เผยแพร่ |
---|
ชีวิตใหม่ในวัย 50 “นนบุราเมน” เริ่มต้นหม้อราเมนจากความสูญเสีย ความฝันชิ้นเดียวที่เหลืออยู่ จนเป็นร้านที่ใครอยากกิน ต้องจอง!
การเริ่มต้นชีวิตใหม่ ตามแบบฉบับที่ตนเองต้องการ ไม่มีคำว่า สายเกินไป เชื่อว่าบางครอบครัวอาจมีความคาดหวังว่า ลูก จะต้องประคองตัวให้อยู่รอด แล้วสิ่งที่จะทำให้ชีวิตมั่นคงได้นั้น คือ การมีงานประจำทำ
แต่ความถนัด ความชอบ หรือความคิดของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ผู้เขียนได้พูดคุยกับ คุณบอย-ศิวดล ระถี เจ้าของร้านนนบุราเมน พูดคุยถึงเรื่องราวในชีวิต กว่าจะก้าวมาเปิดร้านราเมนได้ ต้องผ่านปัญหาที่เรียกได้ว่า สารพัดอย่าง และปัญหาที่ว่านี้ ก็คล้ายๆ จุดเปลี่ยนและกลายเป็นจุดที่ทำให้เขาได้เริ่มต้นชีวิตใหม่อีกครั้ง
แรงกดดัน-ความเครียด-การเปลี่ยนแปลงทางบทบาทและหน้าที่ สาเหตุของการเป็น Midlife Crisis
คุณบอย เล่าให้ฟังว่า ก่อนออกจากงานมาทำร้านราเมนได้ทำงานที่หน่วยงานรัฐแห่งหนึ่ง แต่ในช่วงที่ทำงานมันเป็นช่วงรอยต่อที่เกิดเหตุการณ์ที่กระทบจิตใจ คือการสูญเสียคุณพ่อ โดยจังหวะที่คุณพ่อเสียเป็นจังหวะที่จะเริ่มทำงาน พอดี ทำได้ประมาณ 4-5 ปี
เรื่องราวของคุณพ่อจะมาเกี่ยวข้องอะไรกับการเริ่มต้นชีวิตใหม่ของเขา ต้องเล่าย้อนไปก่อนหน้านั้นว่า คุณพ่อมีความคาดหวังให้ลูกมีอาชีพการงานที่มั่นคง หลังจากเรียนจบในปี 2540 เป็นยุคฟองสบู่แตก แต่เขาสามารถสอบติดธนาคารได้ ก็ได้เริ่มทำงานอยู่ที่นั่น แต่ในใจจริงๆ เลย เป็นคนที่ชอบทำหนัง เลยพาตัวเองเข้าสู่วงการหนัง โดยหนังสั้นเรื่องแรกที่ทำ เป็นเรื่องเกี่ยวกับเด็กชายชนบทคนหนึ่ง ที่อยากกินแฮมเบอร์เกอร์แต่ไม่มีโอกาสได้กินอย่างคนอื่นเขา จึงทำขึ้นมาเองโดยการนำข้าวเหนียวมาปั้นเป็นขนมปังแล้วเอาหมูปิ้งสอดไว้ตรงกลาง จากหนังสั้นเรื่องนี้ ทำให้เขาเป็นที่รู้จักของวงการหนังสั้นในเวลานั้น
เขาได้ลาออกจากธนาคารหันมาเดินตามความฝันอย่างเต็มตัว อีกทั้งยังผันตัวมาเป็นอาจารย์พิเศษให้ความรู้ในสิ่งที่ตนถนัด แต่ในเวลานั้นคุณพ่อไม่รู้ แต่มารู้อีกทีตอนที่ท่านพยายามอยากจะย้ายสาขาให้กลับไปอยู่ใกล้บ้านที่มหาสารคาม
จนถึงจุดหนึ่งที่คุณพ่อล้มป่วย แล้วด้วยช่วงวัยหนึ่ง เกิดอาการอะไรสักอย่างขึ้นกับตัวเอง คือเบื่อหน่ายทุกอย่าง จากคนชอบทำหนัง ก็รู้สึกว่าไม่อยากทำ ไม่มีแรงบันดาลใจ เรียนปริญญาโทอยู่ก็ไม่มีความรู้สึกที่จะไปต่อ เลยหาสาเหตุจนไปเจอว่าอาการนี้มันคือ Midlife Crisis หรือวิกฤตวัยกลางคน
“การทำอะไรสักอย่าง ถ้าคุณตั้งใจจริงๆ มันจะดีกว่านี้ เลยรู้ว่า ถ้าความคิดคุณไม่ได้ตกผลึก ไม่ได้ลึกซึ้งที่อยากจะเปิดมัน ก็จะได้ผลลัพธ์ตามนั้น” เขากล่าว
นนบุราเมน ความฝันชิ้นเดียวที่เหลืออยู่
หลังจากที่สูญเสียคุณพ่อ ตอนนั้นความรู้สึกจมอยู่กับความสูญเสียและต้องแบกรับอะไรไว้มากมาย ทั้งเรื่องของมรดก เรื่องงาน เรื่องปัญหาชีวิต ทุกอย่างถาโถมเข้ามาจนทำให้เขาเป็นโรคหน้าเบี้ยวด้วย
เวลาเลิกงานก็จะไปนั่งอยู่ร้านราเมนแห่งหนึ่งให้จิตใจสงบแล้วถึงกลับบ้าน ช่วงวันหยุดก็มักจะทำอาหารชโลมจิตใจ ไปเรียนบ้าง ดูตามคลิปสอนทำอาหารบ้าง โดยไม่ได้คิดไปถึงเรื่องของการเปิดร้านแต่อย่างใด
จนมาช่วงหนึ่ง เปิดไปเจอภาพภาพหนึ่งที่ขายราเมน ด้วยเป็นคนที่ชอบกินราเมนอยู่แล้วจึงเกิดความสนใจ เลยไปหาที่มาว่าราเมนชามนี้อยู่ที่ไหน จนได้คำตอบว่า มาจากร้าน Chonbu Ramen ที่ชลบุรี จึงเกิดความชอบ จึงไปขอให้เขาสอน แต่ตอนแรกเขาจะไม่สอน โดยปฏิเสธว่า พี่บอยแก่แล้ว งานครัวมันเป็นงานที่หนัก พี่บอยน่าจะชงกาแฟดีกว่านะ แต่เขากลับรู้สึกว่า เขามีความสนใจเรื่องอาหารมากกว่า และตามตื๊ออยู่หลายเดือนจนเขาตัดสินใจสอน
แต่การสอนของเขาคือจะสอนเฉพาะวันจันทร์ อังคาร และพุธ เพราะวันเสาร์ วันอาทิตย์ เขาเปิดร้าน แต่กลับกัน คุณบอยทำงานวันธรรมดาและว่างเสาร์-อาทิตย์ จึงต้องตัดสินใจเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง สุดท้ายก็เลือกที่จะเดินหน้าของการทำราเมนแบบเต็มตัว และลาออกจากงานประจำทันที
สำหรับคำว่าออกจากงานของคนวัย 50 ปี มันไม่ได้สนุกเลย มันต่างจากคน 30 ปีมาก มันรู้สึกว่า เรียนมาขนาดนี้ แล้วจะหารายได้จากไหน แต่ระหว่างนั้นการฝึกเคี่ยวซุปก็ช่วยทำให้สงบได้ จนได้ตระเวนหาทำเลเปิดร้าน และได้ตรงนี้มาตามที่ตั้งใจ
แต่กว่าจะได้เปิดร้านก็เช่าทิ้งไว้อยู่หลายเดือนเพราะต้องเตรียมตัว เตรียมความพร้อม รวมถึงไม่กล้าด้วย เพราะการทำราเมนมันคือความฝันชิ้นเดียวที่เหลืออยู่ กลัวว่าเปิดแล้วจะเฟล แล้วไม่มีที่ยึดเหนี่ยวใดๆ เลย จนสุดท้าย 21 เมษายน ในปี 2567 เพื่อนสมัยเรียนประถมบอกว่าจะมากินราเมนที่ร้าน พร้อมไม่พร้อมก็ต้องเปิด เพื่อนบอกว่าอร่อย มันก็เป็นเหมือนการจุดไฟในตัวแล้ว จากนั้นจึงเปิดมา
แรกๆ ยังไม่คิดเงินลูกค้า ให้ลูกค้าจ่ายตามอำเภอใจ ก็จะมีเพื่อนบ้านมากิน บางครั้งก็จะเชิญเขามา จนเพื่อนที่มาแล้วก็บอกว่า “มึงไม่คิดเงินเหรอ” เขาก็โยนเงินให้ 6,000 บาท รู้สึกได้ว่าเขาช่วยเรา และเราได้เรียนรู้ว่า ถ้าไม่คิดเงินเขาจะไม่มาอีก
จากนั้นจึงตั้งราคาขายและเปิดศุกร์-อาทิตย์ พอกระแสตอบรับดี ก็ขยับมาเปิดพฤหัสบดี-อาทิตย์ เพราะมีคนบอกต่อกัน แต่ก็ใช้เวลาอยู่พอสมควร
จนมีน้องคนหนึ่ง มากินโดยไม่คาดหวัง แต่กลับมาเจอรสชาติที่ถูกใจ เลยทำคลิปรีวิวให้ หลังจากนั้นเริ่มมีคนรู้จักเพิ่มมากขึ้น มีคนมารีวิวมากเรื่อยๆ เป็นการเข้ามารีวิวโดยธรรมชาติ เป็นการบอกต่ออย่างออร์แกนิก จนมาวันหนึ่งในเดือนตุลาคมปีนั้น เปิดประตูร้านมาแทบตกใจ เพราะคนมายืนรอเต็มหน้าร้านเลย
“การที่คนมายืนรอเต็มหน้าร้าน มันมี 2 ความรู้สึก คือ ดีใจ และ ร้องไห้ เพราะกลัวทำมันพัง แต่สุดท้ายต้องทำตามจังหวะ สนใจแค่ชามที่กำลังทำอยู่ และทำทุกชามให้ดีที่สุด”
หลังจากที่กลายเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น เขาเองก็จะต้องคอยบริหารปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ต่างๆ ให้ตอบโจทย์กับลูกค้ามากยิ่งขึ้น โดยมีการเปิดรับจองเพื่อนัดเวลาในการเข้ามาใช้บริการ โดยจะโพสต์ผ่านหน้าเพจ NONBU RAMEN
มาจนถึงช่วงนี้ ผู้เขียนได้ถามไปยังคุณบอยว่า ในอนาคตมองในเรื่องของธุรกิจนี้เป็นไปอย่างไรบ้าง เขาตอบกลับมาว่า
“ธุรกิจอาหารมันไม่มีอะไรที่ยั่งยืน มันอาจจะอิ่มตัว แต่เราต้องพัฒนาให้เกิดสิ่งใหม่ต่อไป เรายังหวังว่า อยากให้ร้านราเมนของเราโตขึ้น เราเห็นกลุ่มลูกค้าของเราที่เป็นครอบครัว เราก็เอาจุดตรงนี้มาพัฒนาต่อเป็นร้านอาหารได้ในอนาคต”
แต่ละคนมีเรื่องราวที่เป็นแรงบันดาลใจ เพราะแต่ละคนมีความสุข มีปัญหาที่ต้องเผชิญ เรื่องราวของคุณบอยเองก็อาจจะเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนอื่นๆ ได้ ให้มองเห็นว่า ข้อดีของตัวเองคืออะไร จุดแข็งของตนเองคืออะไร ถ้าเราเข้าใจตัวเองอย่างถ่องแท้มันจะนำพาไปสู่จุดยืนที่เรามีความสุข อย่าทำตัวเป็นม้าแข่งที่ถูกปิดตาแล้วทำตามคนอื่น แต่จงเปิดกว้างแล้วจะเห็นอะไรในตัวของเรา
หากใครที่อยากจะไปลองชิมราเมนจากร้าน นนบุราเมน เข้าไปสอบถามรายละเอียดได้ที่ NONBU RAMEN