“ห่วงยาง ห่วงใย” พวงหรีด DIY ใส่ดีไซน์ใหม่ ปลอบใจให้หายเศร้า

วันแห่งความโศกเศร้าที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น การสูญเสียคนรักไปอย่างที่ไม่มีวันกลับนั้น เป็นเรื่องที่ทำใจได้ยาก

แต่เมื่อไม่มีใครหนีพ้น คนเป็นเจ้าภาพคงต้องนึกถึงการจัดงานศพ ส่วนผู้มาร่วมงาน สิ่งทำได้ดีที่สุด คือ แสดงความอาลัยต่อผู้ล่วงลับด้วย “พวงหรีด” ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว มักเป็นโครงทรงกลม ประดับด้วยดอกไม้หลากสี เขียนคำไว้อาลัยต่อท้ายด้วยชื่อผู้ให้ วางไว้จนกว่างานจะเส็จสิ้น

แต่ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ทุกวันนี้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดงานศพตามแต่รสนิยมของเจ้าภาพซึ่งรวมถึง…พวงหรีด ด้วย

คุณเต้าหู้ กับ ผลงานพวงหรีด “ห่วงยาง ห่วงใย”

“พอพูดถึงพวงหรีด คนส่วนใหญ่จะนึกถึงอะไรที่เป็นทรงกลมๆ มีดอกไม้ประดับ แต่ด้วยความคนที่ชอบทำงาน DIY  นำสิ่งของต่างๆมาผสมผสานให้เป็นของใหม่ขึ้นมา เลยอยากทำพวงหรีด จากตุ๊กตาตัวหนึ่งที่แทนความหมายของคำว่าห่วงใย และไม่อยากให้เศร้าเลยทำรูปแบบสีสันสดใส สนุกสนาน ทำให้หายเศร้า สะท้อนว่าอย่าเศร้าเลย มีชีวิตต่อไปเถอะ คนที่อยู่ก็ยังดำเนินชีวิตต่อ” คุณเต้าหู้ – ณฤต เลิศอุตสาหกูล นักออกแบบอิสระในนาม HOO DIY  ชายหนุ่มผู้หลงรักงาน DIY เป็นชีวิตจิตใจ ดีกรีปริญาตรีและโท สาขาออกแบบตกแต่งภายใน คณะมัณฑณศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เริ่มต้นบทสนทนา

ก่อนเล่าให้ฟังต่อว่า พวงหรีดที่ทำจากห่วงยางสีชมพูอยู่บนหัวตุ๊กตา ที่เกริ่นถึงนั้น ให้ชื่อว่า Tube Doll หรือ ตุ๊กตาเป็นห่วง เป็นงานศิลปะในแบบของเขา ที่ส่งเข้าร่วมแสดงในนิทรรศการงานศิลปะ ซึ่งจัดไปเมื่อไม่นานมานี้ โดยนิทรรศการดังกล่าว มีนักออกแบบกว่า  20 ชีวิต มาร่วมกันออกแบบผลงานศิลปะรูปทรงพวงหรีด ช่วยเตือนสติให้ผู้ชมงานดำเนินชีวิตด้วยความไม่ประมาท

เมื่อถามว่าพวงหรีดในแบบ “ฉีกกรอบ”จากแบบเดิมๆที่นำมาจัดแสดงกันนั้น สามารถนำไปใช้งานหรือผลิตขายได้จริงหรือไม่ คุณเต้าหู้ ให้ความเห็นว่า พฤติกรรม มุมมองของคนสมัยนี้เปลี่ยนแปลงไปเป็นไปจากเดิม การสร้างสรรค์สิ่งใหม่เกิดขึ้นอยู่เสมอ

อย่างผลงานพวงหรีด Tube Doll มีข้อดีคือ ประหยัดพื้นที่การขนส่ง แค่เป่าลมให้พอง เสียบปลั๊กต่อไฟกระพริบให้สวยงาม แล้วนำมาตั้งในงานศพหรืออาจนำมาใช้ใหม่อีกครั้งได้ สามารถไปต่อยอดเป็น knock down สามารถถอดได้เป็นท่อนๆ แล้วเอาไปประกอบทีหลังได้ เปลี่ยนแนวคิดว่าพวงหรีดต้องมีในลักษณะดอกไม้ตกแต่งเท่านั้น

และหากมีใครอยากทำออกมาขายจริง อยากให้ใช้วัสดุเหลือใช้ ไม่มีต้นทุนมาก แต่ถ้าเป็นต้นทุนจริงๆมีตัวห่วงยาง หาได้ทั่วไปราคา 50-60 บาท ขึ้นอยู่กับสีสัน แต่ถ้าจ้างพิมพ์ลวดลายพิเศษ มีช่อดอกไม้ประดับหรือ เพิ่มช่องให้ใส่คำไว้อาลัย สามารถเพิ่มมูลค่าได้ ต้นทุนอาจอยู่ราว 100-500 บาท ขึ้นอยู่ปริมาณในการผลิต

หรือหากคนที่อยู่ไกลอาจจัดส่งพวงหรีดในรูปแบบพัสดุ เมื่อถึงงานสามารถหยิบขึ้นมาเป่า เหมือนกับงานแต่งงานที่ส่งการ์ดเป็นอีเมล์หรือเฟซบุ๊กแทนการใส่ซองทำให้สะดวกมากยิ่งขึ้น

ส่วนในแง่ของการประหยัดวัสดุ พวงหรีดทั่วไปที่ประดับด้วยดอกไม้ติดกับโฟมเมื่องานจบใช้แล้วทิ้งไป ไม่สามารถนำมารีไซเคิลใหม่ได้ แต่หากเป็นห่วงยางสามารถนำมาใช้ใหม่ได้ในงานอื่นๆ อาจให้วัด หรือบริจาคให้กับเด็กๆได้ใช้ประโยชน์ ในการนั่งเรือหรือว่ายน้ำ ซึ่งคิดว่าสามารถทำขึ้นได้จริงในอนาคต แต่การนำไปมอบในงานศพนั้นๆ ต้องคำนึงถึงกาลเทศะและเจ้าภาพที่จัดงานว่าเห็นด้วยหรือไม่

“ทุกวันนี้ หลายคนไม่มีเวลาไปงานศพ จึงจำเป็นต้องไปจ้างทำพวงหรีด ซึ่งพวงหรีดของทุกคนก็คล้ายกันไปหมด ไม่ได้บ่งบอกถึงรายละเอียดความรู้สึกที่มอบให้ไปตรงนั้น แต่ถ้าได้ทำเองมันเป็นการใส่ใจลงไปยิ่งมีคุณค่ามากกว่าใช้เงินไปซื้อพวงหรีดมามอบให้”คุณเต้าหู้ ว่าอย่างนั้น

ท้ายสุด ศิลปินหนุ่ม ให้แง่คิดไว้ด้วยว่า การออกแบบพุทธศิลป์ในเชิงพาณิชย์ เป็นเรื่องของการออกแบบบนฐานของความเชื่อ การตลาด ซึ่งมีอยู่ในตัวมนุษย์อยู่แล้ว ในยุคใหม่ สินค้าของใช้ ที่เกี่ยวกับพุทธศิลป์นั้น ย่อมเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย อาจเกิดสิ่งใหม่ได้ทั้งในแง่ดีและไม่ดี  แต่หลักสำคัญที่สุด ควรเลือกใช้และเลือกทำให้เหมาะกับเหตุและผลรวมทั้งแก่นของศาสนาด้วย

ท่านใดอยากได้คำแนะนำดีๆจากนักอออกแบบรุ่นใหม่ท่านนี้ เผื่อบางทีอาจนำไปต่อยอดเป็นธุรกิจ

ติดต่อพูดคุย  ไปได้ที่ อีเมล [email protected] Facebook / Hoo DIY และ อินสตาแกรม / hoo_diy