ติดตั้งระบบ “โซลาร์เซลล์” ธุรกิจเสริมทำเงินของอดีตหัวหน้าชุดทหารพราน

“เส้นทาง” ของอดีต “รั้วของชาติ” หลังจากปฏิบัติหน้าที่อย่างสมภาคภูมิ เจ้าของเรื่องราวนับจากนี้

เริ่มต้นจากการเป็นเกษตรกร ทำสวนกาแฟ ปลูกมะคาเดเมีย กล้วย มะนาว ฯลฯ บนที่ดินซึ่งได้รับการจัดสรรจากโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ขนาด 5 ไร่

ถัดจากนั้นไม่นาน ช่วยกัน 2 คนกับภรรยา เลี้ยงตัวด้วยเงินบำนาญ ก่อนจะสร้างเพิงไม้เล็กๆ ขายกาแฟสด-อาหารเช้า ให้กับบรรดานักท่องเที่ยวแถวสี่แยกรื่นฤดี ที่อำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์

ทำมาได้เกือบ 20 ปี กิจการเติบโตขึ้นตามลำดับ ปัจจุบันเริ่มอยู่ตัว หัวหน้าครอบครัวอดีตรั้วของชาติ ในวัย 50 ปีเศษ จึงมองหาอาชีพใหม่ ที่อาจเป็นงานสร้างรายได้ สามารถมาจุนเจือครอบครัวได้อีกทาง

และงานใหม่ในแบบที่เขาเลือกทำครั้งนี้ มี “รอยทาง” แห่งการ “พึ่งพาตนเอง” ให้เดินตามอย่างแน่วแน่และมั่นคง

คุณอาร์ต-ส.อ. ยุทธการ สมมุติวงษ์ อดีตหัวหน้าชุดทหารพราน กรมทหารพรานที่ 34 กองทัพบก ปัจจุบันเป็นข้าราชการบำนาญที่มีสวนเกษตรและร้านกาแฟเล็กๆ เป็นของตัวเอง

กรุณาสละเวลามาพูดคุยกันด้วยอัธยาศัยยิ้มแย้ม เริ่มต้นให้ฟัง ถึงที่มาของคำว่า “ธุรกิจเพื่อการพัฒนา” ในแบบของเขา

“ที่ผ่านมามีโอกาสเรียนรู้แนวทางเกษตรทฤษฎีใหม่ ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงของพระเจ้าแผ่นดิน ในหลวงรัชกาลที่ 9 และมีโอกาสได้เรียนรู้การพึ่งพาตนเองในหลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องของพลังงานทดแทน” คุณอาร์ต เกริ่นนำ

ก่อนบอกต่อ ในราวปี 2553 มีโอกาสได้ศึกษาเรื่องของ “โซลาร์เซลล์” หรือ ระบบพลังงานแสงอาทิตย์ อย่างจริงจังจาก คุณไพรัช ตะไบ บุคลากรคนสำคัญในพื้นที่อำเภอเขาค้อ ที่ทำเกษตรตามแนว “โคก-หนอง-นา โมเดล” หนึ่งศาสตร์สำคัญตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง

“คุณไพรัช และอาจารย์อีกท่านหนึ่ง ซึ่งมีความเชี่ยวชาญเรื่องพลังงานทดแทน เข้ามาให้ความรู้อยู่หลายครั้ง พวกเขาบอกถึงข้อดีของพลังงานทดแทน โดยเฉพาะเรื่องโซลาร์เซลล์หรือพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งทุกวันนี้ มีเครื่องมือทันสมัย อย่าง หม้อแปลงที่สามารถผันกระแสจากโซลาร์เซลล์มาสู่ระบบไฟบ้าน สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายลงได้จริง และกำลังเป็นที่ต้องการของชุมชนหลายแห่ง” คุณอาร์ต ย้อนถึงจุดเริ่ม ที่ผลักดันให้เขาก้าวเข้าสู่วงการโซลาร์เซลล์ แบบเต็มตัว

จากนั้น เขาจึงขวนขวายหาความรู้หลายแหล่ง ทั้งจากในตำรา อินเตอร์เน็ต ครูพักลักจำ รวมทั้งการลงมือแบบทำไปเรียนรู้ไปพร้อมกัน

“ตอนเป็นทหาร เคยเรียนหลักสูตรการเก็บกู้ระเบิด ซึ่งจะมีวิชาเกี่ยวกับไฟฟ้า ทำให้มีความรู้ด้านไฟฟ้าขั้นพื้นฐานบ้าง และเรื่องกู้ระเบิดถ้าพลาดอาจถึงตายหรือพิการยังผ่านมาได้ จึงเชื่อว่างานโซลาร์เซลล์นี้ไม่น่ายาก แต่ถ้าเรื่องไหนที่ไม่รู้จะอาศัยถามผู้รู้ไปเรื่อยๆ” คุณอาร์ต ว่าอย่างนั้น

เริ่มต้นนับหนึ่งด้วยการรับงานจากเพื่อนๆ ที่กล้าให้ทดสอบฝีมือ แต่ไม่จ่ายค่าตัว คุณอาร์ตเต็มใจทำให้แบบสุดความสามารถเพราะอยากมีโอกาสฝึกฝน

ทำอยู่อย่างนั้นนานเป็นปี จึงมี “ลูกค้า” ติดต่อให้ไปรับผิดชอบโครงการซ่อมแซมโคมไฟถนนระบบโซลาร์เซลล์ ขององค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) แห่งหนึ่งในจังหวัดลพบุรี เขากับหุ้นส่วนอีก 1 คน จึงพากันไปรับงานดังกล่าว ปรากฏทุกอย่างลุล่วงไปด้วยความเรียบร้อย ภายในเวลา 1 สัปดาห์

ประเดิมการทำธุรกิจ ติดตั้ง-ซ่อมแซม-วางระบบ โซลาร์เซลล์ แบบแจ้งเกิดเต็มตัว ผลงานเป็นที่พอใจ จนมีการบอกต่อ

หลังจากนั้นมีผู้ว่าจ้างเข้ามาเป็นระยะ ส่วนใหญ่เป็นโครงการของหมู่บ้านต่างๆ ซึ่งมี “งบประชารัฐ” เข้ามาช่วยสนับสนุนในเรื่องของพลังงานทดแทน

“จนถึงวันนี้ รับมาหลายสิบงานแล้ว แต่ที่รู้สึกภูมิใจคือ ได้เข้าไปติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์ เพื่อใช้กับระบบประปาหมู่บ้าน ซึ่งก่อนจะทำการติดตั้ง ชาวบ้านแต่ละหมู่บ้าน จะมีภาระในเรื่องค่าไฟฟ้าในการนี้สูงมาก แต่การจัดเก็บขาดทุนตลอด

ยกตัวอย่าง เดือนหนึ่งเสียค่าไฟฟ้า 5,000 บาท แต่สามารถเก็บเงินจากสมาชิกผู้ใช้น้ำประปาในหมู่บ้านนั้นๆ ได้เพียง 3,000 บาทบ้าง 4,000 บาทบ้าง เป็นการขาดทุนสะสม หนำซ้ำยังไม่มีงบซ่อมบำรุงระบบใดๆ อีก” คุณอาร์ต เล่าอย่างนั้น

ส่วนที่ว่าเป็นงานที่รู้สึกภาคภูมิใจนั้น เพราะมีโอกาสได้ช่วยเหลือ ได้เปิดหูเปิดตาคน ว่าเรื่องพลังงานทดแทนนั้นเป็นไปได้จริงๆ มีตั้งแต่ระดับเล็กสุดคือ นาฬิกา ไล่ไปจนถึงระดับหมู่บ้าน แต่ต้องมีการออกแบบที่เหมาะสม ซึ่งที่ผ่านมาเรื่องเหล่านี้ผู้บริโภคหลายคนยังไม่ค่อยรู้

ถามถึงรายได้จากงานนี้ มีมากน้อยแค่ไหน คุณอาร์ต บอก พลังงาน เป็นสินค้ามีมูลค่า เป็นสินค้าเทคโนโลยี ซึ่งต้องใช้ความสามารถ ค่าใช้จ่ายต่อหน่วยจึงค่อนข้างสูง เพราะมีค่าวิชาความรู้ ค่าเสี่ยง ค่าความปลอดภัย ในการทำงาน ฯลฯ

รายละเอียดเหล่านี้ เขาจึงต้องอธิบายให้ผู้ว่าจ้างเข้าใจว่า หลังจากทำการติดตั้งวางระบบแล้ว จะมีการรับประกันกี่ปี มีภาระผูกพันในการดูแลตลอดอายุการใช้งานหรือไม่ เรื่องไหนลูกค้าไม่รู้ต้องแนะนำ ออกแบบให้เขา และมีหลายครั้งที่ต้องยอมลดกำไรส่วนหนึ่ง ทั้งที่ไม่มีในเงื่อนไข เพื่อให้งานออกมาดีที่สุด

“ธุรกิจเชิงพัฒนา ต้องเอาความรู้ที่มีไปช่วยคนอื่น การที่เรารู้แล้วไม่ได้ช่วยใครเลย เหมือนกับรู้ไปอย่างนั้น อย่างน้อยผมเคยเป็นทหาร ผ่านงานสาหัสสากรรจ์ จึงนำบทบาทเคยเสียสละ เข้าไปสู่บทบาทในยามที่เป็นพลเรือนด้วย” คุณอาร์ต บอกจริงจัง

เมื่อถามถึงปัญหาอุปสรรคในการทำธุรกิจพลังงานทดแทน เจ้าของเรื่องราว บอก อุปกรณ์เกี่ยวข้องยังมีราคาสูง ตั้งแต่หลักหมื่นถึงหลายแสนบาท ลูกค้าจึงมักต้องเป็นกลุ่มมีกำลังซื้อ เล็งเห็นประโยชน์ และมีความพร้อม อย่างโรงงาน ชุมชน หรือองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ ส่วนตามหมู่บ้าน หากจะมีกำลังซื้อ คงต้องรองบภาครัฐเข้ามาสนับสนุนอีกทางหนึ่ง

“พลังงานทดแทน หากเปรียบเป็นสินค้าทั่วไป พูดได้ว่าซื้อยาก แต่ขายได้ มีคนซื้อทุกวัน ขึ้นอยู่กับลูกค้าจะไว้วางใจใคร เพราะทุกวันนี้ยังไม่มีกติกาควบคุมอะไรมากนัก ผู้ให้บริการอย่างผม ซึ่งมีอยู่หลายราย ก็ต้องทำงานให้ได้มาตรฐาน ยืนหยัดในความจริงใจ แล้วเวลาจะบ่มเพาะ ทำให้สังคมรู้เองว่าเราไม่ได้หลอกและทำด้วยความมีสปิริต” คุณอาร์ต ว่ามาอย่างนั้น

ถามถึงความตั้งใจในอนาคต สิบเอกอดีตรั้วของชาติท่านนี้ บอก อยากสร้างบุคลากรด้านนี้ให้มีมากขึ้น เพื่อจะได้ช่วยการขยายฐานองค์ความรู้เรื่องพลังงานทดแทนให้กว้างออกไป ซึ่งล่าสุดได้รับเชิญให้เป็นที่ปรึกษาด้านพลังงานทดแทนของกลุ่มทหารผ่านศึก จังหวัดเพชรบูรณ์ ด้วย

“ธุรกิจเชิงพัฒนา ทำให้คนไม่ต้องมีการแย่งทรัพยากร สามารถพึ่งพาตัวเองได้ ยิ้มแย้มเข้าหากัน เพราะไม่เดือดร้อน อย่าง ประปาหมู่บ้าน จากเคยขาดทุนทุกเดือน มาเป็นเหลือเก็บ ชาวบ้านก็มีความสุข พวกเขาชื่นชมเราบ้าง ความภูมิใจมันอยู่ตรงนี้” คุณอาร์ต บอก ก่อนยิ้มกว้าง ส่งท้าย

การติดตั้ง-วางระบบ-ซ่อมแซม ระบบโซลาร์เซลล์นั้น ไม่สามารถระบุค่าใช้จ่ายตายตัวได้ว่า ต้องมีงบเท่าไหร่ถึงจะเหมาะสม เพราะต้องพิจารณาปัจจัยหลายอย่างประกอบกัน เช่น พื้นที่ตั้ง รูปแบบการใช้งาน กำลังวัตต์ที่ต้องการ ฯลฯ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ แต่ละผู้ว่าจ้างย่อมมีความแตกต่างกันไป

ฉะนั้น การ “ดูหน้างาน” และทำการพูดคุยและตกลงให้เข้าใจตรงกัน ระหว่างผู้ว่าจ้างและผู้ติดตั้ง-วางระบบ จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่สุด

ท่านใดอยากได้คำปรึกษาเรื่องการติดตั้งวางระบบโซลาร์เซลล์เพิ่มเติม สอบถาม คุณอาร์ต-ส.อ. ยุทธการ สมมุติวงษ์ ได้ที่ โทรศัพท์ (089) 856-9257 หรือ Facebook/อาร์ต สมมุติวงษ์