ซีอีโอหนุ่มไฟแรง กล้าคิดต่าง สร้างโมเดลท่องเที่ยวยั่งยืน ทัวร์ลิสต์แห่จองคิวข้ามปี!

“การท่องเที่ยวในแบบของ Local  Alike คือ การจัดทัวร์ที่ประสานความร่วมมือให้ชาวบ้านได้มีส่วนร่วมในการออกแบบทริปและนำเที่ยวเองภายในแต่ละชุมชน มุ่งเป้าไปที่กลุ่มนักท่องเที่ยวทั้งแบบองค์กรและแบบส่วนตัวที่แสวงหาประสบการณ์คุณภาพจากการท่องเที่ยวในเชิงวัฒนธรรมและวิถีชีวิต”

ข้อความข้างต้น คือ นิยามของกิจการธุรกิจท่องเที่ยวแนวใหม่ ภายใต้ชื่อ Local Alike (โลคอล อ ไลค์) มีชายหนุ่มอัธยาศัยดี ชื่อว่า “ไผ-สมศักดิ์ บุญคำ” เป็นผู้ก่อตั้ง

“ปัจจุบันอายุ 34 ปี ธุรกิจโลคอล อไลค์ นี้ เริ่มต้นมาตั้งแต่ 6 ปีที่แล้วครับ”คุณไผ เริ่มต้นอย่างนั้น

ก่อนแนะนำตัวให้รู้จักมากขึ้น เป็นลูกชายคนโตของครอบครัว พื้นเพเป็นชาวอำเภอโพธิ์ชัย จังหวัดร้อยเอ็ด จบปริญญาตรีจากคณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม สาขาวิชาปิโตรเคมีและวัสดุโพลีเมอร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และปริญญาโทบริหารธุรกิจ  สาขาบริหารธุรกิจแบบยั่งยืน ที่ซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา

ช่วงจบปริญญาตรีใหม่ๆ มีโอกาสข้ามน้ำข้ามทะเลไปทำงานที่เมืองโคโลญจน์ ประเทศเยอรมนี เป็นเวลาหนึ่งปี จากนั้นจึงย้ายกลับมาประจำโรงงานในเมืองไทย ตำแห่งหัวหน้าฝ่ายผลิตต่ออีก 3 ปี

“ตอนเรียนจบเป็นจังหวะที่บริษัทอยากย้ายฐานการผลิตพอดี แล้วเขาต้องการวิศวกรจบใหม่ที่ไม่มีประสบการณ์ และอาจเป็นด้วยโชคด้วยที่ภาษาอังกฤษผมค่อนข้างดี พอมีการคัดเลือกวิศวกรจบใหม่จากมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ เขาต้องการ 5 คน ผมได้รับมอบหมายให้เป็นหัวหน้าทีม เพราะภาษาอังกฤษดีกว่าเพื่อน”คุณไผ ย้อนความทรงจำ

ก่อนบอก ชอบเรียนภาษาอังกฤษมาตั้งแต่สมัยมัธยมฯที่เรียนจบมาจากจังหวัดจันทบุรี

“ย้ายจากร้อยเอ็ดไปเรียนที่จันทบุรี ตอนอายุได้ 10 ขวบ ส่วนพ่อแม่ ยังทำงานรับจ้างอยู่ที่บ้านเกิด ที่ต้องไปเรียนหนังสือที่อื่น คงเพราะหมู่บ้านที่อยู่ค่อนข้างห่างไกลความเจริญ ตอนเด็กๆผมต้องเดินเท้านานเกือบสองชั่วโมงเพื่อไปโรงเรียน

พอโตขึ้นหน่อย พ่อแม่เริ่มรู้สึกว่าถ้าลูกไม่อยากไปเรียนเพราะโรงเรียนมันไกล ต่อไปอนาคตคงเหมือนกับพ่อแม่ที่ได้เรียนน้อยจบแค่ ป.4  สุดท้ายต้องมาทำอาชีพรับจ้าง เลยตัดสินใจส่งผมไปที่จันทบุรี   อาศัยอยู่กับญาติที่รับจ้างทำสวนผลไม้อยู่และให้เรียนหนังสือไปด้วย”คุณไผ เล่าอดีตเสียงเรียบ

ก่อนย้อนความทรงจำให้ฟังอีกว่า ทำงานเป็นหัวหน้าฝ่ายผลิตในฐานะวิศวกรฯได้ราว 4 ปี เกิดความคิดอยาก “เปลี่ยนสายงาน” เพราะเกิด “คำถาม” รบกวนจิตใจตัวเองมาระยะหนึ่งแล้ว

“ทำงานโรงงาน สร้างรายได้หลายร้อยล้านบาทต่อปี แต่มีคนได้ประโยชน์แค่ 4-5 เจ้า ช่วงสองปีหลังของการทำงานเริ่มรู้สึกว่างานที่ทำไม่ตอบโจทย์  เกิดความคิดว่าตัวเองน่าจะทำอะไรได้ดีกว่านี้ และอาจถึงเวลาต้องเปลี่ยนแล้ว”คุณไผ บอกอย่างนั้น

และว่า งานสายโรงงานที่เขาทำอยู่ในเวลานั้นสามารถตอบโจทย์ความต้องการลูกค้าแค่ไม่กี่บริษัท ขณะที่ประชาชนในประเทศนี้ ยังมี “คนพื้นฐาน”แบบเขาอีกเป็นจำนวนมาก การที่เขากว่าจะก้าวมาถึงจุดที่เรียนจบปริญญาตรี มีเงินเดือนสูงๆไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องต่อสู้อะไรมาเยอะแยะ จึงคิดว่าน่าจะทำงานบางอย่างที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้บ้าง

คุณไผ เล่าต่อ ก่อนหน้านี้ เคยศึกษาโมเดล “ธนาคารเพื่อคนจน” ของประเทศบังกลาเทศ  จึงเกิดความคิดอยากทำงานกับ “กิจการเพื่อสังคม”  แต่ไม่รู้จะไปช่องทางไหน เนื่องจากตัวเขาจบวิศวฯ และทำงานในโรงงานมาตลอด หากไปสมัครคงไม่มีที่ไหนรับ เลยตัดสินใจใช้ทุนรอนส่วนตัว เดินทางไปศึกษาต่อระดับปริญญาโท ด้านการบริหารธุรกิจแบบยั่งยืน ที่สหรัฐอเมริกา

“ช่วงสองปีหลัง เงินเดือนผมเกือบแสนบาท ก่อนลาออกจากงาน จึงเก็บเงินได้เยอะพอสมควร หาสามารถซื้อที่นาให้พ่อแม่ได้แล้ว เลยบินไปเรียนต่อเพื่อหวังกลับมาทำงานในแบบที่ตั้งใจ ซึ่งพ่อสนับสนุน แต่แม่มีคำถามบ้างว่าลาออกทำไม”คุณไผ เล่ายิ้มๆ

ใช้เวลาสามปีเศษ หอบดีกรีเอ็มบีเอกลับบ้านเกิดสมความตั้งใจ พร้อมเดินหน้าต่อด้วยการขอเข้าฝึกงานกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง

“อยากทำงานโครงการดอยตุงตั้งแต่ก่อนไปเรียนต่อโทแล้ว  อยากรู้ว่าสมเด็จย่า ท่านทรงทำงานยังไง ที่ให้ชาวดอย เปลี่ยนจากปลูกฝิ่นมาปลูกกาแฟ ซึ่งปกติเขารับเฉพาะคนจบปริญญาตรี แต่สุดท้ายได้โอกาส จึงไปทำงานเชียงรายเกือบสามเดือน งานที่เลือกทำตอนนั้น คือ พัฒนาธุรกิจโฮมสเตย์ให้กับชาวเขา”คุณไผ บอกถึงจุดเริ่มการทำงานในองค์กรเพื่อสังคม

หลังจากฝึกงานสามเดือนจึงได้รับการบรรจุเข้าทำงานในมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงเต็มตัว โดยเขาขอรับเงินเดือนที่น้อยลง เพราะอยากทำเรื่องการท่องเที่ยวควบคู่ไปด้วย

เก็บเกี่ยวประสบการณ์ ใช้เวลาหนึ่งปีเต็มในมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง กระทั่งมั่นใจว่า ธุรกิจท่องเที่ยวแนวใหม่ในแบบของเขา น่าจะเริ่มต้นได้แล้ว

“เลือกทำธุรกิจเพื่อสังคมเกี่ยวกับการท่องเที่ยว เพราะมองว่าการท่องเที่ยวเป็นโอกาสหนึ่งของเมืองไทย รายได้แต่ละปีมีมหาศาล จีดีพีอยู่อันดับสามของประเทศ ซึ่งเม็ดเงินสะพัดเยอะมาก อยู่ที่ว่าจะมองเห็นโอกาสในการใช้เงินก้อนนั้นมาพัฒนาชุมชนได้ยังไง

และตอนเริ่มทำเมื่อ 6 ปีที่แล้ว การท่องเที่ยวโดยชุมชนมักถูกใช้ในมุมมองของการพัฒนา แต่การตลาดยังเข้าไม่ถึง ฉะนั้นจึงมีช่องโหว่อยู่ เลยอยากทำให้ชัดเจนขึ้นด้วยทักษะที่ตัวเองมี คิดว่าน่าจะช่วยท่องเที่ยวชุมชนให้ถึงตลาดจริงๆได้ซักที”คุณไผ เผยความตั้งใจ

และว่าการเริ่มต้นธุรกิจ Local  Alike ช่วงสองปีแรก เป็นแบบ “ออฟไลน์” โดยตัวเขาลงพื้นที่ศึกษาชุมชนหาข้อมูลในประเด็นต่างๆ เช่น เหตุใดประโยชน์จากการท่องเที่ยวถึงตกไปถึงชุมชนน้อยมาก การท่องเที่ยวกระแสหลักบ้านเราเป็นอย่างไร ฯลฯ เพื่อจะได้เข้าใจบริบทตลาดและชุมชนไปพร้อมกัน

“สองปีแรก ทำงานคนเดียวแบบไม่มีรายได้ พอย่างเข้าปีที่สามส่งแผนธุรกิจเข้าประกวด เพราะเราไม่ใช่บริษัททัวร์แต่ทำงานพัฒนาด้วย เราทำมาร์เก็ตเพลซซึ่งเป็นสตาร์ตอัพ เราทำกองทุนท่องเที่ยวเพราะอยากให้ชาวบ้านนำเงินไปแก้ปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมในชุมชนของเขา

ซึ่งธุรกิจแบบนี้ใช้เงินค่อนข้างเยอะ แต่พอไปคุยกับนักลงทุนไม่มีใครสนใจ และเกิดความเข้าใจผิดและติดภาพเดิมๆว่าเราเป็นบริษัททัวร์ แต่สิ่งที่เราทำนั้นเป็นกิจการเพื่อสังคม เป็นเอสเอ็มอีรูปแบบหนึ่งที่มีสตาร์ตอัพอยู่ในนั้น เลยคิดว่าไม่น่าเสียเวลากับกลุ่มทุน จึงตัดสินใจส่งแผนธุรกิจเข้าประกวดเลยดีกว่า”ผู้ก่อต้ง Local Alike เล่าออกรส

และแล้วความตั้งใจของเขาเมื่อครั้งนั้นก็บรรลุวัตถุประสงค์ เมื่อแผนธุรกิจของเขาได้รับรางวัลกลับมาพร้อมกับการสนับสนุนเป็นเงินทุนก้อนโต ถึงแม้จะใช้เม็ดเงินตั้งต้นทำธุรกิจจำนวนไม่น้อย แต่เขาสามารถนำพาธุรกิจเพื่อสังคมนี้ เข้าสู่ภาวะคืนทุนได้ตั้งแต่เมื่อสองปีที่แล้ว

“หลายคนอาจมองการท่องเที่ยวชุมชนแบบยั่งยืนนั้นเป็นตลาดนีช ซึ่งมันอาจจะนีชก็ได้ แต่เป็นนีชที่มีมูลค่าเป็นหลายร้อยล้านแต่ยังมองไม่เห็น ทำให้ยังขายทัวร์แบบทั่วไปกันอยู่ ซึ่งอาจขายง่าย แต่ทุกวันนี้นักท่องเที่ยวเริ่มเปลี่ยนมุมมองใหม่ พวกเขามองหารูปแบบที่ลึกซึ้งมากขึ้น”คุณไผ เผย

จากจุดเริ่ม หมู่บ้าหล่อโย จังหวัดเชียงราย ชุมชนแรกที่ ลคอล อไลค์ เข้าไปร่วมคิด ร่วมพัฒนาตั้งแต่เริ่มต้น จนปัจจุบันชุมชนเล็กๆแห่งนี้สามารถดูแลตัวเองได้แล้ว

“ทุกวันนี้เรามีชุมชนอยู่ในมือประมาณ 70 ชุมชน ส่วนใหญ่อยู่ทางภาคเหนือและอีสาน แบ่งเป็นชุมชนที่พัฒนาร่วมกันมาตั้งแต่ต้นกว่าสิบแห่ง ส่วนที่เหลือเป็นชุมชนที่ส่งต่อมาจากเอ็นจีโอบ้าง นักวิจัยตามมหาวิทยาลัยบ้าง ที่พวกเขาเคยทำงานพัฒนามาแล้วแต่ยังไม่มีช่องทางในการขาย เราจึงเข้าไปช่วยทำด้านทักษะการตลาดและการขายให้”คุณไผ บอกอย่างนั้น

สำหรับกลุ่มนักท่องเที่ยวซึ่งถือเป็นลูกค้าในธุรกิจแบบของเขานั้น แบ่งออกเป็น 3 ตลาด   คือ หนึ่ง ลูกค้าคนไทยเน้นกลุ่มลูกค้าองค์กร ปัจจุบันมีลูกค้าประจำอยู่ราว 45 บริษัทชั้นนำ สอง ตลาดเอเชีย มีทั้งรายบุคคล รายกลุ่ม  สิงคโปร์ มาเลเซีย เกาหลี ญี่ปุ่น ไต้หวัน ฮ่องกง ที่เข้าใจการท่องเที่ยวแนวนี้ และ สาม ตลาดสหรัฐอเมริกา ยุโรป ซึ่งเน้น เป็นรายบุคคล ส่วนใหญ่ติดต่อมาทางผ่านเว็บไซต์

จากจุดเริ่มแทบไม่มีใครสนใจ แต่ปัจจุบัน มีกลุ่มลูกค้าประจำแน่นอนจำนวนไม่น้อย บางรายแถมยังถึงขั้นจองคิวกันข้ามปี จัดว่าธุรกิจโลคอล อไลค์ ของชายหนุ่มเจ้าของเรื่องราวนี้ กำลัง “เนื้อหอม” เลยทีเดียว

“ภูมิใจและดีใจระดับหนึ่งที่ได้ทำงานส่งเสริมคนมีพื้นฐานแบบเดียวกัน โลคอล อไลค์ อยากเป็นองค์กรที่นำเสนอว่าการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนถ้าทำให้ดีจะเป็นประโยชน์มากต่อสังคมส่วนรวม แต่ตอนนี้คนยังมองข้าม คนส่วนใหญ่อยากได้ภาพความยั่งยืนแต่ยังทำกันแค่การตลาด ไม่ลงลึกเข้าไปในชุมชนจริงๆ แต่เราให้ความสำคัญเรื่องนั้นมาก อย่างไรก็ตามธุรกิจที่ทำก็ต้องมีกำไรเพื่อให้อยู่ได้ แต่เราขายเพื่อพัฒนา ไม่ได้ขายเพื่อกำไรสูงสุด”คุณไผ กล่าวจริงจัง

ก่อนฝากไว้ให้ช่วยกันคิด

“การท่องเที่ยวแบบยั่งยืน กำลังเป็นกระแสโลก  เหมือนกับการท่องเที่ยวกระแสหลักที่เข้ามาเมื่อหลายสิบปีก่อน  แต่ถ้าไม่อยากย้อนรอยแบบเดิม คือ  ปล่อยให้นายทุนเข้ามาลงทุนอะไรแบบไร้ทิศทาง คนไทยต้องลุกขึ้นมาช่วยกัน ชุมชนต้องทำเอง ไม่งั้นโรงแรม บริษัททัวร์ยักษ์ใหญ่ ก็จะเป็นแต่ของคนของต่างชาติ และผมเชื่อว่าคนไทยมีศักยภาพที่จะทำได้”

ใครที่อยากรู้เรื่องราวชีวิต หรือ ปรึกษาแนวคิดการทำธุรกิจท่องเที่ยวแบบยั่งยืน มาพบกับ “ไผ –โลคอล อไลค์”

ที่งานสัมนา “เปิดเส้นทาง SMEs 4.0 เศรษฐียุคดิจิตอล ใครว่ายาก” จัดโดย นิตยสารเส้นทางเศรษฐี วันที่ 29 สิงหาคม 2560 ตั้งเเต่เวลา 13.00- 17.00 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

ปาฐกถา หัวข้อ “นโยบายรัฐกับการสร้าง SMEs 4.0″ โดย ฯพณฯ สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์

– สัมมนาโต๊ะกลม หัวข้อ “ต้นแบบ SMEs 4.0 โตแตกต่างอย่างแข็งแกร่ง”

วิทยากร ประกอบด้วย

  1. คุณเสกสรรค์ อุ่นจิตติ เกษตรกรผู้ปลูกผักที่เขาใหญ่ จังหวัดนครราชสีมาเจ้าของสโลแกน “ไม่แปลก ไม่ปลูก” รับปลูกผักตามออร์เดอร์และส่งขายให้ห้างใหญ่มาแล้วทั่วประเทศ โดยใช้สื่อโซเชียลเป็นช่องทางสำคัญ
  2. คุณสมศักดิ์ บุญคำ เจ้าของกิจการ “โลคอล อไลค์-Local Alike” ผู้ผุดไอเดียด้านธุรกิจท่องเที่ยว ที่เข้ามาช่วยส่งเสริมการสร้างรายได้ร่วมกับชุมชนด้วยวิธีการอันทันสมัย มีการนำโซเชียลมีเดียเข้ามาปรับใช้ กระทั่งสามารถขยายกลุ่มไปยังนักท่องเที่ยวได้ทั่วโลก
  3. คุณฉัตรชัย วชิระเธียรชัย เจ้าของกิจการ เอื้ออารี โปรดักส์ ผู้ผลิตพริกแห้ง หอมเจียว พริกสด–กระเทียมปอกเปลือก ของง่ายๆ ที่คนมองข้าม สู่ซัพพลายเออร์รายใหญ่ให้กับอุตสาหกรรมอาหารและร้านอาหารเบอร์ต้นๆของประเทศ
  4. คุณณัฐนรี ชุมมานนท์ ซีเอ็มโอ Indie Dish เจ้าของบริการสั่งอาหารสุขภาพและอาหารคลีนผ่านแอพพลิเคชั่น เป็นการรวบรวมร้านสุขภาพชั้นนำมากกว่า 60 ร้าน พร้อมสนับสนุนคนรุ่นใหม่ให้สามารถทำธุรกิจร้านอาหารแบบไม่ต้องมีหน้าร้านได้อย่างยั่งยืน

สำหรับ ผู้ที่สนใจ สามารถเข้าไปลงทะเบียนได้ที่นี่ กดลงทะเบียน

หรือโทร. 02-589-0020 ต่อ 2333 หรือ 2337