ส่องธุรกิจ “ข้าวโพดหวานพร้อมรับประทาน”  ทำยังไง ได้ขายใน 7-11 แถมเตรียมเข้าตลาดหลักทรัพย์

ข้าวโพดฝักพร้อมทาน เป็นสินค้าที่คนไทยรู้จักกันดี มีขายอยู่ทั่วไป แทบจะทุกชุมชน แต่ปัญหาหนึ่งของสินค้าประเภทนี้คือ ข้าวโพดบางเจ้าหวาน บางเจ้าไม่หวาน ซึ่งเคล็ดลับง่ายๆ แต่ทำยากที่สุดคือข้าวโพดต้องหวานมาตั้งแต่อยู่บนต้น อีกทั้งเมื่อหลุดจากต้นมาปุ๊บ ต้องต้ม แล้วกินเลย นั่นล่ะจะหวานที่สุด แต่ในแง่การค้าขาย ยิ่งในปริมาณ มาก ๆ โอกาสที่จะได้เก็บปุ๊บ ต้มปั๊บ ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายด้วยข้อจำกัดของเวลา และสถานที่ในการจำหน่าย

ลูกค้า ผู้บริโภคที่ต้องการบริโภค ข้าวโพดคุณภาพ ก็ต้องซื้อจากร้านสะดวกซื้อ ซึ่งผู้ผลิตมีวิธีการผลิตและการจัดจำหน่าย ที่รับประกันได้ว่า หวานทุกฝัน

บริษัทซันสวีท เป็นบริษัทผู้ผลิตข้าวโพดส่งออก มาตั้งแต่ปี 2540 ตลาดส่วนใหญ่ 60 เปอร์เซนต์ อยู่ในโซนเอเชีย โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่น ที่ส่งออกไปมากถึง 20 เปอร์เซนต์ ที่เหลือก็กระจายไปทั้งยุโรปและอเมริกา รวมแล้วปีละนับแสนตัน ในรูปข้าวโพดกระป๋อง /ในถุงสุญญากาศ  และแช่เข็ง

โดย ผลประกอบการ ปี 2559 รายได้ 1,600 ล้านบาท กำไร 100 ล้านบาท และตั้งเป้ารายได้ปี 2560 ยอดขาย 2,000 ล้านบาท กำลังการผลิต 150,000 ตันต่อปี

ทั้งนี้ซันสวีทถือเป็น 1 ใน 3 ของผู้นำในอุตสาหกรรมการผลิตข้าวโพดหวานของประเทศไทย จากสัดส่วนประมาณ 25-30% ของมูลค่าตลาดโดยรวมที่มีผลผลิตส่งออกไปยังต่างประเทศ ประมาณ 580,000 ตันต่อปี

เมื่อราวปลายปี  2559 ซันสวีท หันกลับมารุกตลาดในประเทศ ด้วยการผลิตข้าวโพดหวานพร้อมรับประทาน อยู่ในถุงสุญญากาศภายใต้แบรนด์ KC (king of corn ) ส่งร้านสะดวกซื้อ 7-11 จำนวน 4,000-5,000สาขา  ในเขตภาคเหนือตอนบนเกือบทั้งหมด  และกรุงเทพฯฝั่งตะวันออก

คุณโกวิทย์  สิทธิยศ  ผู้ช่วยประธานบริหาร บริษัทซันสวีท จำกัด  เผยว่าจากการที่ส่งออกข้าวโพดมานาน ก็หันกลับมาทำตลาดในประเทศไทย ด้วยต้องการให้เป็นที่รู้จักภายในประเทศ เพื่อการขยับเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ประมาณ กลางปี 2560 นี้

สำหรับ แหล่งผลิตแปลงข้าวโพด อยู่ในเขตภาคเหนือ 9-10 จังหวัด พื้นที่ปลูก ราว 50,000 ไร่ ทำสัญญาซื้อขายกับเกษตรกรประมาณ 20,000 ครอบครัว  ในลักษณะเกษตรพันธะสัญญา ในราคารับซื้อข้าวโพดฝักเขียว ( มาทั้งเปลือก ซัง ) เฉลี่ย กิโลกรัมละ 5  บาท  ซึ่งเกษตรกรที่ปลูกข้าวโพด มักจะทำนาเป็นหลัก และเมื่อว่างเว้นจากการทำนานก็ปลูกข้าวโพด ใช้เวลา 70-75 วัน ก็ตัดขายได้  “ในส่วนของแผนการตลาดนั้นก่อนที่เราจะเข้าตลาดหลักทรัพย์ เราต้องการให้สินค้าเป็นที่รู้จักภายในประเทศ  ซึ่งการนำเข้าไปขายใน 7-11 การรับรู้ของผู้บริโภคจะเร็วมาก ทุกวันนี้ มียอดสั่งจาก 7-11 ประมาณ 5,000 ฝักต่อวัน ซึ่งคาดว่า ประมาณไตรมาสที่สามของปี 2560 ยอดขายเราจะเพิ่มเป็น 1 แสนฝักต่อวัน”

ข้าวโพดฝักพร้อมรับประทาน ที่จำหน่ายใน 7-11 ราคาหน้าร้านฝักละ 20 บาท มีอายุสินค้า 7 วัน และต้องเก็บในอุณภูมิ 4-8 องศาเซลเซียส

สำหรับหลักการหรือแนวคิดในการนำสินค้าเข้า 7-11ได้ นั้น คุณโกวิทย์ บอกว่า เนื่องจาก

1.ข้าวโพดฝักพร้อมรับประทาน เป็นสินค้าที่แพร่หลาย คนทั่วไปรู้จัก ไม่ต้องมาทำความเข้าใจกับสินค้าอีก

2.มีปริมาณสินค้าสม่ำเสมอ (นั่นคือผู้ผลิคมีความสามารถในการป้อนสินค้าได้สม่ำเสมอ ไม่ขาด แม้จะต้องเจอกับภาวะวันหยุด  แต่สินค้าที่เข้า 7-11 จะต้องไม่หยุด  ต้องแก้ไขปัญหาแรงงาน การผลิตได้ตลอดเวลา)

3.สินค้ามีคุณภาพ รสชาติ ความสะอาด  (คัดเลือกข้าวโพดฝักที่สวยที่สุด ดีที่สุด นำมาผลิต)

4.เป็นสินค้าเพื่อสุขภาพในอีกทางหนึ่ง ที่กลุ่มวัยทำงานอายุ 25-40 ปี  มีกำลังซื้อ เป็นกลุ่มลูกค้าหลัก

5.ข้าวโพดที่นำมาผลิตรับประกันได้ว่า ไม่ผ่านการตัดแต่งพันธุกรรม หรือเรียกว่าเป็นข้าวโพด non-GMO  อย่างแน่นอน

 

และนีเป็นเรื่องราว ธุรกิจทางการเกษตร ซึ่งหากใครมีความสามารถ มีศักยภาพ ก็เติบโตไปได้อย่างชนิดที่เรียกว่า รู้แล้วทึ่ง!!  กันเลยทีเดียว

 

ขอบคุณภาพ จากบริษัทซันสวีท