สแกนธุรกิจโลจิสติกส์ 4.0 กุญแจสำคัญอยู่ที่ “ผู้บริหาร”

เปิดตัวกันไปเรียบร้อยแล้ว สำหรับโครงการ “เพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์” ของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ โดยคุณวรรณภรณ์ เกตุทัต รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เป็นประธาน ซึ่งโครงการนี้จัดเป็นครั้งที่ 9 แล้ว โดยเน้นภาคธุรกิจบริการ อันเป็นธุรกิจสำคัญที่ทำรายได้เข้าประเทศ คัดเลือกผู้ประกอบการธุรกิจบริการจำนวน 20 รายเข้าร่วม อาทิ ธุรกิจบริการสุขภาพ ธุรกิจแฟรนไชส์ ธุรกิจโรงแรม และธุรกิจโลจิสติกส์ เพื่อให้ทราบถึงแนวทางการบริหารจัดการองค์กรในยุคที่ประเทศไทยจะก้าวไปสู่ THAILAND 4.0 โครงการนี้ เริ่มจัดตั้งแต่ปี 2552 สามารถเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ได้มากกว่า 1,468 ล้านบาท และมีผู้ประกอบการเข้าร่วมจำนวน 207 บริษัท

 

เจ้าของกิจการต้องเปิดใจ

รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวอีกว่า เศรษฐกิจของโลกทุกวันนี้ มีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วตลอดเวลา ทำให้ผู้ประกอบการไทยต้องหาแนวทางหรือกลยุทธ์ใหม่ๆ ในการรักษาฐานลูกค้าเดิม รวมทั้งการหาลูกค้าใหม่ในกลุ่มประเทศตลาดใหม่ และการนำระบบสารสนเทศเข้ามาบริหารจัดการ รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพและการบริหารจัดการต้นทุนภายในองค์กร ให้สามารถแข่งขันกับคู่แข่งทั้งในประเทศและต่างประเทศได้ ตลอดจนสร้างความได้เปรียบทางธุรกิจ

“ขั้นแรกเจ้าของสถานประกอบการจะต้องเปิดใจให้กว้างก่อน และยอมรับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น เพราะปัจจุบันเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทมาก ซึ่งการเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ มีหลายวิธี สิ่งสำคัญคือต้องลดขั้นตอนการทำงาน การขนส่งต่างๆ อันจะเป็นการเพิ่มรายได้ไปในตัว” ปัจจุบันสถาบันการศึกษาหลายแห่งให้ความสำคัญกับเรื่องโลจิสติกส์มีการเปิดสอนหลายแห่ง อาทิเช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นต้น

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าว สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2564) ยุทธศาสตร์ที่ 7 การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์ และแผนยุทธศาสตร์กระทรวงพาณิชย์ พ.ศ. 2559-2564 ยุทธศาสตร์ที่ 1 ยกระดับเศรษฐกิจการค้าของประเทศ เข้าสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์มูลค่าและภาคบริการ และเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่จะพัฒนาภาคตะวันออกให้เป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์เชื่อมโยงโครงข่ายทั้งด้านการค้า การลงทุน การคมนาคม และการท่องเที่ยว เป็นประตูสู่อาเซียน จีน และอินเดีย ซึ่งส่งผลดีต่อธุรกิจบริการอื่นๆ อีกหลายสาขา

ดังนั้น กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ จึงให้ความสำคัญกับกลุ่มธุรกิจเป้าหมาย ซึ่งอยู่ในพื้นที่โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC เป็นพิเศษ

คุณวรรณภรณ์ ชี้ให้เห็นว่า ปัญหาจริงๆ ของธุรกิจบริการนั้น เป็นปัญหาเรื่องต้นทุน การใช้แรงงานคนเยอะเกินไป ซึ่งในความเป็นจริงสามารถลดจำนวนคนงานลงได้ เป็นการประหยัดเงินและประหยัดเวลาไปพร้อมๆ กัน อาทิเช่น การขนส่งสินค้าโดยใช้จีพีเอสช่วยนำทาง จะทำให้ลดระยะทางและน้ำมันเชื้อเพลิงในการขนส่งสินค้า สิ่งสำคัญของผู้ประกอบการคือการลดต้นทุน เพื่อให้สามารถแข่งขันได้

ตอนนี้ผู้ประกอบการเห็นความสำคัญของเรื่องโลจิสติกส์มาก หลายกระทรวงจัดอบรมเรื่องนี้ และได้รับความสนใจมาก ขณะเดียวกัน สถาบันการศึกษาหลายแห่งก็เปิดสอนเรื่องโลจิสติกส์เพิ่มมากขึ้น บางทีอาจไปแทรกอยู่ในคณะบริหารธุรกิจหรือคณะวิศวกรรมศาสตร์ อาทิเช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อยู่ในคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี หรือมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ อยู่ในคณะวิศวกรรมศาสตร์ เป็นต้น

 

วินิจฉัยทุกขั้นตอน

ในพิธีเปิดโครงการ ได้เชิญนักวิชาการ 2 ท่าน ซึ่งถือว่าเป็นกูรูในวงการโลจิสติกส์มาให้ความรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ได้แก่ ผศ.ดร.วรินทร์ วงษ์มณี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโลจิสติกส์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย บรรยายในหัวข้อ “Lean Logistics ในธุรกิจบริการและโลจิสติกส์” ซึ่ง Lean เป็นที่รู้จักกันดีในแวดวงอุตสาหกรรมต่างๆ เป็นปรัชญาในการผลิต ที่ถือว่าความสูญเปล่า เป็นตัวทำให้เวลาที่ใช้ในการผลิตยาวนานขึ้น และควรมีการนำเทคนิคต่างๆ มาใช้ในการกำจัดความสูญเปล่าออกไป

ผศ.ดร.วรินทร์ เกริ่นว่า Lean Thinking มีจุดประสงค์ เพื่อกำจัดความสูญเสียในกระบวนการทำงานออกไป ทั้งการบริหารพื้นที่ เวลา ค่าใช้จ่าย และบุคลากร โดยการจัดระบบและบริหารทรัพยากรให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด ซึ่งจะช่วยให้องค์กรนั้นๆ มีผลิตผลมากขึ้น

ก่อนอื่นต้องเข้าไปวินิจฉัย ต้องไปตรวจสอบ และมองให้ออกว่าในธุรกิจที่ทำอยู่นั้น มีกระบวนการทำงานที่ไม่เกิดมูลค่า หรือกระบวนการทำงานรออยู่ที่ขั้นตอนไหน ซึ่งสามารถวิเคราะห์ได้ทุกขั้นตอน เพียงแต่ว่าต้องแตกรายละเอียดออกมาให้ได้ ดูการทำงานจริง และต้องมีแนวคิดอยู่เสมอว่า สิ่งที่ทำอยู่ไม่ใช่สิ่งที่ดีที่สุดเสมอ ต้องทำให้ดีมากกว่านี้

ผู้ประกอบการต้องพยายามแยกกระบวนการออกมาให้มากที่สุด แล้วดูว่ากระบวนการไหนสามารถทำเองได้ กระบวนการไหนที่รวมกันได้ กระบวนการที่ไม่สำคัญตัดออกได้ไหม อย่างเช่นการตรวจสภาพรถ ใช้ไอทีได้ไหม ตั้งแต่ต้นทางยันปลายทาง ทำให้คนลดลงเวลาลดลง เพียงแค่ลงทุนด้านไอทีอีกนิดหน่อย

พร้อมกันนี้ ได้ยกตัวอย่างว่า อย่างธุรกิจคลังสินค้าที่มีวัสดุเยอะ ขั้นตอนการทำงาน ต้องขึ้นอยู่กับระบบ ซึ่งหากหาของไม่เจอ ความสูญเปล่าก็เกิดขึ้น เพราะไม่รู้เก็บของที่ไหน อีกตัวอย่างหนึ่งคือ รับออร์เดอร์มาแล้วจัดของพร้อมกัน 6 ออร์เดอร์ แต่สุดท้ายรอจะทำขั้นตอนต่อไป การแก้ปัญหาอาจจะใช้วิธีลดจากการทำงานพร้อมกัน 6 รายเหลือรายเดียวได้ไหม กลับกลายเป็นว่าสะดวกกว่าคล่องกว่าการทำแต่ต้นทางยันปลายทาง โดยระหว่างทางลดลงอีก 40 นาที สิ่งที่ได้มากกว่านั้นคือทำงานได้มากขึ้น เพราะถ้าลดเวลาได้ โอทีลดลง ขณะเดียวกัน ปริมาณงานที่ทำก็มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม การนำหลักการของ Lean มาใช้นั้น ผศ.ดร.วรินทร์ ย้ำนักย้ำหนาว่า อันดับแรกผู้บริหารต้องเปิดใจก่อนว่าสิ่งที่ทำอยู่ยังไม่ใช่สิ่งที่ดีที่สุด สอง ต้องคิดอยู่เสมอว่าสิ่งที่ทำต้องดีขึ้นกว่านี้ ไม่ใช่ทำตามความเคยชิน ถ้าคนในมองภาพนี้ไม่ออก ก็ต้องให้คนข้างนอกไปมอง จะทำให้ได้รู้ว่าอย่างที่ทำกันปกติจะไม่ปกติ จะเกิดมุมมองที่แตกต่างกัน

ในกรณีที่คนภายในจะมองกันเอง ผศ.ดร.วรินทร์ แนะนำว่า นอกจากเจ้าของธุรกิจต้องเปิดใจแล้ว คนที่ช่วยได้มากที่สุด คือคนหน้างาน ซึ่งเป็นคนที่ทำงานจริง ไม่ใช่คนหน้างานที่นั่งอยู่บนออฟฟิศแล้วคิด เพราะคนข้างล่างที่ทำงานจริงจะรู้ว่าทำอย่างไรจึงจะสะดวก ทำอย่างไรถึงจะลดข้อผิดพลาด นี่เป็นกุญแจหลักเลย คือต้องให้ความสำคัญกับคนมากที่สุด ทำให้คนในองค์กรเป็นทีมเดียวกัน

 

ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม-เทคโนโลยี

ด้าน รศ. (พิเศษ) ดร.จักรกฤษณ์ ดวงพัสตรา ผู้อำนวยการสถาบันการขนส่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บรรยายในหัวข้อ “การพัฒนาด้านโลจิสติกส์และบริการสู่ไทยแลนด์ 4.0” โดยอธิบายให้เห็นตั้งแต่บ้านเรายังเป็นประเทศไทย 1.0 ว่า เน้นเรื่องเกษตรเป็นหลัก เช่น ผลิตและขายข้าว ยางพารา ดีบุก ไก่ กุ้ง ผักผลไม้ ต่อมาเป็น 2.0 เน้นอุตสาหกรรมแปรรูปแต่เป็นอุตสาหกรรมเบา เช่น อาหาร เครื่องดื่ม เครื่องประดับ เครื่องเขียน เสื้อผ้า

พอมาเป็น 3.0 เน้นอุตสาหกรรมหนัก อาทิ รถยนต์ ปิโตรเลียม เม็ดพลาสติก อิเล็กทรอนิกส์ คัดแยกก๊าซธรรมชาติ ปูนซีเมนต์ เคมีภัณฑ์ และปัจจุบันที่จะก้าวไปสู่ยุค 4.0 นโยบายของประเทศจะมุ่งเน้นการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจไปสู่ Value-Based Economy หมายถึง เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม

ในการปรับเปลี่ยนโครงสร้างดังกล่าว ต้องเปลี่ยนจากการผลิตสินค้าโภคภัณฑ์ไปสู่สินค้าเชิงนวัตกรรม และเปลี่ยนจากการขับเคลื่อนประเทศด้วยภาคอุตสาหกรรมไปสู่การขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม รวมทั้งเปลี่ยนจากการเน้นการผลิตสินค้าไปสู่การเน้นภาคบริการมากขึ้น

รศ. (พิเศษ) ดร.จักรกฤษณ์ ยังได้เปิดเคล็ดลับเกี่ยวกับการเข้าไปทำธุรกิจโลจิสติกส์ในกลุ่มประเทศ CLMV ด้วย เริ่มกันที่ สปป.ลาว ซึ่งเป็นประเทศที่คนไทยเข้าไปลงทุนด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ง่ายที่สุด เมื่อเทียบกับทุกประเทศ เนื่องจากได้มีความตกลงด้านการขนส่งระหว่างไทยกับลาวมาตั้งแต่ปี 2542

อีกทั้งลาวเปิดตลาดให้คนไทยเข้าไปทำธุรกิจโลจิสติกส์เกือบทุกประเภท (ยกเว้นการขนส่งสินค้าข้ามแดนและตัวแทนรับจัดการขนส่งสินค้า) โดยคนไทยควรใช้การถือหุ้นกับนักธุรกิจท้องถิ่น โดยต้องถือหุ้นมากกว่าร้อยละ 30 ของทุน และเชิญเจ้าแขวงเข้ามาเป็นกรรมการที่ปรึกษาบริษัทด้วย แต่ทั้งนี้ไม่ควรถือหุ้นทั้ง 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะจะต้องขออนุญาตคณะกรรมการประกอบธุรกิจของคนต่างชาติ

ส่วนเมียนมาเป็นประเทศที่มีศักยภาพในการทำธุรกิจโลจิสติกส์ เนื่องจากการแข่งขันยังไม่สูง แต่มีปัญหาอุปสรรคมาก เนื่องจากกฎระเบียบไม่โปร่งใส มีปัญหาด้านความมั่นคง อย่างไรก็ตาม เมียนมาเปิดตลาดให้คนไทยเข้าไปทำธุรกิจโลจิสติกส์ทุกประเภท (ยกเว้นการขนส่งสินค้าข้ามแดน) โดยคนไทยควรใช้การถือหุ้นกับนักธุรกิจท้องถิ่น โดยต้องถือหุ้นมากกว่าร้อยละ 35 ของทุน แต่ทั้งนี้ไม่ควรถือหุ้นเกิน 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะจะต้องเสียภาษีในอัตราสูงกว่าธุรกิจร่วมทุนกับคนเมียนมา

ขณะที่กัมพูชาเปิดตลาดให้คนไทยเข้าไปทำธุรกิจโลจิสติกส์ทุกประเภท โดยถือหุ้นข้างมากได้ เช่น ตัวแทนรับจัดการขนส่งระหว่างประเทศ ตัวแทนออกของรับอนุญาต คลังสินค้า (คลังสินค้าบางประเภทห้ามต่างชาติถือหุ้น) โดยคนไทยควรใช้การถือหุ้นกับนักธุรกิจท้องถิ่น เนื่องจากมีขั้นตอนพิธีการมาก โดยเฉพาะการขออนุญาตก่อสร้างอาคารและสถานที่ที่ต้องใช้ระยะเวลาในการอนุมัตินาน

สำหรับเวียดนามนั้น สูตรสำเร็จในการทำธุรกิจ ผู้ประกอบการขนส่งทางถนนของไทยต้องจับมือเป็นพันธมิตรธุรกิจกับผู้ประกอบการขนส่งและโลจิสติกส์ของลาวหรือกัมพูชาที่มีเครือข่ายพันธมิตรธุรกิจกับผู้ประกอบการขนส่งเวียดนาม โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่เป็นสมาชิกสมาคมด้านการขนส่งโลจิสติกส์ที่สำคัญ เช่น สมาคมผู้รับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศของลาว (LIFFA) สมาคมผู้รับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศของกัมพูชา (CAMTA) สมาคมโลจิสติกส์ธุรกิจเวียดนาม (VLA) และสมาคมการขนส่งทางรถยนต์แห่งเวียดนาม (VATA)

“แม้ว่ากฎหมายของเวียดนามจะอนุญาตให้คนต่างชาติไปถือหุ้นข้างมากในธุรกิจขนส่งสินค้าทางถนนได้ แต่ทางที่ดีที่สุด เนื่องจากเวียดนามมีอุปสรรคทางเทคนิคมาก เพื่อป้องกันคนต่างชาติเข้าไปแย่งตลาดการขนส่งทางถนนในเวียดนาม ควรใช้การร่วมทุนกับนักธุรกิจท้องถิ่น” ผู้อำนวยการสถาบันการขนส่ง จุฬาฯ กล่าว