ผู้เขียน | อันติกา |
---|---|
เผยแพร่ |
เหนื่อย เบื่อ ล้า ความรู้สึกนี้มักเกิดขึ้นกับมนุษย์เงินเดือนแทบจะทุกคน ถ้าเป็นแล้วหาย กลับมาฮึดตั้งหน้าตั้งตาทำสิ่งตรงหน้าได้ ก็คงไม่ใช่ปัญหาหนักใจ แต่หากความรู้สึกนั้นกัดกินจิตใจ ถึงขั้นตื่นเช้ามาไม่อยากขยับกาย ไม่มีพลังก้าวเดินไป อยู่ในภาพเดิมๆ
การ “ลาออก” น่าจะเป็นคำตอบสุดท้าย
รักการอ่าน รักอักษร
เปิดห้องสมุดในบ้าน
เช่นเดียวกับ คุณชโลมใจ ชยพันธนาการ คุณครูคนขยัน ผู้ปลุกแรงบันดาลใจให้ทั้งเด็กๆ และผู้ใหญ่หันมาสนใจอักษรและรักการอ่าน
เหตุผลของการลาออกของคุณครูชโลมใจ คือ ความเบื่อที่เกิดขึ้นในช่วงวันเวลาแห่งการเป็นเรือจ้างที่ก้าวย่างมาราว 30 ปี
บรรยากาศ ผู้คน และอีกหลายต่อหลายเรื่องราว ผลักดันให้คิดหาทางสร้างอาชีพใหม่ และคงจะไม่มีอะไรดีไปกว่าการได้ทำในสิ่งที่ตนเองรัก นั่นก็คือ “ห้องสมุด”
“ตอนที่ยังเป็นครูจะชอบทำกิจกรรม โดยเฉพาะเรื่องราวเกี่ยวกับตัวหนังสือ เขียนหนังสือ หนังสือทำมือ งานวาด จัดค่าย เด็กๆ บางคนกลายเป็นนักเขียนมือรางวัลก็มี ซึ่งตอนนั้นครูสนุกกับงานมาก และด้วยความที่ชอบหนังสือ รักการอ่านนี้เอง เราจึงอยากมีอาณาจักรของตัวเอง นั้นคือห้องสมุด ให้เด็กๆ และผู้สนใจได้มีพื้นที่ในการอ่านและทำกิจกรรมร่วมกัน”
“ห้องสมุด บ้านๆ น่านๆ” จึงถือกำเนิดขึ้นเมื่อประมาณ 6 ปีก่อนหน้านี้ ซึ่งขณะนั้นคุณครูชโลมใจ ยังคงรับบทบาทเรือจ้าง โดยเลือกวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ เปิดพื้นที่ใต้ถุนบ้านของตนเอง รวบรวมหนังสือที่ได้รับจากแวดวงสื่อสิ่งพิมพ์หลายๆ แห่ง จนบัดนี้มีมากมาย กลายเป็นห้องสมุดเอกชนแห่งแรกก็ว่าได้ ที่เปิดให้ผู้สนใจเข้ามาอ่านหนังสือได้โดยไม่จำกัดเวลา และไม่เสียค่าบริการ”
เริ่มต้นจากการให้
ตอบแทนให้ได้อาชีพ
จากจุดเริ่มต้นของการเป็นผู้ให้ ส่งผลให้เกิดการต่อยอดสู่รายได้ เพื่อหล่อเลี้ยงชีวิตในวันที่ต้องกลายเป็นคนว่างงาน (ประจำ)
“เมื่อไม่ไหวกับหลายๆ เรื่อง เกิดอาการเบื่อ ถึงขั้นว่าไม่อยากไปโรงเรียน ไม่มีความสุข ไม่แม้กระทั่งอยากจะสอนหนังสือ ซึ่งนั่นแสดงว่า ไม่ไหวแล้ว ซึ่งตอนที่เราเริ่มรู้สัญญาณและคิดว่าคงอยู่ต่อไม่ได้ถึงเกษียณ ก็เริ่มเคลียร์ตัวเอง วางแผนจัดการด้านการเงิน คำนวณรายจ่าย บำนาญที่จะได้รับพอใช้หนี้หรือไม่ และมองหาอาชีพรองรับ ต้องสร้างความเข้าใจกับแม่ด้วย เพราะเราทำงานมา 30 ปี เป็นข้าราชการซีแปด ซึ่งถ้าลาออกก็หมายถึงทิ้งเงินนั้นไปหมดเลย และอีกประมาณ 8 ปีก็เกษียณแล้ว แม่ก็ย่อมมองถึงความมั่นคง แต่เราก็เริ่มรู้สึกเบื่อ มากขึ้นๆ ไม่มีความสุข สุดท้ายแม่ก็เข้าใจ”
ดังได้กล่าวแล้วว่า เดิมทีคุณครูชโลมใจใช้พื้นที่ใต้ถุนบ้านเปิดห้องสมุดในวันเสาร์-อาทิตย์ และเมื่อคิดถึงอนาคตจะต้องลาออกจากงาน จึงวางแผนปูทางสร้างอาชีพไว้รองรับ
“ไม่ใช่จู่ๆ จะลาออกมาโดยไม่คิดถึงอาชีพรองรับนะคะ ต้องขอย้อนไปเมื่อประมาณ 3 ปีก่อนหน้านี้ น้องชายซึ่งเคยเปิดร้านกาแฟอยู่กรุงเทพฯ ตัดสินใจกลับมาอยู่บ้าน ขนอุปกรณ์กาแฟมาหมดเพื่อเปิดร้านที่บ้าน ตอนนั้นทำอาหารเมนูประยุกต์เสริมด้วย ผลตอบรับค่อนข้างดี เพราะมีสื่อหลายๆ แขนงเข้ามาพูดคุย”
คุณครูชโลมใจใช้เวลาในวันหยุดมาช่วยน้อง แต่กลับกลายเป็นว่าต่างคนต่างเหนื่อยมาก และพอหลังๆ ลูกค้าเริ่มน้อยลง เพราะทำเลอยู่ในซอย กอปรกับไม่อยากให้กลิ่นอาหารมากลบบรรยากาศการอ่านหนังสือและการดื่มกาแฟ จึงหยุดตรงนี้ไปเปิดขายข้างนอกแทน แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ
“น้องจึงตัดสินใจเลิก ซึ่งเราเองก็เสียดายอุปกรณ์กาแฟนะ จึงไปเรียนชงกาแฟที่เชียงใหม่ 1 วัน แล้วก็มาเปิดร้านกาแฟอีกครั้งควบคู่ไปกับห้องสมุด ซึ่งก็ยังคงขายในวันเสาร์-อาทิตย์ เพราะตอนนั้นงานประจำทำอยู่”
ร้านกาแฟให้แรงบันดาลใจ
กล้าตัดสินใจลาออกจากงาน
พื้นที่ใต้ถุนบ้านที่เคยเป็นห้องสมุด และขณะนี้ลุกลามไปถึงชั้นสองของตัวบ้าน ยังคงจัดเก็บไว้เป็นห้องสมุดเช่นเดิม แต่จัดแบ่งโซนมาเป็นมุมชา-กาแฟ มีเครื่องดื่มไว้บริการลูกค้า รวมไปถึงมุมจำหน่ายหนังสือ ของขวัญ ของที่ระลึก อย่างสมุดทำมือ โปสการ์ดที่คุณครูชโลมใจลงมือวาดและถ่ายภาพด้วยตนเอง กับราคาขายที่ง่ายต่อการซื้อเพียงใบละ 20 บาทเท่านั้น
ร้านกาแฟนี้เองที่เป็นจุดตัดสินใจขั้นสุดท้ายให้คุณครูชโลมใจกล้าลาออก หลังจากประกอบธุรกิจนี้ได้ราว 6 เดือน
“เราไม่ได้ปฏิเสธว่าเราต้องทำมาหารายได้ เพราะเรามีค่าใช้จ่าย ต้องดูแลตัวเองและครอบครัว แต่ในส่วนของห้องสมุดยังคงไว้เช่นเดิม เด็กๆ หรือลูกค้ามาได้ตลอด ไม่ได้คิดค่าใช้จ่าย เป็นระบบดูแลตัวเอง ซึ่งแรกๆ จะมีเด็กนักเรียนเข้ามาใช้บริการกันมาก อาจเพราะตอนก่อนลาออกจากครูสอนชั้น ม.5 นักเรียนก็ตามมาที่บ้าน แต่พอผ่านไปประมาณ 2 ปี นักเรียนรุ่นนี้จบไปแล้ว จะมีรุ่นน้องๆ มาบ้าง แต่หลักๆ กลายเป็นนักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ ซึ่งเขาชื่นชอบมานั่งดื่มกาแฟ อ่านหนังสือ ชอบบรรยากาศแห่งการพักผ่อน ชอบความเงียบสงบ ซึ่งทำเลในซอยแบบนี้ถ้าจะหวังลูกค้าคนในพื้นที่คงยาก จุดมุ่งหมายจึงต้องเป็นนักท่องเที่ยว”
กับการลาออกจากงานในครั้งนั้น คุณครูชโลมใจ ว่า คือความสุข ที่ได้อยู่กับตัวเองมากขึ้น ได้ทำสิ่งที่ชอบอีกหลายอย่าง แต่กระนั้นก็ยังคงต้องหาวันหยุด โดยเลือก พุธ-พฤหัสบดี ด้วยเพราะลูกค้ากลุ่มหลักนักท่องเที่ยวบางตา
สร้างอาชีพในบ้าน
ที่พักของคนรักการอ่าน
สำหรับในวันธรรมดาที่เปิดดำเนินการ ก็ยังคงจัดสรรแบ่งหน้าที่กับน้องชาย เพื่อให้แต่ละคนได้มีเวลาเป็นส่วนตัว
“กลุ่มเป้าหมายหลักคือนักท่องเที่ยว ฉะนั้น ช่วงเวลาที่นิยมเดินทางมาพักผ่อนจึงเป็นช่วงฤดูฝนต่อไปถึงฤดูหนาว การสร้างรายได้เพียงช่องทางดังกล่าวอาจไม่คุ้มกับค่าใช้จ่าย ฉะนั้น อีกส่วนหนึ่งซึ่งอาจจะเรียกได้ว่าเป็นรายได้หลัก คือที่พัก”
คุณครูชโลมใจ กล่าวถึงที่พักเพิ่มเติมว่า “บ้านพักจะเป็นบ้านของเราเอง และห้องแต่ละห้องก็เคยเป็นห้องนอนของเราพี่น้องสามคน ซึ่งอยู่ชั้นสอง พอไม่ได้อยู่ แม่ก็ปล่อยให้เช่า ทำให้แม่มีเพื่อนคุย กระทั่งต่อมา ครูลงทุนปรับมาเป็นที่พักให้นักท่องเที่ยว ซึ่งลูกค้าก็จะจับจองต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝนกับฤดูหนาวได้รับความสนใจมาก
ฉะนั้น ในส่วนรายได้ของที่พัก จึงดูแลค่าใช้จ่ายหลักๆ ได้แก่ ค่าน้ำ ค่าไฟ โทรศัพท์และอินเตอร์เน็ต ค่าพนักงานแม่บ้านทำความสะอาด ส่วนรายได้จากร้านกาแฟ เปอร์เซ็นต์การขายหนังสือ และของที่ระลึก จะดูแลค่ากินอยู่”
กับบรรยากาศที่พักเสมือนนอนอยู่บ้านของตนเอง แบ่งออกเป็น 4 ห้อง ได้แก่ ห้องเดี่ยวคืนละ 350 บาท ห้องนอน 2 คน 550 บาท และห้องนอนแบบ 3 คน 1,000 บาท โดยแต่ละห้องไม่มีเครื่องปรับอากาศ แต่จะติดตั้งพัดลม ฉะนั้น ในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว บ้านไม้หลังนี้จึงเย็นสบายจนต้องเรียกหาผ้าห่ม
นอกจากนั้นแล้ว ยังมีพื้นที่ส่วนกลางอำนวยความสะดวกให้ผู้เข้าพัก อย่างครัว ระเบียง ห้องน้ำ และแน่นอนว่ามีหนังสือหลากหลายเรื่องราวไว้ให้หยิบขึ้นมาเปิดอ่าน เหมาะแก่วันแห่งการพักผ่อน
อยู่กับสิ่งที่รัก
อย่างไรก็ไปรอด
หลายคนที่ติดการอยู่ในห้องที่มีความเย็นจากเครื่องปรับอากาศ แต่ทว่าหากมาที่นี่ คุณอาจจะเปลี่ยนความคิด เพราะสถานที่แห่งนี้ ไม่มีจุดใดที่ใช้เครื่องปรับอากาศ แต่กลับให้บรรยากาศดีด้วยแมกไม้นานาชนิดที่ปลูกจนแสงแดดรอดผ่านบางๆ ทั้งในส่วนของหลังคายังติดตั้งระบบสปริงเกลอร์ให้น้ำไหลขึ้นไปลดความร้อน โดยน้ำที่นำมาใช้เกิดจากการขุดบ่อบาดาล จึงตัดปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายลงไปได้ส่วนหนึ่ง และยังมีคุณภาพเหมาะแก่การนำมารดน้ำต้นไม้ได้งอกงามอีกด้วย
กับการก้าวออกจากงานประจำ ทิ้งเงินเดือนจำนวนมาก เพื่ออยู่บนเส้นทางสายนี้ คุณครูชโลมใจ ยืนยันด้วยน้ำเสียงหนักแน่นว่า มาถูกทาง
“ต้องบอกว่าตอนที่รู้ว่าจะทำอะไร เราไม่รู้หรอกว่าจะยั่งยืนหรือไม่ มันไม่สามารถรับประกันได้ เพราะเป็นเรื่องต้องไปลุยเอาข้างหน้า แต่สิ่งที่มีคือความหวังว่าจะอยู่ได้ เราคิดว่ามันไม่จนตรอกหรอกกับการอยู่กับสิ่งที่ชอบ คงไม่มีใครยอมปล่อยให้ตัวเองอดตาย แต่เมื่อถามว่าเป็นอย่างไรในตอนนี้ ตอบเลยว่าเดินมาถูกทางแน่นอน”
คุณครูชโลมใจ ยังกล่าวถึงรายได้ให้ฟังว่า “ปีนี้ถือว่าเงียบนะ ช่วงไม่ใช่ฤดูกาลท่องเที่ยว มีรายได้รวมกับน้องชายหลังหักค่าใช้จ่ายประมาณ 6,000 บาท ต่อเดือน แต่ถ้าเป็นช่วงฤดูฝนและหนาว รายได้ประมาณ 20,000 บาท ต่อเดือน แต่เราก็ไม่ได้เดือดร้อนอะไร เพราะจากคิดวางแผนก่อนลาออกทำให้เราจัดการหนี้สินได้ เหลือก็ค่าทำกิน ซึ่งไม่มาก ซื้อมาทำเอง แบ่งกันกิน เสื้อผ้าก็ใช้อยู่แบบเดียว เราไม่หวือหวา อาจเพราะผ่านเวลามานาน ความจำเป็นและความอยากมันเริ่มลดลง”
แต่สิ่งที่คุณครูชโลมใจ ยืนยันว่าได้รับเพิ่มขึ้นในวันนี้ คือ “ความสุข”
สนใจติดต่อ “บ้านๆ น่านๆ ห้องสมุด & เกสต์โฮม” ตั้งอยู่เลขที่ 14 ถนนมณเฑียร อำเภอเมือง จังหวัดน่าน โทรศัพท์ (089) 859-5898