอลลาร์ในแต่ละปี

การหาทางออกของปัญหาเรื่องการนอน จึงสร้างโอกาสทางธุรกิจอย่างมหาศาลสำหรับผู้ประกอบการ อย่างเมื่อต้นปีที่ผ่านมา บริษัทเทคโนโลยีระดับโลก “แอปเปิล อิงค์” เพิ่งซื้อ “เบดดิต” (Beddit) บริษัทสัญชาติฟินแลนด์ที่พัฒนาแอพพลิเคชั่นและอุปกรณ์ตรวจจับเรื่องการนอนหลับ

อุปกรณ์ตรวจจับของเบดดิตจะปูไว้ด้านบนของที่นอน โดยจะมีเซ็นเซอร์ติดตามการนอน ตั้งแต่ผู้ใช้ล้มตัวลงนอน และวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ เช่น ระยะเวลาการนอนหลับก่อนที่จะตื่นขึ้น การเต้นของหัวใจ อุณหภูมิ การเคลื่อนไหว รวมถึงการกรน

“แอปเปิล” เป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์แอปเปิล วอตช์ นาฬิกาอัจฉริยะที่มีแอพพลิเคชั่นตรวจจับการทำกิจกรรมต่างๆ รวมถึงการนอน ซึ่งนี่ก็อาจเป็นการต่อยอดทางธุรกิจได้อีกทางหนึ่ง

“360 สมาร์ต เบด” ของบริษัทสลีป นัมเบอร์ ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของธุรกิจที่ร่วมกระแสพร้อมจ่ายแลกกับการนอนหลับสบาย

โดยที่นอนไฮเทครุ่นนี้สามารถปรับให้สอดคล้องกับผู้นอนในขณะที่หลับ มีสนนราคาอยู่ที่ 3,449-4,999 ดอลลาร์

ส่วน “ซี้ก” (Zeeq) หมอนช่วยตรวจจับการกรน ขับกล่อมเสียงดนตรี และสั่นเตือนเบาๆ ให้เปลี่ยนท่านอนเพื่อไม่ให้ปวดเมื่อย ก็วางขายในราคา 299 ดอลลาร์

“แฟรงค์ ไรบิตช์” หนึ่งในผู้ใช้ผลิตภัณฑ์ไฮเทคเหล่านี้ บอกว่า เขาพร้อมจ่ายเงินมากขึ้นกับการซื้อเทคโนโลยีช่วยนอนหลับ เพราะหวังว่าจะสามารถนอนหลับได้เร็วขึ้น หลับสนิทต่อเนื่องยาวนาน และได้พักจริงๆ

 

แต่ “คลีต เอ. คุชิดะ” ผู้อำนวยการด้านประสาทวิทยา ศูนย์เวชศาสตร์การนอนหลับสแตนฟอร์ด ที่ได้ทดสอบการรักษาและบำบัดเรื่องการนอนหลับรูปแบบใหม่ๆ ในช่วงกว่า 2 ปีที่ผ่านมา รวมถึงอุปกรณ์สวมใส่ไฮเทค พบว่า อุปกรณ์สวมใส่ต่างๆ ยังไม่สามารถตรวจวัดระดับการนอนหลับได้อย่างถูกต้อง เพราะยังโฟกัสที่การเคลื่อนไหว ซึ่งไม่ได้ตอบโจทย์เรื่องการนอนหลับ จึงอาจต้องใช้เวลาพัฒนาอีกราว 5-10 ปี

 นอกเหนือจากอุปกรณ์ไฮเทคแล้ว ยังมีผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่เป็นทางเลือกสำหรับผู้ที่มีปัญหาการนอน ไม่ว่าจะเป็น “ไนติงเกล สลีป ซิสเต็ม” สำหรับสร้างสรรค์เสียงที่ทำให้นอนดีขึ้น หรือระบบไฟของฟิลิปส์ ที่ผู้ใช้เลือกโทนสีและความสว่าง รวมทั้งตั้งเวลาปิด ส่วน “เซ็นเซอร์เวก” ใช้การสร้างสรรค์กลิ่นที่ช่วยการนอนหลับ

 

ที่มาภาพ : เว็บไซต์