ปรับพื้นที่นาเกลือเก่า ทำบ่อเลี้ยงปลากะพง เนื้อแน่น รสหวาน ขายหน้าฟาร์มกิโลละ 200 บาท

ความบังเอิญและภูมิปัญญาจากวิถีชีวิตของชาวบ้าน พลิกผันชีวิตและสามารถแก้วิกฤตให้เป็นโอกาส เปลี่ยนอาชีพและต่อยอดจากสิ่งที่มีมาดั้งเดิมไปสู่ความสำเร็จได้ จนสามารถสร้างอาชีพใหม่ สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ และกลายเป็นคนต้นแบบให้กับผู้อื่นได้อีกด้วย

อย่าง คุณไตรศักดิ์ ศรีเสาวนิตย์ หรือ เฮียฮ้ง ชาวนาเกลือวัย 60 ปี ที่ตอนนี้ได้กลายมาเป็นเจ้าของบ่อเลี้ยงปลากะพง ด้วยเพราะเกิดจากความบังเอิญ จึงได้ปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำนาเกลือเดิม มาทำบ่อเลี้ยงปลากะพงอยู่ที่ อำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี

เฮียฮ้ง เริ่มต้นเล่าให้ฟังถึงภูมิปัญญาชาวบ้าน จนมาสู่การต่อยอดอาชีพการเลี้ยงปลากะพงในพื้นที่นาเกลือนี้ว่า “แต่ก่อนก็ทำนาเกลือ ทำมาเกือบ 30 ปี โดยมีพื้นที่สำหรับทำนาเกลืออยู่ประมาณ 100 กว่าไร่ และมีพื้นที่ทำนาเกลือแปลงเล็กแปลงน้อยอีกหลายแปลง แต่ในพื้นที่อำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี ก็มีพื้นที่ทำนาเกลืออีกมากมาย พอมีพื้นที่ทำนาเกลือเยอะ เกลือก็ล้นตลาด ราคาก็ต่ำลง ชาวนาเกลือก็ขายไม่ค่อยได้

สำหรับการเริ่มต้นเลี้ยงปลากะพง ในพื้นที่นาเกลือ เกิดมาจากความบังเอิญในครั้งแรก เนื่องจากเห็นว่าปลาพวกปลาหมอเทศ ปลานิล สามารถเข้ามาอยู่ในแหล่งน้ำจากการทำนาเกลือได้ในช่วงหน้าฝน ทั้งๆ ที่น้ำในพื้นที่ทำนาเกลือ เป็นน้ำเค็ม และน้ำกร่อย ซึ่งสภาพน้ำน่าจะเหมาะกับการเลี้ยงปลากะพง เนื่องจากเป็นปลาน้ำเค็ม จึงได้ลองไปซื้อปลากะพงมาปล่อยเลี้ยงในพื้นที่ เลี้ยงตามสภาพธรรมชาติ คือให้ปลากะพงกินพวกลูกปลาเล็กปลาน้อยที่มีอยู่ในพื้นที่เป็นอาหารตามธรรมชาติ ตอนนั้นก็ลองเอามาปล่อยเลี้ยงไปตามสภาพ คิดเลี้ยงแค่ว่าหากเลี้ยงได้ก็คงจะสามารถขายได้ ระยะเวลาที่เริ่มต้นจนมาถึงปัจจุบันก็น่าจะเป็นเวลากว่า 10 ปีแล้ว ที่เลี้ยงปลากะพงในพื้นที่ทำนาเกลือ

ซึ่งปัจจุบัน ได้หยุดทำงานเกลือมาประมาณ 2-3 ปีแล้ว ที่ต้องหยุดการทำนาเกลือ เนื่องจากปัญหาในเรื่องของราคาเกลือสินเธาว์ที่ตกต่ำ และมีเกลือล้นตลาด ทำให้ชาวนาเกลือขายไม่ได้ ซึ่งเป็นปัญหาเรื้อรังมานาน ที่มีมานานพอสมควรแล้ว อีกทั้งเกลือที่คงค้างในสต๊อกก็มีอยู่มาก รอการระบายออก จึงได้หยุดทำนาเกลือไป ส่วนพื้นที่ที่ทำนาเกลือเดิมแล้วปรับมาเลี้ยงปลากะพงประมาณ 50-60 ไร่”

การเลี้ยงปลากะพงของเฮียฮ้ง เป็นการนำภูมิปัญญาชาวบ้านที่ลองผิดลองถูก จากการเข้าใจพื้นที่ของตนเอง มาปรับเปลี่ยนให้สามารถสร้างอาชีพใหม่ได้

แต่การเลี้ยงปลากะพงในพื้นที่ทำนาเกลือ แถบภาคอีสาน ถือเป็นเรื่องใหม่ ด้วยเพราะสภาพน้ำและพื้นที่ ทำให้ยังไม่ค่อยมีคนเลี้ยงกันมากนัก

โดยเฮียฮ้ง บอกว่า “ด้วยพื้นที่ดั้งเดิมที่เคยเป็นนาเกลือมาก่อน มีสภาพน้ำเค็มมากในบางพื้นที่ และเป็นน้ำกร่อยในบางพื้นที่ อีกทั้งช่วงหน้าร้อนน้ำแห้งลง น้ำในพื้นที่นาเกลือจะมีความเค็มเข้มข้นมาก พอช่วงหน้าฝน น้ำก็จะเค็มน้อยลง กลายเป็นน้ำกร่อย แต่จากการที่ทดลองเอาปลากะพงมาปล่อยเลี้ยงตามธรรมชาติ ก็พบว่าไม่ได้เป็นปัญหามาก เนื่องจากปลากะพงเป็นปลาที่เลี้ยงง่าย ปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ อย่างที่จังหวัดขอนแก่นที่นำเอามาเลี้ยงกับน้ำจืด เขาก็เลี้ยงกันได้ แต่หากจะให้ดียิ่งขึ้น ก็ควรเลี้ยงในน้ำกร่อย และมีออกซิเจนที่ดีและพอเหมาะ”

ลักษณะปลากะพงของที่นี่ เป็นปลากะพงที่มีหนังสีขาว เกล็ดออกสีเหลืองทอง คนแถวนี้เขาเรียกปลากะพงทอง ซึ่งเฮียฮ้ง อธิบายเพิ่มเติมจากข้อสันนิษฐานของแกเองว่า เป็นเพราะความเค็มของน้ำที่นี่ บวกกับในน้ำที่นี่เป็นน้ำบาดาล และเคยเป็นน้ำจากการทำนาเกลือสินเธาว์มาก่อน ซึ่งมีแร่ธาตุ อย่าง โพแทสเซียม แม็กนีเซียมเยอะ จึงอาจเป็นเหตุให้ปลากะพงมีการปรับตัว ทำให้เกล็ดอาจเป็นสีเหลืองทองก็เป็นได้ สำหรับรสชาติของเนื้อปลากะพง มีรสชาติหวาน เนื้อแน่น อร่อย

หากเลี้ยงขายหน้าฟาร์มกันเองภายในจังหวัด การเลี้ยงแบบนี้ก็พอไหว มีผลผลิตที่สามารถขายได้ แต่หากต้องการจะเลี้ยงเชิงพาณิชย์ก็ต้องมีการศึกษา และทดลองเพิ่มเติมอีก เนื่องจากสภาพน้ำที่ต้องทำให้เหมาะสม ไม่เค็มมากในช่วงหน้าแล้งและไม่จืดมากในช่วงหน้าฝน อีกทั้งไม่ตกตะกอนแบ่งชั้นระหว่างน้ำเค็ม กับน้ำจืดนั้น ก็ยังเป็นปัญหาอยู่ ซึ่งในส่วนนี้ทางประชารัฐก็ได้เข้ามาช่วยสนับสนุนให้ความรู้ และบอกถึงวิธีการแก้ไขปัญหาให้แล้ว เฮียฮ้ง เล่า ทั้งยังบอกอีกว่า “รวมถึงการเชื่อมโยงตลาดด้วย ว่าหากเลี้ยงปลากะพงในจำนวนที่เยอะมากขึ้นและพื้นที่ที่เพิ่มมากขึ้น จะใช้ต้นทุนเท่าไหร่ และขายได้ในราคาเท่าไหร่ โดยที่ไม่ได้มีการเชื่อมโยงกับร้านค้า โรงแรม และห้างโมเดิร์นเทรด เอาไว้บ้างแล้ว โดยเขารับประกันว่า ถ้าหากเลี้ยงก็จะมีตลาดและช่องทางการจำหน่ายแน่นอน แต่การจะเลี้ยงปลากะพง ก็ต้องอาศัยถึงการบริหารจัดการ ซึ่งตอนนี้ผมก็กำลังเริ่มต้นศึกษาและลองทำอยู่ ช่วงนี้จึงเป็นช่วงเริ่มต้นและช่วงของการปรับตัว ของการจะหันมาเลี้ยงปลากะพงในพื้นที่นาเกลือเก่า ให้เป็นอาชีพอย่างจริงจัง จนสามารถเลี้ยงต่อยอดไปสู่เชิงพาณิชย์ในอนาคตอันใกล้นี้ได้”

สำหรับราคาปลากะพงที่เฮียฮ้งขายหน้าฟาร์มของเขานั้น ราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ 200 บาท ซึ่งจากปลากะพงในพื้นที่ที่เคยเลี้ยงจำนวนหลายรุ่นที่ปล่อยเลี้ยงตามธรรมชาตินี้ เฮียฮ้ง บอกว่า ปัจจุบันมีน้ำหนักต่อตัวประมาณ 4-5 กิโลกรัม และเคยจับได้ตัวใหญ่ ซึ่งมีน้ำหนักมากที่สุดถึงตัวละ 10 กิโลกรัม โดยรายได้ที่เลี้ยงปลากะพงปล่อยตามธรรมชาติอย่างที่ทำไปพร้อมๆ กับการทำนาเกลือด้วย อยู่ที่ประมาณเดือนละ 20,000 – 30,000 บาท ซึ่งเป็นรายได้ที่เป็นกำไร เนื่องจากไม่ได้เสียค่าอาหาร และค่าแผงเช่าขายใดๆ เพราะมีคนมาขอซื้อที่หน้าฟาร์มเอง ก็ถือว่าเป็นรายได้ที่ดีมากทีเดียว

ซึ่งในอนาคตที่จะขยายออกไปสู่การเลี้ยงปลากะพงในพื้นที่นาเกลือเก่า ซึ่งจะทำอย่างจริงจังนี้ เฮียฮ้งก็คาดว่า จะสามารถทำรายได้เดือนละกว่า 100,000 บาทเลยทีเดียว สำหรับใครที่สนใจการเลี้ยงปลากะพง  สามารถโทรศัพท์ไปสอบถามเฮียฮ้ง ได้ที่เบอร์ (089) 944-6838