เส้นทางชีวิต! จากลูกกรรมกรแบกไม้ สู่เจ้าของ “ปิ้งย่าง”แบรนด์ดัง

เริ่มต้นสาขาแรกจนถึงปัจจุบันมาได้กว่า 18 ปีแล้ว สำหรับ “ยากินิกุ” หรือร้านเนื้อย่างสไตล์ญี่ปุ่น  แบรนด์ดังอย่าง “ไจแอนท์ส” ซึ่งก่อนหน้านี้เคยสร้างปรากฏการณ์ “ลูกค้าคอยคิว” จนนึกว่าแจกฟรี เรียกเสียงฮือฮาให้กับวงการร้านอาหารมาแล้ว

ทำให้หลายคนนึกสงสัย นักลงทุนต่างชาติ เข้ามาโกยกำไรเข้าประเทศตัวเองอีกแล้วหรือนี่

แต่ข้อเท็จจริงในประเด็นดังว่าก็คือ เจ้าของกิจการ “ขายดิบขายดี” เจ้านี้ไม่ใช่กลุ่มทุนใหญ่โตอะไร เป็นเพียงครอบครัวไทยเชื้อสายจีนไหหลำ หัวหน้าครอบครัวมีอาชีพหลักเริ่มต้นจากกรรมกรแบกไม้

ขณะที่ “ลูกชายคนโต” อยากมีกิจการเป็นของตัวเอง หวังสร้างรายได้มากพอจะ “ล้างหนี้” ให้กับครอบครัวได้…ก็เท่านั้น

คุณหนึ่ง-หนึ่งฤทัย ตวงโชคดี เจ้าของกิจการ วัยสี่สิบเศษ  พื้นเพเกิดที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา แนะนำตัวให้รู้จัก เรียนจบระดับ ปวช. ก่อนหน้านี้เคยทำงานมาแล้วสารพัด ทั้งเป็นเจ้าหน้าที่รถขนเงินของธนาคาร ขายประกัน ทำงานบริษัทก่อสร้าง ทำงานบริษัททางด่วน ฯลฯ สาเหตุที่เปลี่ยนงานไปเรื่อยๆ เพราะอยากค้นหาว่าชอบงานอะไรที่สุด

แต่ใจจริงลึกๆ แล้ว อยากค้าขาย มีกิจการร้านอาหารเป็นของตัวเอง เพราะมีฝีมืออยู่บ้าง ที่บ้านฐานะไม่ค่อยดีนัก “เด” หรือคุณพ่อ ในฐานะหัวหน้าครอบครัวทำงานเป็นกรรมกรแบกไม้เลี้ยงสมาชิกในบ้าน ด้วยความขยันขันแข็ง จึงได้เลื่อนขั้นเป็น “หลงจู๊” หรือผู้จัดการโรงไม้ แต่ไม่ได้มีรายได้มากมายอะไร หนี้สินจึงมีไม่น้อย ทำมาหาได้เท่าไหร่ก็ไม่สามารถปลดหนี้ได้สักที

ตอนอายุได้ 23 ปีเศษ เลยตัดสินใจหาทาง “ล้างหนี้” ให้กับครอบครัว ในฐานะลูกชายคนโต จึงตัดสินใจ จากบ้านไปหากินไกลถึงประเทศญี่ปุ่น

“ตอนนั้นคิดว่าถ้าจะหลุดจากหนี้ ต้องไปเป็นลูกจ้างต่างประเทศ เพราะทำงาน 8 ชั่วโมงเหมือนกันแต่ได้เงินมากกว่า เลยไปกับทัวร์ เพราะมีคนรู้จักที่นั่น ไปอาศัยเขาอยู่แบบโรบินฮู้ดคือ โดดวีซ่า ก่อนไปสมัครทำร้านอาหาร

ความจริงมีงานให้ทำเยอะ ทั้งก่อสร้าง โรงงานรถยนต์ ร้านอาหารไทย-ญี่ปุ่น แต่ผมเลือกทำร้านอาหาร เพราะมีข้าวให้กิน แม้เงินจะได้น้อยกว่า 2 เท่าตัว แต่ถ้าไปทำโรงงานรถยนต์ กลับบ้านไปไม่มีทางไปทำรถยนต์ได้ ก็ต้องเป็นลูกจ้างอีก แต่ถ้าจะทำอาหารอร่อย ต้องทำอยู่ในร้านอาหาร ถึงจะได้อะไรกลับไป” คุณหนึ่ง ย้อนความทรงจำ

สำหรับอาชีพเลี้ยงตัวในญี่ปุ่นของเขานั้น เริ่มจากเด็กล้างจานในครัว ล้างจานหลายร้อยใบวันละ 8 ชั่วโมง ไม่ได้เรียนรู้งานอย่างอื่น แต่สิ่งที่อยากเรียนรู้คือ การทำอาหาร เลยใช้เวลาที่เหลือ ไปฝึกงานอีกร้านหนึ่ง แต่คราวนี้เป็นการทำแบบไม่มีค่าจ้าง ขอแค่แลกกับอาหารเพียงมื้อเดียว

เพราะถ้ามัวแต่ทำงานล้างจาน ต้องใช้เวลาอีกกี่ปีกว่าจะไต่เต้าเป็นเชฟได้ เลยต้องทำงานวันละ 16 ชั่วโมง ทำงาน 2 ที่ ที่หนึ่งมีรายได้เลี้ยงตัว อีกที่หนึ่งเพื่อฝึกฝนวิชา

ส่วนร้านที่คุณหนึ่ง เข้าไปเรียนรู้การจัดการด้านครัวนั้น เป็นร้านเนื้อย่างที่เรียกกันว่า “ยากินิกุ” ซึ่งตลอดเวลา 3 ปีนั้น เขาได้เรียนรู้ในทุกรายละเอียด และยังทำให้เกิด “ทัศนคติใหม่” ในการทำงานอีกด้วย

“เวลาที่รุ่นพี่ไปกินข้าว ผมต้องล้างรองเท้า ขัดนู่น ขัดนี่ เซ็งมาก ทำไมต้องขัดตะแกรงคนเดียว แต่หัวหน้าบอกว่า นี่จะทำให้ร่างกายคุณแข็งแรงกว่าคนอื่น เพราะต้องนั่งยองๆ ขัดหิน กล้ามเนื้อทุกส่วนจะเตรียมพร้อมสำหรับการที่จะตัดเนื้อแข็งๆ เพราะเนื้อจะแช่แข็งมาแล้วต้องตัดตอนยังแข็ง ถึงจะไม่เสียรูป นี่เป็นการปลุกร่างกาย คุณต้องขอบคุณที่คนอื่นไม่มาแย่งคุณขัดนะ” คุณหนึ่ง เล่าประสบการณ์เมื่อครั้งนั้น

ชีวิตในญี่ปุ่น กำลังไปได้สวย เลยยังไม่คิดกลับบ้าน เพราะเงินเก็บยังมีไม่มากมายอะไร แต่อยู่ได้ 4 ปีเศษ มีอันต้องถูกส่งกลับเมืองไทย ด้วยข้อหาอยู่อย่างผิดกฎหมาย

พอกลับเมืองไทย จึงไปสมัครงานล้างจานในร้านอาหารญี่ปุ่น เพื่อสร้างเครือข่าย ทำความรู้จักกุ๊ก และพนักงานในร้าน ขณะเดียวกัน เริ่มสำรวจว่าเมืองไทยมีร้านเนื้อย่างสไตล์ญี่ปุ่นมากน้อยแค่ไหน

ก่อนตัดสินใจลงทุนทำร้านยากินิกุ “ไจแอนท์ส” สาขาแรก ที่จังหวัดบ้านเกิด เมื่อราวปี 2541 ด้วยเงินทุนทั้งหมดที่มีอยู่ราว 3 ล้านบาท

“ร้านแรกทำเองทุกอย่าง เพราะอยากประหยัดต้นทุน ซื้อของเอง คุมงานเอง จ้างลูกจ้างแบบรายวัน ผมกับเด ช่วยกันขนอิฐ หิน ปูน ทราย เอามาผสมเอง ก่อนไปเหมาโครงเหล็กจากสนามกอล์ฟมาตัดต่อเชื่อมใหม่ กระจกก็ซื้อของเก่ามาทำ” คุณหนึ่ง เผยจุดตั้งต้น

ส่วนการบริหารงานครัว คุณหนึ่ง บอก ตอนอยู่ญี่ปุ่น ทำงานเป็นเชฟในร้านยากินิกุ จึงมีความถนัดมากเรื่องวัตถุดิบอยู่แล้ว ส่วนสูตรอาหารไม่ได้ลักลอบจดมา แต่จำรสชาติได้แม่นยำ มาถึงเมืองไทยจึงถอดเป็นสูตรได้สบายๆ

ไจแอนท์ส สาขาแรก ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ลูกค้าเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์เป็นชาวญี่ปุ่นซึ่งทำงานอยู่ภายในนิคมอุตสาหกรรม ช่วงแรกขายดี มีกำไรเดือนละเกือบ 100,000 บาท เลยลงทุนเพิ่ม ขยายไปตามพื้นที่ต่างๆ จนมีถึง 4 สาขา ในเวลาไม่นาน

ถือว่าประสบความสำเร็จระดับหนึ่งแล้ว จึงตัดสินใจ “แตกไลน์” ธุรกิจ ด้วยการเปิดร้านอาหารไทย ขนาด 500 ที่นั่ง เปิดผับ เปิดร้านก๋วยเตี๋ยว กระจายอยู่ในตัวเมืองอยุธยา เพราะรู้สึกเหนื่อยที่ต้องเดินทางไปดูแลร้านไจแอนท์ส ซึ่งเปิดกระจายต่างพื้นที่กัน

แต่การลงทุนเพิ่มเติมในธุรกิจที่คิดว่า “เอาอยู่” ในครั้งนั้น คุณหนึ่ง บอกแบบเปิดอกว่า เขาคิดผิดถนัดเลยทีเดียว

“ตอนนั้นร้านไจแอนท์ส อยู่ตัวแล้ว เลยหันไปจับธุรกิจร้านอาหารไทย คิดว่าเป็นอาหารเหมือนกันไม่น่ายากอะไร แต่จริงๆ ไม่ใช่ กลายเป็นจุดล้มเหลว เพราะผมไม่มีความถนัด สุดท้ายหมดไปกว่า 10 ล้าน กลายเป็นหนี้อีกครั้ง” คุณหนึ่ง เล่าเสียงหม่น

เมื่อร้านอาหารไทย ไม่ประสบความสำเร็จ อย่างที่ตั้งใจ เจ้าของฉายา “หนึ่ง ไจแอนท์ส” จึงหันกลับมาเดินหน้ากับธุรกิจร้านเนื้อย่างอย่างที่ถนัดแบบเต็มตัว ด้วยการปรับรูปแบบการขายจาก “อะลาคาร์ท” มาเป็นแบบบุฟเฟ่ต์ เมื่อราวปี 2548 เพื่อขยายกลุ่มคนทานจากเฉพาะชาวญี่ปุ่นมาเจาะกลุ่มคนไทย

จุดนี้เองที่น่าจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ ที่ทำให้กิจการเติบโตแบบก้าวกระโดด เพราะช่วงเวลานั้นยังไม่ค่อยมีใครทำสไตล์บุฟเฟ่ต์  จากนั้นไม่นั้นจึงขยายสาขาทั้งของตัวเองและของแฟรนไชส์

กระทั่งมีการปรับกลยุทธ์มาเป็นการเข้าถึงลูกค้าให้ง่ายขึ้น “ไจแอนท์ส” ด้วยการเปิดสาขากระจายอยู่ตามห้างสรรพสินค้าอยู่นับสิบสาขา

โดยมีการทำแผนการตลาดแบบ “ทุบหม้อข้าว” คือ ไปเปิดร้านใกล้กับร้านคู่แข่ง หรือคู่เคียง หรือร้านที่หมายถึงจับกลุ่มคนที่มีกำลังซื้อเท่ากัน

และสิ่งที่ได้กลับมาจากแผนการตลาดแบบ “ทุบหม้อข้าว” นี้ คือ ผู้บริโภคเห็นได้ชัด เจ้าของสถานที่เห็นศักยภาพของแบรนด์ และก่อให้เกิดความต้องการซื้อของลูกค้าแฟรนไชส์

“การไปอยู่ใกล้ร้านที่ลูกค้าล้นอยู่แล้ว ย่อมทำให้มีคนเทมาหาเราบ้าง นั่นเป็นการพิสูจน์ว่าสินค้าในแบบเรานั้นใช่ คนให้เช่าสถานที่เองก็ย่อมเห็นศักยภาพของแบรนด์เวลาที่เกิดการเทียบเคียงชัดๆ ส่วนนักลงทุนเห็นร้านเราขายดี คงอยากจะซื้อแฟรนไชส์แน่ๆ” คุณหนึ่ง ไจแอนท์ส เผยอย่างนั้น

ปัจจุบัน คุณหนึ่ง มีร้านไจแอนท์ส ทั้งของตัวเองและของแฟรนไชส์ ที่อยู่ในความดูแลรวมกว่า 20 สาขา กระจายอยู่ทั่วประเทศ

และถึงแม้ “แบรนด์” มีความแข็งแรง ได้การยอมรับให้อยู่อันดับต้นๆ ในวงการแล้ว แต่ต้องยอมรับว่าสถานการณ์ทางธุรกิจที่ผ่านมาไม่สู้จะดีนัก ช่วงปลายปีที่แล้วยอดขายของร้านร่วงลงอย่างหนัก

ทำให้ต้องมีการ “ปรับตัว” กันขนานใหญ่อีกครั้ง เริ่มด้วยการปิดสาขาที่ไม่ทำกำไรก่อนเป็นอันดับแรก

“เราไม่ใช่คนมีฐานะ เราโตมาจากการเก็บแล้วลงทุนต่อเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เมื่อทุนน้อยก็ใช้เงินกู้มาช่วย มีกำไรค่อยขยายสาขา แต่เศรษฐกิจซบ รายได้ไม่พอรายจ่าย ทุนไม่พอสต๊อกสินค้า ยิ่งปีที่แล้วลูกค้าลดลงมาก ทำให้รายได้ที่เข้ามาไม่พอรายจ่าย” คุณหนึ่ง อธิบาย

ก่อนบอกถึงทางแก้ไข ที่เขาเรียกว่าการ “ปรับตัว” ซึ่งดูเหมือนจะได้ผลดีไม่น้อยเลยทีเดียว

“เดือนมีนาคมปีที่แล้ว เราปิดร้านในห้าง 3 สาขาเลย แล้วทดลองการเปิดใหม่ แต่คราวนี้เลือกทำเล นอกห้าง เป็นตึกแถวตามชุมชนต่างๆ เพราะต้องการให้คนทานรู้สึกว่า ไจแอนท์ส คือจุดหมายปลายทางที่ต้องไป ไม่ใช่ร้านตัวเลือกในห้างเหมือนก่อนหน้านี้” คุณหนึ่ง ว่าอย่างนั้น

ทั้งยังเผยกลยุทธ์ทางธุนกิจให้ฟังแบบไม่หวงเทคนิค

“ในสภาวะเศรษฐกิจไม่ดี ทำเลในห้างค่อนข้างสะวิง เลยกลับมาวางตำแหน่งตัวเอง ให้เป็นร้านที่ลูกค้าต้องตั้งใจหา ตั้งใจไปทาน ซึ่งลูกค้ากลุ่มนี้แม้เศรษฐกิจจะเป็นยังไงก็มีผลน้อยมาก จึงตัดสินใจปิด 3 สาขาในห้างก่อนมาเปิดร้านห้องแถว ค่าเช่าเดือนละ 40,000 บาท แต่ยอดขายเพิ่มขึ้น 300 เปอร์เซ็นต์

จากที่ธุรกิจใกล้จะติดลบ กลับกลายมีกำไร แค่สาขาเล็กๆ ขนาด 13 โต๊ะ สเกล 1 ใน 3 ของห้าง กลับสร้างยอดขายให้ดีกว่า กำไรมากกว่า พนักงานใช้น้อยกว่า นี่คือการปรับตัว ที่ทำให้กิจการไม่มีปัญหาการเงินจนถึงทุกวันนี้”

ส่วนความตั้งใจในธุรกิจนั้น คุณหนึ่ง บอก หลายปีก่อนมีทุนใหญ่สนใจเสนอซื้อกิจการไจแอนท์ส ด้วยเงินกว่า 600 ล้านบาท แต่ไม่ได้คิดขาย เพราะอยากส่งต่อคนรุ่นต่อไป จึงตั้งใจไว้ว่าภายในปี 2560 มีให้ครบ 100 สาขา จากนั้นปี 2561 จะเข้าตลาดหลักทรัพย์ สร้างยอดขายให้ได้ 4 พันล้านบาท ภายในปีเดียวกัน

และย้อนให้ฟังถึงที่มาของคำว่า “ไจแอนท์ส” ซึ่งนำมาตั้งเป็นชื่อกิจการของเขานี้ว่า ตอนนั้นคิดไม่ออกจะเอาชื่ออะไรดี มีอยู่วันหนึ่ง ไปเห็นหนังสือพิมพ์ญี่ปุ่น เขาลงข่าวนักกีฬาเบสบอล ประกาศจะตีโฮมรันต่อหน้าสักขีพยานเป็นหมื่นคน ทำให้เกิดแรงบันดาลใจ ว่าคนเราจะประสบความสำเร็จได้ ต้องกล้าประกาศเป้าหมาย เลยเอาชื่อทีมเบสบอลของเขามาตั้งเป็นชื่อร้าน ซึ่งหลายคนอาจไม่รู้ด้วยซ้ำว่าขายอาหารอะไร

ก่อนฝากถึงว่าที่ผู้ประกอบการใหม่ทั้งหลายว่า ถ้าคิดจะทำธุรกิจอะไร อยากให้หาให้ชัดว่า “ไอดอล” ของเราเป็นใคร ถ้าไม่มีต้องหาให้มี เพราะความสำเร็จที่คุณคาดหวัง มันเกิดขึ้นมาแล้ว ส่วนใหญ่มีไอดอล แทบทั้งนั้น แต่ถ้าเป็นเรื่องที่ไม่มีใครทำมาก่อน ก็ต้องตามรอยฝันตัวเองให้ชัด

“ถ้าคนทำธุรกิจใหม่ ไม่มีคนต้นแบบที่ชัดเจน ไม่มีความหลงใหลในสิ่งที่จะทำอย่างชัดเจน มันจะเกิดความท้อและถอยออกไปในที่สุด แต่ถ้าไม่ท้อ รู้ว่าสิ่งที่ทำคือสิ่งที่หลงใหลใฝ่ฝัน เราจะเดินต่อไม่หยุด จนกว่าจะชนะ ส่วน ไอดอล ของผมคือ แมคโดนัลด์ ที่สามารถขยายสาขาไปได้ทั่วโลก”คุณหนึ่ง ไจแอนท์ส บอกส่งท้าย