ไขวิธีเลือกทำเล ออกงานอีเว้นต์ “นก ข้าวมันไก่ เคาะโต๊ะ” กล่องละ 10 บาท ขายยังไงถึงอยู่ได้?

อย่างที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า ช่วงนี้ราคาข้าวของ เครื่องใช้ หรืออาหารการกินต่างๆ ก็ต้องปรับตัวเพื่อให้ธุรกิจอยู่รอดไปได้ในภาวะเศรษฐกิจฝืดเคือง รวมไปถึงกำลังซื้อของคนก็มีขึ้นลงตามรายได้ที่ได้รับในแต่ละเดือน ซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญมากสำหรับพ่อค้าแม่ขาย

คุณชุตินิษฐ์ ชิตเจริญ หรือ คุณนก เจ้าของร้าน “นก ข้าวมันไก่ เคาะโต๊ะ”  เจ้าของร้านวัย 33 ปี ซึ่งมีประสบการณ์การทำมาค้าขายตามงานอีเว้ต์มา มากกว่า 10 ปี ด้วยแนวคิดที่ว่า “ไม่ได้ต้องการขายเอารวย แต่อยากขายเพื่อให้คนที่มีงบน้อย หรือนักเรียน นักศึกษา ให้เขาเหล่านี้มีข้าวกิน ท้องอิ่ม”

เส้นทางเศรษฐีได้พูดคุย สอบถามกับ คุณนก ในแง่มุมของการทำมาค้าขาย จากประสบการณ์จากการค้าขายแบบออกงานอีเว้นต์ โดยเกริ่นให้ฟังย้อนหลังก่อนที่จะมายึดอาชีพค้าขายว่า “เคยเป็นพนักงานออฟฟิศ ทำงานประจำ มีเงินเดือนใช้ มีบัตรเครดิตใช้เหมือนสาวออฟฟิศทั่วๆ ไป ก่อนจะตัดสินใจลาออกมาค้าขาย ด้วยเหตุผลที่ว่า ทำงานไปเงินก็ไม่พอใช้ ทั้งยังติดหนี้บัตรเครดิตอีก

หลังจากที่ออกจากงานประจำมานั้น และมายึดอาชีพขายข้าวมันไก่ ร้านของเธอมีทั้งขายในตลาดประจำ ทำเลที่ตั้งเป็นร้านแบบร้านข้าวทั่วไป ในขณะที่ตอนนั้นก็ยังออกงานอีเว้นต์ไปด้วย ซึ่งเธอสังเกตเห็นข้อเปรียบเทียบของการขายทั้ง 2 แบบคือ การเปิดร้านมีที่ตั้งเป็นที่เป็นทาง รายรับที่ได้ เทียบไม่ได้กับออกขายตามอีเว้นต์เลย จึงตัดสินใจว่า จะขายข้าวมันไก่ไปตามงานอีเว้นต์ต่างๆ แทนการเปิดร้านแบบนี้ ซึ่งเธอบอกว่า เรื่องวัน เวลาหรือสถานที่ขาย มีให้ขายตลอดปีอยู่แล้ว”

โดยคุณนก มีหลักการและแนวคิดส่วนตัวในการเลือกทำเล สำหรับการออกงานอีเว้นต์ด้วยดังนี้ “อย่างแรกที่จะดูคือ เรื่องพื้นที่เป็นหลัก ดูภาพรวมว่าพื้นที่นั้นมีเด็กเยอะไหม หมู่บ้าน คอนโดฯ เยอะไหม

อย่างที่ 2 สภาพแวดล้อมรอบๆ ด้าน ทำได้ด้วยการถามเพื่อนที่เคยไปทำมาค้าขายที่พื้นที่นั้น จึงจะรู้ว่าขายดีไม่ดี มีกำลังซื้อแค่ไหน

อย่างที่ 3 ราคาค่าที่ ว่าร้านของตนจะพอไหวไหม ขายแล้วจะยังมีกำไรเหลือมากน้อยเท่าไหร่ และอย่างที่ 4 สำคัญไม่น้อยไปกว่า 3 ข้อเลยคือ ออร์แกไนซ์ที่จัดงาน จัดแล้วมีปัญหาไหม เคยโดนเชิดเงินไปหรือป่าว จะไว้ใจกันได้ขนาดไหน ซึ่งข้อนี้ ก็ต้องอาศัยประสบการร์อยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว เพราะคนเราก็ต้องเรียนณรู้ และมีประสบการณ์มาก่อน จึงจะทราบได้ว่าจะเป็นอย่างไร

ทั้งหมดนี้เกิดจากประสบการณ์ส่วนตัวและอาศัยระยะเวลากว่า 15 ปี ในการค้าขาย จึงทำให้รู้ว่าต้องแก้ไขปัญหาและทำงานอย่างไร ถึงจะทำให้ขายได้ อีกทั้งได้วางกลุ่มเป้าหมายสินค้าไว้ คือสินค้าที่ขายราคา 10 บาท ขายได้ทุกกลุ่มลูกค้าก็จริง แต่จำเป็นต้องมีกลุ่มเป้าหมายหลัก ซึ่งโฟกัสไปที่เด็กนักเรียน และคนงบน้อย ยิ่งตรงไหนถ้ามีนักเรียนเยอะ ขายได้เยอะแน่นอน”

ส่วนราคาขาย 10 บาทนั้น ทำให้ได้กำไรไม่มาก อาศัยจำนวนในการขาย โดยข้าวมันไก่ 1 หม้อ ใช้ข้าวสาร 5  กิโลกรัม หม้อนี้ทำรายได้ 2,000 บาท ซึ่งจะหักค่าใช้จ่ายออก 1,000 บาท ซึ่งจะทำให้ได้กำไร 1,000 บาท นี่เป็นวิธีคิดง่ายๆ  ในการบริหารจัดการรายได้ของคุณนก เนื่องจากพื้นที่การออกขายตามงานอีเว้นต์มีปัจจัยหลายอย่างเข้ามาเกี่ยวข้อง  รายได้ในแต่ละวัน แต่ละพื้นที่จึงไม่เท่ากัน

การทำมาค้าขาย ควรจะต้องมีการจดบันทึก ในเรื่องของต้นทุน ค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่เกิดขึ้นภายในร้าน และค่าแรงของคนขายด้วย เพื่อได้เห็นกำไรจริงๆ ของร้าน จะได้เอามาวิเคราะห์ถูกว่า สถานที่งานอีเว้นต์ที่เราไปขายนั้น มันได้กำไรมากน้อย หรือขาดทุนเท่าไหร่ จะได้เอามาเป็นข้อมูลช่วยในการตัดสินใจในภายหลัง หากจะไปขายอีก

จากการพูดคุยเพิ่มเติมกับคุณนก จึงได้ทราบว่า “ช่วงนี้การค้าขายค่อยข้างไปเป็นอย่างลำบาก ทั้งด้านเศรษฐกิจที่ฝืดเคือง ประจวบกับเป็นช่วงฤดูฝน พ่อค้าแม่ขายตามงานอีเว้นต์ประสบปัญหาการค้าขายที่ลำบากกันทั้งสิ้น ขายของยากขึ้น ขนาดข้าวมันไก่ที่ขายในราคา 10 บาท เป็นราคาที่ถูกมาก ยังขายได้ยากเลย ดังนั้น หากจะลงทุน ทำมาค้าขายอะไร จะไปงานอีเว้นต์ไหน ก็ต้องลองหาข้อมูลเพิ่มเติมกันดู ประเมินขีดความสามารถของร้านว่าจะสามารถทำได้ขนาดไหน”