“เฮือนปฏิมาเซรามิก” ปั้นดินให้เป็นเงิน ต่างชาติสนใจ สั่งออร์เดอร์เพียบ ทำไม่ทันขาย

เครื่องปั้นดินเผาประเภทเซรามิก เป็นอีกหนึ่งผลงานที่ได้รับความนิยมมากขึ้นๆ สอดรับไปกับความเติบโตของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว จำนวนร้านอาหาร ร้านกาแฟ สปา โรงแรมที่พัก ผุดขึ้นในทุกๆ จังหวัด และผลงานทำมืออย่างเซรามิก ก็กลายมาเป็นส่วนสำคัญส่งผลต่อการเพิ่มมูลค่า ที่อาจได้มากกว่าเท่าตัว

ดังกล่าวมานี้คือความจริงที่ คุณอุเทน ริมฟอง ผู้ก่อตั้งกลุ่มเฮือนปฏิมาเซรามิก เล่าให้เราฟัง

 

ปี 2 สร้างผลงาน

ขายได้หลายหมื่น

คงต้องกล่าวยกให้คุณอุเทน คือหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญด้านอุตสาหกรรมเซรามิก เพราะเขามีทั้งความรู้ร่ำเรียนเอกอุตสาหกรรมเซรามิก จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และยังจบศิลปกรรม เอกเครื่องปั้นดินเผา จากเทคโนโลยีราชมงคล ดีกรีเกียรตินิยม

คุณอุเทน เริ่มต้นหารายได้จากความรู้ที่ได้ศึกษาตั้งแต่เริ่มอยู่ชั้นปี 2 โดยเขานำผลงานที่ทำส่งอาจารย์และผลงานสร้างสรรค์จากฝีมือของตนเองซึ่งเก็บรวบรวมไว้ระหว่างเรียน ไปออกงานแสดงสินค้า เพียงวันแรกของการเริ่มต้นขายก็มีลูกค้าชาวญี่ปุ่นเดินเข้ามาเหมายกร้าน รวมรายได้วันแรก 40,000 กว่าบาท

และนี่คือจุดสร้างกำลังใจสำคัญ ที่ทำให้เขาเลือกเดินสู่เส้นทางสายผู้ผลิตจำหน่ายเซรามิกแบบเต็มตัว

“ตอนเรียนต้องทำผลงานส่งอาจารย์ ซึ่งผมไม่เคยทำชิ้นเดียว แต่จะทำเผื่อ นอกจากนั้นยังรับจ้างเผาเตาให้เพื่อน (เผาเซรามิก) ซึ่งเวลาเราไปเช่าเตาเผาก็จะมีพื้นที่ในเตาเหลือ ผมก็นำผลิตภัณฑ์ที่ทำสะสมไว้ใส่เผาลงไปด้วย กระทั่งจบปี  2 สามารถรวบรวมได้มากพอจึงติดต่อเช่าบู๊ธในงานแสดงสินค้า ซึ่งตอนนั้นผมเสียค่าเช่า 900 บาท แต่ว่าขายได้วันแรก  40,000 กว่าบาท พอวันที่สองที่สามนำของที่มีอยู่ในสต๊อกมาจัดจำหน่ายอีก โดยเปิดให้ลูกค้าจองก่อน แล้วให้มารับวันสุดท้าย เพื่อว่าจะได้มีสินค้าให้ลูกค้าคนอื่นๆ เห็น พอออร์เดอร์มาเราก็ผลิตส่งให้ลูกค้าได้อีก”

เริ่มต้นกับสถานที่ผลิต ไม่ใช่โรงงาน ไม่ใช่บ้าน แต่ทว่าคือ วัดแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ ที่ตนได้อาศัยอยู่

ภูมิใจได้รางวัล

การันตีในฝีมือ

ความรักในเนื้อดิน บวกไอเดีย ส่งผลให้เขาคิดผลงานแปลกแตกต่าง กระทั่งศึกษาอยู่ในชั้นปีที่ 4 ตัดสินใจส่งผลงานเข้าประกวด กระทั่งได้รับรางวัลแห่งชาติ จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ผลงานถูกนำไปจัด ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ

“การประกวดเช่นนี้ 2 ปีจะมีครั้ง ซึ่งพอ 2 ปีถัดมาผมก็ส่งผลงานเข้าประกวดอีก ก็ได้รับรางวัลอีก จากนั้นจึงก้าวไปประกวดในเวทีต่างๆ ทำให้ได้รับรางวัลมากมาย กระทั่งล่าสุดปีที่แล้วทางจังหวัดให้ส่งผลงาน 2 ประเภทเข้าประกวด ก็ได้รับรางวัลเหรียญทองทางวัฒนธรรม และเหรียญเงินประเภทสร้างสรรค์”

รางวัลคือความภาคภูมิใจ และเสมือนการันตีเส้นทางเดินให้ชัดเจนขึ้น กับการก้าวสู่รูปแบบธุรกิจเต็มตัว โดยใช้บ้านเป็นสถานที่ผลิต

“แรกๆ จะใช้วิธีเช่าเตาเผาก่อน โดยสถานที่ผลิตอยู่เชียงใหม่ กระทั่งเข้าสู่โอท็อป พอมีเงินเก็บก้อนหนึ่ง ก็ย้ายมาอยู่ที่บ้านแฟนในจังหวัดพะเยา เริ่มต้นลงทุนสร้างโรงงานเล็กๆ ทำเตาเผาขึ้นมา ซึ่งขณะนั้นเรามีลูกค้าในมือพอสมควร ก็จะผลิตผลงานไปตามออร์เดอร์”

แม้จะมีลูกค้าอยู่ในมือ แต่การหาลูกค้าใหม่ เป็นสิ่งที่คุณอุเทนไม่หยุดยั้ง โดยจะเดินทางไปหาทำเลค้าขายประจำ ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ถนนคนเดินจังหวัดเชียงราย โดยจะเปิดให้บริการในวันเสาร์บริเวณหน้าอำเภอ

นอกจากนั้นยังได้ลูกค้าในกลุ่ม โรงแรม รีสอร์ต ร้านอาหาร สปา ร้านกาแฟ ชั้นนำทั้งในพื้นที่จังหวัดพะเยา เชียงราย และจังหวัดอื่นๆ รับสินค้าไปไว้ใช้บริการลูกค้า และนำไปจัดจำหน่ายอีกด้วย รวมไปถึงร้านค้าแห่งใหญ่ในกรุงเทพฯ อย่างตลาดนัดจตุจักรก็มีผู้รับไปจำหน่ายเช่นกัน

ลูกค้าต่างชาติตื่นใจ

สั่งซื้อมากไปทำไม่ทัน

กับการออกงานแสดงสินค้า ซึ่งส่วนใหญ่จัดขึ้นในพื้นที่กรุงเทพฯ คุณอุเทน ยังคงเลือกเดินทางไปสร้างโอกาส ซึ่งกับการออกงานนี้ นอกจากจะได้ลูกค้าชาวไทยแล้ว ยังมีกลุ่มลูกค้าชาวต่างชาติจำนวนมากสนใจสั่งซื้อ อาทิ ไต้หวัน ญี่ปุ่น จีน ดูไบ อิตาลี เยอรมนี และอีกหลายประเทศ

“เคยมีลูกค้าชาวต่างชาติ สนใจผลงานและขอให้ผลิตสินค้าประเภทของใช้บนโต๊ะอาหาร กับออร์เดอร์เป็นตู้คอนเทนเนอร์ ผมต้องปฏิเสธ เพราะสินค้าเป็นงานทำมือ กำลังคนไม่พอ ตอนนี้จึงขอรับผลิตในจำนวนที่ทำให้ไม่เครียด สามารถเลี้ยงคน เลี้ยงตัวเราได้”

คุณอุเทน ยังกล่าวถึงกำลังผลิตว่า เป็นคนในพื้นที่ หลักๆ มีอยู่ราว 12 คน และยังมีกลุ่มเครือข่าย 4 แห่งในพื้นที่ รวมกำลังผลิตหลักสิบคน ซึ่งเครือข่ายที่เกิดขึ้นนี้ คุณอุเทน คือครูผู้เดินทางไปฝึกสอนงานขึ้นรูปให้ โดยจะกำหนดให้แต่ละกลุ่มมีความถนัดแตกต่างกันไป เพื่อความชัดเจนในการทำงาน

กับสินค้าที่ได้รับความต้องการอยู่ในขณะนี้ หลักๆ ได้แก่ ของใช้ในบ้าน โรงแรม สปา และที่มาแรงคือผลิตภัณฑ์นำไปใช้ในร้านกาแฟ ไม่ว่าจะเป็นสินค้าตกแต่ง ผลิตภัณฑ์บนโต๊ะอาหาร เป็นต้น ส่วนราคาขายก็เริ่มตั้งแต่ 10 บาทขึ้นไปจนถึงหลักหมื่นกับผลงานประติมากรรม โดยกลุ่มลูกค้าจะแบ่งเป็นผู้ชื่นชอบผลงานประติมากรรม ซึ่งอยู่ในระดับบน ส่วนสินค้าเครื่องใช้ของตกแต่งทั่วไปจะมีกลุ่มลูกค้าหลากหลาย

“ปัจจุบัน เครื่องใช้ในร้านอาหาร ยกตัวอย่าง จาน จากแต่ก่อนเขาใส่จานธรรมดาๆ มูลค่าราคาขายอาหารจานนั้นอาจอยู่ที่ 40 บาท แต่เมื่อนำจานจากเราไปใส่ สามารถเพิ่มมูลค่าให้กลายเป็น 150 บาทได้ ฉะนั้น ในวันนี้จึงมีผู้ให้ความสำคัญกับรายละเอียดด้านนี้มากขึ้น”

เบี้ยวทุกชิ้นงาน

สีสันที่แตกต่าง

จุดเด่น ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ของกลุ่ม ได้รับความสนใจและมียอดสั่งซื้อเข้ามาไม่หยุด คุณอุเทน ว่า คือ ความเบี้ยวของชิ้นงาน

“งานของผมเบี้ยวทุกชิ้น นี่คือจุดเด่น และโดนใจลูกค้า ซึ่งความเบี้ยวนี้เกิดจากกระบวนการเผาที่ไฟสูง 1,280-1,300 องศา ทำให้ชิ้นงานเกิดการบิดตัว ส่วนอีกหนึ่งความโดดเด่นคือ ส่วนผสมที่ทำให้เกิดสี ผมเลือกนำหินแร่ธรรมชาติมาผสม สร้างลวดลายและสีที่แตกต่างกัน อย่างลวดลายสีน้ำตาลก็มาจากหินน้ำตก”

กล่าวมาถึงตรงนี้ คุณอุเทนจึงเล่าถึงกระบวนการผลิตให้ฟัง โดยเริ่มจากคัดเลือกดิน ซึ่งส่วนใหญ่มาจากในพื้นที่จังหวัดพะเยา แต่ทว่าถูกส่งเข้าสู่กระบวนการผลิตที่โรงงานจังหวัดลำปาง

“จังหวัดพะเยา มีผู้ผลิตงานเซรามิกน้อยราย โรงงานผลิตดินจึงไม่มี ผมต้องเดินทางไปรับดินจากจังหวัดลำปางเอง โดยราคาขายต่อตันประมาณ 4,000 บาท จากนั้นก็นำมาผสมใหม่เพื่อให้ได้สูตรเฉพาะของผม”

การออกแบบสินค้า คือสิ่งที่ต้องทำก่อนลงมือขึ้นรูป โดยจะต้องเผื่อการหดตัวระหว่างเผาไว้ประมาณ 17-20 เปอร์เซ็นต์ หลังจากขึ้นรูปแล้ว จึงตกแต่ง แล้วเผาดินที่อุณหภูมิ 800 องศา จากนั้นนำไปชุบเคลือบกับหินแร่ธรรมชาติ อาทิ หินฟันม้า หินน้ำตก หินเขี้ยวหนุมาน ขี้เถ้าไม้เนื้อแข็ง ตามแต่สูตรที่ต้องการ และสีที่ต้องการ จากนั้นจึงนำไปเผาเคลือบไฟสูง 1,280-1,300 องศา ประมาณ 1 วัน ซึ่งรวมรอบการผลิตต่อครั้งราว 2 สัปดาห์

ลูกค้าหลากหลาย

ซื้อไปใช้ ไปตกแต่ง

“สินค้าของผมจะผลิตออกมา 2 ลักษณะ คือ ผลงานที่ถ่ายทอดทางวัฒนธรรมลวดลายโบราณ กลุ่มลูกค้าก็จะเป็นระดับบนที่เขาสนใจและชอบผลงานศิลปะ อีกประเภทหนึ่งคือผลงานสไตล์เซน ซึ่งลูกค้าจะหลากหลายมาก นักท่องเที่ยว โรงแรม สปา บุคคลทั่วไป และอย่างตอนนี้ร้านกาแฟเกิดขึ้นมาก กลุ่มร้านกาแฟจึงเป็นอีกกลุ่มที่สนใจสั่งซื้อ ส่งผลให้เกิดยอดขายต่อเดือนประมาณ 70,000-100,000 กว่าบาท”

คุณอุเทน ยังกล่าวเพิ่มถึงความภูมิใจที่ได้ช่วยให้ชาวบ้านซึ่งเป็นแรงงานผลิต มีรายได้โดยเฉลี่ยเดือนละประมาณ 6,000-7,000 บาท ต่อคน หรือบางคนรายได้ต่อเดือนถึงหลักหมื่นบาท โดยกับการจัดจ้างจะอยู่ในลักษณะให้ผลิตในกระบวนการขึ้นรูป เริ่มต้นค่าจ้างตั้งแต่ชิ้นละ 1 บาท

รวมระยะเวลากับการก้าวมาสู่ธุรกิจนี้แบบเต็มตัวกว่า  5 ปี ทั้งความรู้ ความชำนาญ ประสบการณ์ มากพอกับการต่อยอดไปสู่ศูนย์การเรียนรู้ สร้างบทบาทการเป็นผู้ให้อย่างเต็มตัว โดยพร้อมเปิดให้ผู้สนใจติดต่อเข้าไปสร้างฝันได้ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

“ตอนที่เรียนจบผมได้รับบทบาทเป็นอาจารย์สอน พอมาในวันนี้ก็อยากเป็นผู้ให้อีกครั้ง ซึ่งที่ผ่านมาก็มีผู้สนใจเข้ามาติดต่อขอเรียนรู้นะ ผมก็ยินดี โดยคิดค่าบริการแค่ค่าผลงานที่เขาทำเท่ากับราคาขายในร้าน แต่กับค่าความรู้ผมไม่คิด บางคนนำกลับไปต่อยอด บางคนจากที่ใจร้อนพอมาทำงานตรงนี้สงบลง เพราะได้ฝึกสมาธิ เราจึงมองว่าถ้าอย่างนั้นก็เปิดเป็นศูนย์เรียนรู้เลยดีกว่า”

สนใจติดต่อ เฮือนปฏิมาเซรามิก ตั้งอยู่ เลขที่ 66 หมู่ 10 บ้านสันหมื่นแก้ว ตำบลแม่ปืม อำเภอเมือง  จังหวัดพะเยา โทรศัพท์ (081) 960-9859