ปัญหาอะไร ที่ทำให้คนไทยไม่ใช้บัตรเดบิตรูดซื้อสินค้า?

ตัวเลขจากธนาคารแห่งประเทศไทย ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา พบว่าคนไทยมีบัตรเดบิต จำนวนกว่า 50 ล้านบัตร จากจำนวนประชากรทั้งประเทศ 66 ล้านคน แต่พฤติกรรมการนำบัตรเดบิตไปใช้ ส่วนใหญ่จะใช้เพื่อถอนเงินสดจากเครื่องเอทีเอ็มมากกว่า ขณะที่การใช้เพื่อชำระค่าสินค้าและบริการที่ร้านค้าโดยตรงยังน้อยมากกก…คิดเป็นสัดส่วนไม่ถึง 3 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ในขณะที่ประเทศที่มีระดับการพัฒนาประเทศสูงส่วนใหญ่ จะมีการใช้บัตรเดบิตในการชำระเงินแทนเงินสดอย่างแพร่หลายมากกว่า

อะไรที่ทำให้คนไทยไม่ใช้บัตรเดบิตรูดซื้อสินค้า?

ปัญหาอย่างหนึ่งต้องยอมรับว่า ร้านค้าที่รับบัตรยังมีไม่แพร่หลายครอบคลุมทั่วประเทศมากนัก ส่วนใหญ่ยังกระจุกตัวอยู่ในเขตเมืองใหญ่และแหล่งท่องเที่ยว ร้านค้าบางรายเลือกที่จะไม่รับชำระเงินด้วยบัตร หรือรับชำระเงินด้วยบัตรแต่กำหนดยอดซื้อขั้นต่ำ หรือให้ส่วนลดการชำระด้วยเงินสดมากกว่าการชำระด้วยบัตร เนื่องจากร้านค้ามีภาระค่าธรรมเนียมการรับบัตร (Merchant Discount Rate) และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องค่อนข้างสูง นอกจากนี้ สถาบันการเงินผู้รับบัตร หรือภาษาในวงการบัตรอิเล็กทรอนิกส์จะเรียกว่า Acquirer ก็มีต้นทุนในการวางเครื่องรับบัตรสูง ประกอบกับรูปแบบของธุรกิจที่อาจไม่เอื้อกับร้านค้าหรือธุรกิจขนาดเล็ก จึงเลือกให้บริการเฉพาะในบางพื้นที่ที่อยู่ในเขตเมืองและมีธุรกรรมของบัตรเครดิตเป็นหลัก

ในขณะที่รัฐบาลมองว่า บัตรอิเล็กทรอนิกส์ เช่น บัตรเอทีเอ็มและบัตรเดบิต จะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยยกระดับวิถีชีวิตของประชาชน และสนับสนุนให้ประชาชน ภาคธุรกิจ ภาครัฐ เข้าถึงบริการทางการเงิน/การชำระเงินได้ง่ายกว่า

ดังนั้น ในการขยายการใช้บัตร รัฐบาลจึงต้องมุ่งเน้นพัฒนาบริการและโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับการใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์อย่างครบวงจร เพื่อส่งเสริมการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์แทนเงินสดในภาคประชาชน รวมถึงภาคธุรกิจและภาครัฐ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

1) ภาคประชาชน : สามารถเข้าถึงบริการการชำระเงินด้วยบัตรอิเล็กทรอนิกส์ เช่น บัตรเดบิต ได้อย่างสะดวก และด้วยค่าใช้จ่ายที่เหมาะสม ทั้งการใช้จ่ายด้วยบัตรแทนการใช้เงินสด และการรับเงินสวัสดิการจากภาครัฐผ่านบัตร

2) ภาคธุรกิจ : เพิ่มประสิทธิภาพการทำธุรกิจและลดต้นทุนจัดการเงินสดและเช็ค โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) สามารถรับชำระเงินด้วยบัตรได้ด้วยต้นทุนที่ต่ำลง ทำให้สามารถบริหารจัดการเงินได้สะดวกรวดเร็วมากขึ้น ลดโอกาสเกิดความผิดพลาดและการทุจริตจากการใช้เงินสด ซึ่งจะช่วยพัฒนาศักยภาพการแข่งขันและสร้างโอกาสทางธุรกิจ

3) ภาครัฐ : สามารถบริหารจัดการการจ่ายเงินสวัสดิการและเงินช่วยเหลือต่างๆ ให้กับประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพและสามารถประเมินประสิทธิผลของเงินช่วยเหลือต่างๆ ได้ดียิ่งขึ้น โดยภาครัฐสามารถจ่ายเงินสวัสดิการให้แก่ประชาชนได้โดยตรง รวดเร็ว ตรงกลุ่มเป้าหมาย ลดความซ้ำซ้อน ลดข้อผิดพลาด ซึ่งทำให้กระบวนการจ่ายเงินสวัสดิการของภาครัฐมีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ในทุกขั้นตอน รวมทั้ง มีข้อมูลการใช้จ่ายของประชาชนที่ได้รับความช่วยเหลือ เพื่อนำมาใช้พิจารณาจัดสรรเงินและกำหนดรูปแบบสวัสดิการที่เหมาะสม ให้ตรงตามวัตถุประสงค์มากยิ่งขึ้นในอนาคต เช่น การใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์เป็นสื่อในการใช้บริการต่างๆ ของภาครัฐตามที่รัฐบาลจะกำหนดต่อไป (เช่น ระบบขนส่งสาธารณะ ระบบการรักษาพยาบาล)

ภาครัฐจึงออกมาตรการการส่งเสริมการใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ ด้วยการกำหนดค่าธรรมเนียมต่ำลง เพื่อแทนการใช้เงินสด เพื่อส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการเงินของประชาชน โดยเฉพาะประชาชนในต่างจังหวัด รวมทั้งการกระจายอุปกรณ์รับชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์หลากหลายรูปแบบ เช่น เครื่อง EDC เครื่องรูดบัตรมือถือ (MPOS) ตามความเหมาะสมของร้านค้าและพื้นที่ เพื่อเป็นการเพิ่มทางเลือกในการชำระเงินให้กับประชาชน

ทั้งนี้ มาตรการล่าสุดจากกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ที่รับหน้าที่ในการวางเครื่องรับบัตรคือ การปรับลดค่าธรรมเนียมสำหรับร้านค้าที่เรียกว่า MDR สำหรับบัตรเดบิตเหลือเพียง 0.55 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น บางธนาคารเล่นหนักคือ 0 เปอร์เซ็นต์เลย เรียกว่าผู้ประกอบการร้านค้าไม่ควรพลาดกันเลยทีเดียว

นี่ยังไม่รวมถึงโปรโมชั่นแจกทอง แจกของสำหรับผู้โชคดีที่ใช้บัตรเดบิตรูดซื้อสินค้าในช่วงนี้อีกด้วย

อัดยาแรงขนาดนี้ หวังว่าจะได้ผลนะ…พี่น้อง