บริการ “เพื่อนเช่า” เอาใจไลฟ์สไตล์ยุคโซเชียล

ทุกวันนี้สื่อสังคมออนไลน์มีบทบาทในชีวิตประจำวันของผู้คนมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งการรับ-ส่งข้อมูลข่าวสารที่รวดเร็ว การเข้าร่วมเครือข่ายกิจกรรมกับคนคอเดียวกัน รวมถึงบันทึกเรื่องราวและความรู้สึกในช่วงเวลาต่างๆ

ไม่น่าแปลกใจที่บางคนจะมีอาการติดโซเชียล หมดเวลาไปไม่น้อยกับเว็บเครือข่ายสังคมต่างๆ ขณะที่หลายๆ คนยอมลงทุนลงแรง หากจะช่วยทำให้ภาพและคลิปที่ปรากฏบนสื่อสังคมเหล่านี้สามารถเรียกไลก์และยอดเข้าชมจำนวนมาก กลายเป็นเน็ตไอดอลแบบย่อมๆ

ปัจจุบัน มีบริษัทหลายแห่งที่ให้บริการแปลกๆ เพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์โซเชียลของผู้คนยุคนี้ รวมไปถึงบริษัทญี่ปุ่น “แฟมิลี่ โรแมนซ์”

เว็บไซต์เดลีเมล์ ระบุว่า บริษัทแห่งนี้พร้อม “จัดให้” ทุกความต้องการ แม้แต่บริการ “เพื่อนเช่า” สำหรับคนที่อยากถ่ายภาพเซลฟี่ให้ดูมืออาชีพมากขึ้น

โดยบริษัทจะจัดส่งเพื่อนชั่วคราวมาช่วยเติมเต็มภาพถ่ายให้ดูน่าประทับใจกว่าเดิม เพื่อนำไปแชร์บนสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ ทั้งอินสตาแกรม เฟซบุ๊ก และทวิตเตอร์

สำหรับค่าบริการก็อยู่ที่ราว 8,000 เยน หรือเกือบ 2,500 บาท สำหรับเพื่อน 1 คน ที่จะใช้เวลาอยู่กับลูกค้า 2 ชั่วโมง และสามารถถ่ายภาพได้ไม่อั้นภายในเวลาดังกล่าว

นอกจากนี้ แฟมิลี่ โรแมนซ์ ยังนำเสนอบริการที่มีชื่อว่า “Real Appeal” สำหรับกิจกรรมต่างๆ ทั้งงานปาร์ตี้วันเกิด สังสรรค์หลังเลิกงาน รวมถึงงานแต่งงาน และอาจครอบคลุมถึงการทำให้ลูกค้าดูเป็นที่นิยมชมชอบ หลังเธอหรือเขาเพิ่งแยกทางกับอดีตแฟน

บริษัทจะนำเสนอแค็ตตาล็อกของเพื่อนเช่าให้ลูกค้าเลือก ซึ่งสามารถเลือกใครก็ได้ที่ต้องการ โดยพิจารณาจากอายุ เพศ และภาพลักษณ์ภายนอก หรือถ้าต้องการจะจ้างเพื่อนเป็นกลุ่มเลยก็ทำได้ เพียงแค่มีค่าจ้างพอที่จะจ่ายให้ทุกคน

ยกตัวอย่างลูกค้ารายหนึ่งที่ไปท่องเที่ยวเมืองชายทะเล และอยากได้กลุ่มเพื่อนมาปรากฏตัวในภาพที่เธอโพสต์บนอินสตาแกรม และเว็บบล็อกส่วนตัว ซึ่งภาพดังกล่าวก็มีคนกดไลก์และโพสต์ความเห็นอย่างมากมาย

อีกรายเป็นลูกค้าที่ต้องการจ้างเพื่อนจำเป็น 10 คน ร่วมงานปาร์ตี้วันเกิดในโรงแรมหรูที่กรุงโตเกียว ท่ามกลางบรรยากาศแสนสวยงามยามค่ำคืน พร้อมกับภาพเซลฟี่ตอนเป่าเค้กวันเกิดจนหนำใจ

เว็บไซต์ news.com.au ระบุว่า บริการเพื่อนเช่าได้รับความนิยมอย่างมากในญี่ปุ่นเป็นประเทศแรกๆ ในโลก ขณะที่ญี่ปุ่นเป็นสังคมที่มีความกดดันสูง และมีอัตราการฆ่าตัวตายสูงเช่นกัน ผู้คนจึงหันมาพึ่งพาเพื่อนเช่าเพื่อร่วมให้กำลังใจในงานแต่งงาน ร้องไห้ในงานศพ หรือแกล้งเป็นแฟนหลอกๆ เพื่อให้ครอบครัวสบายใจ

แต่เว็บไซต์เครือข่ายสังคมที่ผู้คนมักโพสต์ภาพแห่งความสุข ในความเป็นจริงหลายคนก็ไม่ได้รู้สึกเช่นนั้น พวกเขาซ่อนความโดดเดี่ยว อ่อนไหว และไม่มีความสุข

“มากิ อาเบะ” ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารของบริษัท Client Partners ที่ให้บริการเพื่อนเช่าในกรุงโตเกียวและเมืองโอซาก้า รวม 8 สาขา ระบุว่า มีหลายกรณีที่ลูกค้าร้องไห้ ทั้งที่เพิ่งจับมือทักทายกับ “เพื่อนเช่า”

บริการเพื่อนเช่าจึงเป็นภาพสะท้อนสังคมที่โดดเดี่ยวมากขึ้น นอกจากนี้ ก็มีลูกค้าจำนวนไม่น้อยที่เป็นคนสูงอายุ ซึ่งใช้บริการนี้เพราะต้องการคุยกับใครสักคน

ขณะที่เพื่อนเช่าแบบนี้กลายเป็นอาชีพที่ทำเงินเป็นกอบเป็นกำให้กับหลายๆ คน รวมถึง “วิกกี้” สาวชาวซิดนีย์ ออสเตรเลีย ที่ระบุอาชีพของตัวเองว่า “เพื่อนเช่า” หรือ “Friend For Hire”

สาววิกกี้ วัย 31 ปี ใส่ข้อมูลส่วนตัวไว้ในเว็บไซต์ RentAFriend.com ซึ่งใครๆ ก็สามารถเข้าไปชมหน้าเพจของเธอ รวมถึงเบอร์โทรศัพท์สำหรับติดต่องาน

เธอบอกว่า พร้อมรับงานทุกรูปแบบ ตั้งแต่งานจิบกาแฟสบายๆ ไปจนถึงงานบอลลูนลมร้อน งานสโนว์บอร์ดในครอบครัว และช็อปปิ้งแบบส่วนตัวในนครซิดนีย์ แต่มีข้อแม้อย่างเดียวคือ ไม่มีเรื่องเพศเข้ามาเกี่ยวข้อง

วิกกี้ มองว่า บริการเพื่อนเช่าแบบนี้ก็คล้ายๆ กับแท็กซี่อูเบอร์ ลูกค้าจ่ายค่าบริการ แลกกับการเติมเต็มในฐานะเพื่อน พวกเขาก็แค่ต้องการใครสักคนมารับฟังเรื่องราวต่างๆ แบบอยู่ต่อหน้าตัวเป็นๆ

เธอคิดค่าบริการเพื่อนเช่าเฉลี่ยชั่วโมงละ 30 ดอลลาร์ หรือราวๆ 1,000 บาท แต่ก็อาจจะเพิ่มขึ้น หรือลดลง ขึ้นอยู่กับภารกิจที่ต้องทำ และเธอเคยได้เงินถึง 250 ดอลลาร์ หรือเกือบ 8,650 บาท จากการออกไปดูหนังกับชายหนุ่มที่เพิ่งหย่าร้าง

น่าสนใจว่า มีคนทำอาชีพนี้ไม่น้อย โดยเว็บไซต์ RentAFriend.com มีเพื่อนเช่าที่ลงโฆษณารับงานมากถึง 550,000 คน

ภาพประกอบจากเว็บไซต์