นี่ไง การค้ายุค 4 จี !! “ปลากุเลาทองแม่แป้นตากใบ” แพ็คเกจชิคๆ ขายผ่านเฟซบุ๊ก หมดปัญหาการตลาด

มีสินค้าพื้นเมือง สินค้าท้องถิ่นหลายเจ้า ที่ทำกันมาตั้งแต่รุ่นคุณย่า คุณยาย สูตรลับ เทคนิคส่งต่อมาที่คุณแม่ พอมาถึงรุ่นลูก เจนที่ 3  ก็นำสินค้าครอบครัว มาสร้างจุดแข็ง  ตั้งแต่ตัวสินค้า คือเป็นสินค้าสูตรเก่า ดั้งเดิม ได้รับความนิยมในชุมชน จากนั้นนำมาใส่การตลาดคือ ปรับแพ็คเกจจิ้ง ทำสินค้าให้อยู่ระดับพรีเมี่ยม  และเปิดตลาดให้กว้างขึ้นด้วย การขายผ่านโซเชียล

“ปลากุเลาทองแม่แป้นตากใบ” เป็นอีกหนึ่งสินค้า ที่ผ่านขั้นตอนเหล่านี้

คุณปัญจพร พันธเสน  หรือคุณกล้วย วัย 30 ปี  ทำงานเป็นสถาปนิกที่บริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ในกรุงเทพมหานคร แต่มีกิจการครอบครัว ที่ทำกันมาตั้งแต่รุ่นคุณยาย คือปลากุเลาทองตากแห้ง ที่ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส

คุณกล้วย เล่าให้ฟังว่า อาม่า หรือคุณยาย ทำปลากุเลาทองตากแห้งมาตั้งแต่สมัยสาวๆ (ขณะนี้ คุณยาย อายุ 80 ปีเศษ)   ทำขายในชุมชน จากนั้นก็เว้นช่วงไปพักใหญ่ๆ

จนเมื่อราวปี 2552-2553 คุณแม่ของคุณกล้วย เริ่มกลับมาเรียนรู้เรียนรู้อีกรอบจากภูมิปัญญาดั้งเดิมของอาม่า

คุณกล้วย เล่าว่า ”อันนี้ เป็นสูตรของชาวจีนที่ตากใบ อาม่าของกล้วย ได้มาจากอาม่าข้างบ้านอีกที ก็เริ่มทำขายแถวๆบ้าน   ราคายังไม่สูง เพราะปลาสดราคาไม่แพง ตอนนั้นอาม่าทำปลาทู และปลาอินทรีย์ด้วย    เมื่อ 7-8 ปีที่แล้ว คุณแม่ก็นำมาทดลองทำใหม่ โดยใช้สูตรของอาม่า คือ และทำแบบไม่เค็มเกินไป รวมทั้งป้องหนอนแมลงวันโดยไม่ใช้สารเคมี”

คุณกล้วย เล่าให้ฟังถึง กระบวนการทำว่า ได้ปลาสดมาแล้ว ต้องล้างให้สะอาด ขอดเกล็ด  หมักเกลือ ซึ่งเกลือที่ใช้ก็สำคัญมาก ต้องเปลี่ยนบ่อยๆ ไม่เช่นนั้น ข้างใต้เกลือจะมีหนอน (คุณกล้วยว่า เกลือเป็นหนอนนี่ มีจริง!!)  จากนั้นเอามาหมัก แล้วตากแดด โดยใช้มุ้งกันอีกชั้นหนึ่งเพื่อป้องกันหนอน ตากจนได้ที่ มีสีเหลืองจากไขมันปลา ดังที่เรียกว่า ปลากุเลาทอง

“ทำช่วงแรกๆ  เราก็แจกญาติ เพื่อนๆ เพื่อทดสอบรสชาติก่อน จนรสชาติได้ที่ จึงเริ่มออกขาย แถวๆ บ้าน   ปากต่อปาก ไปเรื่อยๆ  เพิ่งจะขายผ่านโซเชียลเมื่อ 2-3 ปีมานี้เอง ซึ่งก็ช่วยขยายตลาดได้มาก”

สำหรับปริมาณการทำ คุณกล้วย เล่าว่า ถ้ามีปลาเยอะ ในฤดูกาลช่วงปลายปี  ครั้งหนึ่ง 20-40 กิโลกรัม ทำเสร็จ โพสต์ขายผ่านเฟซบุ๊ก แป๊บเดียวก็ขายหมด  แต่ปัญหาคือปลาในพื้นที่อ.ตากใบ มีไม่มาก ปริมาณปลาไม่เยอะเหมือนสมัยก่อน

ราคาขาย กิโลกรัมละ 1500 บาท (ขีดละ 150 บาท) ค่าส่งอีเอ็มเอส ทั่วประเทศ คิดตามน้ำหนักกิโลกรัมละ 100 บาท

ขนาดปลาโดยทั่วไปอยู่ที่ ตัวละ 2-3 ขีด หรือบางตัวก็โตขนาด 7-8 ขีด ขนาดใหญ่ๆ แบบนี้ ลูกค้ามักซื้อไปฝากกัน

คุณกล้วยบอกว่า เนื่องจากปริมาณปลาสดในพื้นที่มีไม่มาก ดังนั้น สินค้าขึ้นกับวัตถุดิบจริงๆ ถ้ามีสินค้าอยู่แล้ว สั่งวันนี้ พรุ่งนี้ก็ได้เลย แต่ถ้าไม่มีอาจะต้องรอ 2 สัปดาห์ – นานเป็นเดือน  ดังนั้น คุณกล้วย จะรอให้มีสินค้าก่อน จึงจะโพสต์ขายที่หน้าเฟซบุ๊ก หรืออีกทางหนึ่งคือ ลูกค้าพรีออเดอร์เข้ามาล่วงหน้า

อย่างที่กล่าว ข้างต้น คุณกล้วย นับเป็น ทายาทรุ่นที่ 3 สำหรับกิจการในครอบครัวนี้ ด้วยเหตุที่เธอเรียนมาทางด้านการออกแบบ ก็ช่วยออกแบบแพ็คเกจจิ้ง สินค้าดูดีขึ้น และคิดว่า ต้องการขยายให้มากขึ้น เช่น ส่ห้างสรรพสินค้า หรือส่งออกต่างประเทศ แต่ก็ยังติดปัญหาที่ วัตถุดิบหลักคือปลาสด

“ตอนนี้ เราทำขายในพื้นที่ และขายผ่านเฟซบุ๊ก ก็ทำไม่ทันแล้ว  แต่จริง คิดไว้เหมือนกันว่า อยากจะกลับไปดำเนินการ สานต่อ  ดูๆ อยู่ ว่าจะทำยังไงให้โตขึ้นกว่านี้ จะมีผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกันมั้ยเช่นปลาอินทรีย์ หรือปลาทู เป็นต้น”

คุณกล้วย บอกให้ฟังถึงความแตกต่างระหว่างปลากุเลา และปลาอินทรีย์ ว่า ปลากุเลา โตในน้ำกร่อย เนื้อจะหอมและนิ่ม   ส่วนปลาอินทรีย์อยู่ในน้ำทะเล เนื้อร่วนซุย แข็ง

“ราคา ปลากุเลา ในช่วงนี้จะแพง เพราะว่ามีกรรมวิธี ยุ่งยากกว่า อย่างถ้ามีหนอนเกิดขึ้นมานิดนึง เราจะใช้พริกไทยตำ โรย มันร้อน หนอนอยู่ไม่ได้  อีกวิธีหนึ่ง ใช้มือเขี่ยเลย คือเราสร้างความมั่นใจว่า เราไม่ใช้สารเคมี ส่วนการเก็บรักษา  ถ้าลูกค้าซื้อไป ต้องการเก็บให้นานขึ้น ล้างให้สะอาด  ผึ่งแดดพอแห้ง เอากระดาษขาวก่อ ใส่กล่อง แช่ช่องฟรีซ เก็บนาน 2-3 เดือน ช่องธรรมดา 1-2 เดือน”

และนี่เป็นเรื่องราวของ การรับช่วงต่อทางธุรกิจ ของกิจการระดับครอบครัว ซึ่งเมื่อมาถึงยุค 4.0 จี ก็ใส่การตลาดและการขายรูปแบบใหม่เข้าไป ผนวกกับความเป็นของดีดั้งเดิมระดับชุมชน  ซึ่งวิธีการและขั้นตอนเหล่านี้ ยังนำไปใช้ได้อีกในหลายๆสินค้า

สนใจติดต่อ ได้ที่   เลขที่ 66/1 หมู่ 4 ต.เจ๊ะเห อ.ตากใบ จ.นราธิวาส 96110 โทร. 089-1229377

หรือเข้าไปดูรายละเอียดที่    เพจปลากุเลาทองแมแป้นตากใบ

 

ขอบคุณภาพ จากเพจ ปลากุเลาทองแม่แป้นตากใบ