กว่าจะมีวันนี้ “กือโป๊ะ ตราดอกแก้ว” ของดังปัตตานี

เป็นเวลากว่าสิบปีแล้วที่สถานการณ์ชายแดนใต้ของไทย ยังไม่เข้าสู่ภาวะปกติ สภาพบ้านเมือง ความเป็นอยู่ การประกอบธุรกิจน้อยใหญ่  ทุกวันนี้จึงแตกต่างจากในอดีตแทบจะสิ้นเชิง

การเข้าถึงสินค้า-บริการ ในพื้นที่จึงเป็นเรื่องไกลตัวสำหรับคนต่างถิ่น ส่งผลให้พ่อค้า-แม่ขาย ในพื้นที่ต้องพาตัวเองออกมาพบปะกับลูกค้าแทน

แม้จะกำลังง่วนอยู่กับการจัดหน้าร้าน ช่วงมาร่วมออกงานที่ห้างดังย่านปทุมฯ แต่ คุณโรส-โรสมาลีน กิตตินัย ผู้ผลิตและจำหน่าย กือโป๊ะ ตราดอกแก้ว ผู้มีบุคลิกร่าเริงแจ่มใสเป็นกันเอง ยังกรุณาสละเวลามาพูดคุยกันด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม เริ่มต้นให้ฟัง เรียนจบสายพาณิชย์ เคยทำงานอยู่บริษัทประกัน ก่อนออกมาทำธุรกิจขายผ้าม่านควบคู่กับแฟนที่ทำร้านตัดกระจก-มุ้งลวด จากนั้นไม่นานจึงเปิดกิจการขายผ้าตัดเสื้อสำหรับสตรีมุสลิม

ขายดีอยู่หลายปี เพราะผู้หญิงมุสลิมภาคใต้ นิยมแต่งกายกันด้วยชุดคลุมยาวสีสันสดใส กระทั่งเมื่อราวปี 2542 ความเป็นไปในชุมชนพลิกผัน สืบเนื่องมาจากการก่อความไม่สงบ    ที่ยังไม่มีวี่แววเลยว่าจะจบลงวันไหน

“ทุกอย่างได้รับผลกระทบไปหมด แม้กระทั่งการแต่งกาย  แต่ละคนไม่เปิดเผยว่าตัวเองทำงานอะไร และหันมาใส่เสื้อยืด-กางเกงวอร์มกันเป็นส่วนใหญ่  ร้านขายผ้าจากมีลูกค้าเยอะก็ค่อยๆลดลง เพราะผู้หญิงจะไม่มีการแต่งเนื้อแต่งตัวเดินทางไปไหนมาไหน”คุณโรส เล่าเสียงเรียบ แววตาหม่น

อดทน “ลาก”ธุรกิจร้านขายผ้ามาอีกหลายปี แต่สถานการณ์ไม่มีอะไรดีขึ้น จึงพยายามมองหาอาชีพใหม่ จนเมื่อปี 2553 ได้มาร่ววมออกบู๊ธเปิดร้านขายผ้า กับทางกระทรวงพาณิชย์ ที่ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ปรากฏคนสนใจผ้าของเธอน้อยมาก ขณะที่สินค้าหมวดอาหารแทบทุกชนิดขายดีเป็นเทน้ำเทท่า เลยเกิดความคิดเปลี่ยนทิศหันมาขายอาหารดูบ้าง

คิดอยู่นานว่าจะขายอาหารชนิดไหนถึงจะดี จนนึกขึ้นได้ ปัตตานี บ้านเกิดของเธอ มีอาหารประจำท้องถิ่นมาแต่โบร่ำโบราณ ซึ่งถึงวันนี้ผู้คนในพื้นที่ รวมทั้งคนสงขลาหรือนราธิวาส ยังทานกันทุกเพศ-ทุกวัย และแทบทุกวัน นั่น ก็คือ “กือโป๊ะ” นั่นเอง

“กือโป๊ะ หรือข้าวเกรียบสดทำจากเนื้อปลา เป็นอาหารมีคุณค่าและมีประโยชน์ แต่ด้วยข้อจำกัด ทำให้ไม่สามารถเก็บไว้นานหรือส่งไปขายได้ไกลๆ เลยคิดว่าจะทำยังไงให้คนที่อยู่จังหวัดอื่น มีโอกาสรู้จักและรับประทานของดีบ้านเรา”คุณโรส เล่าถึงจุดเริ่ม

ตกผลึกความคิดออกมาดังนั้น จึงนำไอเดียไปหารือกับ คุณคำแก้ว มีนาคม  ประธานชมรมอาหารจังหวัดปัตตานี จนได้ข้อแนะนำให้ไปขอความรู้กับทางสถาบันอาหารของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ปรากฏได้การตอบรับเป็นอย่างดี และมีการพัฒนาร่วมกันมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในเรื่องของรสชาติ การตลาด และแพคเกจจิ้ง

“ใช้เวลาหาความรู้อยู่นาน ปีแรกขาดทุนมาก พอมาลงมือทำจากที่ได้รับความรู้มา ปรากฏมันไม่ใช่ มันเสีย มันแข็ง  ทำแล้วทำอีก สูตรไม่คงที่ หนึ่งปีเต็มๆที่ขาดทุน ตอนนั้นเริ่มออกขายแต่ลูกค้าบ่นกันว่าทำไมมันแข็ง เราจะจดไว้ว่าทำไมของเรามันแข็ง ก่อนกลับมาบอกอาจารย์ที่สถาบันอาหาร

ทางอาจารย์ท่าน จะแนะนำแนวทางแก้ไขให้ แต่ตอนนั้นมีงบฯไม่เยอะ ถ้าลงทุนซื้อเครื่องจักรหลายบาท ยังไม่รู้ตลาดจะตอบรับแค่ไหน  แต่นับเป็นโชคดีที่ทางสถาบันอาหารฯ มีเครื่องมือพร้อม ช่วงแรกเลยได้รับความอนุเคราะห์ไปก่อน”คุณโรส บอกอย่างนั้น

ก่อนเล่าให้ฟังต่อ 3 ปีแรกของการผันตัวมาเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายกือโป๊ะนั้น ยอมรับอยู่ในภาวะล้มลุกคลุกคลานมาตลอด แต่ไม่เคยคิดเลิก เพราะเชื่อมั่นต้องทำได้ ปัญหาทุกปัญหาย่อมมีทางอออก เพียงแต่ตอนนั้นเราอาจยังหาไม่เจอ

มาถึงวันนี้ กิจการย่างเข้าปีที่ 5 ยอดขายนับว่าดีขึ้นมาก เริ่มมีคู่ค้าหลากหลายทั้งในและต่างประเทศ อย่าง มาเลเซีย ออสเตรเลีย กัมพูชา ฯลฯ

ส่วนผลิตภัณฑ์นั้น มีความหลากหลายมากขึ้น ทั้งแพคเกจจิ้งและรสชาติ ล่าสุด มี 6 รสชาติ ประกอบด้วย รสดั้งเดิม สามรส รสงา รสสมุนไพร รสต้มยำ และ รสปาปริก้า ขณะที่รูปทรงของกือโป๊ะ มีทั้งแบบแผ่นแบบดั้งเดิม และแบบแท่ง เหมือนมันฝรั่งทอด กรอบนุ่ม เก็บไว้ได้นานกว่าเดิม เป็นเจ้าแรกของไทย

ถามถึงขั้นตอนการผลิตกือโป๊ะ ตรา ดอกแก้ว คุณโรส อธิบาย เริ่มจากการนำปลาทูสด ขนาดพอเหมาะมาตัดหัว ควักไส้ ล้างให้สะอาด ก่อนนำไปบดทั้งก้าง พอได้เนื้อปลาบดออกมาแล้ว นำไปผสมกับแป้งสาคูและแป้งมัน ก่อนในใส่เครื่องปรุงรส แต่ไม่มีผงชูรสหรือสารกันบูดเด็ดขาด

จากนั้นนำมาคลุกเคล้าให้เข้าที่และนำมาปั้นว่าก้อนหนึ่งเราจะใช้กี่กรัมเป็นก้อนๆวาง ขั้นตอนนี้จะมีพนักงานแผนกหนึ่งทำเป็นก้อนยาวๆ อีกแผนกหนึ่งจะนำเนื้อปลาที่ได้ไปต้มในกระทะใบ  ต้มเสร็จนำไปสะเด็ดน้ำให้แห้งสนิทเพราะถ้าเอาไปทอดเลยจะเหนียวมาก ต้องนำไปน็อคน้ำแข็งหนึ่งคืนเสียก่อน เพื่อไม่ให้เนื้อเหนียวเกินไป ซึ่งขั้นตอนดังกล่าวนี้ใช้แรงงานมือทั้งหมด

“ตอนนี้มีโรงงานเล็กๆอยู่ละแวกบ้าน กำลังผลิตเป็นแรงงานในพื้นที่หมด ประมาณ 10 คน ล่าสุดมีลูกค้ารายใหญ่ติดต่อเข้ามาแล้ว แต่คิดว่าศักยภาพยังมีไม่พอ  ขอเวลาตั้งหลักขยายโรงงาน รวมทั้งหาพื้นที่      สต๊อกวัตถุดิบไว้ก่อนด้วย  เนื่องจากปลาไม่ได้มีทุกฤดูกาล  และเราใช้ปลาชนิดเดียว คือ ปลาทูสดตัวใหญ่  ซึ่งมีเนื้อหวานและไม่มีกลิ่นคาว”คุณโรส บอกอย่างนั้น

เกี่ยวกับความคึกคักในตลาดค้าขายกือโป๊ะ คุณโรส บอก พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้  มีคนทำกือโป๊ะ ขายกันเป็นร้อยเจ้า  จึงต้องหาจุดต่างด้วยการพิถีพิถันในทุกกระบวนการ ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงกว่าทั่วไป การวางขายในพื้นที่จึงไม่ดีเท่าส่งออกขายภายนอก

“ที่ภาคใต้ มีกือโป๊ะขายเยอะ ซึ่งยะลากับปัตตานี อาจได้เปรียบ เพราะพื้นที่ติดทะเล และถึงแม้จะทำกันหลายเจ้า ส่วนตัวคิดว่ายังไม่พอต่อความต้องการของตลาด สังเกตได้จากการออกบู๊ธตามงานต่างๆ มักได้ลูกค้ากลุ่มใหม่กลับมาเสมอ ลูกค้าเก่ามาซื้อซ้ำ จึงมั่นใจธุรกิจนี้ยังไปได้อีกไกล”คุณโรส ว่าให้ฟัง

จากจุดเริ่มที่ล้มลุกคลุกคลาน แต่เพราะความไม่ย่อท้อ ล้มเลิกไปเสียก่อนกลางคัน จนทุกวันนี้มีลูกค้าไม่น้อย แถมยังได้รับการยอมรับให้เป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์เด่นของจังหวัดปัตตานี ประเด็นนี้ คุณโรส ยิ้มน้อยก่อนตอบตรงๆ จนถึงตอนนี้ก็ยัง งง กับตัวเองอยู่เหมือนกัน

“พี่เป็นคนเห็นแก่ตัว อยากให้ลูกกลับมาอยู่ใกล้ๆ ถ้ามีธุรกิจที่วางรากฐานไว้ดี ถ้าลูกกลับมาช่วยสืบทอด เขาคงทำได้ดี โดยไม่ต้องไปเป็นลูกจ้างคนอื่น”คุณโรส บอกทิ้งท้าย

กือโป๊ะ ตราดอกแก้ว มี 6 รสชาติ หลากหลายแพคเกจจิ้ง ให้เลือก มีทั้งขายส่ง-ปลีก สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ คุณโรสมาลีน กิตินัย 157 ถนนยะรัง ตำบลจะบังติกอ อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี 94000 โทรศัพท์ 086-961-5844 087-969-2284 Line : K.rosemaleen Facebook/Kerepok 4 u