“อัฐิมณี” เมื่อเถ้ากระดูก กลายมาเป็น….เครื่องประดับแทนใจ

บริษัท ไมนด์มณี จำกัด จดทะเบียนพาณิชย์พร้อมกับยื่นจดสิทธิบัตรในปี พ.ศ.2555

มี “อัฐิมณี” เป็นสินค้าหลัก ซึ่งได้รับการจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายการค้าในเวลาถัดมาเรียบร้อยแล้ว

อัฐิมณี เป็นนวัตกรรมในการแปรรูปเถ้าอัฐิของผู้ล่วงลับ ให้มีความสวยงาม สามารถนำมาเป็นเครื่องประดับได้  โดยใช้การแปรรูปผ่านเทคนิควิธีทางวัสดุศาสตร์ในการผนึกอนุภาคเถ้ากระดูก 100%      ที่ผ่านการเผาและบดละเอียดให้มีเนื้อแน่น ผ่านการใช้ความร้อนที่อุณหภูมิสูงและไม่มีสารเคมีใดๆ เหลือปะปนมาจากกระบวนการผลิต

ช่วยให้การเก็บรักษาเถ้าอัฐิของผู้ล่วงลับมีความสะดวก เก็บรักษาได้ง่าย สามารถพกพาติดตัวไปได้ทุกที่ทั้งในลักษณะเปิดเผย และปกปิดเป็นการส่วนตัว สามารถใช้ร่วมในโอกาสพิเศษ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การทำบุญอุทิศส่วนกุศลแด่ท่านเจ้าของอัฐินั่นเอง

 

ดร.กุลจิรา สุจิโรจน์ ผู้ก่อตั้ง บริษัท ไมนด์มณี  จำกัด  วัยสี่สิบเศษ  เจ้าของสิทธิบัตร  นวัตกรรม “อัฐมณี”   เริ่มต้นให้ฟัง จบการศึกษาระดับปริญญาเอกด้านวัสดุศาสตร์ ในฐานะนักเรียนทุนของกระทรวงวิทยาศาสตร์  และทำหน้าที่นักวิจัยประจำสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.) อยู่หลายปี ปัจจุบันลาออกมาทำธุรกิจส่วนตัวแล้ว

ส่วนที่มาของ “อัฐมณี” นั้น จุดเริ่มเกิดขึ้นเมื่อราวหกปีก่อนหน้านี้ หลังจากคุณพ่อเสียชีวิต เธอจึงใช้ความรู้ที่ร่ำเรียน ทดลองนำอัฐิของท่านมาทำการแปรรูปเพื่อให้มีรูปทรงที่สวยงาม เก็บรักษาได้ง่าย และพกพาติดตัวไปได้สะดวก

ใช้เวลาอยู่พักใหญ่ ได้อัฐิมณี ที่นำรูปภาพไปติดไว้ ให้ระลึกถึง 3 ชิ้น สามารถแบ่งให้คน ในครอบครัวและตัวเธอเองพกติดตัวไว้ตลอด เวลาเดินทางไปเที่ยว ไปทำบุญ ก็จะมีอัฐมณีตัวแทนคุณพ่อของเธอร่วมอยู่ด้วยทุกครั้ง
“อัฐิมณี นอกจากจะช่วยบรรเทาความทุกข์จากความพลัดพรากครั้งใหญ่แล้ว ยังช่วยให้มีสติระลึกได้ถึงความจริงที่ทุกคนต้องประสบ คือ วันหนึ่งเราก็ต้องจากไปอย่างไม่มีวันกลับเช่นกัน ทำให้เราเลือกใช้ชีวิตที่เหลืออย่างมีคุณค่า ที่เป็นประโยชน์กับตนเอง  คนรอบข้าง และกับสังคม”ดร.กุลจิรา เผย

เบื้องต้นไม่คิดทำเป็นธุรกิจ แต่พอทำออกมาแล้ว หลายคนเห็นว่ามีประโยชน์ และยังไม่มีใครทำมาก่อน  น่าจะเป็นสินค้าใหม่ ที่ช่วยส่งเสริมคุณธรรมในจิตใจ ความกตัญญู ความรักผูกพันในครอบครัว เลยตัดสินใจลงทุน

อย่างไรก็ตาม เท่าที่ลองสำรวจตลาด พบก่อนหน้านี้มีบริษัทต่างชาติ เข้ามาจดสิทธิบัตรการแปรรูปอัฐิในเมืองไทยก่อนแล้ว แต่ขั้นตอนการทำมีการผสมแก้ว ดิน ปูน เรซิ่น  ให้ออกมาเป็นรูปทรงลูกปัด เป็นศิลปะสไตล์จีน-เกาหลี

แต่สำหรับ“อัฐมณี”ในแบบของบริษัท ไมนด์มณีฯนั้น เป็นการนำเถ้าอฐิร้อยเปอร์เซ็นต์ ไปผ่านกระบวนการแปรรูปทำให้เป็นอัฐิมณี โดยไม่มีการใส่สารผสมใดๆลงไปทั้งสิ้น

อัฐมณีที่ได้ออกมาจึงเป็นตัวแทนของผู้ล่วงลับอย่างแท้จริง เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของแต่ละบุคคล เพราะทั้งสีและลักษณะพื้นผิวที่ได้ ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบทางเคมีของเถ้าอัฐิของบุคคลนั้นๆ

ดร.กุลจิรา อธิบายด้วยว่า  เนื่องจากกระดูกและฟันของคนเรา จะมีองค์ประกอบอนินทรีย์หลัก คือ  ไฮดรอกซีอะพาไทท์   ซึ่งเมื่อผ่านการเผาในอุณหภูมิสูง จะสูญเสียสารอินทรีย์ที่อยู่ในรูพรุน และน้ำในผลึกจะระเหยไป เหลือเป็นอัฐิ ที่มีโครงสร้างคล้ายกับ อะพาไทท์ ซึ่งเป็นผลึกแร่ตามธรรมชาติ

ซึ่งผลึกอะพาไทท์ตามธรรมชาตินั้น มีหลายสี เช่น สีน้ำทะเล ฟ้า ม่วง เหลืองอมน้ำตาล ชมพู ขึ้นอยู่กับแหล่งและสารมลทินที่ประกอบในผลึกนั้นๆ

ในทำนองเดียวกันอัฐิที่ผ่านการเผาแล้วของแต่ละบุคคล ก็จะมีลักษณะทางกายภาพ และสีต่างๆ กัน ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น อายุ สุขภาพ อุปนิสัยการกินอาหาร ธรรมเนียมประเพณี ตลอดจนสภาวะการเผา เป็นต้น

ดังนั้น อัฐิมณี  จึงสามารถแสดงอัตลักษณ์ของแต่ละบุคคล และเป็นสิ่งแทนบุุคคลนั้นได้อย่างแท้จริง  เป็นทางเลือกใหม่ สามารถนำมาออกแบบให้เหมาะกับการใช้งานได้หลายลักษณะ

สำหรับการทำสินค้านวัตกรรมนี้ให้เป็นที่รู้จัก ดร.กุลจิรา บอก เป็นเรื่องยากพอสมควร เพราะเป็นนักวิจัยมาตลอด ไม่เคยทำธุรกิจมาก่อน จึงไม่ค่อยถนัดเรื่องการตลาดหรือประชาสัมพันธ์มากนัก  คงต้องใช้เวลาอีกระยะกว่าที่ลูกค้าจะเข้าใจและมีความต้องการซื้อ

“ช่วงแรกไม่ค่อยมีลูกค้าเท่าไหร่ แต่มาระหลังเริ่มมีคนถามไถ่  เริ่มรู้จัก และเข้าใจมากขึ้น  แต่ถ้าจังหวะไม่เอื้อ อัฐิมณีคงเป็นสินค้าไกลตัว ระหว่างนี้จึงเริ่มประชาสัมพันธ์ผ่านเว็บไซต์ วางแผ่นพับตามวัดเป้าหมาย ประสานข้อมูลกับบริษัทรับจัดงานศพ  ออกงานแฟร์ และจะเริ่มบุกตลาดต่างประเทศ”ดร.กุลจิรา เผย

ก่อนบอกถึงการนำสินค้าอัฐมณี ไปเสนอยังตลาดต่างประเทศด้วยว่า  ตั้งเป้าไว้ที่ ประเทศสหรัฐอเมริกา และทวีปยุโรป เพราะปัจจุบัน พื้นที่ทั่วโลกสำหรับใช้เป็นสุสานในการฝังศพตามความเชื่อทางศาสนาคริสต์ นับวันมีแต่จะหมดไป  ประเทศตะวันตกกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ จึงเริ่มมีการเผา ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการฝังในสหรัฐอเมริกาสูงถึงหนึ่งหมื่นดอลล่า แต่ถ้าใช้การเผาจะถูกกว่าสิบเท่า แต่เนื่องจากพวกเขาไม่มีวัฒนธรรมงานศพแบบนี้มาก่อน ส่วนใหญ่เลยไม่รู้จะจัดการอย่างไรกับอัฐิที่เหลือ ตลาดในประเทศเหล่านี้ จึงเปิดกว้างมาก

อัฐมณี จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับผู้ต้องการนำอัฐิไปทำเป็นอนุสรณ์ในแบบต่างๆ เพื่อระลึกถึงผู้ล่วงลับ

 

อยากทำ “อัฐิมณี” ต้องทำอย่างไร

เลือกว่า ทำเม็ดอัฐิมณีเพียงอย่างเดียว หรือ ทำอัฐิมณีพร้อมตัวเรือน ตรวจสอบรูปแบบที่ต้องการและราคาจากเว็บไซต์  www.mindmani.com

เตรียมอัฐิ เลือกจากชิ้นอัฐิ ประมาณ 5 กรัม หรือ เมื่อบดแล้วจะได้ประมาณ 1 ช้อนโต๊ะ

กรอกแบบสั่งทำอัฐิมณี โอนเงิน แล้วส่งใบสั่งทำและใบโอนมาที่ e-mail: [email protected] หรือ [email protected] line & WhatsApp: Kool MindMani

อัฐิมณี มีขนาดมาตรฐานให้เลือก 3 ขนาด (สามารถเจียรนัยให้เล็กลงได้)
1/ แบบกลมเล็ก เส้นผ่าศูนย์กลาง 13 มม หนา 3 มม
2/ แบบกลมใหญ่ เส้นผ่าศูนย์กลาง 35 มม หนา 4 มม
3/ แบบสี่เหลี่ยม กว้าง 22 มม ยาว 22 มม หนา 3 มม